การฝึกท่ายิง

ท่ายิง

คงใช้ท่ายิงเช่นเดียวกับท่ายิงของ ปลย.ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ (ปลย.เอ็ม.๑๖) ท่ายิงต่าง ๆ ที่มีการพาดปืนย่อมจะเกิดความมั่นคงให้แก่อาวุธยิงขึ้น และสามารถทำได้ควรใช้ท่ายิงพาดปืนเสมอ สำหรับท่ายิงของเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม.๗๙ แตกต่างจากท่ายิงของ ปลย.ดังนี้.-

๑. หัวแม่มือขวาต้องวางแนบติดอยู่กับด้านขวาของพานท้ายปืน เพราะถ้าพลยิงวางหัวแม่มือไว้ตรงส่วนบนคอปืนแล้วอาการสะท้อนถอยหลังของเครื่องยิงจะทำให้ห้ามไกปืนอาจจะกระแทกหัวแม่มือ ทำให้เกิดบาดเจ็บได้

๒. ไม่จำเป็นต้องใช้จุดสัมผัสระหว่างหัวแม่มือกับแก้ม

ท่ายิงของเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม.๗๙ ขนาด ๔๐ มม. มีดังนี้.-

๑. ท่านอนยิง และท่านอนยิงดัดแปลง

๒. ท่านั่งคุกเข่ายิง และท่านั่งคุกเข่ายิงดัดแปลง

๓. ท่านั่งราบยิง และท่านั่งราบยิงดัดแปลง แบ่งออกเป็น

ก) ท่านั่งราบเปิดขา

ข) ท่านั่งราบไขว้ข้อเท้า

ค) ท่านั่งราบยิงไขว้ขา

๔. ท่านั่งสูงยิง และนั่งสูงยิงดัดแปลง

๕. ท่ายิงจากหลุมบุคคล และท่ายิงจากหลุมบุคคลดัดแปลง

๖. ท่ายืนยิง (ปกติใช้เฉพาะศูนย์คงที่)

สำหรับท่ายิงธรรมดานั้นคงใช้ท่ายิงด้วยการประทับไหล่เช่นเดียวกับ ปลย. ท่ายิงดัดแปลงปกติใช้เมื่อระยะยิงมากกว่า ๑๕๐ เมตร และใช้การจัดแนวศูนย์ของระยะยิงต่อที่หมายที่ไกล และปรับท่ายิงได้ดังนี้

๑. ลดพานท้ายลงจากบ่าหรือเลื่อนพานท้ายลงจากไหล่ เพื่อที่จะจัดแนวศูนย์ปืนได้ตามต้องการ ในระยะยิงที่ใกล้เคียงกับระยะไกลสุด พานท้ายควรจะลดลงมาอยู่ระหว่างเอวและรักแร้ พานท้ายจะถูกหรือติดแน่นกับลำตัวด้วยแขนท่อนบน ในท่านอนยิงพานท้ายของเครื่องยิงควรจะวางยันอยู่กับพื้นในเมื่อพานท้ายไม่สามารถประทับไหล่ได้

๒. เมื่อจุดสัมผัสระหว่างแก้มและพานท้ายไม่สามารถกระทำได้ ควรจะต้องรักษาระดับศีรษะไว้

๓. สายสะพายจัดให้มีไว้เป็นเครื่องช่วยในการสะพายปืนนำไปมาเท่านั้น มิได้ใช้เพื่อช่วยในการยิงเครื่องยิงลูกระเบิด

----------------------------