เครื่องควบคุมและเครื่องเล็ง

ก. เครื่องควบคุม

๑. ไกและชุดโกร่งไก โกร่งไกทำหน้าที่ป้องกันไก เมื่อกดเหล็กยึดโกร่งไกจะทำให้พับโกร่งไกไปทางข้างได้ เพื่อให้พลยิงสามารถเหนี่ยวไกได้สะดวกในขณะสวมถุงมือ

๒. กลอนยึดลำกล้องและคันยึดลำกล้อง ตั้งอยู่บนส่วนบนของโครงเครื่องลั่นไก ทำหน้าที่ยึดโครงเครื่องลั่นไกกับลำกล้องเข้าด้วยกัน ในการเปิด (หักลำ) ท้ายลำกล้องให้ดันคันกลอนยึดลำกล้อง ไปทางขวาจนสุด

๓. ห้ามไก เมื่อจะทำการยิงจะต้องผลักห้ามไกไปข้างหน้าให้เห็นตัวอักษร "F" ซึ่งอยู่ด้านหลังห้ามไกเมื่อเปิดรังเพลิง

ข. เครื่องเล็ง

๑. เครื่องศูนย์หลัง เป็นชนิดปรับได้ ประกอบด้วย

ก) กลอนยึดศูนย์หลัง มีลักษณะเป็นแหนบและทำหน้าที่ยึดกรอบศูนย์หลัง ให้อยู่ในท่ายกศูนย์หรือพับลงการปลดกรอบศูนย์กระทำโดยกดลงที่พื้นแบนราบของเครื่องยึดศูนย์หลังแล้วค่อย ๆ ผ่อนแรงดันกรอบศูนย์ให้ยึดอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ

ข) ควงมุมทิศและมาตรามุมทิศ อยู่ทางด้านขวาแกนเกลียวจะมีควงหมุน ใช้สำหรับปรับทิศทาง ๑ คลิ๊ก ของควงมุมทิศ จะทำให้เลื่อนตำบลลูกระเบิดยิงแตกไปทางข้าง ๑๔ ซม.หรือ ๕.๕ นิ้วทุก ๆ ระยะ ๑๐๐เมตรถ้าต้องการเลื่อนให้ตกไปทางขวาให้หมุนควงมุมทิศตามเข็มนาฬิกา เมื่อต้องการให้เลื่อนตกไปทางซ้ายให้หมุนควงมุมทิศทวนเข็มนาฬิกา มาตรามุมทิศประกอบด้วยขีดหลัก อยู่กึ่งกลางของมาตราและขีดมาตราแบ่งออกไปทั้งสองข้างของขีดหลักข้างละ ๑๐ ขีดเท่า ๆ กัน เราสามารถเลื่อนศูนย์หลังจากกึ่งกลางไปทางขวาหรือซ้ายข้างละ ๔๒ คลิ๊กได้

ค) มาตรามุมสูงและควงหยุดมาตรา จะมีขีดแสดงระยะตั้งแต่ ๗๕ ถึง ๓๗๕ เมตร เมื่อเลื่อนแผ่นศูนย์หลังขึ้น ศูนย์หลังจะเฉียงไปทางซ้ายด้วยลาดบังคับที่โครงศูนย์หลัง เป็นการแก้อาการผิดไปทางขวาเนื่องจากการหมุนของกระสุน แผ่นมาตรามุมทิศจะถูกยึดติดกับโครงศูนย์หลังด้วยควงยึด

ง) โครงเลื่อนศูนย์หลังและแป้นเกลียวยึด แป้นเกลียวยึดโครงเลื่อนศูนย์หลังทำหน้าที่ ๒ ประการคือ

๑) เพื่อให้ขอบเล็งศูนย์หลังสามารถเลื่อนไปตามมาตรามุมสูง

๒) ทำหน้าที่ยึดโครงเลื่อนศูนย์หลังให้ติดอยู่กับกรอบศูนย์ในตำแหน่งที่ต้องการใช้ เมื่อต้องการเลื่อนโครงเลื่อนศูนย์หลัง ให้คลายแป้นเกลียวยึดทวนเข็มนาฬิกา จนสามารถกดลงไปได้แล้วจึงเลื่อนขึ้นลง เมื่อต้องการให้โครงเลื่อนศูนย์อยู่กับที่ ให้ผ่อนแรงกดแป้นยึดออกแล้วหมุนแป้นเกลียวตามเข็มนาฬิกาจนแน่น

จ) ควงเกลียวมุมสูงและมาตรามุมสูง ใช้สำหรับปรับมุมสูงประณีต ๑ รอบ จะทำให้กระสุนตกสูงหรือต่ำไป ๑ นิ้วทุก ๆ ระยะ ๑๐๐ เมตร เมื่อต้องการเพิ่มมุมสูงให้หมุนตามเข็มนาฬิกา เมื่อต้องการลดมุมสูงให้หมุนทวนเข็มนาฬิกา

ฉ) กรอบศูนย์หลังพร้อมด้วยศูนย์คงที่ (ศูนย์รบ) เมื่อกรอบศูนย์หลังอยู่ในท่าพับลงไปข้างหน้าสามารถใช้ศูนย์คงที่ (ศูนย์รบ) เล็งต่อเป้าหมายใด ๆ ซึ่งอยู่ภายในระยะ ๑๐๐ เมตรลงมา

๒. ศูนย์หน้า ประกอบด้วยใบศูนย์หน้าแบบคมมีด ด้านบนเอียงลาดมาทางด้านหลัง และโครงกันศูนย์หน้า ๒ ข้าง