การปฏิบัติและการทำงานของเครื่องกลไก

ก. การเตรียมการเพื่อทำการยิง

๑. ตรวจลำกล้องภายในดูว่าสะอาดและได้เช็ดแห้งแล้ว

๒. ตรวจดูว่าเครื่องยิงได้ทำความสะอาดถูกต้องแล้ว

๓. ตรวจหาชิ้นส่วนที่ชำรุดสึกหรอมีหรือไม่

๔. ตรวจดูแว่นรับเข็มแทงชนวน เพื่อให้มั่นใจว่าได้ขันแน่นโดยใช้เครื่องมือควบขันตามเข็มนาฬิกา

ข. การทำงานของเครื่องกลไก

๑. การยิง

ก) เมื่อเหนี่ยวไกมาข้างหลัง จะทำให้ไกหมุนตัวรอบสลักไก และด้านหลังของไกจะยกส่วนหลังของกระเดื่องไกให้สูงขึ้น ทำให้ปลายกระเดื่องไกหลุดจากแง่รับกระเดื่องไกที่นกปืน ทำให้นกปืนตีไปข้างหน้าด้วยการขยายตัวของแหนบนกปืน กระแทกท้ายเข็มแทงชนวนไปข้างหน้า ปลายเข็มแทงชนวนจะกระแทกเข้ากับชนวนท้ายปลอกกระสุน

ข) เมื่อปล่อยไก นกปืนจะถอยมาข้างหลังเล็กน้อย ทำให้เข็มแทงชนวนถอนตัวออกมาด้วยการขยายตัวของแหนบเข็มแทงชนวน

๒. การปลดกลอนยึดลำกล้อง

ก) โดยการดันคันกลอนยึดลำกล้องให้เคลื่อนที่ไปทางขวาสุด จะทำให้ลำกล้องและโครงเครื่องลั่นไกแยกออกจากกัน และเป็นการห้ามไกไปอยู่ในท่าห้ามไก

ข) กลอนยึดลำกล้องจะถูกบังคับให้เปิดด้วยแรงดันของแหนบกลอนยึดลำกล้อง

๓. การขึ้นนก

ก) เครื่องยิงจะขึ้นนกเมื่อเปิดลำกล้อง

ข) ขณะที่ลำกล้องถูกเปิด แขนคันขึ้นนก (ติดอยู่ที่ใต้ลำกล้อง) จะยกคันขึ้นนก (อยู่ที่ท้องของโครงเครื่องลั่นไก) ทำให้คันขึ้นนกหมุนตัวรอบสลักปืนและสัมผัสเข้ากับหน้านกปืน

ค) ขณะที่คันขึ้นนกหมุนตัวสูงขึ้นจะยกปืนให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแง่รับกระเดื่องไกของนกปืนเข้าขัดกับกระเดื่องไก

๔. การรั้งปลอกกระสุน

ก) การรั้งปลอกกระสุนและการขึ้นนก กระทำในเวลาเดียวกัน

ข) ขณะเมื่อลำกล้องถูกเปิด แหนบขอรั้งปลอกกระสุนจะดันขอรั้งปลอกกระสุนให้ถอนปลอกกระสุนที่ยิงไปแล้วออกมาประมาณ ๑/๒ นิ้ว จากรังเพลิงที่ท้ายลำกล้อง

๕. การคัดปลอกกระสุน

ก) ไม่มีเครื่องคัดปลอกกระสุนแบบอัตโนมัติ ต้องกระทำโดยใช้มือจับปลอกกระสุนดึงออกมาจากรังเพลิง

๖. การบรรจุ

ก) กระทำเมื่อลำกล้องอยู่ในท่าเปิดลำกล้อง โดยสอดกระสุนเข้าไปในรังเพลิง

๗. การเข้าสู่รังเพลิง

ก) กระทำในขณะปิดรังเพลิง

ข) เมื่อปิดรังเพลิง ขอรั้งปลอกกระสุนจะสัมผัสเข้ากับด้านหน้าของโครงเครื่องลั่นไกและบังคับให้ขอรั้งปลอกกระสุนเข้าไปอยู่ในเรือนขอรั้งปลอกกระสุน ในขณะเดียวกันนั้นกระสุนจะเข้าสู่รังเพลิงโดยเรียบร้อยและขอรั้งปลอกกระสุนดันติดกับท้ายปลอกกระสุนไว้

๘. การขัดกลอน

ก) เมื่อปิดลำกล้อง เหล็กบังคับกลอนยึดลำกล้องจะกดแหนบเหล็กบังคับกลอนยึดลำกล้องให้อัดแหนบเข้าไป

ข) เมื่อเหล็กบังคับกลอนยึดลำกล้องเข้าไปกดดันกลอนยึดลำกล้อง ทำให้กลอนยึดลำกล้องหมุนตัวเข้าขัดกับเหล็กบังคับกลอนยึดลำกล้อง

ค) ลำกล้องจะถูกยึดติดแหนบรับโครงเครื่องลั่นไก และตัวเครื่องยิงลูกระเบิดพร้อมที่จะยิงได้ เมื่อห้ามไกถูกผลักไปข้างหน้าจนมองเห็นอักษร "F"