สมุดบันทึกแต้ม

สมุดบันทึกแต้ม

ก. กล่าวนำ

ความมุ่งหมาย ในการสอนวิชานี้ก็เพื่อที่จะให้ทหารรู้ถึงการลงสมุดบันทึกแต้มตามช่องต่าง ๆ ได้ถูกต้องและสมบูรณ์ทั้งจังหวะเร็ว และจังหวะช้า

ข. การลงสมุดบันทึกแต้มจังหวะช้า

๑. ชื่อของพลยิง ตามระยะต่าง ๆ นั้นให้ลงไว้ด้านบนซ้ายสุด ชุดและสาย ลงด้านบนขวาสุดชื่อผู้กำกับพลยิง ลงด้านล่างขวาสุด

๒. ช่องรายงาน หลังจากพลยิงได้ทำการยิงไปแต่ละนัดแล้วให้พลยิง จุดลง ไปในช่องวงกลมในช่องรายงานจุดนี้เป็นจุดที่ท่านคิดว่ากระสุนจะไปถูก ถ้าท่านคิดว่ากระสุนจะถูกตรงไหนให้ท่านจุดลงไปตรงนั้นวงนั้นทำไว้สำหรับแทนวงดำเท่านั้น ถ้าท่านคิดว่าไม่เข้าวงดำหรือสงสัยว่านัดนี้ไม่ทราบว่าตำบลกระสุนถูก จะถูกตรงไหนของวงดำ ก็ไม่ต้องจุดลง ในช่องนี้จะช่วยในสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

ก. ตั้งศูนย์ถูกหรือผิด

ข. ท่ายิงถูกหรือไม่

ค. จับปืนถูกหรือไม่

ง. ลั่นไกถูกหรือไม่

จ. แหยงปืนหรือไม่

๓. การจดตำบลกระสุนถูกหลังจากทำการยิงไปแล้วแต่ละนัดพลยิงจะต้องจดตำบลกระสุนถูกลงไปในสมุดบันทึกแต้มโดยการเขียนเป็นหมายเลขลงไปการทำเช่นนี้จะทำให้พลยิงทราบว่ากลุ่มกระสุนของตนเองอยู่ที่ไหนและยังช่วยในการตัดสินใจในการแก้ศูนย์ของพลยิงและผู้กำกับพลยิงอีกด้วย

๔. ช่องทิศทางลมและความเร็วลม สำหรับทิศทางลมและความเร็วลมให้พลยิงและผู้กำกับพลยิงตกลงใจว่ามีค่าเท่าไร หรือสอบถามนายสนามยิงปืน

๕. ช่องมุมสูงที่ใช้ มุมสูงที่จะมาใส่ในช่องนี้ในวันแรก คือ วันยิงสอบศูนย์ นายสนามจะเป็นผู้บอกจำนวนมุมสูงให้ว่าเราจะใช้เท่าไร สำหรับวันต่อ ๆ มาเราก็เอามาจากผลของการยิงที่เราปรับแล้วนำมายิงเป็นนัดแรกของวันต่อมา

๖. ช่องแก้มุมสูง ช่องนี้จะเป็นการบอกว่าในระยะนั้นควรใช้ศูนย์เท่าไร และถ้าจะยิงครั้งต่อไปให้นำศูนย์ นี้มาใช้ ช่องนี้จะลงได้ก็ต่อเมื่อทำการยิงไปแล้วสิบนัด ช่องนี้ผู้กำกับพลยิงจะเป็นผู้ลงให้เมื่อลงให้เสร็จแล้ว ให้ทำวงกลมล้อมไว้ด้วย

๗. ช่องแก้ลม ช่องนี้สำหรับใส่ค่าในการแก้ลมว่าขณะที่เราทำการยิงนั้น แก้ฝืนลมไปทางขวาหรือทางซ้ายกี่คลิ๊ก เพื่อเป็นประโยชน์ในวันต่อไปเพราะบางทีวันต่อไปไม่มีลมเลย เราจะได้หักค่าของลมออกเสีย

๘. ช่องจำนวนนัด ช่องนี้ได้เขียนจำนวนนัดไว้เรียบร้อยแล้ว มีทั้งหมดสิบนัดพอดี

๙. ช่องมุมสูง ช่องนี้มีไว้สำหรับบันทึกความเปลี่ยนแปลงของศูนย์ขณะทำการยิงว่านัดที่หนึ่งใช้มุมสูงเท่าไรและนัดที่เก้าเท่าไร ให้เราทำการลงมุมสูงลงไปให้ครบ

๑๐. ช่องมุมทิศ ช่องนี้มีไว้สำหรับบันทึกค่าเปลี่ยนแปลงของมุมทิศตั้งแต่นัดที่หนึ่ง ถึงนัดที่สิบ

๑๑. ช่องแต้ม มีไว้สำหรับกรอกแต้ม ลงไปว่านัดที่หนึ่งกี่แต้ม นัดที่สองกี่แต้ม ลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบสิบนัด เมื่อครบ ๑๐ นัด ให้รวมแต้มแล้วใส่ลงในช่องแต้ม ช่องล่างสุด

๑๒. ช่องหมายเหตุ ช่องนี้จะเป็นการลงว่าพลยิงได้ทำอะไรผิดพลาดไปบ้างและทัศนวิสัยโดยจะลง ดังนี้.-

ก. ดินฟ้าอากาศ

ข. ขณะยิงมีลมกระโชก

ค. แหยงปืน

ง. ผู้กำกับพลยิงชี้ข้อบกพร่อง และวิธีแก้ไขให้ด้วย

๑๓. สเกลแก้ทางทิศและทางสูง สเกลนี้มีไว้สำหรับแก้ทางทิศและทางสูงโดยที่เราไม่ต้องคำนวณใด ๆ ทั้งสิ้นเพียงแต่ลากเส้นประจำที่อยู่กึ่งกลางของกลุ่มกระสุนดูเท่านั้นเองว่าเราต้องแก้ ขึ้น - ลง หรือ ขวาซ้ายเท่าไร

ค. การลงสมุดบันทึกแต้มจังหวะเร็ว

สำหรับสมุดบันทึกแต้มจังหวะเร็ว การลงรายละเอียดต่าง ๆ ทำการลงเหมือนกับจังหวะช้าทุกอย่างมีเพียง๔ ช่อง เท่านั้น ที่ลงไม่เหมือนจังหวะช้าดังนี้

๑. การจดตำบลกระสุนถูก ตำบลกระสุนถูกสำหรับจังหวะเร็วให้กากะบาดสำหรับชุดแรกถ้ามีการยิงถึงสองชุด ชุดที่สองต้องทำวงกลมของกลุ่มกระสุนแต่ละชุดการกากะบาดให้กาให้เห็นเพียงกลุ่มกระสุนเท่านั้นเพื่อสะดวกในการปรับปืน

๒. ช่องแต้ม,นัด, รวมทำไว้ต่างกับจังหวะช้าช่องนี้เขาจะใส่แต้มไว้เลขคือ ๕ แต้ม ๔ แต้ม จนกระทั่งศูนย์แต้ม ถัดออกไปก็เป็นช่องนัด ช่องนี้สำหรับใส่จำนวนนัดได้ ๕ แต้ม กี่นัด ๔ แต้มกี่นัด จนถึงศูนย์กี่นัดส่วนช่องรวมมีไว้สำหรับรวมว่า ๕ แต้มกี่นัด รวมเป็นเท่าไร ๒ แต้มกี่นัด รวมเป็นเท่าไร ช่องใคร ช่องมัน เมื่อบวกแต้มของแต่ละช่องได้เท่าไร แล้วใส่ลงในช่องสุดท้าย