ตอนที่ ๗ เทคนิคการยิง

ตอนที่ ๗ เทคนิคการยิง

 

ก. ลักษณะการยิง

           ๑. กระสุนวิถี

                  ก) กระสุนวิถีของลูกกระสุน ก็คือ เส้นทางโค้งที่จุดศูนย์ถ่วงของลูกกระสุน เคลื่อนที่ไปในอากาศจากปากลำกล้องปืนถึงตำบลกระสุนตกความรู้เกี่ยวกับกระสุนวิถีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่พลยิงจะต้องเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความจำเป็นจะต้องนำไปใช้ในการยิงกระสุนต่อสู้รถถัง และการยิงข้ามหน่วยทหารฝ่ายเดียวกัน

                  ข) ปืนไร้แรงสะท้อน เป็นอาวุธกระสุนวิถีราบความเร็วต้นและน้ำหนักของลูกกระสุน เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดที่จะต้องนำมาใช้ในการพิจารณาหาความราบของกระสุนวิถีไม่ว่าจะเป็นการยิงในลักษณะใดก็ตามเนื่องจากว่าลูกกระสุนที่เคลื่อนที่ไปในอากาศนั้นมีแรงถ่วงและมีความต้านทานของลมวิถีกระสุนจึงต้องเคลื่อนที่ ไปเป็นเส้นโค้ง และไม่มีทางที่จะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงได้เลยความต้านทานของลมย่อมจะ เป็นตัวต้านให้ลูกกระสุนเคลื่อนที่ได้ช้าลง ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้มุมกระสุนตกใหญ่กว่ามุมยิงเพราะฉะนั้นลูกกระสุนจึงมียอดกระสุนวิถี (จุดที่อยู่บนเส้นทางเคลื่อนที่ซึ่งอยู่สูงสุด) อยู่ใกล้ชิดตำบลกระสุนตกมากกว่าที่ตั้งปืน (รูปที่ ๑๑)

                  ค) เส้นตรงเส้นหนึ่งที่ลากมาสัมผัสกับเส้นกระสุนวิถี ณ ตำบลกระสุนตก เรียกว่า "เส้นกระสุนตก"มุมที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นกระสุนตกกับพื้นดิน ณ ตำบลกระสุนตก เรียกว่า "มุมกระสุนตก" (รูปที่ ๑๑)


รูปที่ ๑๑ ส่วนต่าง ๆ ของกระสุนวิถี


๒. อาการกระจาย

                  ก) เมื่อทำการยิงกระสุนออกไปจากปืนเป็นจำนวนมากด้วยมุมสูงและมุมทิศเดียวกัน ในสภาพอากาศที่เหมือนกัน ตำบลกระสุนตกของลูกกระสุนย่อมจะกระจัดกระจายกันออกไปทั้งในทางระยะและทางทิศการกระจัดกระจายของตำบลกระสุนตกดังกล่าวนี้เรียกว่า "อาการกระจาย" แต่อย่างไรก็ตาม ตำบลกระสุนตกของลูกกระสุนนัดต่าง ๆ ก็มักจะไปรวมกันอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของบริเวณตำบลกระสุนตกนั้นเป็นจำนวนมากนัดที่สุดซึ่ง ณ ตรงจุดศูนย์กลางดังกล่าวนี้ เรียกว่า "จุดปานกลางมณฑล" ส่วนลูกกระสุนบางนัดที่ตกกระจัดกระจายห่างออกไปจากจุดศูนย์กลาง ก็อาจจะกระจัดกระจายออกไปตกได้ทั้งในทางหน้า ทางหลัง ทางซ้ายและทางขวาของจุดศูนย์กลางได้เท่า ๆ กัน

                  ค) ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการกระจายก็คือ ความแตกต่างในน้ำหนัก และส่วนประกอบของดินส่งกระสุน ,น้ำหนักและอาการทรงตัวของลูกกระสุน , และสภาพบรรยากาศ


รูปที่ ๑๒  อาการกระจายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 

๓. อาการกระจายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและความผิดพลาดที่ใช้ได้ โดยทั่วไปแล้วตำบลกระสุนตกของกระสุนที่ทำการยิงออกไปแต่ละนัดที่ใช้ ภาพเล็งเดียวกันนั้น มักจะไปตกรวมกันอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปหนึ่งซึ่งมีแกนทางยาวไปตามแนวที่ตั้งปืนกับเป้าหมาย ถ้าแบ่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปนี้ออกเป็นแปดส่วนเท่า ๆ กันโดยการลากเส้นตรงหลาย ๆ เส้นให้ตัดและตั้งได้ฉากกับเส้นยิง ( เส้นตรงทางระดับจากปากลำกล้องปืนตรงไปในทิศทางเดียวกับกระสุนวิถี) ก็เป็นสิ่งที่สามารถจะคาดได้ว่าตำบลกระสุนตกจะปรากฏอยู่ ในแต่ละส่วนของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นเปอร์เซ็นต์ตามที่แสดงไว้ในรูปที่ ๑๒ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะสังเกตไว้ด้วยว่า ในพื้นที่สองส่วนที่อยู่ติดกับศูนย์กลางอาการกระจายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามากที่สุดนั้น จะมีจำนวนกระสุนตกในแต่ละส่วนมากถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ความยาว ( ตามทิศทางยิง) ของพื้นที่แต่ละส่วนที่อยู่ติดกับศูนย์กลางอาการกระจายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้เรียกว่า "หนึ่งระยะความผิดพลาดที่ใช้ได้" ค่าความยาวของหนึ่งระยะความผิดพลาดที่ใช้ได้นับเป็นหน่วยเมตร ซึ่งจะมีค่าไม่คงที่เหมือนกับระยะจากที่ตั้งปืน ถึงจุดปานกลางมณฑลและจะมีกำหนดไว้ในตารางยิงตามชนิดของกระสุนที่ใช้ยิง ส่วนความผิดพลาดที่ใช้ได้ในทางทิศก็คงมีลักษณะเป็นแบบเดียวกันกับความผิดพลาดที่ใช้ได้ในทางระยะตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และจะกำหนดค่าความกว้างไว้ในตารางยิงเช่นเดียวกัน

ข. การหาระยะการยิง

           ๑. กล่าวทั่วไป

                  ก) ความสามารถในการหาระยะยิงได้อย่างถูกต้องย่อมจะมีผลกระทบกระเทือนต่อขีดความสามารถในการยิงกระสุนนัดแรก ด้วยกระสุนปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม. เวลาที่มีอยู่สำหรับทำการยิงจากที่ตั้งยิงเล็งตรงย่อมจะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ  เพราะฉะนั้น การหาระยะยิงได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง จึงถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด สำหรับการยิงปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.

                  ข) วิธีการกะระยะหลักด้วยการใช้ปืนไร้แรงสะท้อน ก็คือ ใช้เส้นวัดระยะที่มีอยู่ในกล้องเล็งส่วนวิธีการกะระยะรองนั้น สามารถกระทำได้เป็น ๓ วิธี คือ

                         ๑) ใช้การวัดระยะบนแผนที่

                         ๒) การกะระยะด้วยสายตา

                         ๓) ใช้กล้องส่องสองตาผสมผสานกับการใช้สูตรมิลเลียม

                  ค) วิธีการหาระยะหลักด้วยการใช้ปืนไร้แรงสะท้อน ก็คือ การใช้ปืนชี้ที่หมายทำการยิงไปก่อน

           ๒. การใช้เส้นวัดระยะ

                  ก) เส้นวัดระยะที่มีอยู่บนแว่นมาตราส่วนของกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี. และ เอ็ม.๙๒ เอฟย่อมจะนำไปใช้เป็นเครื่องช่วยในการกะระยะไปยังเป้าหมายต่าง ๆ ได้ตามขนาดของที่หมายที่มองเห็น เส้นวัดระยะนี้จะมีลักษณะเป็นเส้นโค้งสองเส้นที่ลากอยู่บนแว่นมาตราส่วน เส้นวัดระยะทั้งสองเส้นนี้จะวัดระยะได้ โดยการจับภาพที่อยู่ภายในเส้นสองเส้นนี้ ตามหลักพื้นฐานของการสร้างเส้นวัดระยะทั้งสองเส้นนี้ได้พิจารณามาจากขนาดของรถถังที่มีความยาว ๒๐ ฟุต และความกว้าง๑๐ ฟุตขนาดของรถถังดังกล่าวนี้ ถือว่าไม่ใช่เป็นขนาดที่ถูกต้องของรถถังโดยทั่ว ๆ ไป แต่ก็ถือได้ว่าจะเป็นผลกระทบกระเทือนต่อการที่จะกะระยะได้อย่างถูกต้อง

                  ข) กฎการใช้มาตราวัดระยะมีดังต่อไปนี้ คือ

                         ๑) เมื่อรถถังหันด้านข้างให้ที่ตั้งปืน ให้ปรับการเล็งของปืนไปจนกว่าขอบทั้งสองของรถถังจะสัมผัสกับเส้นวัดระยะทั้งสองเส้น (รูปที่ ๑๓)

                         ๒) เมื่อรถถังหันหน้าตรงมายังหรือหันหลังออกไปตรง ๆ จากที่ตั้งปืน ให้ปรับการเล็งของปืนไปจนกว่าขอบด้านหนึ่งของรถถังจะสัมผัสกับเส้นวัดระยะและขอบอีกด้านหนึ่งจะสัมผัสกับเส้นบอกระยะในทางดิ่งของแว่นมาตราในกล้องเล็ง การที่กำหนดให้ใช้เส้นวัดระยะเพียงเส้นเดียวก็เพราะว่าได้สันนิษฐานความกว้างของรถถังเอาไว้เพียง ๑๐ ฟุตเท่านั้น (รูปที่ ๑๔)

                         ๓) เมื่อรถถังแล่นเข้ามา หรือแล่นออกไปในทิศทางเฉียงกับที่ตั้งปืนและปรากฏขนาดให้เห็นทางความยาวมากกว่าความกว้าง ก็ให้เล็งปืนในลักษณะที่ให้เอาขอบด้านนอกสุดของรถถังทั้งสองข้างที่ปรากฏแก่สายตา อยู่ภายในเส้นวัดระยะทั้งสองเส้น (รูปที่ ๑๕)

                         ๔) เมื่อรถถังแล่นเข้ามา หรือแล่นออกไปในทิศทางเฉียงกับที่ตั้งปืน แต่ปรากฏให้เห็นทางความกว้างมากกว่าความยาวก็ให้เล็งปืน ในลักษณะที่ให้ความกว้างด้านหน้า หรือความกว้างทางด้านหลังของรถถังที่ปรากฏแก่สายตา อยู่ในระหว่างเส้นวัดระยะทางข้างใดข้างหนึ่ง กับเส้นบอกระยะในทางดิ่ง ของแว่นมาตราในกล้องเล็ง (รูปที่ ๑๖)

                         ๕) สำหรับวิธีอ่านระยะในกล้องเล็งนั้น ไม่ว่าจะมองเห็นรถถังในลักษณะการอย่างใดตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๑) ถึงข้อ ๔) ข้างต้นก็ตามให้อ่านระยะที่จุดใดจุดหนึ่งบนเส้นบอกระยะในทางดิ่ง ซึ่งจุดศูนย์กลางของเป้าหมายอยู่ตรงจุดนั้นพอดี เส้นวัดระยะนี้จะใช้เป็นเพียงเครื่องช่วยในการกะระยะเท่านั้น ในบางกรณีเส้นวัดระยะทั้งสองเส้นก็ไม่แสดงภาพการเล็งที่ถูกต้องให้ทำการยิงเป้าหมายได้ในทันที เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจัดภาพ ของเป้าหมายให้อยู่ในแว่นมาตราของกล้องเล็งให้ถูกต้องเพื่อให้ทราบระยะเสียก่อนแล้วจึงทำการเล็งใหม่ ตามจุดเล็งที่ต้องการหลังจากที่ได้ใช้เส้นวัดระยะเป็นเครื่องช่วยในการกะระยะแล้ว

           ๓. การวัดระยะบนแผนที่ ในการหาระยะบนแผนที่นั้น ความถูกต้องแน่นอนย่อมขึ้นอยู่กับความชำนาญในการอ่านแผนที่และความถูกต้องของแผนที่เป็นประการสำคัญในการหาระยะจากที่ตั้งปืนไปยังเป้าหมายนั้นสามารถจะกระทำได้โดยการกำหนดจุดที่ตั้งปืน และที่ตั้งเป้าหมายลงบนแผนที่  แล้ววัดระยะนี้บนแผนที่ตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ใน รส.๒๑-๒๖

           ๔. การกะระยะด้วยสายตา  การกะระยะด้วยสายตาสามารถจะกระทำได้เป็น ๒ วิธี คือการกะระยะโดยใช้หน่วยหลัก ๑๐๐ เมตร และวิธีจดจำลักษณะปรากฏของเป้าหมาย

                  ก) วิธีการกะระยะโดยใช้หน่วยหลัก ๑๐๐ เมตร

                         ๑) การกะระยะด้วยวิธีนี้ทหารจะต้องมีความสามารถจดจำระยะ ๑๐๐ เมตรบนพื้นดินไว้ให้แม่นเมื่อทหารจดจำระยะนี้ไว้ได้แม่นยำดีแล้ว ทหารก็จะสามารถกะได้ว่า จากจุดที่อยู่ของทหารไปถึงเป้าหมายนั้นจะแบ่งออกเป็นระยะหลัก ๑๐๐ เมตร ได้กี่ห้วง ต่อจากนั้นจึงเอาจำนวนห้วงระยะ ๑๐๐ เมตรที่กะได้รวมกันเข้าเพราะฉะนั้นผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็นระยะจากที่ทหารอยู่ไปยังเป้าหมายอย่างไรก็ตามในการฝึกการกะระยะของทหารว่าจะถูกต้องหรือไม่นั้น จะต้องตรวจสอบการกะระยะโดยวิธีนับก้าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (ระยะก้าวของทหารโดยทั่วไปแล้ว จะถือว่าประมาณ ๑๓๐ ก้าวต่อระยะ ๑๐๐ เมตร) ดังนั้นการฝึกให้ทหารจดจำระยะหน่วยหลัก ๑๐๐ เมตรจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องฝึกอยู่เป็นประจำ แต่การฝึกการกะระยะโดยใช้นับหน่วยหลัก ๑๐๐ เมตรนี้จะได้ผลเป็นอย่างดีในระยะไม่เกิน ๕๐๐ เมตร ลงมาเท่านั้น

                         ๒) สำหรับการกะระยะตั้งแต่ระยะ ๕๐๐ เมตรขึ้นไป ให้ใช้วิธีการกะระยะโดยการหาจุดกึ่งกลางระหว่างทางจากจุดที่ทหารอยู่ไปยังเป้าหมายขึ้นจุดหนึ่งเสียก่อนแล้วจึงทำการกะระยะไปยังจุดกึ่งกลางด้วยวิธีใช้หน่วยหลัก ๑๐๐ เมตร เมื่อวัดระยะได้เท่าไรแล้วให้เอา ๒ ไปคูณเพราะฉะนั้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็นระยะจากจุดที่ทหารอยู่ไปยังเป้าหมายตามที่ต้องการ แต่การกะระยะด้วยวิธีนี้ จะไม่มีความแม่นยำในระยะที่เกินกว่า ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป

หมายเหตุ

           ในภูมิประเทศบางแห่ง จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการวัดด้วยการใช้ระยะหลัก ๑๐๐ เมตร เช่น ภูมิประเทศที่เป็นที่ลาดขึ้นไปสู่เป้าหมายจะทำให้การกะระยะได้มากกว่าความเป็นจริง และภูมิประเทศเป็นที่ลาดลงไปหาเป้าหมายจะทำให้การกะระยะได้น้อยกว่าความจริง เป็นต้น

                  ข) วิธีจดจำลักษณะปรากฏของเป้าหมาย มีบ่อยครั้งที่ทหารไม่สามารถ จะทำการตรวจการณ์เห็นลักษณะภูมิประเทศโดยตลอดไปยังเป้าหมายได้  ในกรณีเช่นนี้จะไม่สามารถ ใช้วิธีการกะระยะโดยใช้หน่วยหลัก๑๐๐ เมตรได้ จึงจำเป็นต้องหาระยะยิงด้วย วิธีจดจำลักษณะปรากฏของเป้าหมาย การใช้วิธีการเช่นนี้ทหารจะต้องเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติให้เกิดความคุ้นเคยกับการมองเห็นภาพของเป้าหมายในระยะต่าง ๆ ซึ่งทราบแล้วตัวอย่างเช่น ฝึกให้ทหารหัดจดจำขนาดของรถถังหรือรถยนต์ที่อยู่ห่างจากตนในระยะต่าง ๆ ตั้งแต่ระยะ ๑๐๐เมตร ไปจนถึง ๑,๑๐๐ เมตรไว้ให้แม่นยำ เป็นต้น

           ๕. การใช้กล้องส่องสองตา วิธีหาระยะห่างระหว่างที่ตั้งเป้าหมาย กับที่ตั้งยิงอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้กล้องส่องสองตาร่วมกับสูตรมิลเลียม ในการใช้กล้องส่องสองตาร่วมกับ สูตรมิลเลียมคำนวนหาระยะยิงนั้น มีความจำเป็นจะต้องทราบข้อมูลสองประการคือ ความกว้างของเป้าหมายเป็นหน่วยเมตร (ความกว้างตามความเป็นจริง) และความกว้างของเป้าหมายเป็นมุมมิลเลียม สำหรับความกว้างของเป้าหมายเป็นหน่วยเมตรนั้นให้ถือเป็นกฏเกณฑ์ตายตัวว่ารถถังมีความกว้าง ๓ เมตร ความยาว ๖ เมตร ส่วนความกว้างของเป้าหมายเป็นมุมมิลเลียม ก็ให้ใช้มาตรามุมมิลเลียมของกล้องส่องสองตาเป็นเครื่องมือวัด (ความกว้างของเป้าหมายตามขนาดที่มองเห็น)  เพราะฉะนั้นเมื่อใช้กล้องส่องสองตาวัดความกว้างของเป้าหมายที่มองเห็นได้เป็นกี่มิลเลียม แล้วก็สามารถจะคำนวนให้ทราบได้อย่างรวดเร็วว่าเป้าหมายนั้นอยู่ห่างจากที่ตั้งยิงกี่เมตร โดยใช้สูตรง่าย ๆ ดังนี้คือ

          


รูปที่ ๑๓  ตัวอย่างการใช้เส้นระยะ (ภาพด้านข้างของรถถัง)


รูปที่ ๑๔  ตัวอย่างการใช้เส้นวัดระยะ (ภาพด้านหน้าของรถถัง)


รูปที่ ๑๕  ตัวอย่างการใช้เส้นวัดระยะ            รูปที่ ๑๖  ตัวอย่างการใช้เส้นวัดระยะ

(ภาพทางเฉียงของรถถังด้านข้าง)                (ภาพทางเฉียงของรถถังทางด้านหน้า)


๖. การใช้ปืนชี้ที่หมาย

                  ก) เมื่อตั้งปืนชี้ที่หมายเป็นแนวเดียวกันกับปืนไร้แรงสะท้อนอย่างถูกต้องแล้ว ปืนชี้ที่หมายก็ย่อมจะมีกระสุนวิถีอยู่ในแนวเดียวกันกับกระสุนวิถีของปืนไร้แรงสะท้อนไปจนถีงระยะยิง ๑,๕๐๐ เมตร เพราะฉะนั้นถ้าใช้ปืนชี้ที่หมายยิงถูกเป้าหมายแล้ว ปืนไร้แรงสะท้อนก็ย่อมจะยิงถูกที่เป้าหมายด้วยอย่างไม่มีปัญหา

                     ข) ในชั้นต้นจะต้องหาระยะยิงให้ทราบเสียก่อน ด้วยการใช้วิธีการหาระยะอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น แล้วใช้ระยะยิงนั้นเป็นหลักฐานการยิงปืนชี้ที่หมาย และทำการปรับการยิงไปจนกว่ากระสุนปืนชี้ที่หมายจะถูกเป้าหมาย แล้วจึงทำการยิงปืนไร้แรงสะท้อนด้วยหลักฐานการยิงที่ยิงกระสุนปืนชี้ที่หมายถูกเป้าหมายแล้วนั้นติดตามไปในทันทีโดยไม่จำเป็นต้องหาระยะยิงให้กับปืนไร้แรงสะท้อนอีก