กล่าวทั่วไป


คู่มือสำหรับผู้ใช้งาน และชื่อชิ้นส่วนประกอบ

ปืนกลยิงลูกระเบิด ขนาด ๔๐ มิลลิเมตร MK 19 MOD 3 “ปกยบ.๔๐ มม.”


คำเตือน

๑. อาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทำการยิง เช่น มีควันมาก เกิดประกายไฟแลบ ที่ปากลำกล้อง มีเสียงดังผิดปกติ ปืนติดขัด หรือ ไม่ทำงาน ต้องทำการตรวจสอบหาสาเหตุข้อขัดข้องทันที ตามลำดับดังนี้ คือ.

๑.๑ เอาลูกระเบิดยิงออกจากปืน ตรวจถาดป้อนลูกระเบิดยิง ตรวจหน้าลูกเลื่อนและห้องลูกเลื่อน เพื่อดูความเสียหาย หรือหาสาเหตุที่ผิดปกติ

๑.๒ ถอดลูกเลื่อนและชุดแผ่นปิดท้ายปืน ตรวจดูสภาพภายในอย่างละเอียด เพื่อหาข้อขัดข้อง

๒.หากปืนชำรุด หรือมีวัสดุติดค้างอยู่ในลำกล้อง ให้นำส่งช่างซ่อมสรรพาวุธ หลังจาก ดำเนินการซ่อมแล้ว หากได้รับคืนมาใช้งานอีก ให้ทำการหล่อลื่นอีกครั้งตามความจำเป็น

๓.หากตั้งปืนไม่ได้แนวระดับ อาจทำให้ฝาครอบห้องลูกเลื่อนปิดได้เองอย่างแรงทำให้พลประจำปืนอาจได้รับบาดเจ็บ หรือปืนอาจเกิดการชำรุดเสียหายได้

๔. ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุข้อขัดข้อง ต้องแน่ใจว่าปากลำกล้องชี้ไปในทิศทางที่ปลอดภัย ต้องไม่มีลูกระเบิดยิงหลงเหลืออยู่ที่หน้าลูกเลื่อน และที่ถาดป้อนลูกระเบิดยิง

๕. ก่อนบรรจุลูกระเบิดยิง ต้องดูให้แน่ใจว่าภายในห้องลูกเลื่อนไม่มีสิ่งแปลกปลอมและปืนอยู่ในลักษณะที่ปลอดภัยเสมอ

๖. ต้องรักษาแนวปากลำกล้องปืนให้ชี้ไปที่สนามยิงปืนเสมอ และให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งใดกีดขวางแนวยิง

๗. ก่อนทำการยิงกราดคลายปืน (การยิงโดยไม่ใช้ ควงมุมสูงและ ควงมุมส่าย) ต้องติดตั้งเครื่องรับแรงกดเข้ากับเดือยปืนและเปลปืนก่อน

๘. การยิงนัดแรก สำหรับการยิงกราดคลายปืน (ไม่ใช้ควงมุมสูงและควงมุมส่าย) เป็นช่วงที่ควบคุมปืนได้ยากที่สุด เนื่องจากแรงสะท้อนถอยหลังของปืนจะทำให้ปืนลดต่ำลง จึงต้องพยายามระวังให้แนวลำกล้องปืนอยู่ในทิศทางและมุมสูงที่ปลอดภัยเสมอ

๙. ห้ามใช้ดาบปลายปืน งัดลูกระเบิดยิงออกจากหน้าลูกเลื่อน

๑๐.ระหว่างการปรนนิบัติบำรุง ให้หันปากลำกล้องปืนไปในทิศทางที่ปลอดภัยและต้องไม่มี ลูกระเบิดยิง หลงเหลืออยู่ที่หน้าลูกเลื่อน และถาดป้อนลูกระเบิดยิง

๑๑. ให้หันลำกล้องปืนชี้ไปที่สนามยิงปืนเสมอ และอย่ายืนตรงหน้าปากลำกล้องโดยเด็ดขาด

๑๒. อย่านำเอากรรมวิธีการแก้ไขเมื่อปืนด้าน สำหรับการยิงในสนามรบมาใช้แก้ไขในยามปกติ หรือการฝึกใดๆ ทั้งสิ้น จงปฏิบัติตามกฎนิรภัยโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงได้

๑๓. อย่าพยายามงัดหรือกระทุ้งหัวลูกระเบิดยิงที่ติดค้างอยู่ในลำกล้องออกเป็นอันขาดเพราะ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ จงเลื่อนคันบังคับการยิงไปที่ ห้ามไก (S) ก่อนแล้วให้ทุกคนพร้อมทั้งลูกระเบิดยิง ที่มีอยู่ออกไปให้พ้นจากบริเวณนั้นแล้วรอคอยจนกว่าลำกล้องจะเย็นลง ( อย่างน้อย ๓๐ นาที ) ทั้งนี้เพื่อ ให้เกิดความปลอดภัย เพราะลูกระเบิดยิงอาจปะทุระเบิดขึ้นได้ เนื่องจากความร้อนของลำกล้องปืน

๑๔. ก่อนที่จะถอดสลักยึดแผ่นปิดท้ายปืนจงแน่ใจว่า ลูกเลื่อนต้องอยู่หน้าสุดเสมอ หากลูกเลื่อนอยู่ในตำแหน่งเปิด (ข้างหลัง) อาจทำให้เกิดอันตรายจากแรงอัดของแหนบชุดลูกเลื่อนได้

๑๕. ห้ามใช้มือบิดสายลูกระเบิดยิง เพราะอาจทำให้บาดเจ็บได้

๑๖. หากเกิดการลั่นไกยิงก่อน (ลูกเลื่อนปิดไม่สนิท) อย่าพยายามปลดลูกระเบิดยิงออกจากปืนเป็นอันขาด จงดำเนินตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และอย่ายิงซ้ำอีก จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องแล้ว

๑๗. ห้ามเปิดฝาครอบห้องลูกเลื่อน จนกว่าจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องแล้วเพราะ ลูกเลื่อนอาจจะกระแทกไปข้างหน้าพร้อมกับลูกระเบิดยิง ซึ่งจะทำให้เกิดบาดเจ็บได้

๑๘. เมื่อทำการยิงลูกระเบิดยิง ชนิดระเบิดแรงสูง หรือระเบิดซ้อมยิง จงเฝ้าสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณอันตราย ๓ ประการ ดังนี้.-

๑๘.๑ เกิดเสียงดังผิดปกติ

๑๘.๒ ปืนเกิดควันมาก หรือมีเศษวัสดุออกมาจากใต้โครงปืน

๑๘.๓ หัวลูกระเบิดยิงไม่ออกจากลำกล้องหากอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว แสดงว่ามีหัวลูกระเบิดยิงติดค้างอยู่ในลำกล้องปืนอย่าพยายามรีบเอาหัวลูกระเบิดยิงที่ติดค้างออก จงปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎนิรภัยเสมอ

๑๙.หากคานส่ายชุดเลื่อนลูกระเบิดยิงตัวที่สองไม่เกี่ยวเข้ากับหมุดในชุดเลื่อนลูกระเบิดยิง อย่างถูกต้อง จะทำให้ไม่สามารถทำการยิงได้และอาจทำให้ปืนเกิดชำรุดเสียหายได้

๒๐. จงจำไว้ว่า การใช้ลูกระเบิดยิงที่ผิดประเภท อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นจึงต้องใช้ลูกระเบิดยิงที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองให้ใช้ยิงได้แล้วเท่านั้น

๒๑. ห้ามเข้าใกล้หรือจับต้อง “ลูกระเบิดด้าน” ( ยิงแล้วแต่ไม่ระเบิด ) เพราะลูกระเบิดด้าน อาจเกิดระเบิดได้ทุกขณะอันเป็นอันตรายแก่ชีวิต อย่าปล่อยให้ลูกเลื่อนกระแทกไปข้างหน้าขณะที่ทำการเปิดฝาครอบห้องลูกเลื่อน อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสได้

๒๒. ห้ามยิงลูกระเบิดยิงชนิดระเบิดแรงสูง (HE) ไปยังเป้าหมายในระยะต่ำกว่า ๒๐๐ เมตร เมื่อทำการฝึกยิง หรือทำการยิงในระยะ ๗๕ เมตร เมื่อทำการรบ เพราะสะเก็ดระเบิดสามารถกระจายได้ไกลเกือบ ๒๐๐ เมตร

๒๓. ลูกเลื่อนติดขัด (ไม่สามารถดึงลูกเลื่อนมาข้างหลังได้) ควรดำเนินการดังนี้.-

๒๓.๑ เลื่อนคันบังคับการยิงไปที่ห้ามไก S ( SAFE )

๒๓.๒ ดึงคันรั้งลูกเลื่อนให้ลูกเลื่อนถอยมาข้างหลัง ในขณะที่ฝาครอบห้องลูกเลื่อนกำลังเปิดอยู่

๒๓.๓ ดึงคันรั้งลูกเลื่อนมาข้างหลังจนสุด กระทั่งลูกเลื่อนขัดกลอนในตำแหน่งท้ายปืน

๒๓.๔ ตรวจลูกระเบิดยิง ที่เหลือในถาดป้อนดูว่าลูกระเบิดยิง เรียงอยู่ในแนวตรง หรือไม่

๒๓.๕ แน่ใจว่าส่วนประกอบต่างๆ ที่อยู่ในฝาครอบห้องลูกเลื่อนอยู่ในตำแหน่งถูกต้อง ก่อนที่จะปิดฝาครอบห้องลูกเลื่อน.๖ ปิดฝาครอบห้องลูกเลื่อนเบา ๆ

๒๔. ก่อนที่จะทำการปิดฝาครอบห้องลูกเลื่อน ขอให้แน่ใจว่า

๒๔.๑ คานส่ายชุดเลื่อนลูกระเบิดยิงตัวที่สอง (SECONDARY DRIVE LEVER ) เกี่ยว เข้ากับสลักในชุดเลื่อนลูกระเบิดยิง ( FEED SLIDE PIN )

๒๔.๒ ชุดเลื่อนลูกระเบิดยิง อยู่ในตำแหน่งซ้ายสุด

๒๔.๓ ลูกเลื่อนอยู่ในตำแหน่งข้างหน้า

หากหลงลืมโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ปืนจะไม่สามารถทำการยิงได้และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ปืนได้ ในขณะที่ลูกเลื่อนอยู่ในตำแหน่งที่เปิด อย่าปล่อยให้ฝาครอบห้องลูกเลื่อนปิดตัวเองอย่างแรงเพราะจะทำให้ชิ้นส่วนที่อยู่ภายในชำรุดเสียหายและจะเป็นอันตรายแก่ตัวพลยิง

ข้อควรระวัง

๑. ก่อนประกอบลูกเลื่อน และชุดแผ่นปิดท้ายปืน ต้องให้คันขึ้นนก (COCKING LEVER ) อยู่ข้างหน้าเสมอ หากคันขึ้นนกอยู่ข้างหลัง อาจทำให้ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ เกิดการชำรุดเสียหายได้

๒. เพื่อป้องกันมิให้สลักยึดฝาครอบห้องลูกเลื่อน ( CROSS PIN ) แตกหัก ให้แน่ใจว่า ได้ใส่สลักเข้าไปในช่องใส่สลักฝาครอบห้องลูกเลื่อนจนสนิท ก่อนที่จะปิดฝาครอบห้องลูกเลื่อน

๓. เมื่อทำการปรนนิบัติบำรุงปืนกลยิงลูกระเบิดควรระมัดระวังดังนี้.-

๓.๑ อย่านำส่วนประกอบดังต่อไปนี้ จุ่มลงในน้ำมันทำความสะอาดโดยเด็ดขาด

๓.๑.๑ ชุดลูกเลื่อน ( BOLT ASSEMBLY )

๓.๑.๒ ชุดกระเดื่องไก ( SEAR ASSEMBLY )

๓.๑.๓ หยุ่นรับหัวลูกระเบิดยิง ( OGIVE PLUNGER )

๓.๒ น้ำมันทำความสะอาดปืนจะทำให้ไขข้นที่อยู่ในตลับลูกปืนของชุดลูกเลื่อน (BEARING) และอยู่ในตัวรับแรงถอยของชุดกระเดื่องไก (SEAR ASSEMBLY BUFFERS) เจือจางลง นอกจากนี้ยังทำให้ชุดหยุ่นรับหัวลูกระเบิด เสียหายอีกด้วย

๓.๓ ห้ามถอดชิ้นส่วนประกอบหลักๆ แยกออกจากกัน การถอดชิ้นส่วนโดยละเอียด (การถอดคุมพิเศษ) จะต้องได้รับการกำกับดูแลจากช่างสรรพาวุธเท่านั้น

วิธีการใช้คู่มือ

คำชี้แจงเกี่ยวกับคู่มือ

คู่มือฉบับนี้ แสดงให้ทราบถึงวิธีการใช้และการรักษาปืนกลยิงลูกระเบิด ขนาด ๔๐ มิลลิเมตร MK19 MOD3 และเปลปืน MK64 MOD4 ให้เป็นไปตามคำแนะนำตามลำดับขั้น หากท่านประสบปัญหาเกี่ยวกับปืนกลยิงลูกระเบิด ให้พลิกไปดูเหตุติดขัดและวิธีการแก้ไขข้อขัดข้อง

ขอบเขต

คู่มือผู้ใช้เล่มนี้ บรรจุคำแนะนำต่างๆ สำหรับการใช้และการปรนนิบัติบำรุง ปืนกลยิงลูกระเบิด ขนาด ๔๐ มิลลิเมตร MK19 MOD3 และเปลปืน MK 64 MOD 4 การถอดคุมปืนกลยิง

ลูกระเบิดขนาด ๔๐ มม.MK19MOD3 นี้ กำหนดให้ผู้ใช้ทำการถอดคุมในสนามเท่านั้น ชิ้นส่วนที่ชำรุด และสึกหรอ หรือแตกร้าวทุกชิ้น ควรจะรายงานให้ช่างซ่อมสรรพาวุธทราบ