เครื่องยิงจรวด บี.๔๐ (RPG - 2) 

เครื่องยิงจรวด บี.๔๐ (RPG - 2)

คุณลักษณะและการใช้

           เครื่องยิงจรวจขนาด ๔๐ มม. หรือ อาร์พีจี. ๒ ขนาดกว้างปากลำกล้อง ๔๐ มม. เป็นอาวุธที่มีอำนาจร้ายแรง สำหรับหมู่ปืนเล็กทหารราบ ใช้สำหรับยิงทำลายรถยานเกราะ ปืนใหญ่ นอกจากนั้นยังใช้ทำลายป้อมสนามถาวรของฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย เครื่องยิงจรวดชนิดนี้ ใช้ยิงลูกจรวดต่อสู้รถถังซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าลำกล้อง และมีแรงระเบิดและอำนาจในการเจาะสูง

รายการทั่วไป

           ก. น้ำหนักของเครื่องยิง ..........................................................๒.๗๕  กก.

                  น้ำหนักของลูกจรวจไม่รวมดินขับ ................................... ๑.๖๖  กก.

                  น้ำหนักหลอดดินขับ ........................................................๐.๒๒  กก.

           ข. ความยาว

                  ความยาวของลำกล้อง ....................................................๙๕๐  มม.

                  ความยาวของลูกจรวดไม่รวมดินขับ ..................................๕๐๐  มม.

                  ความยาวของลูกจรวดรวมดินขับ ......................................๖๗๐  มม.

                  หลอดดินขับยาว .............................................................๑๗๐  มม.

           ค. ความกว้าง

                  กว้างปากลำกล้อง ..............................................................๔๐  มม.

                  ขนาดของลูกจรวด ..............................................................๘๐  มม.

           ง. ระยะยิง

                  ความเร็วต้น ......................................................................๘๔ ม./วินาที

                  อัตราการยิง .....................................................................๔ - ๖  นัด/นาที

                  ระยะยิงไกลสุด ...................................................................๒๔๐  ม.

                  ระยะยิงหวังผลไกลสุด.........................................................๑๕๐  ม.

           จ. ขีดความสามารถ

                  เจาะเกราะได้หนา (เหล็กกล้า).................................................๑๘  ม.

                  เจาะเกราะคอนกรีต............................................................๖๐ - ๘๐  ซม.

                  เจาะดิน ......................................................................๑๒๐ - ๑๘๐  ซม.

           ฉ. เปลวท้ายเครื่องยิง เป็นรูปกรวย ทำมุม ๖๐ องศา ที่ท้ายเครื่องยิง ไกล ๑๐ เมตร

                  ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่ามีพื้นที่อันตรายประมาณ ๖๐ ตาราเมตร

ส่วนประกอบเครื่องยิง

           เครื่องยิงจรวดขนาด ๔๐ มม. ประกอบด้วย ๔ ส่วน ได้แก่

                  ๑. ส่วนลำกล้อง

                  ๒. ส่วนเครื่องลั่นไก

                  ๓. ส่วนเครื่องเล็ง (ศูนย์หน้าหลัง)

                  ๔. ส่วนเข็มแทงชนวน

           ๑. ส่วนลำกล้อง เป็นส่วนที่ช่วยในการเล็ง และระบายแก๊สในการยิงที่ปากลำกล้องตอนบนมีบากบังคับลูกจรวด ส่วนกลางของลำกล้องมีฝาประกับลำกล้องทำด้วยไม้ รัดด้วยปลอกสวมเพื่อกันความร้อน

           ๒. ส่วนเครื่องลั่นไก เรือนเครื่องลั่นไก มีหน้าที่ปล่อยลูกจรวด ประกอบด้วย

                  - โครงเครื่องลั่นไก

                  - นกปืน

                  - แผ่นเหล็กกับนกปืน

                  - คันส่งนกปืน (แกนแหนบนกปืน)

                  - แหนบนกปืน

           เครื่องนิรภัย ประกอบด้วย

                  - สลักนิรภัย

                  - แหนบสลักนิรภัย

                  - ฝาครอบแหนบสลักนิรภัย

           ในการห้ามไก จะต้องกดสลักนิรภัยจากด้านซ้ายจนกระทั่งแหวนสีแดงจมหายไป

           การทำงานของเครื่องลั่นไก การทำงานของเครื่องลั่นไกนั้น เพื่อความสะดวกในการศึกษา จำเป็นต้องแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน

           ๑. ตอนขึ้นนก

           ๒. ตอนลั่นไก

           ๓. การทำงานของเครื่องนิรภัย (ห้ามไก)

                  ๑) ขณะขึ้นนก เมื่อขึ้นนกปืน จะทำให้แหนบและแกนแหนบนกปืนยุบตัวต่ำลง แกนแหนบบนนกปืนจะถูกอัดตัวให้แง่หน้าของนกปืนขัดกับแง่ล่างของแผ่นเหล็กกับนกปืน

                  ๒) ขณะลั่นไก เมื่อเหนี่ยวไกมาข้างหลัง เครื่องลั่นไกจะทำงานดังต่อไปนี้ ไกเคลื่อนที่มาข้างหลังทำให้ส่วนบนของไกปืนไปกับแผ่นเหล็กกับนกปืนให้ลอยตัวสูงขึ้นให้แง่ส่วนล่างของแผ่นเหล็กกับนกปืนพ้นจากแง่หน้าของนกปืน แหนบและแกนแหนบนกปืนจะขยายตัวตามแรงอัดของแหนบ จะทำให้นกปืนไปตีท้ายเข็มแทงชนวน และส่วนโค้งด้านสั้นของแกนแหนบนกปืนจะบังคับให้นกปืนกลับมาอยู่ที่เดิม

                  ๓) การทำงานของเครื่องนิรภัย เมื่อกดห้ามไกจะทำให้แง่ล่างของไกหลุดออกจากแง่ของห้ามไก จะทำให้แง่ล่างของห้ามไกสามารถผ่านเข้าไปในบากของห้ามไก ทำให้เหนี่ยวไกมาข้างหลังได้

           ๓. ส่วนเครื่องเล็ง ประกอบด้วย ศูนย์หน้า และศูนย์หลัง ศูนย์หลังมีบากเล็งอยู่ ๓ ตำแหน่ง ในระยะ ๕๐ , ๑๐๐ และ ๑๕๐ ตามลำดับ ใช้เล็งได้ ๓ ระยะ ในการเล็งศูนย์หน้า และศูนย์หลังขึ้นตั้งฉากกับลำกล้องปืน

           ๔. ส่วนเข็มแทงชนวน ส่วนเข็มแทงชนวนมีหน้าที่ตีจอกกระทบแตกของลูกจรวด เพื่อจุดดินขับจรวด ติดตั้งที่แท่นใต้ลำกล้อง ส่วนเข็มแทงชนวนประกอบด้วย เข็มแทงชนวน แหวนป้องกันแก๊ส แหนบเข็มแทงชนวน แหวนบังคับแหนบเข็มแทงชนวน สลักยึดแหวนบังคับแหนบเข็มแทงชนวน ส่วนหล่อลื่นและช่องชุดเข็มแทงชนวน

           การทำงานของส่วนเข็มแทงชนวน ก่อนนกปืนจะตีเข็มแทงชนวน ตำแหน่งที่อยู่ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ของส่วนเข็มแทงชนวนจะอยู่ในลักษณะฝาเกลียวครอบชุดเข็มแทงชนวนจะหมุนกดให้แหวนป้องกันแก๊สติดอยู่กับแง่ในช่องฐานของส่วนเข็มแทงชนวนซึ่งอยู่ติดกับลำกล้อง เข็มแทงชนวนจะถูกแหนบเข็มแทงชนวนกดไว้ และอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำที่สุด และส่วนที่เป็นแป้นของเข็มแทงชนวนจะแนบสนิทอยู่กับแหวนป้องกันแก๊ส ปลายเข็มแทงชนวนจะอยู่ในช่องเข็มแทงชนวน แต่จะไม่ยื่นโผล่พ้นเข้าไปในลำกล้อง

           เมื่อนกปืนตีเข็มแทงชนวน จะทำให้แหนบเข็มแทงชนวนพ้นการบังคับของแหวนบังคับแหนบและสลักยึดแหวนกดตัวลง เข็มแทงชนวนจะโผล่กระแทกจอกกระทบแตกของลูกจรวดเพื่อจุดดินขับจรวด

           เมื่อนกปืนตีท้ายเข็มแทงชนวนแล้วจะถอยตัวออกด้วยแง่ของคันส่งนกปืน ทำให้แหนบเข็มแทงชนวนสามารถคลายตัวลง ปล่อยเข็มแทงชนวนลดตัวต่ำในลักษณะเดิม

การถอดประกอบ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

           ๑. การถอดคุมปกติ (ถอดคุมเพื่อทำความสะอาด) ได้แก่ การถอดคุมที่จำเป็นต้องกระทำอยู่เสมอในการปฏิบัติการยิง เพื่อแก้ไขเหตุติดขัดในขณะที่ทำการยิงและเพื่อบำรุงรักษาความสะอาด การถอดคุมชนิดนี้ พลประจำปืนต้องได้รับการฝึกฝนกระทำได้เองตามลำพัง สำหรับการถอดคุมปกตินี้ ถอดได้ ๓ ส่วน คือ

                  - ส่วนเข็มแทงชนวน

                  - ส่วนเครื่องลั่นไก

                  - ส่วนลำกล้อง

           วางเครื่องยิงจรวดให้ปากลำกล้องไปทางซ้าย ให้เครื่องลั่นไกหันเข้าหาตัวใช้มือขวาจับที่ด้ามเครื่องยิง เพื่อแก้ไขเหตุการณ์ติดขัดแล้วขึ้นนก โดยใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดปืนลง เสร็จแล้วห้ามไก

           ถอดส่วนเข็มแทงชนวน ใช้มือขวาจับกุญแจปากตายหมุนสกรูครอบเข็มแทงชนวนเข็มนาฬิกาจนส่วนเข็มแทงชนวนเป็นอิสระ

           ถอดเครื่องลั่นไก โดยการปลดห้ามไกแล้วใช้นิ้วขวาเหนี่ยวไกพร้อมกับหัวแม่มือขวาค่อย ๆ ผ่อนนกปืนจนสุด

           ถอดหมุนเกลียวยึดโครงลั่นไกตัวหน้าและหลังโดยใช้ไขควงหมุนทวนเข็มนาฬิกา ๓ - ๔ รอบ โดยใช้ฆ้อนเคาะเบา ๆ จนหมุนเกลียวยึดโครงเครื่องลั่นไกตัวหน้า หลัง หลุดจากแท่นยึดโครงเครื่องลั่นไก

           ๒. การถอดคุมพิเศษ ได้แก่ การถอดคุมที่ไม่จำเป็นจะต้องกระทำอยู่เสมอจะกระทำได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้นจริง ๆ และให้กระทำต่อหน้านายทหารสัญญาบัตรเท่านั้นยกเว้นในกรณีฉุกเฉินการถอดคุมพิเศษไม่จำเป็นต้องทราบวิธีถอด โดยไม่ต้องถอดก็ได้เพราะการถอดคุมประเภทนี้ถ้ากระทำอยู่เสมออาจเป็นเหตุให้เกิดการชำรุดของเครื่องกลไกได้

           การถอดคุมนอกจากที่กล่าวมาทั้งสองประเภทนี้เป็นหน้าที่เฉพาะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสรรพวุธ หรือ ผู้ที่ได้รับให้กระทำการซ่อม ซึ่งจะถอดได้เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจะต้องกระทำเนื่องในการซ่อมเท่านั้น

           การถอดเข็มแทงชนวน จับส่วนเข็มแทงชนวนด้วยมือซ้ายให้ปลายเข็มแทงชนวนอยู่ด้านล่าง

                  - ยกสกรูเข็มแทงชนวนออก ให้หัวแม่มือกดแหวนบังคับแหนบเข็มแทงชนวนให้ยุบตัวลงแล้วดึงสลักเข็มแทงชนวนออก ยกแหวนบังคับแหนบเข็มแทงชนวนออก

                  - นำแหนบเข็มแทงชนวนออก แล้วเอาแหวนป้องกันแก๊สออกจากเข็มแทงชนวน

           การถอดเครื่องลั่นไก วางเครื่องลั่นไกแบนราบ ให้โกร่งไกหันไปทางซ้าย

                  - ถอดหมุนเกลียวยึดฝาครอบเครื่องลั่นไกทั้ง ๓ ตัวออก แล้วยกฝาครอบเครื่องลั่นไกออก

                  - ยกเครื่องลั่นไกด้วยมือขวาใช้นิ้วหัวแม่มือขวาลดปืนลง ๑/๓ จนเห็นรูที่แกนแหนบด้านล่างใช้เหล็กสอดด้วยมือซ้าย สอดไปในรูแกนแหนบ

                  - เหนี่ยวไกเล็กน้อย เพื่อให้นกปืนพ้นจากบากแผ่นกันนกปืน แล้วนำนกปืนออก

                  - ถอดแหนบและแกนแหนบบนปืนออกโดยใช้ชุดเครื่องมือถอดประกอบโดยให้ส่วนโค้งด้านสั้นหันเข้าหาตัวให้เหล็กสอดอยู่ทางซ้ายใช้ด้ามกุญแจปากตายกดลงบนเครื่องมือถอดประกอบจนเหล็กสอดเป็นอิสระ ใช้มือซ้ายดึงเหล็กสอดออก

                  - ถอดห้ามไกออก โดยถือเครื่องลั่นไกออกจากช่องห้ามไกโดยระมัดระวังดึงแหนบและครอบแหนบออก

                  - ใช้ไขควงคลายหมุดเกลียวแผ่นเหล็กกันนกปืนทวนเข็มนาฬิกาแผ่นเดียวกันนกปืนออก

การประกอบ ให้การกระทำตรงกันข้ามกับการถอดชิ้นส่วนใดถอดทีหลังสุดให้ประกอบเข้าก่อน

         การประกอบเครื่องลั่นไก

           - ถือโครงลั่นไกด้วยมือซ้ายให้โกร่งไกหันไปทางซ้ายมือ ใส่ไกจากด้านบนใส่สลักไก

               - ใส่แผ่นเหล็กกันนกปืน โดยให้ส่วนบนอยู่ด้านบนใส่หมุดเกลียวยึดแผ่นเหล็กกันนกปืนแล้วขันให้แน่น

           - ใส่แหนบและครอบแหวนห้ามไกเข้าที่ใช้หัวแม่มือกดแหนบและครอบแหนบห้ามไกแล้วประกอบห้ามไกเข้าที่ โดยให้บากอยู่ด้านบน และด้านที่มีสีแดงอยู่บนเข้าหาตัว

           - ประกอบแหนบและแกนแหนบนกปืนโดยใช้เครื่องมือถอดประกอบโดยให้ส่วนโค้งด้านสั้นเข้าหาตัวโดยสวมกุญแจปากตายกดจนสามารถใส่เหล็กสอดลงในรูแกนแหนบนกปืนใส่แหนบและแกนแหนบเข้าที่

           - ใส่นกปืน โดยให้หัวแม่มือซ้ายกดที่ไกเล็กน้อย เพื่อให้แผ่นเหล็กกับนกปืนเผยอขึ้น

           - ใช้มือขวาจับเครื่องลั่นไก ให้หัวแม่มือกดปืนลง ๑/๓ แล้วดึงเหล็กสอดออก

           - ปิดฝาครอบเครื่องลั่นไกใส่หมุดเกลียมขัดฝาครอบ เครื่องลั่นไกหมุนตามเข็มนาฬิกาให้แน่น

           การประกอบเข็มแทงชนวน

           - จับเข็มแทงชนวนด้วยมือซ้ายให้ปลายเข็มแทงชนวนอยู่ด้านล่างใส่แหนบป้องกันแก๊สโดยให้ส่วนนั้นอยู่ด้านบน

           - ใส่สลักเข็มแทงชนวนใส่แหนบบังคับแหนบเข็มแทงชนวนโดยให้ส่วนนั้นอยู่ด้านล่าง

           - ใส่สลักเข็มแทงชนวนโดยใช้นิ้วหัวแม่มือกดจนเห็นรูสลัก

           - ใส่สกรูครอบเข็มแทงชนวน

           การประกอบเข็มแทงชนวนเข้ากับฐานยึดเข็มแทงชนวน

           - ขึ้นนก ห้ามไก นำส่วนเข็มแทงชนวนเข้าที่ โดยหมุนตามเข็มนาฬิกาให้แน่นด้วยกุญแจปากตาย

           - การตรวจสอบหลังการประกอบ

           - ปลดห้ามไก แล้วลั่นไก ๒ - ๓ ครั้ง

           - ขึ้นนกปืน ใช้หัวแม่มือถอดที่ท้ายเข็มแทงชนวนด้วยการมองดูภายในลำกล้อง

           การประกอบเครื่องลั่นไกเข้ากับลำกล้องปืน

           - นำเครื่องลั่นไกประกอบเข้ากับแท่นยึดเครื่องลั่นไก

           - ใส่หมุดเกลียวยึดเครื่องลั่นไกตัวหน้า โดยใช้หมุดเกลียวที่มีลักษณะนูนอยู่ด้านหน้าและหมุดเกลียวตัวหลัง โดยหมุนให้แน่น

ข้อควรระมัดระวังในการประกอบ

           - ถ้าขัดหมุนเกลียวยึดแผ่นกันนกปืนไม่แน่น จะห้ามไกไม่ได้

           - การประกอบส่วนเข็มแทงชนวนถ้าใส่แหนบป้องกันแก๊สหรือแหวนบังคับแหนบเข็มแทงชนวนผิด จะทำให้บรรจุลูกจรวดไม่เข้าที่

           - ประกอบห้ามไกผิด จะลั่นไกไม่ได้

           - การประกอบนกปืน ถ้าห้ามไกอยู่ในลักษณะห้ามไกจะทำให้ประกอบนกปืนไม่เข้าที่

ลูกจรวด

           ลูกจรวดสำหรับยิงเครื่องยิงจรวด ขนาด ๔๐ มม. เป็นลูกจรวดชนิดที่ใหญ่กว่าลำกล้องมีแรงระเบิดสูง ชนิดต่อสู้รถถัง แรงระเบิดสูงนี้ ใช้ทำลายรถถังเคลื่อนที่หรือหยุดอยู่กับที่ในระยะไม่เกิน ๑๕๐ เมตร อำนาจทะลุทะลวงนี้จะเกิดจากการที่บรรจุดินระเบิดให้เป็นรูปกรวยที่มีว่างอยู่ด้านหน้าเมื่อลูกจรวดวิ่งเข้าชนเป้าความร้อนที่เกิดจากการรวมเข้สู่จุดกลางเดียวกันจะละลายเกราะเหล็กเข้าไป และระเบิดขึ้น ทำลายพลประจำรถ สิ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ และเกิดเพลิงไหม้ขึ้น

           ลูกจรวดประกอบด้วยส่วนใหญ่ ๆ ๔ ส่วน ได้แก่

           ๑. ตัวจรวด

           ๒. ชุดหางนำทิศ

           ๓. หลอดดินส่ง

           ๔. ส่วนชนวนระเบิด

           - ส่วนลำตัวของลูกจรวด มีหัวเป็นรูปกรวยยาวทำด้วยโลหะเพื่อไม่ให้ต้านลมบรรจุดินระเบิด T.N.T. ผสมไฮโดรเจน ฝารองรับจะมีห้องชุดหลอดจุดระเบิดและมีเกลียวต่อระหว่างลำตัวของลูกจรวดกับชุดหางนำทิศ

           - ส่วนในชุดทางนำทิศ มีหน้าที่ ทรงตัวจรวจที่พุ่งไปข้างหน้า - ให้ตรงทางประกอบด้วยท่อต่อหลอดดินส่งทางนำทิศมี ๖ ครีบ ต่อกับจอกกระทบแตกและดินระเบิดนำเมื่อต้องการที่จะบรรจุลูกจรวดหรือบรรทุก หรือการนำพาหาทางนำทิศจะต้องพับแนบติดกัน และรัดด้วยห่วงเหล็ก ตลับจอกกระทบแตกท่อดินขยายการระเบิดทางขวางซึ่งมีดินดำบรรจุอยู่ในท่อดินขยายการระเบิดทางตั้งจะมีจอกกระทบแตกอยู่ด้วยและในท่อขยายดินระเบิดทางขวางจะหุ้มห่อด้วยวัตถุกันความชื้น ส่วนล่างของจอกกระทบแตกจะมีเกลียวต่อกับหลอดขยายดินระเบิดจะต้องชะโลมน้ำมันและปิดฝาพลาสติกไว้ก่อนต่อหลอดดินส่งจะต้องถอดฝาปิดออกก่อน ส่วนหางนำทิศจะมีสลักซึ่งเมื่อบรรจุลูกจรวดเข้ากับเครื่องยิงแล้ว สลักนี้จะต้องเข้าไปอยู่ในร่องบากลำกล้องหลอดดินส่งมีหน้าที่ขับให้ลูกจรวดวิ่งออกจากลำกล้องดินดำมีแผ่นกระดาษกั้นอยู่ด้วยกัน ๕ แผ่น เพื่อเพิ่มแรงที่ตัวลูกจรวด

           - ส่วนชนวนระเบิด ทำหน้าที่เป็นเครื่องจุดระเบิดแล้วทำให้เกิดการระเบิดของลูกจรวดเมื่อวิ่งไปกระทบเป้า คุณสมบัติของชนวนซึ่งบรรจุอยู่ที่ท้ายลูกจรวดนี้เป็นชนวนไวหมายถึงเมื่อยิงออกไปกระทบจุดใดก็จะระเบิดทันที

           - ระบบการทำงานของชนวน ก่อนทำการยิงจรวดจะอยู่ในสภาพนิรภัย เนื่องจากฐานสลักฐานเข็มจะหลบอยู่ข้างในหลอดยึดสปริง เมื่อลั่นไก เข็มแทงจะไปกระแทกกับชนวนท้าย (แก๊ป) ซึ่งติดอยู่กับส่วนหางลูกจรวดเกิดประกายไฟไปจุดดินส่งกระสุนให้ระเบิดจะเกิดแรงดันทำให้จรวดวิ่งออกไปทางปากลำกล้องจากแรงดันของดินส่งและจรวดวิ่งออกไปนั้นจะเกิด แรงซุน ทำให้สปริงถอยทรุดตัวไปข้างหลังจนถึงที่แล้วหัวสลักฐานเข็มจะหลุดออกมาอยู่ในร่องเล็ก (ของหลอดยึดสปริง) ทำให้เข็มแทงเป็นอิสระ (พ้นสภาพนิรภัย) เข็มแทงชนวนพร้อมที่จะทำงานขณะจรวดพ้นปากลำกล้องออกไปในระยะ ๑.๕ - ๑.๘ เมตร สปริงจะแกว่งไป - มา และด้วยการขยายตัวของสปริงจะพาเข็มแทงพุงออกไปข้างหน้าด้วยขณะนี้เข็มแทงพร้อมที่จะชนแก๊ป (เชื้อปะทุ) แต่ยังไม่ชนเพราะที่หัวเข็มแทงมีสปริงนิรภัยไว้เมื่อจรวดกระทบเป้าจะเกิดแรงเฉื่อย ทำให้สปริงยุบตัวไปข้างหลังแต่ตัวเข็มแทงจะไม่ถอยตามไปเพราะตัวเลื่อนคันท้ายเข็มแทงไว้ ทำให้หัวเข็มแทงกระแทกแก๊ป (จอกกระทบแตก) เพื่อจุดดินระเบิดนำแล้วทำให้ดินระเบิดแรงสูงส่วนใหญ่ในหัวจรวดเกิดระเบิดตามไปด้วย

 

 

การประกอบลูกจรวด ในการประกอบลูกจรวด เพื่อใช้งานนั้น ให้ปฏิบัติดังนี้

           ๑. สวมแหวนรัดหางนำทิศเข้ากับเครื่องมือ พับครีบหางนำทิศ

           ๒. ถอดฝาครอบท้ายลูกจรวดออก

           ๓. ใช้เครื่องมือพับครีบหางนำทิศ พับหางนำทิศทาง

           ๔. ใช้เครื่องมือกด แหวนรัดลง รัดครีบหางนำทิศ

การบรรทุกหรือการนำพา

           ๑. ในการขนย้ายจะต้องนำลูกจรวดและหลอดดินขับใส่ลังให้เรียบร้อย

           ๒. ถ้าจะต้องแบกติดหลังไปเป็นบุคคลจะต้องจัดหาถุงย่ามโดยเฉพาะใน ๑ ถุง จะมีลูกจรวด ๓ ลูก และหลอดดินขับ ๓ หลอด

           ๓. ในฤดูร้อน ควรเก็บลูกจรวดและหลอดดินส่งไว้ในที่ร่มในหลุมบุคคล อย่าปล่อยทิ้งไว้กลางแดดที่ร้อนจัด

           ๔. อย่าเก็บลูกจรวดและหลอดดินขับไว้ในที่ชื้นแฉะ

           ๕. อย่าแกะกล่องกันความชื้นที่ห่อหุ้มหลอดดินขับอยู่ จนกว่าจะใช้ยิง

การเตรียมเครื่องยิง ก่อนทำการยิง ต้องทำความสะอาดลำกล้องด้วยผ้าสะอาดและตรวจการทำงานของเครื่องลั่นไก และสลักนิรภัย

           ตรวจลูกระเบิดและประกอบหลอดดินขับเข้าด้วยกันจะต้องไม่มีรอยบุแตกบนหัวจรวดและครีบหางนำทิศ แต่อาจมีรอยบุบที่หัวจรวดได้บ้าง แต่ลึกไม่เกิน ๑.๕ มม.

           ตรวจเกลียวต่อระหว่างท้ายจรวดกับท่อต่อหลอดดินขับอย่างละเอียด เกลียวต้องแน่น

           ในการต่อหลอดดินขับเข้ากับตัวจรวดและกล่องดินขับเปิดฝากันฝุ่นให้ลูกจรวดออกก่อนจึงต่อเข้าด้วยกัน

การบรรจุและยิง

           ในการบรรจุให้ถือลูกจรวดซึ่งพร้อมใช้ยิงด้วยมือซ้าย และบรรจุหลอดดินส่งและท่อต่อหลอดดินส่งของลูกจรวดเข้าทางปลายลำกล้องจนกระทั่งสลักบนลูกจรวดเข้าไปยังปากลำกล้องให้สนิทในขณะนี้จอกกระทบแตกของลูกจรวดจะตรงกับช่องของเข็มแทงของเครื่องยิงพอดีในการบรรจุจะต้องหันปากลำกล้องไปยังทิศที่จะยิง

           ในการบรรจุแหวนรัดครีบหางนำทิศจะหลุดออกมาและติดอยู่ท่อต่อหลอดดินส่งของหัวจรวดถ้าไม่สามารถบรรจุลูกจรวดได้สะดวกให้หมุนลูกจรวดตามเข็มนาฬิกา

           ภายหลังจากการบรรจุกดปุ่มห้ามไกจากด้านขวาด้วยนิ้วชี้มือขวาเพื่อปลดห้ามไกและรั้งนกปืนลงข้างล่างให้มีเสียงดังคลิ๊ก

           เมื่อไม่มีแหวนรัดครีบทางนำทิศให้ใช้มือกำหางนำทิศและบรรจุดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

           เล็งผ่านศูนย์ ตามระยะยิง และยอดศูนย์หน้าบีบไกปืนช้า ๆ ห้ามยิงด้วยการพาดเครื่องยิงบนไหล่ซ้าย ระวังอย่าให้เท้าอยู่ท้ายเครื่องยิง

           เมื่อลั่นไกแล้วเครื่องยิงไม่ทำงานอย่าเปลี่ยนท่ายิงแต่ให้ขึ้นนกปืนใหม่แล้วยิงซ้ำถ้าไม่ทำงานเป็นครั้งที่ ๒ ให้เลิกบรรจุและเปลี่ยนลูกจรวดใหม่เมื่อจบการยิงถ้ามีเศษดินปืนอยู่ในลำกล้องไม่ต้องทำความสะอาดลำกล้องเพราะจะไม่มีผลต่อการบรรจุใหม่แต่ถึงอย่างไรก็ตามการบรรจุจะยากขึ้นเมื่อยิงไปแล้ว ๗ - ๑๐ นัด ก็ให้ทำความสะอาดลำกล้องด้วยเศษผ้าที่สะอาด

การเลิกบรรจุจะต้อง ปฏิบัติดังนี้

           ๑. กดสลักนิรภัยให้อยู่ในลักษณะห้ามไกโดยกดจากซ้าย

           ๒. ถอดลูกจรวดออกจากเครื่องยิง

           ๓. ถอดหลอดดินส่ง

           ๔. พับครีบทางนำทิศด้วยมือและพับไว้

           ๕. เก็บหลอดดินส่งและลูกจรวดใส่ถุงย่ามและปิดฝา

           ๖. ถ้านกปืนไม่ถอยกลับภายหลังเลิกบรรจุให้กดสลักนิรภัยจากด้านขวาของเรือนเครื่องยิงเพื่อปลดห้ามไก กดนกปืนลง และลั่นไก นกปืนก็จะกลับที่เดิม

           ๗. พับศูนย์หน้า ศูนย์หลัง

           ๘. ปิดฝาลำกล้องข้างหน้าและหลัง

การปรนนิบัติบำรุง

           การตรวจเครื่องยิง

           ๑. ตรวจสอบภายนอกของเครื่องยิงจรวด

                  - ตรวจสอบทั่วไป ความชำรุด ฝุ่น สนิม

                  - ตรวจศูนย์หน้า หลัง ไม่คด ไม่โก่งงอ แหนบศูนย์หน้า - หลังใช้ได้หรือไม่

           ๒. ตรวจลำกล้อง

                  - ลำกล้องต้องแห้ง

                  - ตรวจรอยร้าว สนิม รอยบุบ

           ๓. ตรวจเรือนเครื่องลั่นไก และเข็มแทงชนวน

                  - ง้างนกปืนแล้วค่อย ๆ ลั่นไกตรวจดูว่านกปืนมีแรงกระแทกหรือไม่จะได้ยิงเสียงนกปืนเข็มแทงชนวนดังคลิ๊ก เมื่อบีบและคลายไกปืนจะต้องเข้าออกได้สะดวก

                  - ตรวจดูว่าเข็มแทงชนวนโผล่เข้าไปในลำกล้องเมื่อสับนกปืนหรือไม่

           ๔. ตรวจการทำงานของเครื่องห้ามไก

                  - ง้างนกปืนกดห้ามไกจากด้านซ้ายของเรือนเครื่องลั่นไกให้อยู่ในลักษณะห้ามไกเมื่อบีบไกแล้วเครื่องลั่นไกจะไม่ทำงานนกปืนจะไม่สับเข็มแทงชนวน

การทำความสะอาดและหล่อลื่น

           ในการทำความสะอาดเครื่องยิงจรวดให้ใช้วัสดุต่อไปนี้

           - เศษผ้าสะอาดสำหรับทำความสะอาดลำกล้อง 

           - น้ำมันหล่อลื่น

           - ผ้าสะอาด 

           - ยาขัดหนังเพื่อขัดเครื่องกันความร้อนและสายสะพาย

           - น้ำด่างหรือน้ำสบู่

           - แส้ทำความสะอาด

วิธีทำความสะอาดและหล่อลื่น

           ทำความสะอาดภายนอกด้วยผ้าสะอาดและแห้ง ถอดเครื่องลั่นไกออกจากลำกล้อง ถอดเข็มแทงชนวน ถอดประกับกันความร้อน ออกจากลำกล้องงอ และทำความสะอาดภายนอกในการทำความสะอาดภายในลำกล้องให้ทำด้วยเศษผ้าปลายแส้ถ้าเป็นการทำความสะอาดภายหลังการยิงจะต้องเอาเศษผ้าชุบน้ำสบู่ด้วย จากนั้นใช้ผ้าแห้งเช็ด

           ตรวจดูความสะอาดบริเวณเข็มแทงชนวนบนลำกล้อง เมื่อทำความสะอาดเช็ดแห้งแล้วชโลมด้วยน้ำมันชโลม ประกอบด้วยเครื่องยิง และเก็บในที่เหมาะสม

การเก็บบำรุงรักษา

           ๑. ที่เก็บควรเก็บไว้ที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทได้สะดวกห้องที่อับชื้นไม่เหมาะในการเก็บรักษาห้ามตากแดดหรือย่างไฟ พันศูนย์ ห้ามไก ห้ามขึ้นนกปืน

           ๒. เมื่อยังไม่ใช้ปิดฝาท้ายลูกจรวดได้ตลอดเวลาหลอดดินส่งยังไม่ตัดออกไปเมื่อยังไม่ใช้

           ๓. ก่อนนำไปใช้ทำความสะอาด ตรวจเข็มแทงชนวน ลูกจรวดแก๊ปส่งต่อ เรียบร้อยหรือเปล่า

           ๔. การเก็บรักษาความสะอาดต้องทำความสะอาดเสมอ แต่ไม่ต้องถอดชิ้นส่วนออกมา

เหตุติดขัดและวิธีแก้ไข

           เมื่อลั่นไกเครื่องยิงลูกจรวดไม่ออกจากลำกล้องให้ขึ้นนกใหม่แล้วยิงซ้ำถ้ายิงไม่ออกอีกให้ถอดลูกจรวดออกแล้วหาสาเหตุที่ติดขัดแล้วดำเนินการแก้ไข

สาเหตุติดขัดและการแก้ไข มี ๒ ประการ

           ๑. บรรจุลูกจรวดไม่ถึงที่

                  - ลำกล้องสกปรก - ทำความสะอาด

                  - แก๊ปส่งต่อโผล่ขึ้นมาจากรู - เปลี่ยนลูกจรวดใหม่

                  - สปริงเข็มแทงชนวนหักหรืออ่อนเกินไป - เปลี่ยนเข็มแทงชนวน

           ๒. ลูกจรวดไม่ลั่น

                        - บรรจุลูกไม่ถึงที่ (รูปแก๊ปกับเข็มแทงชนวนไม่ตรงกัน) บรรจุใหม่ (ไม่มีรอยเข็มแทงชนวนที่แก๊ป)

                  - แก๊ปส่งต่อไม่ทำงานเสื่อม (มีรอยเข็มแทงชนวน) - เปลี่ยนลูกจรวดใหม่

                  - เข็มแทงชนวนลึกหรือหัก - เปลี่ยนเข็มแทงชนวนใหม่

 

 

การเลือกมาตราระยะยิง

           ขณะที่ลูกจรวดวิ่งไปในอากาศจะเกิดแรงต้านทานจากอากาศและแรงดึงดูดของโลกวิถีกระสุนยิงเป็นเส้นโค้งทำให้ความสูงของวิถีไม่เท่ากันยิ่งไปกว่านั้นความเร็วต้นของลูกจรวดน้อยคือ ๗๕ เมตร/วินาที (สามารถมองเห็นลูกจรวดวิ่งในอากาศ) จึงทำให้กระสุนวิถีเป็นเส้นโค้งดังกล่าวมาแล้ว

           ฉะนั้น ขณะทำการยิงและต้องการเล็งให้ถูกเป้าหมายจะต้องเลือกมาตราระยะยิงให้เหมาะและถูกต้องใกล้เคียงกับระยะที่เป็นจริงโดยพิจารณาดูว่าเป้าหมายที่จะทำการยิงใหญ่หรือเล็ก (มาตราระยะ ๑๕๐, ๑๐๐ และ ๕๐)

           การเลือกมาตราระยะยิง กระทำได้ ๒ วิธี คือ

           ๑. ถ้าเป้าหมายอยู่ที่ระยะ ๑๕๐, ๑๐๐ และ ๕๐ เมตร ก็ให้ใช้ตามมาตราระยะยิงแล้วทำการเล็งตรงไปที่จุดกึ่งกลางเป้าหมาย (ไม่ใช่เล็งนั่งแท่น)

           ๒. ถ้ากะระยะเป้าหมายได้ว่าอยู่สูง หรือต่ำกว่ามาตราระยะยิงที่ใช้ก็ให้ใช้วิธีเล็งสูงหรือต่ำลงมา (เป็นเมตร) ตามตารางยิงที่กำหนดไว้

           ๓. เช่น เป้าหมายอยู่ที่ระยะ ๙๐ เมตร ต้องเล็งต่ำลงมาจากมาตราระยะ ๑๐๐ เท่ากับ ๐.๘ เมตร

                  - เป้าหมายที่อยู่ระยะ ๑๒๐ เมตร ต้องเล็งสูงขึ้นไปจากมาตราระยะ ๑๐๐ เท่ากับ ๑.๗ เมตร

ข้อสังเกตในการเล็ง

           - การเล็งที่ถูกต้องคือเล็งศูนย์พอดี (ศูนย์หน้าอยู่กึ่งกลางช่องบากศูนย์หลังและเสมอกับศูนย์หลัง) แล้วจึงหันเข้าหาจุดเล็ง (กึ่งกลางเป้าหมาย)

           - การใช้สายตาที่ถูกต้องคือ ๕ - ๘ วินาที อย่าเล็งนานเกินไป

ตารางยิง

หมายเหตุ เครื่องหมาย ลบ (-) ต้องเล็งสูงขึ้นไปข้างหลังเป้า

 

การเล็งดัก

           - สำหรับการเล็งดักนั้น ระยะที่แม่นยำคือ ๑๐๐ เมตร

           - การเล็งดักรถถังเคลื่อนที่เข้าหาตัว ต้องเล็งที่จุดเล็งต่ำสุดและถ้าเคลื่อนที่ออกจากตัวเราต้องเล็งจุดที่สูงที่สุด

           - ถ้ารถถังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็ว ๓๐ กม./ชม. ควรเล็งดัก ๑.๕ ช่วงความยาวของตัวรถ

การเลือกที่ตั้งยิง

           - เป็นที่ที่สามารถใช้กำบังตนเองได้มาตรการซ่อนพรางดี

           - สามารถเสริมอำนาจจากการยิงของเรา

           นอกจากนี้ ควรจะเลือกที่ตั้งยิงตามสภาพของข้าศึกภูมิประเทศและตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เช่น เลือกที่ตั้งยิงตามริมเส้นทางที่รถถังข้าศึกจะผ่านมาสามารถตรวจการณ์เห็นได้ดีสะดวกต่อการยิงโดยไม่มีสิ่งกีดขวางบังลำกล้องในระยะ ๒๐ เมตร และเมื่อทำการยิงแล้วจะต้องมีเส้นทางเคลื่อนที่เพื่อหลบหนีโดยมิให้ข้าศึกตรวจพบได้โดยง่าย อย่าเลือกสถานที่ที่เป็นจุดเด่นขณะทำการยิงปากลำกล้องต้องอยู่สูงจากพื้นดินอย่างน้อย ๒๐ ซม. บริเวณท้ายลำกล้องอย่าให้มีสิ่งไวไฟ กระสุน หญ้าแห้งหรือบุคคล

           การเลือกที่ตั้งยิงควรเลือกไว้หลาย ๆ แห่ง เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเราเอง เพราะหากข้าศึกรู้ว่าเรามีอาวุธต่อสู้รถถัง เขาจะรวมอำนาจการยิงมาที่เราได้

           การใช้เครื่องยิงทางยุทธวิธีนั้นใน ๑ หมู่ทหารราบ จะมีเครื่องยิง ๑ กระบอก แต่ถ้าจะรวมอำนาจการยิงแล้วก็รวมเครื่องยิงประมาณ ๔ - ๕ กระบอก เข้าทำการต่อสู้กับข้าศึกในแนวหน้า ใน ๑ หมู่เครื่องยิงประกอบด้วย พลยิงและพลยิงผู้ช่วยแต่ละนายมีลูกจรวดติดตัวไป ๓ นัด และบรรจุที่ลำกล้องอีก ๑ นัด รวม ๗ นัด สำหรับในภารกิจลาดตระเวนค้นหานั้น ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องยิง เพราะไม่คุ้มค่าในการที่เราจะนำอาวุธชนิดนี้ไปยิงข้าศึก