ท่ายิง ปลย. M16

๑. กล่าวทั่วไป

การที่ปฏิบัติท่ายิงให้ถูกต้องทุกอย่างนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดร่างกายให้เข้ากับท่ายิงเหล่านั้น อย่างไรก็ดีท่ายิงนี้ ควรจะได้ปฏิบัติให้ใกล้เคียงกับแบบฝึกให้มากที่สุดเท่าที่ร่างกายจะทำได้

ท่ายิงนับว่ามีความสำคัญและจำเป็นในการที่จะใช้ปืนทำการยิงเป็นอย่างยิ่งถึงแม้ว่าผู้รับการฝึกจะทำการจัดเส้นเล็งและเล็งเป้าหมายนั่งแท่นได้ถูกต้องแต่ถ้าปฏิบัติท่ายิงไม่ถูกต้องแล้วก็จะทำให้การยิงปืนขาดความแม่นยำ

ก่อนที่จะทำการฝึกท่ายิง ผู้รับการฝึกควรจะได้ทราบวิธีการในการจับถือปืนที่จะทำให้ถือปืนอย่างมั่นคงอยู่กับที่เท่าที่จะทำได้ดังนี้

๑.๑ การรองรับปืนด้วยมือซ้าย ปืนควรจะวางอยู่ระหว่างหัวแม่มือและนิ้วชี้เป็นรูปตัววี โดยจับอยู่ที่ครอบลำกล้องปืนในลักษณะสบาย ๆ การจับที่ครอบลำลก้องนั้นควรต้องจับตรงจุดที่พอเหมาะพอดีซึ่งแล้วแต่ร่างกายของผู้ยิงและที่ตั้งของเป้าหมาย ให้ข้อศอกซ้ายอยู่ทางใต้ปืนเพื่อรับน้ำหนักปืน

๑.๒ การนำพานท้ายปืนเข้าร่องไหล่ ผู้ยิงจะต้องนำพานท้ายปืนเข้าในร่องไหล่ขวา โดยมือขวาจับที่มุมหลังพานท้าย การนำพานท้ายเข้าร่องไหล่อย่างถูกต้องนั้นย่อมทำให้ได้รับแรงกระแทกปืนน้อยลงเป็นการช่วยให้การจับปืนได้อย่างมั่นคงและเป็นการป้องกันพานท้ายปืนเลื่อนขึ้นมาอยู่บนบ่าอีกด้วย

๑.๓ การจับปืนด้วยมือขวา มือขวาจับกำที่ด้ามปืนนิ้วชี้วางทาบโกร่งไกนิ้วหัวแม่มืออยู่ทางด้านซ้ายด้ามปืนนิ้วที่เหลือกำรอบด้ามปืนมือขวาดึงปืนมาข้างหลัง เพื่อให้พานท้ายปืนเข้าในร่องไหล่อย่างถูกต้องและเพื่อให้ปลอดภัยจากการกระแทกของปืนที่เกิดจากแรงถอย

๑.๔ ข้อศอกขวา การวางข้อศอกของผู้ยิงอย่างถูกต้อง จะเป็นเครื่องช่วยให้เกิดมีร่องไหล่เพื่อที่จะนำพานท้ายปืนเข้าประทับได้ ตำแหน่งที่แน่นอนในการวางข้อศอก จะแตกต่างกันของแต่ละท่ายิง

๑.๕ การแนบแก้มกับพานท้ายปืน มีความสำคัญ ๒ ประการ คือ

ก. เพื่อให้ผู้ยิงแนบแก้มที่พานท้ายในที่เดียวกันตลอดเวลาที่ทำการยิงปืนเป็นการรักษาความสัมพันธ์ของสายตา และศูนย์ปืนให้เหมือน ๆ กัน เพื่อรักษาภาพการเล็งที่ถูกต้อง

ข. เพื่อเป็นการลดเวลาในการที่จะค้นหาหรือเล็งต่อเป้าหมายในระหว่างที่ยิงแต่ละนัดโดยศีรษะของผู้ยิงกับปืนจะถอยไปด้วยกัน

๑.๖ การบังคับการหายใจ ถ้าผู้ยิงหายใจในขณะที่พยายามทำการเล็งและยิงอาวุธของเขาแล้วการหายใจจะทำให้อกของทหารขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นสาเหตุให้ปากลำกล้องปืน สูง ๆ ต่ำ ๆ ตามไปด้วย ถ้าหากว่าผู้ยิงใช้ เทคนิคการบังคับการหายใจที่ไม่ถูกต้องโดยเล็งศูนย์นั่งแท่นนานเกินไปจะเป็นการยากที่จะยิงปืนให้ถูกอย่างแม่นยำได้ ผู้ยิงควรจะหายใจเข้าออกปกติ ๒-๓ ครั้ง แล้วสูดลมหายใจเข้าเต็มที่ ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ จนได้จุดที่สบายประมาณครึ่งหนึ่งแล้วกลั่นลมหายใจไว้ แล้วจึงทำการลั่นไก

๑.๗ การผ่อนคลาย ทหารต้องได้รับการเรียนรู้ถึงเรื่องการผ่อนคลายในการทำท่ายิงทุกท่าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้อาการที่กล้ามเนื้อออกแรงมากเกินควรหรือเกิดอาการตึงเครียดขึ้นนั้นย่อมเป็นสาเหตุเกิดอาการสั่นส่งตรงไปยังปืนได้ ถ้าทหารพบว่าท่ายิงท่าใดเป็นสาเหตุให้เกิดอาการตึงเครียดมากเกินไปทหารควรจะเปลี่ยนแปลงท่ายิงเล็กน้อยจนกระทั่งอาการตึงเครียดนั้นถูกขจัดหายไป ผู้ยิงจะต้องใช้อาการผ่อนคลายเพื่อให้ เชื่อแน่ว่าผู้ยิงทำท่ายิงเป็นอย่างธรรมชาติ การผ่อนคลายนั้นจะกระทำได้เมื่ออยู่ในท่ายิงและลองตรวจดูว่าศูนย์ นั่งแท่นถูกต้องย่อมหมายถึงท่ายิงนั้นมีการผ่อนคลายดี ถ้าศูนย์นั่งแท่นไม่ถูกต้องผู้ยิงควรจะเลื่อนลำตัวขยับไปจน กว่าจะอยู่ในท่าที่ผ่อนคลายและสามารถเล็งไปยังตำบลเล็งได้สำเร็จ การจับถือปืนด้วยวิธีเกร็งกล้ามเนื้อไม่ควร จะนำมาใช้ในการทำท่ายิงแบบกึ่งอัตโนมัติเลย

๑.๘ การควบคุมการเหนี่ยวไก การควบคุมการเหนี่ยวไกเป็นอาการปฏิบัติอย่างเป็นอิสระของนิ้วชี้ต่อไกปืนนิ้วชี้ที่เหนี่ยวไก ควรจะสัมผัสไกตรงจุดหนึ่งระหว่างปลายนิ้วมือถึงนิ้วข้อแรก ในขณะที่ไกถูกเหนี่ยวมาข้างหลังตรง ๆ นั้น นิ้วชี้จะต้องไม่สัมผัสกับด้านข้างของด้ามปืน ซึ่งจะทำให้เกิดแรงดึงในการเหนี่ยวไกออกมาเป็นแบบมุมเอียง ๆ มากกว่าที่จะตรงมาทางข้างหลัง แรงเหนี่ยวไกทางด้านข้างที่กระทำต่อปืนนั้นมักจะดึงให้ศูนย์ปืนออกนอกตำบลเล็งเสมอ การปฏิบัติในการเหนี่ยวไกอย่างถูกต้องนั้น ย่อมไม่ทำให้ลำกล้องปืนเคลื่อนไหวเลยการควบคุมการเหนี่ยวไกเป็นปัจจัยที่สำคัญในการถือปืนให้มั่นคงและถ้าปราศจากการปฏิบัติที่ถูกต้องถึงแม้ว่ามีความชำนาญในการฝึกยิงปืนเบื้องต้น ขั้นอื่น ๆ ก็ตามย่อมไม่มีประโยชน์

๒. ท่ายิง

ท่ายิง ปลย.เอ็ม.๑๖ มี ๔ ท่า คือ

๒.๑ ท่านอนยิง

๒.๒ ท่านั่งราบยิง

๒.๒.๑ ท่านั่งราบเท้าห่าง

๒.๒.๒ ท่านั่งราบเท้าชิด

๒.๒.๓ ท่านั่งราบไขว้ข้อเท้า

๒.๒.๔ ท่านั่งราบไขว้ขา

๒.๓ ท่านั่งคุกเข่ายิง

๒.๓.๑ ท่านั่งคุกเข่าต่ำ (นั่งทับข้อเท้า)

๒.๓.๒ ท่านั่งคุกเข่ากลาง (นั่งบนส้นเท้าปลายเท้าออก)

๒.๓.๓ ท่านั่งคุกเข่าสูง (นั่งบนส้นเท้าปลายเท้าเข้า)

๒.๔ ท่ายืนยิง

ก. ท่านอนยิง

๑.คำบอกคำสั่ง "นอน - เตรียมยิง"

๒.การปฏิบัติแบ่งออกเป็น ๗ ขั้นตอน

๒.๑ ทำกึ่งขวาหัน แยกเท้าซ้ายออกกว้างพอสมควร ประมาณช่วงไหล่หรือมากกว่า

๒.๒ คุกเข่าทั้งสองลงกับพื้น

๒.๓ โน้มตัวไปข้างหน้า ละมือขวาจากมุมหลังพานท้ายกำมือขวาลงกับพื้นในแนวเข่าขวาระยะห่างให้ พอเหมาะพอดีกับช่วงตัวของผู้ยิง หรือประมาณ ๓๐ นิ้ว จากเข่าขวา

๒.๔ ทาบตัวลงนอนกับพื้น ยื่นศอกซ้ายไปข้างหน้าให้แขนซ้ายท่อนบนทาบกับพื้นและตัวลงทางซ้ายของลำตัวรับน้ำหนัก

๒.๕ นำปืนเข้าร่องไหล่ ด้วยมือขวาโดยจับที่มุมหลังพานท้าย

๒.๖ เลื่อนมือขวามากำด้ามปืน นิ้วชี้ทาบโกร่งไก

๒.๗ พลิกตัวกลับไปทางขวา วางศอกขวาลงกับพื้น และแต่งไหล่ทั้ง ๒ ขนานกับพื้น

๓. จุดสำคัญ

๓.๑ มุมที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นสมมุติที่ผ่านลำกล้องปืนมาข้างหลัง และเส้นสมมุติที่ผ่านลำตัวของผู้ยิงต้องไม่เกิน ๓๐ องศา

๓.๒ การองรับปืนด้วยมือซ้าย

- ปืนวางอยู่ระหว่างหัวแม่มือ และนิ้วชี้เป็นรูปตัววี ข้อมือไม่หัก

- จับอยู่ที่ครอบลำกล้องปืน ให้ชิดหูกระวินบนมากที่สุด

- ศอกซ้ายอยู่ใต้ปืน

๓.๓ ข้อศอกขวาห่างพอดี มือขวาดึงปืนมาข้างหลัง เพื่อให้พานท้ายเข้าในร่องไหล่อย่างถูกต้อง

๓.๔ เท้าแยกออกพอสบาย แบนราบกับพื้น

๓.๕ ปืนไม่เอียง

๓.๖ สายสะพายรัดแน่น

๓.๗ การบรรจุซองกระสุนให้ลดพานท้ายลง ศอกทั้งสองอยู่ที่เดิม

๓.๘ แก้มวางแนบกับพานท้าย

๔. ข้อบกพร่อง ที่มักพบเสมอ และวิธีแก้ไข

๔.๑ ปากกระบอกปืนต่ำ สาเหตุเนื่องจาก สานสะพายหย่อน ศอกซ้ายไม่อยู่ใต้ปืน ผู้ยิงที่แขนสั้นพยายามเลื่อนมือซ้ายไปชิดหูกระวินบนมากเกินไปวิธีแก้ไขปรับสายสะพายใหม่ เลื่อนศอกซ้ายอยู่ใต้ปืนขยับตัวถอยหลังโดยศอกทั้ง ๒ และมือซ้ายอยู่กับที่เลื่อนมือซ้ายเข้าหาตัว

๔.๒ ศอกขวาชิดลำตัวมากเกินไปทำให้ไหล่ขวาสูงกว่าไหล่ซ้าย การแก้ไขให้เลื่อนศอกขวาออกนอกตัวให้ ไหล่ขวาและไหล่ซ้ายขนานกับพื้น

๔.๓ จับปืนไม่ถูก ที่ปรากฏก็คือ มือซ้ายที่รองรับน้ำหนักปืนนั้นมือหักไม่เหยียดตรงข้อบกพร่องนี้เกิดจากปืนไม่วางอยู่ในง่ามมือ การแก้ไขผู้ยิงขยับมือซ้ายให้ปืนอยู่ในง่ามตัววีและพาดอยู่บนอุ้งมือ

๕. ท่าเรียบอาวุธ

๕.๑ คำบอกคำสั่ง "เรียบ - อาวุธ "

๕.๒ การปฏิบัติมี ๔ ขั้นตอน

๕.๒.๑ ละมือขวามาจับที่มุมหลังพานท้าย และลดปืนลง

๕.๒.๒ ละมือขวาจากมุมหลังพานท้าย กำมือยันพื้นแนวราวนมขวา ยันตัวลุกขึ้นอยู่ในท่าคุกเข่าสูงมือขวาจับมุมหลังพานท้าย

๕.๒.๓ ลุกขึ้นยืน

๕.๒.๔ ชักเท้าซ้ายชิดเท้าขวาแล้วทำกึ่งซ้ายหัน

ข. ท่านั่งราบยิง

เป็นท่ายิงที่เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ที่เป้าหมายอยู่ในระดับเดียวกันหรือพื้นที่ลาดลงหรือต่ำกว่าผู้ยิงท่า นั่งราบยิงเป็นท่าที่มั่นคงเป็นที่ ๒ รองจากท่านอนยิงซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ท่า คือ

ก) ท่านั่งราบยิงเท้าห่าง

ข) ท่านั่งราบยิงเท้าชิด

ค) ท่านั่งราบยิงไขว้ข้อเท้า

ง) ท่านั่งราบยิงไขว้ขา

ก) ท่านั่งราบยิงเท้าห่าง

๑. คำบอกคำสั่ง "นั่งราบ - เตรียมยิง"

๒. การปฏิบัติแบ่งออกเป็น ๕ ขั้นตอน

๒.๑ ทำกึ่งขวาหันแยกเท้าซ้ายออกพอประมาณ ไม่เกินหนึ่งช่วงไหล่

๒.๒ ทรุดตัวลงนั่งมือขวากำยันพื้นด้านหลัง และนั่งลงกับพื้น ละมือขวามาจับที่มุมหลังพานท้าย

๒.๓ ทาบแขนซ้ายท่อนบนลงบนส่วนแบบของหน้าแข้งซ้ายด้านใน

๒.๔ นำปืนเข้าร่องไหล่

๒.๕ ละมือขวามากำด้ามปืน ทาบแขนขวาท่อนบนลงบนส่วนแบบของหน้าแข้งขวาด้านในบีบเข่าทั้งสองเข้าหากัน

๓. จุดสำคัญ

๓.๑ เลื่อนก้นไปข้างหลังมาก ๆ

๓.๒ โน้มตัวไปข้างหน้าเริ่มตั้งแต่สะโพก

๓.๓ มือซ้ายรองรับปืนรูปตัววี

๓.๔ บีบเข่าเข้าหาศอกทั้งสองข้าง

๓.๕ ปืนไม่เอียง

๓.๖ ทุกส่วนของร่างกายไม่เกร็ง

๔. ข้อบกพร่องที่มักพบเสมอ และวิธีแก้ไข

๔.๑ ปลายข้อศอกอยู่บนหัวเข่า ข้อบกพร่องนี้ทำให้การรองรับน้ำหนักปืนไม่มั่นคง ทำให้ลำตัวอยู่ในท่าตั้งตรงมากเกินไป เมื่อทำการยิงแต่ละนัดจะทำให้ท่ายิงเสียการแก้ไข ให้ผู้ยิงลดเข่าให้ต่ำลงโน้มตัวตั้งแต่ สะโพกขึ้นไป ไปข้างหน้ามากขึ้น เลื่อนแขนซ้ายท่อนบนทาบลงบนส่วนแบบของหน้าแข้งซ้ายด้านในทาบแขนขวา ท่อนบนลงบนส่วนแบบของหน้าแข้งขวาด้านใน

๔.๒ ศอกซ้ายไม่อยู่ข้างใต้ปืน การแก้ไข เลื่อนเท้าทั้งสองไปทางขวา

๕. ท่าเรียบอาวุธ

๕.๑ คำบอกคำสั่ง "เรียบ - อาวุธ"

๕.๒ การปฏิบัติมี ๓ ขั้นตอน

๕.๒.๑ ละมือขวามาจับที่มุมหลังพานท้าย ลดปืนลง

๕.๒.๒ ละมือขวาจากมุมหลังพานท้ายกำมือยันพื้นด้านหลัง ลุกขึ้นยืน

๕.๒.๓ ชักเท้าซ้ายชิดเท้าขวา แล้วทำกึ่งซ้ายหัน


ข) ท่านั่งราบยิงเท้าชิด

คงทำเช่นเดียวกันกับท่านั่งราบยิงเท้าห่างเว้นแต่ขั้นตอนที่ ๑ ทำกึ่งขวาหันไม่ต้องแยกเท้าซ้ายออกไปท่าเรียบอาวุธ ขั้นตอนที่ ๓ ทำกึ่งซ้ายหัน

ค) ท่านั่งราบยิงไขว้ข้อเท้า

คงทำเช่นเดียวกันกับท่านั่งราบยิงเท้าห่าง ในขั้นตอนที่ ๑,๒ แล้วนำข้อเท้าซ้ายไขว้ทับลงบนข้อเท้าขวาบีบเข่าทั้งสองเข้าหากัน ศอกทั้งสองอยู่ภายในเข่าทำตัวให้ต่ำ การยิงนี้สามารถปรับให้แต่ละคนได้โดยการทาบขาทั้งสองข้าง ท่าเรียบอาวุธก็นำข้อเท้าซ้ายออกในขั้นตอนที่ ๑

ง) ท่านั่งราบยิงไขว้ขา

คงทำเช่นเดียวกับท่านั่งราบยิงไขว้ข้อเท้า บีบเข่าทั้งสอง ศอกทั้งสองพาดไปบนสันหน้าแข้งด้านในแล้วนำขาซ้ายไขว้บนขาขวา (ขัดสมาธิ)

ค. ท่านั่งคุกเข่ายิง

ท่านั่งคุกเข่ายิงเหมาะที่จะใช้ในการยิง ในพื้นระดับหรือพื้นที่ ค่อย ๆ ลาดขึ้นเล็กน้อยเป็นท่ายิงที่ปรับความสูงได้ ท่านั่งคุกเข่ายิง พร้อมที่จะดัดแปลง ให้เหมาะสมกับเครื่องรองรับ เช่น ต้นไม้ มุมสิ่งก่อสร้างยานพาหนะ และแบ่งออกเป็น ๓ ท่า คือ

ก. ท่านั่งคุกเข่าต่ำ (นั่งพับข้อเท้า)

ข. ท่านั่งคุกเข่ากลาง (นั่งบนส้นเท้าปลายเท้าออก)

ค. ท่านั่งคุกเข่าสูง (นั่งบนส้นเท้าปลายเท้าเข้า)

๑. คำบอกคำสั่ง "นั่งคุกเข่า - เตรียมยิง"

๒. การปฏิบัติแบ่งออกเป็น ๕ ขั้นตอน

๒.๑ ทำกึ่งขวาหัน ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าทางซ้ายประมาณ ๑๘" ปลายเท้าชี้ไปยังที่หมายโดยประมาณ

๒.๒ คุกเข่าขวาลงกับพื้น ตัวตั้งตรง

๒.๓ นั่งคุกเข่าต่ำ พับข้อเท้าขวาเข้าด้านใน และนั่งบนข้อเท้าขวา โน้มตัวไปข้างหน้าทาบแขนซ้ายท่อนบนลงบนส่วนแบบของหน้าแข้งซ้ายด้านใน

นั่งคุกเข่ากลาง เหยียดปลายเท้าขวาออกด้านหลัง เท้าขวาตั้งแต่เข่าถึงปลายเท้าราบติดกับพื้นโน้มตัวไปข้างหน้า และนั่งบนส้นเท้า ทาบแขนซ้ายท่อนบนลงบนส่วนแบนของหน้าแข้งซ้ายด้านใน

นั่งคุกเข่าสูง นั่งบนส้นเท้า ให้ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า ทาบแขนซ้ายท่อนบนลงบนส่วนแบนของหน้าแข้งด้านใน

๒.๔ นำปืนเข้าร่องไหล่

๒.๕ มือขวากำด้ามปืนนิ้วชี้ทาบไปตามโกร่งไก ศอกขวาเปิดทำมุมประมาณ ๔๕ องศา

๓. จุดสำคัญ

๓.๑ การรองรับปืนของมือซ้ายรูปตัววี ศอกซ้ายใต้ปืน

๓.๒ ศอกขวาทำมุมประมาณ ๔๕ องศา

๓.๓ โน้มน้ำหนักตัวไปข้างหน้า

๓.๔ สายสะพายรัดแน่น และตึง

๓.๕ ปรับท่ายิงให้เข้ากับผู้ยิงโดยการเหยียด หรือเลื่อนเท้าซ้าย


๔. ข้อบกพร่องที่มักเกิดขึ้นเสมอ และวิธีแก้ไข

๔.๑ ศอกซ้ายและเข้าซ้ายไม่อยู่ข้างใต้ปืน การแก้ไขผู้ยิงลดพานท้ายปืนลงจากบ่าและเลื่อนเท้าซ้ายมาทางขวา แล้วจึงทำท่านั่งคุกเข่ายิงให้เรียบร้อย

๔.๒ ปลายข้อศอกอยู่บนเข่าซ้าย เมื่อปลายข้อศอกวางทับอยู่บนเข่าซ้ายจะทำให้ท่ายิงไม่มั่นคงอย่างยิ่งการแก้ไขคือ ผู้ยิงเลื่อนข้อศอกซ้ายไปข้างหน้า และต่ำลงจากเข่าซ้าย จะทำให้น้ำหนักตัวโน้มไปข้างหน้า

๕. ท่าเรียบอาวุธ

๕.๑ คำบอกคำสั่ง "เรียบ - อาวุธ"

๕.๒ การปฏิบัติมี ๓ ขั้นตอน

๕.๒.๑ ละมือขวามาจับมุมหลังพานท้าย ลดปืนลง

๕.๒.๒ ลุกขึ้นยืน

๕.๒.๓ ชักเท้าซ้ายชิดเท้าขวาและทำกึ่งซ้ายหัน

หมายเหตุ

๑. ทหารที่ขายาว

- ให้เลื่อนเท้าซ้ายไปข้างหน้า จะทำให้เข่าต่ำลง เส้นเล็งจะต่ำลง

- เลื่อนข้อศอกให้เลยไปข้างหน้าเข่าอีก เส้นเล็งจะต่ำลง ผู้ยิงแต่ละคนจะต้องกำหนดเอาเองว่าเลื่อนไปเท่าไร จึงจะพอดีที่จะทำเส้นเล็งต่ำลงมาอยู่ตรงกับวงดำ

๒. ทหารที่ขาสั้น

- เลื่อนขาซ้ายเข้ามาหาลำตัว จะทำให้ขาของผู้ยิงอยู่ในท่าสูง เส้นเล็งจะสูงขึ้น

- เลื่อนข้อศอกเข้าพอสมควร จะทำให้เส้นเล็งสูงขึ้น แต่อย่าให้ปลายศอกจดกับหัวเข่า


ง. ท่ายืนยิง

ท่ายืนยิงมีความมั่นคงน้อยมากใช้เมื่อไม่มีท่าอื่น ๆ จะทำการยิงได้

๑. คำบอกคำสั่ง "ยืน - เตรียมยิง"

๒. การปฏิบัติแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน

๒.๑ ทำขวาหัน แยกเท้าออกพอประมาณช่วงไหล่ น้ำหนักอยู่บนเท้าทั้งสองข้าง

๒.๒ นำปืนเข้าร่องไหล่ให้มุมหน้าพานท้ายเข้าร่องไหล่ประมาณ ๒/๓ ของพานท้ายแขนซ้ายท่อนบนแนบชิดกับลำตัว ศอกซ้ายอยู่ใต้ปืน

๒.๓ ละมือขวามาจับที่ด้ามปืนนิ้วชี้ทาบไปตามโกร่งไก

๓. จุดสำคัญ

๓.๑ การรองรับปืนรูปตัววีศอกซ้ายใต้ปืน ข้อมือไม่หัก ยกเว้นท่าที่จับซองกระสุน

๓.๒ การแนบแก้มกับพานท้ายปืน

๓.๓ ศอกขวายกสูงเสมอหัวไหล่ (ขนานกับพื้นหรือต่ำกว่าเล็กน้อย) เท่าที่ร่างกายจะทำได้โดยไม่เกิดอาการเกร็ง

๓.๔ มือขวาและแขนขวาดึงปืนมาข้างหลังเป็นการรับ น้ำหนักของปืน

๓.๕ ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนสะโพกทั้งสองข้าง

๔. ข้อบกพร่องที่มักจะพบเสมอ และวิธีแก้ไข

๔.๑ การแยกเท้าห่างหรือชิดเกินไปจะทำให้ท่ายิงไม่มั่นคง การแก้ไขผู้ยิงจะต้องยืนให้เท้าห่างกันประมาณช่วงไหล่ น้ำหนักอยู่บนเท้าทั้งสองข้าง

๔.๒ แก้มแนบพานท้ายปืน ด้วยการเอียงคอมาทางข้างหรือก้มคอไปข้างวิธีการแก้ไข ต้องให้ศีรษะตั้งตรง และยกปืนสูงขึ้นให้ศูนย์เข้ามาอยู่ในแนวสายตา

๕. ท่าเรียบอาวุธ

๕.๑ คำบอกคำสั่ง "เรียบ - อาวุธ"

๕.๒ การปฏิบัติแบ่งออกเป็น ๒ ขั้นตอน

๕.๒.๑ ละมือขวาจับมุมหลังพานท้ายปืน ลดปืนลง

๕.๒.๒ ชักเท้าซ้ายชิดเท้าขวา และทำซ้ายหัน

๖. ท่ายืนยิง มือซ้ายที่จับปืนจับครอบลำกล้อง สามารถจับได้ ๓ ลักษณะ คือ

๖.๑ จับที่ครอบลำกล้องส่วนที่ใหญ่ที่สุด

๖.๒ จับที่เหล็กรัดครอบลำกล้อง

๖.๓ จับที่ซองกระสุน

หมายเหตุ

ในขณะทำการฝึกทหารอยู่ในลักษณะท่ายิง ท่านั่งราบยิง,นั่งคุกเข่ายิง,ยืนยิง ถ้าต้องการให้ทหารพักเพื่อผ่อนคลายอริยาบทในเวลาสั้น ๆ ใช้คำบอกคำสั่ง "ลดปืนลง" การปฏิบัติลดปืนลงจากร่องไหล่ลงมาอยู่ในลักษณะเฉียงมือซ้ายจับที่ครอบลำกล้องปืนมือขวาจับมุมหลังพานท้าย ปืนห่างจากลำตัวประมาณ ๔ นิ้ว ถ้าจะฝึกต่อใช้ คำบอกคำสั่ง "ประทับ" การปฏิบัติ ทหารนำเข้าร่องไหล่และเริ่มฝึกต่อไป

ในขณะทำการฝึก ทหารอยู่ในลักษณะท่านอนยิง ถ้าต้องการให้ทหารพักเพื่อผ่อนคลายอริยาบทในเวลาสั้นใช้ คำบอกคำสั่ง "ลดปืนลง" การปฏิบัติลดปืนจากร่องไหล่ลงให้มุมหน้าพานท้ายจดพื้น มือซ้ายจับครอบลำกล้องปืน มือขวาจับมุมหลังพานท้าย ถ้าจะฝึกต่อ ใช้คำบอกคำสั่ง "ประทับ" การปฏิบัติทหารนำปืนเข้าร่องไหล่และเริ่มฝึกต่อไป