บทที่ ๗ กล้องวัดมุม และการตั้งปืนตรงทิศ

กล่าวทั่วไป

           กล้องวัดมุดชนิดเข็มทิศ ปืนใหญ่เรียกว่า "กล้องกองร้อย" ซึ่งใช้ในหน่วยระดับกองร้อยในการตั้งปืนตรงทิศ โดยทั่วไปกล้องวัดมุมชนิดเข็มทิศที่นำมาใช้กับเครื่องยิงระเบิดลักษณะการใช้ในความมุ่งหมายเดียวกันบางหน่วย ค.๘๑ มม.มีกล้อง เอ็ม ๑ ซึ่งเป็นแบบเก่า และบางหน่วยได้เปลี่ยนกล้องวัดมุม เอ็ม ๒ แล้ว ในกองร้อยปืนใหญ่จะมีกล้องวัดมุมรุ่นใหม่ กล้องวัดมุม จี ๑๑ ขีดความสามารถของกล้องทั้ง ๓ แบบ ไม่แตกต่างกัน  เพียงแต่ขาหยั่งกล้อง เอ็ม ๒ และ จี ๑๑ ได้พัฒนาออกแบบการสร้างให้ขาหยั่งมีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น

           การใช้งานโดยทั่วไป

           ๑. ใช้วัดมุมภาคทิศ

           ๒. ใช้วัดมุมทางระดับและมุมทางสูง

           ๓. ใช้ตั้งปืนตรงทิศ

           ๔. ใช้งานสำรวจแผนที่ ในอัตราส่วนความถูกต้อง ๑/๕๐๐

           ๕. ใช้เป็นกล้องตรวจการณ์ได้บางโอกาส

กล้องวัดมุดชนิดเข็มทิศ M.1

ลักษณะทั่วไปโดยย่อ

           กล้องวัดมุดชนิดเข็มทิศ เอ็ม.๑ ประกอบด้วยชิ้นส่วนใหญ่ ๆ ๓ ชิ้น คือ

           ๑) ตัวกล้องประกอบด้วย

                ก. ส่วนบน

                ข.ส่วนล่าง

           ๒) ขาหยั่ง เป็นขาหยั่งชนิดสามขา ยืดเข้าออกให้สั้นยาวได้ตามความต้องการ ตอนบนมีแกนหัวขาหยั่งสำหรับติดตั้งตัวกล้อง

           ๓) หีบใส่กล้องและเครื่องให้แสง เป็นรูปทรงกระบอก ฝาใช้เก็บเครื่องให้แสงที่จะนำมาประกอบกับกล้อง ใช้ประกอบในเวลากลางคืนหรือในขณะที่มีอากาศมืดมัวได้

การตั้งกล้องวัดมุมชนิดเข็มทิศ เอ็ม.๑

           ในทันทีที่นำกล้องวัดมุมพร้อมด้วยขาหยั่งออกจากกล่องแล้ว ให้เอาฝากล่องครอบกล่องไว้อย่างเดิม เพื่อป้องกันมิให้สิ่งสกปรกหลุดเข้าไปได้ การสวมฝากล่องกล้อง ต้องสวมให้รอยตะเข็บตรงกันแล้วนำไปเก็บบนยานพาหนะ หรือวางไว้ใกล้ ๆ กล้องนั้น การตั้งกล้องทำตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้

           ๑. ดึงขาของขาหยั่งแต่ละขาออกให้ยาวประมาณ ๑ - ๕ นิ้ว และขันให้แน่น

           ๒. กางขาทั้ง ๓ ออกจากแกนกล้องให้แต่ละขาทำมุมประมาณ ๓๐ - ๔๕ องศา กับแกนกล้อง

           ๓. ตั้งกล้องให้แกนกล้องตั้งดิ่ง และชี้ตรงจุดที่เราจะทำการวัด

           ๔. ยกแกนกล้องขึ้นประมาณ ๑ - ๒ นิ้ว และขันให้แน่น (ต้องแน่ใจว่าได้ขันแกนกล้องแน่นจริง ๆ)

           ๕. ตั้งกล้องให้ได้ระดับ โดยให้ฟองระดับวงกลมอยู่ตรงกึ่งกลาง แล้วขันควงผีเสื้อตัวกล้องให้แน่น (ควงผีเสื้อยึดดุมกล้อง ตรงข้อต่อและเบ้า) กล้องพร้อมที่จะใช้งาน

การนำกล้องวัดมุม เอ็ม.๑ เก็บเข้าในกล่องกล้อง

           ก. จะต้องนำกล้องเก็บในกล่องเสมอเมื่อไม่ใช้นอกจากจะต้องนำกล้องไปในระยะใกล้ ๆ เพื่อจะตั้งกล่องใหม่อีก

           ข. ถ้าได้ประกอบเครื่องให้แสงสว่าง ถอดเครื่องให้แสงสว่างออกจากตัวกล้องเอาถ่านไฟฉายออก เก็บเครื่องให้แสงไว้ในฝากล่องตามเดิม

           ค. กดปุ่มห้ามเข็มทิศทันที ก่อนเก็บเข้ากล่อง

กล้องวัดมุม เอ็ม.๑ ขาหยั่ง เอ็ม.๕

ลำดับขั้นในการเก็บและนำเข้ากล่องกล้องดังนี้

           ๑) ตรวจดูให้แน่ใจเสียก่อนว่าได้กดปุ่มห้ามเข็มทิศแล้ว

           ๒) คลายควงผีเสื้อยึดแกนดุมกล้อง เพื่อให้สะดวกในการเก็บกล้อง

           ๓) ลดแกนกล้องลงจนสุดและขันควงผีเสื้อให้แน่นพอประมาณ

           ๔) ลดขาหยั่ง โดยหมุนไปให้ถูกทาง (อยู่ในทางเดียวกัน โดยให้ควงผีเสื้อยึดขาหยั่งอยู่ขนานกับแกนกล้องมากที่สุด ข้อพึงระมัดระวังที่สำคัญ อย่าให้ควงผีเสื้อกระทบกับแกนกล้อง จะทำให้แกนกล้องบุบ ไม่สามารถจะยกแกนกล้องได้) แล้วขันควงผีเสื้อให้แน่น

กล้องวัดมุมชนิดเข็มทิศ M.2

 

ลักษณะทั่วไป กล้องวัดมุมชนิดเข็มทิศ เอ็ม.๒ ประกอบด้วยส่วนใหญ่ ๆ ๒ ส่วน


ก. ตัวกล้อง

           ๑. ส่วนบน ประกอบด้วย

                ก) กล้องส่องมีกำลังขยาย ๔ เท่า,หวอดระดับทางสูง

                ข) ที่หมายเล็งสะท้อนแสง ใช้ตั้งปืนตรงทิศในเวลากลางคืน

                ค) ควงมุมสูง ใช้วัดมุมสูงและยกเส้นเล็ง

                ง) ควงมาตรามุมภาคทิศ (ควงจานทิศบน) มีมาตรามุมภาคทิศส่วนย่อย

                จ) โครงกล้อง,เข็มทิศ,คันล๊อกเข็มทิศ,ดรรชนีมุมภาคทิศ,หวอดระดับทางข้าง และหวอดระดับวงกลม

           ๒. ส่วนล่าง ประกอบด้วย

                ก) ฐานกล้อง และแถบบันทึกค่ามุมเยื้อง

                ข) ควงปรับหวอดระดับ

                ค) ควงจานทิศล่างและครอบล๊อกควงจานทิศล่าง

                ง) มาตรามุมภาคทิศส่วนใหญ่

ข. วิธีการตั้งกล้องให้พร้อมใช้งาน

           ๑. ปลดเข็มขัดรัดขาหยั่ง,คลายควงเกลียวผีเสือยึดขาท่อนล่าง เลื่อนขาหยั่งกล้องท่อนล่างให้ยาวตามต้องการ

           ๒. วางขาหยั่งตรงจุดที่เลือก (จุดตั้งกล้อง)

           ๓. กางขาทั้งสามฝังดินให้มั่นคง ตรวจหัวขาหยั่งและทำให้อยู่ในระดับ

           ๔. นำฝาปิดหัวขาหยั่งออก ดึงแผ่นสปริงปิดช่องสวมเดือยออก วางกล้องแล้วขันเดือยกล้อง (อย่าขันให้แน่นจนเกินไป)

           ๕. เกี่ยวสายดิ่ง ขยับแผ่นฐานกล้องให้ลูกดิ่งตรงจุดตั้งกล้อง

           ๖. ถอดฝาครอบกล้องแล้วแขวนเข็มขันฝาครอบกล้องไว้กับฝาครอบหัวขาหยั่ง

           ๗. ขันเดือยยึดกล้องให้แน่น ห้ามออกแรงปิดให้แน่นมากเพราะจะทำให้เดือยขันกล้องชำรุด

           ๘. ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องให้แสงถ้าจำเป็น

             ๙. ปรับหวอดระดับวงกลมให้อยู่กึ่งกลาง โดยหมุนควงเกลียวปรับระดับกล้องให้หวอดระดับวงกลมอยู่กึ่งกลาง แล้วตรวจสอบหวอดระดับ โดยหมุนควงจานทิศบนไปที่ควงปรับหวอดระดับทั้งสามด้าน ถ้าหวอดระดับวงกลมไม่อยู่กึ่งกลางให้ปรับหวอดระดับใหม่ซ้ำอีกจนกระทั่งหวอดระดับวงกลมอยู่กึ่งกลางกล้องก็จะอยู่ในลักษณะพร้อมใช้งาน


ค. การเก็บกล้อง เอ็ม.๒ เมื่อเลิกใช้งาน

           ๑. หมุนควงปรับระดับให้ขันเกลียวในตำแหน่ง ๑/๔ รอบทุก ๓ ตัว ควงปรับหวอดระดับ

           ๒. บิดคันล๊อกเข็มทิศ

           ๓. ปิดฝาครอบหวอดระดับทุกหวอด

           ๔. พับฝาครอบยึดควงจานทิศล่างทั้งสองข้าง

           ๕. หมุนจานทิศบนให้ควงหมุนมุมภาคเลื่อนไปตรงกับแผ่นป้าย

           ๖. ครอบฝากล้องให้สนิท เกี่ยวขอยึดครอบกล้องและล๊อก

           ๗. คลายเกลียวยึดกล้องออกยกกล้องขึ้น

           ๘. สวมฝาครอบขาตั้งกล้องเข้าที่เดิม

           ๙. เก็บขาหยั่งเข้าที่เดิมคาดเข็มขัดขากล้อง

ง. ข้อระมัดระวังในการใช้กล้องวัดมุม

           ๑. ป้องกันการกระทบกระแทกกล้อง ด้วยความระมัดระวัง

           ๒. การขันควงเกลียวต่าง ๆ อย่าขันจนแน่นเกินไป จะทำให้เกลียวและส่วนประกอบชำรุด

           ๓. รักษากล้องให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ

           ๔. ทำความสะอาดแว่นแก้วหรือเล็นซ์ด้วยแปรงขนอูฐและกระดาษเช็ดเล็นซ์เท่านั้น

           ๕. ครอบฝากล้อง (กล้องวัดมุม เอ็ม.๑ ครอบถุงครอบกล้อง) เพื่อป้องกันการกระทบกระแทกตัวกล้อง,ฝุ่นผง,ความร้อนจากแสงอาทิตย์,ความชื้น เมื่อจำเป็นต้องตั้งกล้องไว้

           ๖. ต้องล๊อกเข็มทิศไว้เสมอเมื่อไม่ใช้

           ๗. ต้องแน่ใจว่าปิดฝาครอบหวอดระดับเมื่อไม่ใช้

           ๘. กล้องวัดมุม เอ็ม.๒ ก่อนสวมฝาครอบกล้องต้องตรวจว่าได้หมุนควงมุมภาคทิศส่วนย่อยตรงกับป้ายกล้องเสมอ

           ๙. กล้องวัดมุม เอ็ม.๑ เมื่อนำกล้องเคลื่อนที่ในระยะใกล้ ๆ หรือเก็บเข้ากล่องกล้องต้องคายควงผีเสื้อยึดดุมกล้องเสมอเพื่อให้กล้องมีการหยุ่นตัวในการกระแทกเป็นการผ่อนแรงกระแทก ไม่ให้แกนดุมกล้องหัก

           เมื่อใช้เข็มทิศแม่เหล็ก ต้องตั้งกล้องให้ห่างจากวัตถุที่มีอำนาจดึงดูดแม่เหล็กแต่ละชนิดดังนี้

           ๑. สายไฟแรงสูง                                                        ๑๕๐  เมตร

           ๒. รางรถไฟ,ปืนใหญ่,รถถังและรถยนต์                            ๗๕  เมตร

           ๓. รั้วลวดหนาม,อาวุธประจำกายและโลหะขนาดเล็ก         ๑๐  เมตร

 

การหา ค่ามุมเยื้องประจำ ของกล้องวัดมุม

           ก. กล้องวัดมุม ต้องได้รับการตรวจสอบหาค่าอัตราผิด (มุมเยื้องประจำ) ก่อนนำไปใช้หรือเมื่อกล้องได้รับการกระทบกระเทือนและถูกคลื่นพายุแม่เหล็กไฟฟ้า หรือหลังจากเคลื่อนที่เกิน ๓๐ ไมล์

           ข. ต้องใช้สถานีตรวจสอบหาอัตราผิดประจำกล้อง ที่สถานีตรวจสอบนั้นและทราบแนวมุมภาคแนวอ้างที่แน่ชัดไว้หลายทิศทาง

 

           ค. กรรมวิธีการหาค่ามุมเยื้องประจำของกล้องวัดมุม

                ๑. ตั้งกล้องตรงจุดตั้งกล้องตรวจสอบสถานีหาค่ามุมเยื้อง แล้วปรับระดับกล้องให้ได้

                ๒. ใช้จานทิศบนตั้งค่ามุมภาคไปยังแนวอ้างแสดงมุมภาคของทิศแต่ละจุด

                ๓. หมุนจากทิศล่างเล็งต่อแนวแสดงมุมภาคของจุดอ้างนั้น ๆ ตามข้อ ๒

                ๔. ปล่อยเข็มทิศเป็นอิสระ หมุนจากทิศบนให้เข็มทิศอยู่ตรงขีดเส้นปรับเข็มทิศแนวกึ่งกลาง อ่านค่ามุมภาคทิศ

                ๕. ค่ามุมภาคทิศที่อ่านได้คือค่ามุมเยื้องประจำกล้อง

                ๖. ทำซ้ำตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ถึง ขั้นที่ ๕ ต่อแนวอ้างที่แสดงมุมภาคทิศที่ ๒ และ ๓ ค่ามุมเยื้องที่ได้แต่ละแนวอ้างไม่ควรแตกต่างกันเกินกว่า ๒ มิล นำค่ามุมเยื้องที่ได้แต่ละแนวอ้างมาเฉลี่ยค่ามุมเยื้อง ผลที่ได้บันทึกอัตราผิดประจำกล้องลงบนแผ่นบันทึกที่กล้องวัดมุม การบันทึกจะบันทึก - ค่ามุมเยื้องประจำกล้องที่เฉลี่ยได้ - วัน - เดือน - ปี ที่ดำเนินการหาค่ามุมเยื้องประจำกล้อง (ค่ามุมเยื้องของแต่ละกล้อง ไม่สามารถจะนำไปใช้กับกล้องอื่นได้)


การสอบศูนย์กล้องเล็ง

 

           กล่าวนำ การสอบศูนย์กล้องเล็ง (การปรับกล้องเล็ง) ของเครื่องยิงระเบิด โดยปกติแล้วจะใช้กล้องปรับเส้นเล็ง เอ็ม.๔๕ แต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐจึงมิได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ ทางแผนกวิชาอาวุธและหลักยิง กศษ.รร.นย. ได้คิดค้นและทำขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้ เป็นด้วยยังขาดงบประมาณและการผลิตเป็นส่วนรวม ประกอบทั้งยังมีหลักการและเครื่องมือประกอบอื่น ๆ ภายในหน่วยเครื่องยิงระเบิดที่ได้รับจ่ายไปแล้วพอที่จะทำการปรับกล้องเล็งของเครื่องยิงได้อย่างดี จึงมิได้เผยแพร่หลักการอื่น ๆ มาให้ยุ่งยากแก่ผู้ปฏิบัติ


การสอบศูนย์ (การปรับเส้นเล็ง) ด้วยกล้องสอบศูนย์ เอ็ม.๔๕

๑. วัตถุประสงค์

           ก. กล่าวทั่วไป เพื่อให้มุมทิศและมุมสูงของกล้องเล็งเป็นแนวเดียวกันกับแกนของลำกล้อง การสอบศูนย์คือวิธีการที่ทำให้เส้นเล็งทั้งมุมทิศและมุมสูงของกล้องเล็งมีค่าเท่ากับแกนลำกล้อง

           ข. ขีดจำกัด กล้องเล็งที่ทำการสอบศูนย์แล้วต้องใช้กับเครื่องที่คู่กับกล้องเล็งนั้นในการสอบศูนย์ ทั้งนี้เนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนต่าง ๆ เช่นลักษณะการติดตั้งบนขาหยั่งซึ่งจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนกับกล้องเล็งได้  การขนส่งก็มีส่วนที่ทำให้กล้องเล็งได้รับความคลาดเคลื่อนเช่นเดียวกัน จึงควรมีการสอบศูนย์ทุกครั้งเท่าที่โอกาสและเวลาจะอำนวยให้

๒. หลักการสอบศูนย์

           ก. มุมทิศ หลักมูลฐานการสอบศูนย์ทางทิศคือ การแก้อัตราผิดพลาดระหว่างแกน ๐ ของกล้องเล็ง (๐-๓๒๐๐) ที่ไม่ขนานกับแกนของลำกล้องปืน กระทำโดยการเลื่อนมาตรามุมทิศให้แนวแกน ๐-๓๒๐๐ ขนานกับแกนของลำกล้อง

           ข. มุมสูง การสอบมุมสูงต้องใช้เครื่องตั้งมุมสูงมาตรฐานติดตั้งเพื่อหาค่ามุมสูงของลำกล้อง แล้วทำการปรับหวอดระดับมุมสูง จากนั้นก็เลื่อนมาตรามุมสูงของกล้องเล็งให้มีค่ามุมสูงตรงกับเครื่องตั้งมุมสูงมาตรฐานนั้น

๓. การสอบศูนย์มุมทิศ

           ก. วิธีที่หมายเล็งไกล การเลือกที่หมายควรให้ได้อย่างน้อยระยะ ๒,๐๐๐ เมตร แต่ที่ดีแล้วควรจะให้เกินกว่า ๑,๕๐๐ เมตร วิธีนี้เป็นวิธีที่รวดเร็ว (แต่ความถูกต้องน้อยกว่าการใช้กล้องวัดมุม) ยิ่งเลือกที่หมายเล็งได้ไกลเพียงใดก็ยิ่งมีความถูกต้องมากขึ้นเพียงนั้น การสอบศูนย์มุมทิศโดยใช้วิธีที่หมายเล็งไกล ตามปกติจะใช้กล้องสอบศูนย์ เอ็ม.๔๕ ในขณะนี้หน่วยใช้ได้ขาดแคลนกล้องชนิดนี้ แต่สามารถใช้วิธีการประกอบกับกล้องวัดมุมด้วยวิธีนี้ได้

                ๑) กล่าวทั่วไป เมื่อใช้วิธีที่หมายเล็งไกล สิ่งที่ต้องการคือ ทำให้เส้นเล็งขนานกับแนวแกนของลำกล้องปืน จึงต้องเลือกที่หมายเล็งให้ไกลออกไป เพื่อใช้หลักการจุดร่วมสายตา ความสัมพันธ์ระหว่างแกนลำกล้องปืนและแนวเส้นเล็งจะขนานกัน

                ๒) วิธีปฏิบัติ

                     ก) เลือกที่หมายเล็งไกลและที่ตั้งปืน พื้นที่ตั้งปืนควรหาพื้นที่ที่ได้ระดับโดยเฉพาะที่วางขาหยั่งและแผ่นฐาน ที่หมายเล็งไกลจะต้องเป็นที่หมายที่เด่นคมเห็นชัด

                     ข) วางแนวลำกล้องปืนไปยังที่หมายเล็งไกล โดยตั้งมุมทิศไว้ที่ ๐ มุมสูง ๑๑๐๐ หวอดระดับแก้เอียงและหวอดระดับทางสูงอยู่กึ่งกลาง จัดควงส่ายให้ได้กึ่งกลาง กระบอกเกลียวควงสูงอยู่ในแนวดิ่ง ควงปรับคานแก้เอียงอยู่ห่างจากปลอกหัวขาหยั่ง ๒ นิ้ว

                     ค) กล้องวัดมุม ตั้งอยู่ทางด้านหน้าปืนหรือด้านหลังของปืน ห่างจากปืนประมาณ ๒๐ เมตร (กล้องวัดมุมตั้งอยู่ทางด้านหลังของปืนจะเหมาะสมกว่า) พยายามตั้งกล้องวัดมุมให้อยู่ในแนวลำกล้องปืนและที่หมายเล็งไกล ปรับหวอดระดับวงกลมที่กล้องวัดมุม ตั้งมาตรามุมทิศของกล้องวัดมุมไว้ที่ ๐ ใช้ควงจานทิศล่างเลื่อนเส้นเล็งของกล้องวัดมุมให้อยู่ตรงกึ่งกลางลำกล้องและเป็นแนวเดียวกับที่หมายเล็งไกล ถ้าแนวลำกล้องปืนยังไม่ตรงแนวเส้นเล็ง ให้เลื่อนแผ่นฐานหรือขาหยั่ง แล้วปรับหวอดระดับที่ปืนให้อยู่กึ่งกลาง กระทำเช่นนี้จนกว่าแนวเส้นเล็งของกล้องวัดมุม,ลำกล้องปืน และที่หมายเล็งไกลอยู่ในแนวเดียวกัน

                     ง) ตรวจสอบเส้นเล็งของกล้องที่ปืนตรงที่หมายเล็งไกลหรือไม่ ถ้าเส้นเล็งของกล้องที่ปืนตรงกับที่หมายเล็งไกล แสดงว่ากล้องนี้ไม่มีความผิดพลาด

                     จ) ถ้าเส้นเล็งของกล้องที่ปืนไม่ตรงที่หมายเล็งไกล ต้องปรับแก้เส้นเล็ง

                         (๑) หมุนควงมาตรามุมทิศให้เส้นเล็งตรงที่หมายเล็งไกล

                         (๒) คลายมุมยึดแผ่นมาตรามุมทิศส่วนใหญ่ (กล้องเล็ง เอ็ม.๕๓ การปรับเส้นเล็งให้มาตราสีแดง) เลื่อนมาตรามุมทิศส่วนใหญ่ ๐ ให้ตรงดรรชนี ขันหมุดเกลียวยึดมาตรามุมทิศส่วนใหญ่ให้แน่น

                         (๓) คลายหมุดยึดมาตรามุมทิศส่วนย่อยที่ควงหมุนมาตรามุมทิศ (กล้องเล็ง เอ็ม.๕๓ ใช้มาตราสีแดง) เลื่อนมาตรามุมทิศส่วนย่อย ๐ ตรงดรรชนี ขันหมุดเกลียวยึดมาตราส่วนย่อยให้แน่น

           ข้อควรระวัง ระวังเส้นเล็งของกล้องเล็งจะเลื่อน ทำให้มุมทิศผิด การสอบศูนย์มุมทิศด้วยวิธีการใช้ที่หมายเล็งไกล เป็นการกระทำที่ยุ่งยากกว่าวิธีเส้นขนานซึ่งจะกล่าวต่อไป

๔. การสอบศูนย์ของมุมสูง

           ก. กล่าวทั่วไป การสอบศูนย์มุมสูง กระทำเพื่อให้มุมสูงสัมพันธ์กับระยะยิงที่ถูกต้อง โดยตรวจสอบมุมสูงที่ใช้ยิงปานกลาง ๑๑๐๐ มิล

           ข. วิธีปฏิบัติ ใช้เครื่องวัดมุมยิงประณีตในการตรวจสอบ

                ๑) ตั้งมาตรามุมสูงที่เครื่องวัดมุมยิงประณีต ๑๑๐๐ มิลเลียม

                ๒) วางเครื่องวัดมุมยิงประณีตที่บนสันแนวกึ่งกลางลำกล้องเหนือปลอกสวมลำกล้อง โดยให้หัวลูกศรเส้นยิงชี้ไปทางปากลำกล้อง

                ๓) ควรให้คนหนึ่งคนใดไปยืนหลังปืนในระยะพอประมาณ เล็งตรวจสอบการวางเครื่องวัดมุมยิงประณีตตามข้อ ๒) เมื่อเห็นเครื่องวัดมุมยิงประณีตอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว บอกให้ผู้ที่ถือเครื่องวัดมุมยิงประณีตหยุดและถือไว้ในตำแหน่งนี้จนกว่าตรวจสอบมุมสูงได้ถูกต้อง

                ๔) ใช้ควงสูงของปืนแต่งหวอดระดับเครื่องวัดมุมยิงประณีตให้อยู่กึ่งกลาง

                ๕) ตรวจสอบมุมสูงที่กล้องเล็ง ถ้าหวอดระดับมุมสูงที่กล้องเล็งอยู่กึ่งกลางแสดงว่ากล้องมีค่ามุมสูงถูกต้อง ถ้าหวอดระดับมุมสูงของกล้องเล็งไม่อยู่กึ่งกลาง แสดงว่าค่ามุมสูงที่กล้องผิด การปฏิบัติหมุนควงหมุนมาตรามุมสูงจนกระทั่งหวอดระดับมุมสูงของกล้องอยู่กึ่งกลาง

                ๖) จากข้อ ๕) คลายหมุดยึดแผ่นมาตรามุมสูงส่วนใหญ่ เลื่อนมาตรามุมสูงส่วนใหญ่ ๑๑๐๐ ให้ตรงดรรชนีแล้วขันให้แน่น

                ๗) คลายหมุดยึดมาตราส่วนย่อยที่ควงมุมสูงของกล้องเล็ง เลื่อนมาตราส่วนย่อย ๐ ตรงดรรชนี ขันหมุดยึดมาตรามุมสูงส่วนย่อย

           ข้อควรระวัง ขณะทำการตรวจสอบมุมสูงและแก้มาตรามุมสูงระวังควงมุมสูงของปืนจะเลื่อน จะทำให้หวอดระดับเครื่องวัดมุมยิงประณีตไม่อยู่กึ่งกลาง ผู้ถือเครื่องวัดมุมยิงประณีตต้องคอยตรวจสอบหวอดระดับตลอดเวลา

           การขันหมุดยึดมาตราต่าง ๆ ขันแต่พอดึงอย่าขันให้แน่นจนเกินไปจะทำให้เกลียวขาด และยากต่อการคลายหมุดเกลียวภายหลัง

๕. การสอบศูนย์มุมทิศด้วยวิธีระบบเส้นขนาน

           ก. กล่าวทั่วไป การสอบศูนย์ทางทิศด้วยวิธีนี้จะมีความถูกต้องมากเมื่อใช้กล้องวัดมุม การสอบศูนย์ทางทิศนั้นเอากล้องวัดมุม วัดมุมระหว่างแกนลำกล้องปืนกับแนวกล้องเล็งเพื่อหาค่าของมุมในระบบขนานระหว่างเส้นแกนลำกล้องกับกล้องเล็ง ถ้าค่าของมุมถูกต้องอ่านที่กล้องวัดมุมและกล้องเล็งเท่ากัน แสดงว่ากล้องเล็งไม่มีค่าอัตราผิดทางทิศ แนวแกน ๐-๓๒๐๐ ของกล้องเล็งขนานกับแนวแกนลำกล้อง

           ข. วิธีปฏิบัติ

                ๑) ตั้งกล้องวัดมุมด้านหน้าหรือด้านหลังของปืน (กล้องวัดมุมตั้งอยู่ทางด้านหลังของปืนจะเหมาะสมกว่า) ตั้งห่างจากปืนประมาณ ๒๐ เมตร ปรับหวอดระดับวงกลมกล้องวัดมุม ตั้งมาตรามุมทิศของกล้องวัดมุมที่ ๐ ใช้ควงจานทิศล่างเลื่อนเส้นเล็งของกล้องวัดมุมให้อยู่ตรงกึ่งกลางลำกล้อง (แนวเส้นเล็งของกล้องวัดมุมอยู่ตรงกึ่งกลางลำกล้อง) เป็นการกระทำให้เส้นตรงจากกึ่งกลางลำกล้องกับเส้นเล็งของกล้องวัดมุมเป็นเส้นตรงเดียวกัน ถ้าแนวลำกล้องปืนยังไม่ตรงแนวเส้นเล็ง ให้เลื่อนแผ่นฐานหรือขาหยั่ง แล้วปรับหวอดระดับของกล้องเล็งให้อยู่กึ่งกลาง กระทำเช่นนี้โดยสัมพันธ์กับการใช้ควงจานทิศล่างของกล้องวัดมุมจนกว่าเส้นเล็งของกล้องวัดมุมอยู่กึ่งกลางลำกล้อง

                ๒) กล้องวัดมุม วัดมุมจากเส้นกึ่งกลางลำกล้องไปยังกึ่งกลางหน้าแว่นแก้วของกล้องเล็งที่ปืนด้วยควงจานทิศบน

                ๓) กล้องเล็งที่ปืน ตรวจสอบหวอดระดับ แล้วหมุนควงมุมทิศไปเล็งยังกึ่งกลางแว่นแก้วที่กล้องวัดมุม

                ๔) จนท.กล้องวัดมุมอ่านค่ามุมทิศที่วัดได้

                ๕) จนท.กล้องเล็งตรวจสอบมาตรามุมทิศที่วัดไปยังกล้องวัดมุมว่าเท่ากันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันกับค่าของมุมทิศที่กล้องวัดมุม คลายหมุดเกลียวยึดมาตรามุมทิศส่วนใหญ่ (สีแดง) เลื่อนมาตรามุมทิศส่วนใหญ่ให้ตรงดรรชนีค่าของมุมทิศส่วนใหญ่ที่กล้องวัดมุมอ่านได้ ขันหมุดยึดแผ่นมาตราส่วนใหญ่ให้แน่นพอประมาณ

                ๖) คลายหมุดเกลียวยึดมาตรามุมทิศส่วนย่อย เลื่อนมาตรามุมทิศส่วนย่อยสีแดงให้ตรงดรรชนีค่าของมุมทิศส่วนย่อยที่กล้องวัดมุมอ่านได้ ขันหมุดเกลียวยึดแผ่นมาตรามุมทิศส่วนย่อยให้แน่นพอประมาณ หมุนควงมาตรามุมทิศตั้งค่ามาตรามุมทิศที่ ๐ ตรวจสอบดรรชนีมุมทิศมาตราส่วนใหญ่สีแดงตรงค่าขีดของมาตรา ๐ หรือไม่ ถ้าไม่ตรงให้คลายหมุดยึดแผ่นมาตรามุมทิศสีแดง เลื่อนมาตรามุมทิศสีแดงให้ตรงกับขีดมาตรามุมทิศ ๐

           ข้อควรระวัง การปฏิบัติใด ๆ ก็ตามหวอดระดับจะต้องอยู่กึ่งกลางเสมอ

๖. การตรวจสอบศูนย์มุมสูง เป็นไปตามวิธีการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

การตั้งปืนตรงทิศ

 

การตั้งปืนตรงทิศ

           กล่าวทั่วไป เมื่อปืนเข้าที่ตั้งยิง โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะต้องตั้งแนวลำกล้องปืนแต่ละกระบอกของหน่วย ให้ชี้ไปยังทิศทางยิง เรียกว่า "การตั้งปืนตรงทิศ"

เครื่องมือที่ใช้ในการตั้งปืนตรงทิศ

           - กล้องวัดมุม เอ็ม.๑ ,เอ็ม.๒, จี.๑๑

           - เข็มทิศ

วิธีการตั้งปืนตรงทิศ

           ๑. วิธีมุมภาคตาราง

           ๒. วิธีมุมตรงทิศ

           ๓. วิธีที่หมายเล็งและมุมทิศ

           ๔. วิธีเข็มทิศ เอ็ม.๒

           ๕. วิธีใช้เครื่องบิน, ตำบลแตกอากาศสูง หรือจรวด

การตั้งปืนตรงทิศไปยังทิศทางที่กำหนดให้ มีขั้นตอนที่สำคัญ ๒ ขั้น

           ๑. ตั้งแนว ๐-๓๒๐๐ ของกล้องวัดมุมให้อยู่ในแนวทิศทางยิง

           ๒. ตั้งแนวลำกล้องปืนให้ขนานกับแนว ๐-๓๒๐๐ ของกล้องวัดมุม

การตั้งปืนตรงทิศด้วยวิธีมุมภาคตาราง

           ขั้นที่ ๑

           - ตั้งกล้องวัดมุม (ตามข้อระมัดระวังและการใช้)

           - ค่ามุมเยื้องประจำของกล้องวัดมุม - (ลบด้วย) ค่ามุมภาคทิศทางยิง (บวก ๖๔๐๐ เมื่อจำเป็น)

           - นำผลลัพธ์ที่ได้ไปตั้งบนมาตรามุมภาคของกล้องวัดมุมด้วยควงจานทิศบน

           - ปลดล๊อกเข็มทิศ เลี้ยงเข็มทิศให้ตรงเส้นปรับเข็มทิศ โดยใช้ควงจานทิศล่าง

           - แนว ๐-๓๒๐๐ ของกล้องวัดมุมจะชี้ไปยังทิศทางยิง

           ขั้นที่ ๒

           - ตั้งแนวลำกล้องปืนขนานกับแนว ๐-๓๒๐๐ ของกล้องวัดมุม

           - หมุนควงจานทิศบนไปเล็งที่กล้องเล็งที่ปืนแต่ละกระบอก เพื่อตั้งปืนแต่ละกระบอกให้ถูกทิศ (โดยการวางพื้นยิงกรวยขนานคู่)

การกระทำของขั้นที่ ๒

           จนท.กล้องวัดมุมทิศไปที่กึ่งกลางหน้าแว่นของกล้องเล็ง ส่งมุมทิศที่วัดได้ให้ปืน ปืนปฏิบัติตามคำสั่งตั้งมุมทิศ โดยเลื่อนปืน ปรับเส้นเล็ง ให้เส้นเล็งอยู่กึ่งกลางหน้าแว่นแก้วของกล้องวัดมุมเพื่อให้ค่าของมุมที่ปืน เท่ากับค่าของมุมที่กล้องวัดมุมแนวลำกล้องปืน จะขนานกับแนว ๐-๓๒๐๐ ของกล้องวัดมุม

การวางพื้นยิงกรวยขนานคู่

           การเล็งขนานคู่เป็นการปฏิบัติซึ่งทำให้ลำกล้องปืนชี้ไปตามทิศทางที่ต้องการและขนานกัน

การตั้งปืนตรงทิศด้วยวิธีมุมตรงทิศ

           มุมตรงทิศคือมุมทางระดับที่เกิด ณ จุดตั้งกล้องวัดมุม เป็นง่ามมุมทางระดับ วัดจากเส้นยิงไปยังแนวแสดงมุมภาค

           - การหาค่ามุมตรงทิศ

           - ผลลัพธ์ที่ได้คือค่ามุมตรงทิศ

           - การตั้งปืนตรงทิศด้วยวิธีมุมตรงทิศนั้นง่าย เร็วและถูกต้องกว่าวิธีมุมภาคตาราง เพราะไม่ใช้เข็มทิศ

ขั้นที่ ๑

           - นำกล้องวัดมุมตั้งที่จุดตั้งกล้อง

           - ตั้งค่ามุมตรงทิศที่กล้องวัดมุมด้วยควงจานทิศบน

           - หมุนควงจานทิศล่างไปเล็งที่ปลายจุดของแนวแสดงมุมภาค

           - ขณะนี้แนว ๐-๓๒๐๐ ของกล้องวัดมุมจะชี้ไปยังทิศทางยิง (ตามแนวมุมภาคทิศทางยิงที่ต้องการ) 

           ขั้นที่ ๒

           - ตั้งแนวลำกล้องปืนขนานกับแนว ๐-๓๒๐๐ ของกล้องวัดมุม (วางพื้นยิง)

            - หมุนควงจานทิศบนของกล้องวัดมุมไปเล็งที่หน้าแว่นแก้วของกล้องเล็งที่ปืนแต่ละกระบอกเพื่อตั้งปืนแต่ละกระบอกให้ถูกทิศทาง (ขนานคู่)

การตั้งปืนตรงทิศด้วยวิธีที่หมายเล็งและมุมทิศ

           - ใช้ในกรณีเข้าที่ตั้งยิงเร่งด่วน หรือฉุกเฉิน

           - เพื่อให้รวดเร็วและทันเหตุการณ์

           การปฏิบัติ

           - หาที่อยู่

           - หามุมภาคที่หมายเล็งไกล

           - หาค่ามุมทิศสั่งปืนตั้งปืนตรงทิศ

 

           ตัวอย่าง

           - มุมภาคที่หมายเล็งไกล                 ๖๐๐๐ มิล

           - มุมภาคทิศทางยิง                              ๘๐๐ มิล

           - มุมภาคทิศกลับทิศทางยิง                  ๔๐๐๐ มิล  (๘๐๐๐ + ๓๒๐๐)

           - มุมทิศสั่งปืน                               ๒๐๐๐ มิล  (๖๐๐๐ - ๔๐๐๐)

                         หมู่………......ต่อที่หมายเล็ง……........มุมทิศ....………..

การตั้งปืนตรงทิศด้วยวิธีเข็มทิศ เอ็ม.๒

           - เมื่อไม่สามารถใช้กล้องวัดมุม เอ็ม.๑ หรือ เอ็ม.๒

           - หาค่ามุมภาคทิศทางยิง

           - นำเข็มทิศ เอ็ม.๒ วางบนแป้นไม้ที่จัดทำขึ้น

           - วัดมุมภาคไปยังหมู่ปืน บันทึกไว้

           - มุมภาคจากเข็มทิศไปยังหมู่ปืน - (ลบ) มุมภาคทิศทางยิง (บวก ๖๔๐๐ เมื่อจำเป็น)

           - ผลลัพธ์ คือมุมทิศสั่งปืน

           - ปืนตั้งมุมทิศตามสั่ง เลื่อนปืนเล็งไปที่เข็มทิศ

           ตัวอย่าง

           - มุมภาคจากเข็มทิศ เอ็ม.๒ ไปยังปืน                ๒๓๐๐  มิล

           - มุมภาคทิศทางยิง                                          ๖๐๐  มิล

           - มุมทิศสั่งปืน                                   ๑๗๐๐  มิล  (๒๓๐๐ - ๖๐๐)

การตั้งปืนตรงทิศด้วยวิธีใช้เครื่องบิน, ตำบลแตกอากาศสูง หรือแฟร์

           ขั้นที่ ๑

           - ตั้งกล้องซึ่งสามารถมองเห็นปืน

           - ตั้งมาตรามุมภาคส่วนใหญ่และส่วนย่อยที่ ๐

           - หมุนจากควงจานทิศล่างให้เส้นเล็งทับเครื่องบิน, ตำบลแตกอากาศสูงหรือแฟร์

           ขั้นที่ ๒

           - ตั้งแนวลำกล้องปืนขนานกับแนว ๐ - ๓๒๐๐ ของกล้องวัดมุม (วางพื้นยิง)

           - หมุนควงจานทิศบนไปเล็งที่กล้องเล็งของปืนแต่ละกระบอก เพื่อตั้งปืนแต่ละกระบอกให้ถูกทิศ

             (โดยการเล็งกรวยขนานคู่)


การเล็งจำลอง การปักหลักเล็ง และการแก้ไข

 

การเล็งจำลอง คือการยิงที่ใช้การเล็งต่อที่หมายเล็งหรือหลักเล็ง โดยเส้นยิง และเส้นเล็งไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ง่ามมุมที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นยิงกับเส้นเล็งเรียกว่า "มุมทิศ" มุมทิศคือ มุมทางระดับ วัดเวียนตามเข็มนาฬิกาจากเส้นยิงไปยังที่หมายเล็งหรือหลักเล็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและจดจำเพื่อใช้ในวิชาหลักยิงและอำนวยการยิง จะช่วยแก้ไขให้การปฏิบัติต่าง ๆ รวดเร็วและถูกต้อง

มุมทิศ คือง่ามมุมทางระดับที่เกิดจากเส้นยิง (แกนลำกล้อง) วัดเวียนตามเข็มนาฬิกาไปยังหลักเล็ง (หรือที่หมายเล็ง)

ค่าเพิ่มของมุมทิศ มีผลทำให้ปืนไปทางซ้าย

ค่าลดของมุมทิศ มีผลทำให้ปืนไปทางขวา

มุมภาคของทิศ คือมุมทางระดับวัดเวียนตามเข็มนาฬิกาจากทิศเหนือไปยังแนวพิจารณาแกนของลำกล้อง (เส้นยิง)

           ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้.-

           - มุมทิศเพิ่ม ปืนจะไปทางซ้าย ทำให้ค่ามุมภาคของเส้นยิงลดลง

           - มุมทิศลด ปืนจะไปทางขวา จะทำให้ค่ามุมภาคของเส้นยิงเพิ่มขึ้น

การจำลองทิศ

           การใช้กล้องเล็ง เอ็ม.๕๓ ในการวางพื้นยิง ตั้งปืนตรงทิศต้องใช้มาตราหลักสีแดง ข้อระมัดระวัง อย่าใช้มาตราสีดำ เพราะมาตราสีดำอาจจะเลื่อน ซึ่งมีผลทำให้ทิศทางยิงเกิดความผิดพลาดได้ ผบ.หมู่ต้องบันทึกลงในแผ่นป้ายการตั้งปืนตรงทิศ ดังนี้

           - มุมภาคตั้งปืนตรงทิศ

           - มุมทิศ ๐ มิล ที่วางพื้นยิงตรงกับมาตราสีแดง

           - มุมจำลองทิศมาตราสีดำ หรือมาตราสีแดงที่ตรงกัน

           - มุมทิศจุดเล็งสำรองค่ามาตราสีแดง.....ตรงมาตราสีดำ ๒๘๐๐ มิล

           การปักหลักเล็งในการจำลองทิศ สำหรับ ค.๘๑ มม. จะจำลองทิศด้วยมุมทิศ ๒๘๐๐ มิลเลียม ถ้าไม่มีอุปสรรคอื่นใดควรใช้มาตราสีแดงในการจำลองทิศ ถ้าในกรณีมีความจำเป็นและเพื่อความรวดเร็วในการปักหลักเล็งจะต้องใช้มาตราสีดำ (มาตราเลื่อน) ในการจำลองทิศต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง หลังจากจำลองทิศปักหลักเล็งแล้ว ให้ใช้เทปใสปิดระหว่างแผ่นมาตราสีแดงและสีดำ (ส่วนใหญ่)

การปักหลักเล็ง

           ๑. ในการปักหลักเล็ง จำลองทิศ ๒๘๐๐ มิล มีความเหมาะสมเพียงพอในการยิงสนับสนุนระดับ พัน.ร. จากกึ่งกลางเขตปฏิบัติการไปทางข้าง ๆ ละ ๔๐๐ มิล (ความกว้างด้านหน้า ๘๐๐ มิลเลียม)

           ๒. การปักหลักเล็งต้องกระทำด้วยความประณีต ให้เส้นเล็งแตะขอบซ้ายของหลักเล็งไม่หนาหรือบางจนเกินไป เพราะจะทำให้เส้นเล็งแตกง่ายเมื่อเปลี่ยนมุมทิศการยิงจากมุมจำลองทิศ ๒๘๐๐ มิล

           ๓. หลักเล็งอันไกลปักที่ระยะห่างจากปืนในระยะเหมาะสม ควรอยู่ห่างจากปืน ๑๐๐ เมตร หลักเล็งอันใกล้ ๕๐ เมตร ในบางโอกาสไม่สามารถทำได้ดังกล่าว เนื่องจากภูมิประเทศมีสิ่งกำบังไม่สามารถปักหลักเล็งในระยะดังกล่าวได้ สิ่งสำคัญต้องระลึกอยู่เสมอว่าหลักเล็งอันใกล้จะต้องปักให้ได้กึ่งกลางระหว่างหลักเล็งอันไกลกับปืน มิฉะนั้นจะมีผลเสียในการเล็งแก้ไขชั่วคราวในกรณีเส้นเล็งแตก หรือทำให้เส้นเล็งแตกเร็วขึ้นในการเปลี่ยนมุมทิศเพียงเล็กน้อย

           ๔. การปักหลักเล็งต้องคำนึงถึงการกีดขวางการปฏิบัติอื่น ๆ

           ๕. การปักหลักเล็ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการใช้หลักเล็ง ถ้าทำได้ควรปักในทางตรงข้ามกันของแต่ละปืนหรือทำเครื่องหมาย เช่น สีของหลักเล็งให้แตกต่างกันไป

           ๖. การใช้ไฟหลักเล็ง ต้องคำนึงถึงทิศทางที่ตรวจการณ์ของข้าศึกที่จะตรวจพบหลักเล็งอันไกลใช้ไฟหลักเล็งสีแดง (เห็นได้ไกล) หลักเล็งอันใกล้ใช้ไฟสีเขียว

           ๗. การเล็งยิง เพื่อให้สามารถทำการเล็งยิงได้ตลอดเวลา หลักจากปักหลักเล็งจำลองทิศแล้ว โดยที่ปืนยังอยู่ในแนวมุมทิศที่จำลองทิศ ๒๘๐๐ ต่อหลักเล็ง ให้พลยิงหาจุดเล็งสำรองที่เป็นที่หมายเล็งเล็กและคม เห็นได้ชัด และถ้าสามารถทำได้ควรจะให้เล็งยิงในเวลากลางคืนได้ มีแสงไฟ เช่น เสาวิทยุ เป็นต้น จุดเล็งสำรองควรมีไว้ ๒ แห่ง  การปฏิบัติในการหาหลักฐานจุดเล็งสำรองกระทำเพื่อป้องกันการยิงจากข้าศึก ซึ่งอาจมีผลกระทบกระเทือนทำให้หลักเล็งล้มได้

           ๘. การปฏิบัติในการหาหลักฐานจุดเล็งสำรอง กระทำหลักจากการตั้งปืนตรงทิศแล้ว ในขณะที่แนวลำกล้องปืนอยู่ในทิศทางจำลองทิศ ๒๘๐๐ มิล

                ก. หมุนกล้องเล็งไปที่จุดเล็งสำรองที่เลือกไว้ อ่านค่ามุมทิศที่มาตราสีแดงจดค่ามุมทิศมาตราสีแดงไว้ในแผ่นป้ายการแสดงการตั้งปืน

                ข. การใช้ในกรณีไม่สามารถใช้เล็งต่อหลักเล็งได้

                     ๑) ตั้งค่ามาตรามุมทิศสีแดงที่หาค่าจุดเล็งสำรอง

                     ๒) เลื่อนมาตราสีดำ ๒๘๐๐ ตรงค่ามาตราสีแดง ข้อ ๑) ใช้สก๊อตเทปปิดระหว่างมาตราสีแดงและสีดำ

                     ๓) การยิงใช้มาตราสีดำตลอดไป

 

การเล็งเมื่อเส้นเล็งแตก และการแก้ไข

 

           ในการยิงถ้าไม่สามารถเล็งแตะขอบซ้ายของหลักเล็งได้ทั้งสองหลัก ก็ให้เล็งแก้ไขชั่วคราว ดังภาพโดยให้หลักเล็งอันไกลอยู่กึ่งกลางระหว่างหลักเล็งอันใกล้กับเส้นเล็ง การเล็งแก้ไขชั่วคราวการปักหลักเล็งอันใกล้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การเล็งแก้ไขเป็นการแก้ในทางระบบขนาน (ถ้าแก้ระบบของมุมความผิดพลาดจะมาก) ข้อสังเกตมุมทิศเพิ่มจากมุมจำลองทิศเส้นเล็งจะอยู่ทางซ้าย ถ้ามุมทิศลดลงจากมุมจำลองทิศเส้นเล็งจะอยู่ทางขวา และเมื่อสิ้นสุดภารกิจยิงแล้ว พลยิงต้องตรวจสอบหาสาเหตุเส้นเล็งแตก ซึ่งเส้นเล็งแตกมี ๒ กรณี ตรวจสอบและแก้ไข ดังนี้

           ๑. เกิดจากการเปลี่ยนมุมทิศจากมุมจำลองทิศเดิมเป็นจำนวนมาก เส้นเล็งจึงแตก เพราะจุดหมุนของปืน (เดือยท้ายลำกล้อง) และจุดหมุนของกล้องเล็งในการเปลี่ยนมุมทิศไม่อยู่บนจุดเดียวกัน เมื่อเปลี่ยนมุมทิศจากมุมจำลองทิศไปเป็นจำนวนมากเส้นเล็งจึงแตก

           ๒. เกิดจากฐานของปืนที่ตั้งไม่ดี พื้นดินอ่อน กระสอบทรายไม่เพียงพอ เมื่อทำการยิงแรงจากแรงดันของอากาศธาตุ ทำให้ฐานปืนเลื่อนไปทางทิศ เส้นเล็งจึงแตก

การตรวจสอบเส้นเล็งแตกทั้งสองกรณีดังกล่าว

           ก. ตั้งมุมทิศจำลองทิศเดิม

           ข. เลื่อนปืนเล็งต่อหลักเล็งทั้งสอง ปรากฏผลเส้นเล็งแตะขอบ ซ้ายของหลักเล็งทั้งสองได้หรือไม่

           ค. ถ้าเส้นเล็งสามารถเล็งแตะขอบซ้ายของหลักเล็งทั้งสองได้ แสดงว่าเส้นเล็งแตกเพราะกรณีข้อ ๑. ไม่ต้องแก้ไข

  ง. ถ้าเส้นเล็งไม่สามารถแตะขอบซ้ายของหลักเล็งทั้งสองได้ แสดงว่าฐานปืนเคลื่อนที่จากจุดเดิม ให้ทำการแก้ไขดังนี้ 

๑) รายงาน ผบ.หมวดเรือ ผบ.ตอนให้วางพื้นยิงใหม่ (ถ้ามีเวลาในการแก้ไข ขยับแผ่นฐานจากที่เดิมเพื่อปรับปรุงที่ตั้งยิง แล้ววางพื้นยิงจำลองทิศใหม่) และเพิ่มกระสอบทรายทับแผ่นฐาน ข้อระมัดระวัง การวางแผ่นฐานเอียงจะทำให้แผ่นฐานทรุดตัว ผลการยิงจะทำให้ผิดทางทิศและไม่แม่นยำ การตรวจสอบการเอียงของแผ่นฐานให้ใช้เครื่องมือวัดมุมยิงประณีต (การวางพื้นยิงใหม่เป็นวิธีที่ดีที่สุด)

                ๒) ในกรณีไม่สามารถวางพื้นยิงใหม่ได้ ทำการแก้ไขแผ่นฐานแล้วปฏิบัติการเล็งแก้ไขโดยใช้หลักการแก้ความผิดพลาดเป็นระบบขนานโดยการปฏิบัติดังนี้

                     ก) ตั้งมุมทิศจำลองทิศเดิมที่ปักหลักเล็ง เลื่อนปืนเล็งแตะขอบซ้ายของหลักเล็งอันไกล

(หวอดระดับต้องได้)

                     ข) เมื่อปฏิบัติตามข้อ ก.แล้ว ทำการวัดมุมมายังหลักเล็งอันใกล้ โดยหมุนเฉพาะกล้องเล็ง

ให้เส้นเล็งแตะขอบซ้ายของหลักเล็งอันใกล้จะได้ค่าของมุมค่าหนึ่ง

                     ค) เมื่อปฏิบัติข้อ ข.เสร็จแล้ว เลื่อนปืนให้เส้นเล็งแตะขอบซ้ายของหลักเล็งอันไกล

                     ง) หมุนกล้องเล็งไปที่มุมจำลองทิศเดิม

                     จ) ตรวจสอบ จะเห็นหลักเล็งอันไกลอยู่กึ่งกลางระหว่างหลักเล็งอันใกล้กับเส้นเล็ง ถ้าปรากฏว่าหลักเล็งอันไกลไม่อยู่กึ่งกลางแสดงว่า การปฏิบัติยังไม่ถูกต้อง ให้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ข้อ ก. ถึง ง.ใหม่

                     ฉ) ปฏิบัติตามข้อ จ. แล้วถอนหลักเล็งจำลองทิศใหม่

         ข้อสังเกต การปฏิบัติดังกล่าวจะเหมือนกับการเล็งแก้ไขชั่วคราว แต่เป็นการปฏิบัติที่มีความถูกต้องละเอียดกว่าเพราะเป็นการแบ่งมุมด้วยการวัด ไม่ได้แบ่งด้วยสายตา การจำลองทิศใหม่ดังกล่าวเป็นการใช้ระบบขนานแก้การผิดพลาดจากฐานปืนที่เลื่อนจะเท่ากับที่ไปปักหลักเล็งใหม่