ตอนที่ ๑๐ การฝึกพลประจำปืน 

ตอนที่ ๑๐ การฝึกพลประจำปืน


ก. กล่าวทั่วไป

           ๑. การฝึกพลประจำปืน ย่อมจะมีผลทำให้พลประจำปืนมีความคล่องแคล่ว ในเรื่องการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นชุด ซึ่งจะทำให้สามารถนำเอาอาวุธเข้าที่ตั้งยิงได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว การที่พลประจำปืนแต่ละคนจะปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้องนั้น จำเป็นจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบการต่าง ๆ อันเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลอย่างเข้มงวดกวดขัน เมื่อพลประจำปืนสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้อง และมีความคล่องแคล่วดีแล้ว จึงค่อย ๆ ทำการฝึกให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็วในขั้นต่อไป

           ๒. เพื่อให้บังเกิดผลในด้านปฏิบัติงานร่วมกันเป็นชุด ในระหว่างการฝึกจึงควรได้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งกันปฏิบัติบ่อย ๆ โดยให้แต่ละคนภายในหมู่จนครบและมีความชำนาญในการปฏิบัติงานได้ทุกตำแหน่ง ในการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันฝึกปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ควรจะเน้นหนักให้ฝึกปฏิบัติเฉพาะในหน้าที่ของผู้บังคับหมู่, พลยิง และพลบรรจุโดยละเอียด

           ๓. สำหรับการฝึกให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วนั้นให้ถือว่าเป็นการฝึกพลประจำปืนในขั้นสุดท้ายในระหว่างการฝึกในขั้นการพัฒนาความรวดเร็วนี้ จะต้องพยายามดำรงไว้ในเรื่องความถูกต้อง และการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นชุดไว้ให้มากกว่าที่จะมุ่งถึงเรื่องความรวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว โดยให้ทำการฝึกเปลี่ยนที่ตั้งยิงจากที่ตั้งยิงแห่งหนึ่ง ไปยังที่ตั้งยิงอีกแห่งหนึ่งด้วยการปฏิบัติซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง แต่จะต้องเน้นหนังถึงเรื่องการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องโดยใช้เวลาน้อยที่สุด

 

ข. การจัดกำลังและยุทโธปกรณ์สำหรับการฝึกพลประจำปืน

           ในการฝึกพลประจำปืนนั้น จะต้องกำหนดให้มีพลประจำปืนตามตำแหน่งต่าง ๆ อาวุธประจำกาย และยุทโธปกรณ์ประจำกายดังต่อไปนี้คือ


ค. การเข้าแถวของพลประจำปืน

         เมื่อได้ยินคำบอกว่า "พลประจำปืน,แถว" ให้ทหารทุกคนภายในหมู่ (ยกเว้นผู้บังคับหมู่) วิ่งไปยืนเข้าแถวและอยู่ในท่าตรงในลักษณะที่ให้จุดศูนย์กลางของแถวอยู่ข้างหน้าและห่างจากรถ ๒ ก้าว  (ยืนหันหลังให้รถ)ตามตำแหน่งที่อยู่ที่แสดงไว้ด้วยภาพในรูปที่ ๒๔ สำหรับผู้บังคับหมู่ให้ยืนหันหน้าเข้าหาแถวตรงหน้าพลขับโดยให้ยืนห่างจากพลขับ ๒ ก้าว เมื่อทุกคนเข้าแถวเรียบร้อยแล้วให้ผู้บังคับหมู่ตรวจสอบตำแหน่งของพลประจำปืน โดยใช้คำบอกว่า "ขานตำแหน่ง" เมื่อได้ยินคำบอกว่า "ขานตำแหน่ง" ให้พลประจำปืนขานตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นรายบุคคลจากทางขวาไปทางซ้ายตามลำดับ (พลบรรจุเป็นผู้ขานก่อน) 

   รูปที่ ๒๔  การเข้าแถวของพลประจำปืน                               รูปที่ ๒๕  การเข้าประจำที่บนรถ

 


ค. การเข้าประจำที่ของหมู่

                เมื่อได้ยินคำบอกว่า "ประจำที่" ให้ผู้บังคับหมู่ทำท่ากลับหลังหัน ต่อจากนั้นให้ผู้บังคับหมู่  และพลประจำปืนทุกคนวิ่งไปเข้าประจำที่บนรถ ตามตำแหน่งที่นั่งของตนตามภาพที่แสดงไว้ใน รูปที่ ๒๕

ง. การตรวจเครื่องมือเครื่องใช้

           เมื่อได้ยินคำบอกว่า " ตรวจเครื่องมือเครื่องใช้ " (ในขณะที่พลประจำปืนทุกคนประจำอยู่ที่บนรถแล้ว)ให้พลประจำปืนทุกคน ตรวจเครื่องมือเครื่อใช้ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ

           ๑. ผู้บังคับหมู่ ให้ทำการตรวจตามหน้าที่ของตนไปตามลำดับดังนี้คือ

                  ก) ตรวจดูที่แท่นยึดตรึงลำกล้องสำหรับการเดินทางว่าทำงานตามหน้าที่ได้อย่างถูกต้องหรือไม่

                  ข) พิจารณาแผนที่ของตนว่าเป็นแผนที่ที่ถูกต้องหรือไม่

                  ค) ตรวจกล้องส่องสองตาว่าเลนส์สะอาดและมีส่วนใดส่วนหนึ่งแตกหักหรือไม่

                  ง) ให้ลงจากรถแล้วเคลื่อนที่ออกไปยืนห่างจากรถในระยะห่างพอสมควร ( พอที่จะใช้เข็มทิศได้ ) แล้วทำการตรวจสอบเข็มทิศว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างถูกต้องหรือไม่ เสร็จแล้วให้ยืนอยู่ ณ ที่นั้นโดยให้ยืนหันหน้าเข้าหาอาวุธแล้วรอจนกว่าพลประจำปืนแต่ละคน จะทำการตรวจเครื่องมือเครื่องใช้ตามหน้าที่ของตนและรายงานความเรียบร้อยแล้ว จึงรายงานขึ้นว่า "หมู่...เรียบร้อย"

           ๒. พลยิง ให้ทำการตรวจตามหน้าที่ของตนไปตามลำดับดังนี้คือ

                  ก) ตรวจปืนชี้ที่หมายว่าทำงานได้ตามหน้าที่หรือไม่

                  ข) ตรวจซองกระสุนและกระสุนปืนชี้ที่หมายว่าทำงานตามหน้าที่ และมีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีแล้วหรือไม่

                  ค) เปิดฝาปิดกล้องเล็งออก แล้วตรวจดูกล้องเล็งและโครงยึดกล้องเล็งว่าใช้งานได้หรือไม่,หวอดระดับแตกหรือไม่, กล้องสะอาดและยึดติดกับโครงติดตั้งไว้มั่นคงหรือไม่

                  ง) ตรวจควงมุมส่ายและควงมุมสูงว่าทำงานตามหน้าที่ได้อย่างถูกต้องหรือไม่

                  เมื่อพลยิงตรวจสิ่งต่าง ๆ ตามหน้าที่ของตนเรียบร้อยแล้ว ให้รายงานขึ้นว่า "ปืน..เรียบร้อย"

           ๓. พลบรรจุ ให้ทำการตรวจตามหน้าที่ของตนไปตามลำดับดังนี้คือ

                  ก) ตรวจปืนไร้แรงสะท้อนว่ารังเพลิงปลอดภัยและเครื่องปิดท้ายอยู่ในสภาพที่ใช้ทำการยิงได้หรือไม่

                  ข) ตรวจดูกระสุนทุกนัด ว่าได้มีการยึดตรึงไว้อย่างถูกต้องและมีกระสุนชนิดต่าง ๆ ครบตามที่กำหนดหรือไม่

                  ค) ตรวจดูว่ามีวัสดุสำหรับใช้ทำความสะอาดและแส้ดันหัวกระสุนเก็บไว้ถูกต้องตามที่หรือไม่

                  เมื่อพลบรรจุตรวจสิ่งต่าง ๆ ตามหน้าที่ของตนเรียบร้อยแล้ว ให้รายงานขึ้นว่า "ปืนและกระสุน,เรียบร้อย"

 

จ. การรายงาน

           เมื่อพลประจำปืนแต่ละคน ได้ทำการตรวจเครื่องมือเครื่องใช้ตามหน้าที่ของตน ตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ในข้อ ง.เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้พลประจำปืนแต่ละคนรายงานความเรียบร้อยตามลำดับทีละคนดังต่อไปนี้ คือ

           ๑. พลบรรจุ รายงานว่า "ปืนและกระสุน,เรียบร้อย"

           ๒. พลยิง รายงานว่า "ปืน,เรียบร้อย"

           ๓. ผู้บังคับหมู่ รายงานว่า "หมู่เรียบร้อย"

ฉ. การตั้งยิง

           ในการฝึกตั้งยิงนั้นผู้บังคับหมู่จะต้องเป็นผู้ใช้คำบอกว่า " ตั้งยิง " เมื่อได้ยินคำบอกวา "ตั้งยิง" ให้พลประจำปืนแต่ละคนปฏิบัติงานดังต่อไปนี้คือ

           ๑. พลขับ ให้หยุดรถ, ลงจากรถ, แล้วเคลื่อนที่ไปทางด้านข้างใดข้างหนึ่งของรถก็ได้ เพื่อวางตัวและทำหน้าที่ให้การระวังป้องกันแก่พลประจำปืนคนอื่น ๆ ทั้งหมด

           ๒. ผู้บังคับหมู่ ให้ทำการปลดการยึดตรึงลำกล้องสำหรับการเดินทาง แล้วรีบลงจากรถวิ่งไปประจำอยู่ในที่ซึ่งจะสามารถควบคุมการยิงของหมู่ได้ดีที่สุด

           ๓. พลบรรจุ ให้ลงจากรถแล้วรีบไปยืนอยู่ทางด้านขวาของเครื่องปิดท้าย เปิดเครื่องปิดท้ายออก เมื่อได้ยินคำสั่งยิงในหัวข้อชนิดของกระสุนจากผู้บังคับหมู่แล้ว ให้จัดเตรียมกระสุนชนิดนั้นไว้ แล้วบรรจุกระสุนเข้าข้างในรังเพลิงด้วยการวางอย่างถูกต้องและมั่นคง ต่อจากนั้นให้ทำการปิดและขัดกลอนเครื่องปิดท้าย และตรวจดูว่าพื้นที่ทางท้ายปืนมีความปลอดภัย จากเปลวเพลิงท้ายเครื่องยิงหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามีความปลอดภัยดีแล้ว ให้รายงานขึ้นว่า "พร้อม" เพื่อแสดงให้ทราบว่าปืนอยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำการยิงได้แล้ว

           ๔. พลยิง ให้เปิดฝาปิดกล้องเล็งขึ้น  แล้วทำการบรรจุกระสุนปืนชี้ที่หมาย , ทำการเล็งปืนไปยังเป้าหมาย, วางมือขวาบนปุ่มลั่นไก แล้วคอยฟังคำรายงานว่า "พร้อม" จากพลบรรจุ  และทำการยิงตามคำสั่งของผู้บังคับหมู่เท่านั้น

           ๕. หลังจากได้ทำการ ยิงกระสุนปืนไร้แรงสะท้อนออกไปแล้ว ให้พลบรรจุใช้มือขวาเปิดเครื่องปิดท้ายออก แล้วใช้มือทั้งสองช่วยกันจับและดึงปลอกกระสุนที่ยิงออกไปแล้วให้ออกมาจากรังเพลิง แล้วเหวี่ยงออกไปทางด้านข้างของปืน ให้ห่างออกไปจากรถให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

ฉ. การเลิกยิง

           ในการเลิกยิงนั้น ผู้บังคับหมู่จะต้องเป็นผู้ใช้คำบอกว่า " เลิกยิง" ให้ผลประจำปืนแต่ละคน ปฏิบัติงานและรายงานตามลำดับบุคคลดังต่อไปนี้คือ

           ๑. พลบรรจุ ให้ตรวจดูรังเพลิงเพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีกระสุนบรรจุอยู่แล้วรายงานขึ้นว่า "หนึ่ง ศูนย์ หกปลอดภัย" ทำการปิดเครื่องปิดท้าย แล้วขึ้นไปประจำที่ของตนบนรถ

           ๒. พลยิง ให้ตรวจดูความปลอดภัยของปืนชี้ที่หมายตามรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้วรายงานขึ้นว่า " ปืนปลอดภัย" เพื่อแสดงให้ทราบว่าทั้งปืนไร้แรงสะท้อนและปืนชี้ที่หมายปลอดภัยแล้ว ต่อจากนั้นให้ลดฝาปิดกล้องเล็งลงมาอยู่ในตำแหน่งปิด แล้วเลื่อนลำกล้องปืน (โดยการใช้ควงมุมส่ายและควงมุมสูงตามความจำเป็น)  ให้ไปวางอยู่บนแท่นยึด ตรึงลำกล้องสำหรับการเดินทาง

           ๓. ผู้บังคับหมู่และพลขับ เมื่อพลยิงได้รายงานว่า "ปืนปลอดภัย" แล้ว ให้ผู้บังคับหมู่และพลขับรีบขึ้นไปประจำที่ของตนบนรถ ต่อจากนั้นให้ผู้บังคับหมู่ทำการยึดตรึงลำกล้องปืนให้ติดแน่นอยู่บนแท่นยึดตรึงลำกล้องสำหรับการเดินทางอย่างมั่นคง

ช. การเตรียมปลดปืนไร้แรงสะท้อนลงจากรถ (ดูรูปที่ ๒๖)

           ก่อนที่จะทำการปลดปืนไร้แรงสะท้อนลงจากรถ เพื่อไปวางตั้งที่พื้นดินตามที่กล่าวไว้  พลประจำปืนทุกคนจะต้องอยู่ในท่านั่งประจำที่ของตนบนรถให้ถูกต้องเสียก่อน ในการเตรียมการปลดปืนไร้แรงสะท้อนลงจากรถนี้พลประจำปืนแต่ละคน จะต้องปฏิบัติงานและรายงานตามลำดับบุคคลดังต่อไปนี้ คือ

           ๑. ผู้บังคับหมู่ เป็นผู้ใช้คำบอกว่า "เตรียมปลดปืน"

           ๒. พลขับ หยุดรถ

           ๓. พลบรรจุรีบลงจากรถแล้วทำการตรวจในรังเพลิงให้มั่นใจได้ว่าไม่มีกระสุนบรรจุอยู่แล้วรายงานขึ้นว่า "หนึ่ง ศูนย์ หก ปลอดภัย"เสร็จแล้วให้ไปยืนตามที่ซึ่งแสดงไว้โดยยืนหันหน้าเข้าหาท้ายรถรอจนกว่าจะได้ยินเสียงพลยิงรายงานว่า"ปืนปลอดภัย"จึงทำการปลดเหล็กหนีบที่ด้ามหิ้วของขาหยั่งทางด้านขวาของฐานปืนโดยการยกด้ามหิ้วของขาหยั่งให้กางออกไปในทางระดับ แล้วให้ยืนอยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะช่วยกันปลดปืนลงจากรถได้ในทันที

           ๔. พลยิง ตรวจความปลอดภัยของปืนชี้ที่หมายแล้วรายงานขึ้นว่า " ปืนปลอดภัย " เสร็จแล้วยืนหันหน้าเข้าหาปืนอยู่ตรงกึ่งกลางรถ และคอยยกลำกล้องปืนให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้ลำกล้องปืนกระแทกกับขอบตัวถังรถในขณะลดปืนให้ต่ำลงสู่พื้นดิน

           ๕. หลังจากที่ได้ยินคำรายงานของพลยิงปืนว่า "ปืนปลอดภัย" แล้ว ให้ผู้บังคับหมู่ทำการปลดการยึดตรึงลำกล้องสำหรับการเดินทาง แล้วรีบวิ่งไปยืนอยู่ทางท้ายปืน ณ ที่ซึ่งตนสามารถจะอำนวยการหรือคอยให้ความช่วยเหลือในการปลดปืนลงจากรถได้

           ๖. หลังจากที่ได้ยินคำรายงาน ของพลยิงว่า "ปืนปลอดภัย" แล้ว ให้พลขับปลดการยึดตรึงขาหยั่งหน้าของฐานปืนออก แล้วลงจากรถและรีบวิ่งไปยืนอยู่ทางด้านหลังซ้ายของรถโดยยืนหันหน้าเข้าหาท้ายรถ ต่อจากนั้นให้ทำการปลดเหล็กหนีบ ที่ด้ามหิ้วของขาหยั่งทางด้านซ้ายของฐานปืน โดยการยกด้ามหิ้วของขาหยั่งให้กางออกไปในทางระดับ แล้วให้ยืนอยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะช่วยกันปลดปืนลงจากรถได้ในทันที

ซ. การปลดปืนไร้แรงสะท้อนลงจากรถ  (ดูรูปที่ ๒๗)

           ในการปลดปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.ลงจากรถนั้นผู้บังคับหมู่จะต้องเป็นผู้ใช้คำบอกว่า "ปลดปืน"เมื่อได้ยินคำบอกว่า "ปลดปืน" ให้พลประจำปืนปฏิบัติตามหน้าที่ของตนไปตามลำดับดังต่อไปนี้คือ

           ๑. ให้พลยิง  ซึ่งยืนหันหน้าเข้าหาปืนอยู่ตรงกึ่งกลางรถอยู่  แล้วออกแรงกดลำกล้องปืนให้กระดกต่ำลงและคอยช่วยผลักปืนให้เคลื่อนที่ถอยไปทางหลังรถ

           ๒. ให้พลบรรจุ และพลขับปลดฐานปืนออกจากรถ โดยการงอข้อศอกทั้งสองข้างรองรับไว้ใต้ด้ามหิ้วของขาหยั่งหลังแล้วยกให้สูงขึ้น เมื่อทำการปลดฐานปืนออกแล้วให้ทั้งสองคนลากฐานปืนให้เลื่อนถอยตามรางออกมาทางท้ายรถตรง ๆ

           ๓. ในขณะที่ปืนเลื่อนออกไปทางท้ายรถนั้น  ให้พลยิงจับและยกลำกล้องปืนให้สูงขึ้น เพื่อช่วยให้พลบรรจุและพลขับลดปืนให้ต่ำลงยังพื้นดินได้โดยสะดวกขึ้น

           ๔. สำหรับการเลื่อนปืนให้เคลื่อนที่ไปยังที่ตั้งยิง ตามที่ต้องการนั้น สามารถจะกระทำได้โดยการใช้คนเพียงสองคนหรือสามคนผลักดันให้เคลื่อนที่ไปตามพื้นเท่านั้น

           ๕. ให้พลบรรจุและพลขับ ต่างคนต่างพับด้ามหิ้วของขาหยั่งหลัง ซึ่งอยู่ทางด้านของตนเข้าที่ให้เรียบร้อย

           ๖. ให้พลยิงลงจากรถแล้วเข้าประจำที่ของตน


๗. ให้พลบรรจุและพลขับ ช่วยกันขนเครื่องมือเครื่องใช้ออกมาจากรถตามความจำเป็น

           ๘. ให้พลบรรจุเข้าประจำที่ของตน

           ๙. ให้พลขับเลื่อนรถไปจอด ณ ตำแหน่งที่ซึ่งผู้บังคับหมู่กำหนดให้

           ๑๐. ให้ผู้บังคับหมู่เข้าประจำที่ ณ ที่ซึ่งจะต้องเป็นที่ควบคุมการยิงและการให้คำสั่งยิง  นอกจากนี้อาจจะสั่งให้พลขับทำหน้าที่ส่งกำลังกระสุนเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

ฌ. การเตรียมบรรทุกปืนไร้แรงสะท้อน

           ในการเตรียมบรรทุกปืนไร้แรงสะท้อนนั้น พลประจำปืนแต่ละคน จะต้องปฏิบัติและรายงานตามลำดับบุคคลดังต่อไปนี้ คือ

           ๑. ผู้บังคับหมู่จะต้องเป็นผู้ใช้คำบอกว่า "เตรียมบรรทุก" เมื่อได้ยินคำบอกว่า "เตรียมบรรทุก" พลประจำปืนทุกคน จะต้องเข้าประจำที่ในท่าเตรียมบรรทุกตามตำแหน่งที่อยู่ของตนที่แสดงไว้ในรูปที่ ๒๗

           ๒. ให้พลบรรจุ ทำการตรวจความปลอดภัยของปืนไร้แรงสะท้อน แล้วรายงานขึ้นว่า "หนึ่ง ศูนย์ หกปลอดภัย" แล้วยืนอยู่ในท่าพร้อมที่จะช่วยกันยกปืนขึ้นบรรทุกรถได้ในทันที

           ๓. ให้พลยิงตรวจความปลอดภัยของปืนชี้ที่หมายแล้วรายงานขึ้นว่า "ปืนปลอดภัย"เพื่อแสดงให้ทราบว่าทั้งปืนไร้แรงสะท้อนและปืนชี้ที่หมายอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยแล้ว พลยิงจะต้องคอยยกลำกล้องปืนให้สูงขึ้น และเมื่อพลขับได้นำรถเข้ามาประจำที่เพื่อการบรรทุกแล้ว ให้พลยิงรีบขึ้นไปยืนประจำที่ของตนอยู่บนรถ

           ๔. หลังจากที่พลขับได้ยินคำรายงานจากพลยิงว่า "ปืนปลอดภัย" แล้ว ให้รีบถอยหลังรถเข้ามายังที่ตั้งปืนในลักษณะที่ให้ลำกล้องปืน ยื่นเข้าไปในตัวถังของรถแล้วจึงหยุดรถไว้ ต่อจากนั้นให้พลขับรีบลงจากรถแล้ววิ่งเข้าไปประจำที่ทางท้ายรถตรงขาหยั่งหลังข้างซ้ายของฐานปืน

           ๕. ให้ผู้บังคับหมู่เข้าประจำที่ของตน ณ ที่ซึ่งจะคอยให้ความช่วยเหลือและอำนวยการบรรทุกปืนได้เป็นอย่างดี

ญ. การบรรทุกปืนไร้แรงสะท้อน

           ในการบรรทุกปืนไร้แรงสะท้อนนั้น ให้พลประจำปืนปฏิบัติตามหน้าที่ของตนไปตามลำดับดังต่อไปนี้คือ

           ๑. ผู้บังคับหมู่ จะต้องเป็นผู้ใช้คำบอกว่า "บรรทุก"

           ๒. ให้พลบรรจุและพลขับเข้าไปยืนเทียบขาหยั่งหลังของฐานปืนไว้คนละข้าง โดยยืนหันหน้าเข้าหาท้ายลำกล้องปืน ต่อจากนั้นจึงให้ทั้งสองคนใช้อุ้งแขนตรงข้อศอกทั้งสองข้างของตน ช้อนด้ามหิ้วของขาหยั่งหลังซึ่งได้กางออกในทางระดับแล้วไว้คนละข้าง และเตรียมที่จะยกฐานปืนให้ลอยตัวสูงขึ้นเพื่อเลื่อนปืนขึ้นไปตั้งไว้บนรถ

           ๓. ให้พลยิงซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นไปประจำที่อยู่บนรถแล้ว  ช่วยยกปากกระบอกปืนให้สูงขึ้น  และช่วยดันปืนให้เคลื่อนที่เข้าไปบรรทุกอยู่บนรถได้โดยสะดวก

           ๔. ให้พลขับและพลบรรจุ ดันปืนเข้าไปในรถแล้วยึดตรึงเหล็กหนีบที่ด้ามหิ้วของขาหยั่งคนละข้าง ให้ตรึงแน่นอยู่กับตัวรถโดยการพับด้ามหิ้วลงเก็บไว้ในช่องของมันทางท้ายรถ

           ๕. ต่อจากนั้นให้พลขับช่วยพลบรรจุ  ทำการยึดตรึงกระสุนและทำความสะอาดวัสดุต่าง ๆ ให้เรียบร้อย

           ๖. ให้พลยิงเลื่อนกระบอกปืน ไปอยู่ในตำแหน่งเตรียมเดินทางให้เรียบร้อย

           ๗. ให้พลบรรจุและพลขับขึ้นไปประจำที่นั่งของตนบนรถ และให้พลขับทำการตรึงขาหยั่งหน้าฐานปืนไว้กับรถให้แน่น

           ๘. ให้ผู้บังคับหมู่ ขึ้นไปประจำที่นั่งของตนบนรถแล้วทำการยึดตรึงลำกล้อง สำหรับการเดินทางให้มั่นคง

หมายเหตุ

           ถ้าได้มีการนำเอารถบรรทุกกระสุน มาใช้ร่วมกับการฝึกพลประจำปืน หรือนำมาใช้ในการปฏิบัติการทางยุทธวิธีด้วยแล้ว จะต้องให้รถบรรทุกกระสุนเคลื่อนที่เข้ามายังที่ตั้งของปืน จากทิศทางข้างหลังทางขวาของที่ตั้งปืนเสมอ เพราะการเข้ามาของรถบรรทุกกระสุนในลักษณะดังกล่าวนี้ ย่อมจะทำให้พลประจำปืนสามารถลำเลียง และเตรียมกระสุนสำหรับที่จะใช้ยิงโดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่เปลวเพลิงทางท้ายเครื่องยิง

ฎ. การเปลี่ยนที่ตั้งยิงด้วยการแบกหาม

           เมื่อใช้ปืนไร้แรงสะท้อนตั้งยิงบนพื้นดิน ก็สามารถจะทำการเปลี่ยนที่ตั้งยิงด้วยการแบกหามได้ โดยการถอดปืนให้แยกออกมาจากฐานปืน แล้วจึงเปลี่ยนที่ตั้งยิงไปด้วยการแบกหาม สำหรับในการฝึกเรื่องการเปลี่ยนที่ตั้งยิงด้วยการแบกหามนั้น ให้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนต่อไปนี้คือ

           ๑. การถอดปืนไร้แรงสะท้อนออกจากฐานปืน ก่อนที่จะทำการถอดปืนไร้แรงสะท้อนออกจากฐานปืน จะต้องให้พลประจำปืนทุกคนยกเว้น ผู้บังคับหมู่ยืนเข้าแถวอยู่ในท่าตรงทางท้ายปืน ในลักษณะที่ยืนหันหน้าเข้าหาปืนและจุดกึ่งกลางของแถวอยู่หางจากที่ตั้งปืนสองก้าว เรียงตามลำดับตำแหน่งจากทางขาหยั่ง ของฐานปืนข้างซ้ายไปทางขวาคือ พลยิง,พลขับ และพลบรรจุ เมื่อพลประจำปืนเข้าแถวเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้บังคับหมู่เข้าประจำที่อยู่ตรงข้างหลังและห่างจากพลขับสองก้าว โดยยืนหันหน้าเข้าหาปืนแล้วเป็นผู้ใช้คำบอกว่า "เตรียมแบกหามอาวุธ"เมื่อได้ยินคำบอกว่า "เตรียมแบกหามอาวุธ" แล้วให้พลประจำปืนปฏิบัติและรายงานตามลำดับบุคคลดังต่อไปนี้คือ

                  ก) ให้พลบรรจุวิ่งเข้าไปประจำที่ อยู่ตรงขาหยั่งข้างขวาของฐานปืนแล้วทำการตรวจความปลอดภัยของปืนไร้แรงสะท้อน แล้วรายงานขึ้นว่า "หนึ่ง ศูนย์ หก ปลอดภัย"

                  ข) ให้พลยิงวิ่งเข้าประจำที่ อยู่ตรงขาหยั่งข้างซ้ายของฐานปืน แล้วทำการตรวจความปลอดภัยของปืนชี้ที่หมาย แล้วรายงานขึ้นว่า " ปืนปลอดภัย " เพื่อแสดงให้ทราบว่าทั้งปืนไร้แรงสะท้อนและปืนชี้ที่หมายอยู่ในสภาพปลอดภัยแล้ว

                  ค) ให้พลขับทำการปลดกระเดื่องยึดขาหยั่งหลังโดยการผลักดันกระเดื่องให้ชี้ไปทางข้างหน้าปืนเพื่อให้ขาหยั่งเป็นอิสระพร้อมที่จะพับเข้าหากันได้ แล้วยืนประจำที่อยู่ทางด้านขวาของกระบอกปืน

                  ง) ให้พลบรรจุและพลยิง จับด้ามหิ้วที่ท้ายลำกล้องปืนไว้คนละข้างในลักษณะที่ให้บุคคลทั้งสองยืนอยู่ภายในของขาหยั่งหลังทั้งสอง

                  จ) ให้ผู้บังคับหมู่เคลื่อนที่เข้ามาคลายคันบังคับเหล็กยึดเดือยปืนที่อยู่ทางส่วนบนของฐานปืน โดยการหมุนคันบังคับไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาไปจนสุด เพื่อให้พร้อมที่จะยกกระบอกปืนออกมาจากฐานปืนได้  แล้วให้กลับไปยืนอยู่ ณ ที่เดิมต่อจากนั้นจึงใช้คำบอกว่า "ยกปืน"

                  ฉ) ให้พลบรรจุและพลยิง ซึ่งจับด้ามหิ้วที่ท้ายลำกล้องปืนไว้คนละข้าง และให้พลขับจับที่กระบอกปืนไว้ แล้วให้บุคคลทั้งสามช่วยกันยกกระบอกปืนออกมาจากฐานปืน แล้วเคลื่อนที่ออกไปทางด้านขวาของที่ตั้งฐานปืนสองก้าว

                  ช) ให้ผู้บังคับหมู่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า แล้วจับด้ามหิ้วของขาหยั่งหลังทั้งสองกางออก พร้อมกับยกให้สูงขึ้น โดยการรวบเอาขาหยั่งหลังบีบเข้ามาหากันตามความจำเป็น แล้วไสฐานปืนให้เคลื่อนที่ไปยังที่ตั้งยิงแห่งใหม่ในขณะเดียวกันนั้นก็ให้พลประจำปืนคนอื่น ๆ ทั้งสามคนที่หิ้วกระบอกปืนอยู่นั้น ช่วยกันยกเอากระบอกปืนเคลื่อนที่ติดตามผู้บังคับหมู่ไป

           ๒. การนำปืนไร้แรงสะท้อนขึ้นติดตั้งบนฐานปืน เมื่อพลประจำปืนทุกคนแบกหามปืน ไปถึงที่ตั้งยิงแห่งใหม่ตามที่ต้องการแล้ว ให้ทำการตั้งยิงใหม่ในทันที  โดยการนำปืนไร้แรงสะท้อนขึ้นติดตั้งบนฐานปืน ซึ่งจะต้องปฏิบัติไปตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ

                  ก) ให้ผู้บังคับหมู่ตั้งฐานปืนไว้  ณ ที่ตั้งยิงใหม่ตามที่ต้องการ

                  ข) ให้พลประจำปืนทั้งสามคนที่หิ้วกระบอกปืนติดตามผู้บังคับหมู่มานั้น  นำเอากระบอกปืนขึ้นไปตั้งบนฐานปืนในท่าติดทั้งที่ถูกต้อง

                  ค) ต่อจากนั้นให้ผู้บังคับหมู่ ทำการยึดตรึงกระบอกปืนให้ติดแน่นอยู่กับฐานปืน โดยการหมุนที่คันบังคับเหล็กยึดเดือยปืน ไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกาจนสุด

                  ง) เมื่อผู้บังคับหมู่ได้ทำการยึดตรึงกระบอกปืนให้ติดอยู่กับฐานปืนอย่างมั่นคงดีแล้ว  ให้ผู้บังคับหมู่ใช้คำบอกต่อไปว่า "ประจำที่"

                  จ) ให้พลบรรจุและพลยิง  จับด้ามหิ้วขาหยั่งหลังให้กางออกคนละข้าง แล้วถ่างขาหยั่งหลังให้กว้างออกไปจนสุด ต่อจากนั้นเข้าประจำอยู่ในที่ของตน (ท่าตั้งยิง)

                  ฉ) ให้พลขับ ทำการยึดตรึงกระเดื่องยึดขาหยั่งหลังด้วยการผลักคันกระเดื่องให้ชี้ไปทางข้างหลังปืนแล้วไปเข้าประจำที่เพื่อให้การระวังป้องกันแก่ปืนต่อไป

                  ช) ให้ผู้บังคับหมู่เข้าประจำอยู่ ณ ที่ซึ่งตนสามารถจะทำการควบคุม และอำนวยการยิงได้เป็นอย่างดีที่สุด

หมายเหตุ ในขณะที่นำปืนไร้แรงสะท้อน ขึ้นติดตั้งบนฐานปืนนั้น โดยธรรมดาแล้วลิ่มเหล็กที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนปลายเหล็กไขควงของเครื่องบังคับการลั่นไกที่อยู่บนฐานปืน ควรจะสอดเข้าไปอยู่ในช่องของมันที่อยู่บนแท่นเดือยปืนอัตโนมัติ ถ้าติดตั้งกระบอกปืนไว้บนฐานปืนแล้วทำการลั่นไกไม่ได้ ให้คลายหมุดเกลียวยึดสายไกที่ยึดสายไกอยู่ออกเล็กน้อย แล้วจึงทำการปรับสายไกใหม่


รูปที่ ๒๖  การเตรียมปลดปืนไร้แรงสะท้อน           รูปที่ ๒๗  การปลดปืนไร้แรงสะท้อน

        ขนาด ๑๐๖ มม.ลงจากรถ                                      ขนาด ๑๐๖ มม.ลงจากรถ