ตอนที่ ๘ คำสั่งยิง 

ตอนที่ ๘ คำสั่งยิง

 

ก. กล่าวทั่วไป

           ๑. คำสั่งยิง คือ รายละเอียดที่บอกให้พลประจำปืนทราบ เพื่อให้สามารถทำการยิงต่อเป้าหมายแห่งหนึ่งได้ตามปกติแล้วผู้บังคับหมู่จะต้องเป็นผู้ให้คำสั่งยิง แต่อย่างไรก็ตามในบางกรณีที่มีเวลาจำกัดก็อาจจะให้พลยิงเป็นผู้ให้คำสั่งยิงอย่างย่อ ๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งยิงในลักษณะใดก็ตาม คำสั่งยิงจะต้องมีลำดับเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นมาตรฐานอย่างเดียวกัน ตามรายละเอียดซึ่งจะได้กล่าวในลำดับต่อไป

           ๒. การฝึกในเรื่องคำสั่งยิงนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อจะพัฒนาให้หมู่ปืนไร้แรงสะท้อนมีความชำนิชำนาญในการยิงตามสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งมวลได้เป็นอย่างดีหลังจากที่ได้ทำการยิงกระสุนนัดแรกไปแล้ว พลยิงควรจะมีความสามารถปรับการยิงเองได้โดยไม่ต้องรอรับคำสั่งจากผู้บังคับหมู่จนกว่าเป้าหมายจะถูกทำลาย หรือผู้บังคับหมู่จะตกลงใจเป็นผู้ปรับการยิงให้ก็ได้

           ๓. คำสั่งยิงแบ่งออกได้เป็นสองชนิด คือ

                  ก) คำสั่งยิงเริ่มแรก จะต้องประกอบไปด้วยรายละเอียดในเรื่อง การเล็ง,การบรรจุ, และการยิงอาวุธ

                  ข) คำสั่งยิงต่อมา จะต้องเป็นคำสั่งที่ระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับ การปรับการยิง, การย้ายการยิงและการหยุดยิง ซึ่งตามปกติแล้วมักจะมีรายละเอียดเฉพาะในเรื่องที่สำคัญ ๆ เท่าที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติการยิงให้สำเร็จลุล่วงไปเท่านั้น

           ๔. คำสั่งยิงที่ถูกต้องจะต้องเป็นคำสั่งที่สั้น และมีความกระจ่างชัดที่สุด คำสั่งยิงจะต้องระบุถึงเรื่องต่าง ๆ ทั้งมวลที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้เพื่อปฏิบัติภารกิจการยิง ให้สำเร็จลุล่วงไปและต้องมีข้อความที่เรียงตามลำดับกันไปอย่างมีเหตุผล เพื่อให้พลประจำปืนเกิดความเคยชินต่อการปฏิบัติตามคำสั่ง นั้นได้อย่างแน่นอนนอกจากนี้ผู้ให้คำสั่งควรจะให้คำสั่งในอัตราความเร็วที่พอจะทำให้ผู้รับคำสั่งทราบรายละเอียด  และปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ๆ ได้ โดยไม่เกิดความสับสนใด ๆ ข้อความใด ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นควรจะตัดทิ้งออกไปเสียให้หมด

           ๕. ตามปกติแล้วการให้คำสั่งยิง มักจะกระทำโดยวิธีการออกคำสั่งด้วยวาจาแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะสั่งการด้วยวาจาได้ยิน ก็อาจจะทำการส่งคำสั่งโดยใช้โทรศัพท์, วิทยุ หรือใช้ท่าสัญญาณแขนและมือก็ได้

           ๖. พลประจำปืนทุกคนจะต้องทวนคำสั่งยิงเฉพาะในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรงเท่านั้น

ข. ลำดับขั้นของคำสั่งยิงเริ่มแรก

           ๑. ลำดับขั้นของคำสั่งยิง ข้อความใด ๆ ก็ตามที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคำสั่งยิงโดยเฉพาะแล้ว ควรจะตัดข้อความเหล่านั้นออกไปเสียให้หมด เพราะฉะนั้นคำสั่งยิงเริ่มแรก จึงมีรายละเอียดที่จำเป็นตามลำดับหัวข้อดังต่อไปนี้คือ

                  ก) คำสั่งเตือน

                  ข) ชนิดของกระสุน

                  ค) ทิศทางยิง

                  ง) ลักษณะของเป้าหมาย

                  จ) ระยะยิง

                  ฉ) ระยะดัก

                  ช) การควบคุมการยิง

           ๒. คำสั่งเตือน ตามปกติแล้วจะต้องถือว่าคำสั่งเตือนเป็นรายละเอียด อันดับแรกของคำสั่งยิงเริ่มแรกคำสั่งเตือนนี้จะต้องใช้คำสั่งว่า "ภารกิจยิง" ในกรณีที่จะให้ทำการยิงต่อเป้าหมายอยู่กับที่หรือใช้คำสั่งว่า " เป้าหมายเคลื่อนที่" ในกรณีที่จะให้ทำการยิงต่อเป้าหมายเคลื่อนที่ คำสั่งเตือนย่อมจะทำให้พลประจำปืนอยู่ในสภาพพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งยิงได้โดยไม่ชักช้าแม้แต่น้อย

           ๓. ชนิดของกระสุน

                  ก) กระสุนที่จะกำหนดให้ใช้ ได้แก่

                         ๑) กระสุนต่อสู้รถถังระเบิดแรงสูง

                         ๒) กระสุนส่องวิถีระเบิดแรงสูง

                         ๓) กระสุนส่องวิถีสังหาร

                  ข) คำสั่งส่วนนี้ผู้ให้คำสั่งจะต้องประกาศขึ้นในทันที ที่ได้ออกคำสั่งเตือนไปแล้ว และในทันทีที่ได้ยินคำสั่ง พลบรรจุจะต้องรีบบรรจุกระสุนชนิดนั้นเข้าไปในกระบอกปืนทันที

           ๔. ทิศทางยิง ในการบอกให้ทราบถึงทิศทางยิงนั้น อาจจะบอกด้วยวาจา, ด้วยการชี้ให้เห็น, หรือด้วยการใช้ทั้งการบอกด้วยวาจาและการชี้ให้เห็นประกอบกันไปก็ได้ ในการกำหนดเป้าหมายซึ่งคาดว่าพลยิงอาจจะค้นหาหรืออาจจะทราบที่ตั้งได้ด้วยความยากลำบาก ผู้บังคับหมู่อาจจะใช้จุดอ้างเป้าหมายประกอบด้วยก็ได้ นอกจากนี้ในการชี้ให้เห็นถึงทิศทางยิงนี้ ผู้บังคับหมู่อาจจะนำเอาระบบนาฬิกามาใช้ด้วยก็ได้

           ๕. ลักษณะของเป้าหมาย เป้าหมายต่าง ๆ นั้น ผู้ให้คำสั่งจะต้องบอกลักษณะให้พลประจำปืนทราบในลักษณะที่เป็นข้อความง่าย ๆ และสั่งได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่จะต้องไม่ให้ขาดความกระจ่างชัด ผู้บังคับหมู่ควรจะใช้คำพูดเพื่อกำหนดเป้าหมายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                  ใช้คำว่า.........."รถถัง".........................แทน ยานพาหนะหุ้มเกราะทุกชนิด

                  ใช้คำว่า.........."รถยนต์บรรทุก"............แทน ยานพาหนะที่ไม่หุ้มเกราะทุกชนิด

                  ใช้คำว่า.........."หน่วยทหาร"................แทน ทหารเดินเท้าที่เป็นกลุ่มก้อน

                  ใช้คำว่า.........."ปืนกล".......................แทน อาวุธอัตโนมัติทุกชนิด

                  ใช้คำว่า.........."อาวุธต่อสู้รถถัง"...........แทน อาวุธต่อสู้รถถังทุกชนิดและปืนใหญ่

           สำหรับเป้าหมายอื่น ๆ ที่มิได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ ก็ให้บอกชนิดของเป้าหมายนั้น ๆ แต่เพียงสั้น ๆ ถ้าหากว่ามีเป้าหมายชนิดเดียวกันหลายเป้าหมายอยู่ในพื้นที่เดียวกันผู้ให้คำสั่งยิงจะต้องบ่งให้ทราบว่าเป็นเป้าหมายหนึ่งเป้าหมายใดโดยเฉพาะเจาะจงลงไป หรือให้ทราบว่าจะให้ทำการยิงต่อเป้าหมายส่วนใด ตัวอย่างเช่น "รถถังคันนำ" หรือ "รถถังคันสุดท้าย" เป็นต้น

           ๖. ระยะยิง ผู้ให้คำสั่งยิงจะต้องบอกระยะยิงเป็นหน่วยเมตรเสมอ โดยจะใช้วิธีบอกด้วยวาจาหรือส่งสัญญาณให้ทราบก็ได้

           ๗. ระยะดัก คำสั่งส่วนนี้จะนำมาใช้เฉพาะกับการยิงต่อเป้าหมายเคลื่อนที่เท่านั้น ผู้ให้คำสั่งยิงจะต้องบอกเป็นระยะดักเป็นหน่วยระยะดักของระยะดัก ๕ มิลเลียมเสมอ ตัวอย่างเช่น "สองระยะดัก" หรือ "สามระยะดัก" เป็นต้น

           ๘. การควบคุมการยิง คำสั่งส่วนนี้จะสั่งด้วยคำว่า "ยิง" หรือถ้ามีความประสงค์จะให้รอการยิงไว้ก่อนในห้วงเวลาสั้น ๆ ก็ให้ใช้คำพูดว่า "ตามคำสั่งยิงของข้าพเจ้า" แต่อย่างไรก็ตามถ้าได้ใช้คำพูดว่า "ตามคำสั่งยิงของข้าพเจ้า" ไปแล้ว เมื่อต้องการจะให้ทำการยิงจะต้องใช้คำสั่งว่า "ยิง" อีกครั้งหนึ่งเสมอ

ค. ตัวอย่างคำสั่งยิงเริ่มแรก

           ๑. การยิงต่อเป้าหมายอยู่กับที่ ในระยะยิง ๖๐๐ เมตร

                  "ภารกิจยิง"

                  "ต่อสู้รถถังระเบิดแรงสูง"

                  "ข้างหน้า, ทางขวา"

                  "รถถัง"

                  "หกร้อย"

                  "ยิง"

           ๒. การยิงต่อเป้าหมายอยู่กับที่ ในระยะยิง ๙๕๐ เมตร

                  "ภารกิจยิง"

                  "ส่องวิถีระเบิดแรงสูง"

                  "ข้างหน้า, ทางซ้าย, จุดอ้าง, รั้ว (หรือมุมขวาของรั้ว)

                  "ปืนกล"

                  "เก้า ห้า ศูนย์"

                  "ยิง"

           ๓. การยิงต่อเป้าหมายเคลื่อนที่ ในระยะยิง ๘๐๐ เมตร ความเร็วที่ปรากฏ ๑๕ ไมล์ต่อ ชั่วโมง

                  "เป้าหมายเคลื่อนที่"

                  "ต่อสู้รถถังระเบิดแรงสูง"

                  "ข้างหน้า"

                  "รถยนต์บรรทุก"

                  "แปดร้อย"

                  "สามระยะดัก"

                  "ยิง"

ง. คำสั่งยิงต่อมา

           ๑. การรายงานทิศทางกระสุนตก ในการยิงด้วยวิธีเล็งตรงนั้นพลยิงจะต้องเป็นผู้รายงานทิศทางกระสุนตกของกระสุนแต่ละนัดที่ยิงออกไป (ทั้งในการยิงด้วยปืนชี้ที่หมายและปืนไร้แรงสะท้อน) ทั้งในทางทิศและทางระยะ และควรจะได้ยึดถือเป็นหลักว่าไม่ควรจะรายงานทิศทางกระสุนตกเป็นข้อความอื่นที่ไม่เกี่ยวกับตำบลกระสุน ตกในทางทิศและทางระยะ สำหรับคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับการรายงานทิศทางกระสุนตกและการปฏิบัติการยิง ให้ดูในตอนที่ ๔ ข้อ ค.

           ๒. รายละเอียดของคำสั่ง  ตามปกติแล้วคำสั่งยิงต่อมาจะระบุถึงแต่เพียงรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากคำสั่งยิงที่ได้สั่งออกไปก่อนหน้านั้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามในคำสั่งยิงต่อมานั้นจะต้องระบุถึงระยะยิงและการควบคุมการยิงไว้ด้วยเสมอ

           ๓. การออกคำสั่งยิงต่อมา  คำสั่งยิงต่อมาเป็นคำสั่งที่สั่งให้ทำการยิง เพื่อแก้ไขการยิงของกระสุนนัดสุดท้ายที่ยิงไปแล้ว โดยการใช้คำพูดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                  ใช้คำว่า.........."ระยะเดิม"..........เมื่อประสงค์จะให้ยิงในระยะเดิม

                  ใช้คำว่า.........."เพิ่ม"..................เมื่อประสงค์จะให้เพิ่มระยะยิงขึ้นไป

                  ใช้คำว่า.........."ลด"....................เมื่อประสงค์จะให้ลดระยะยิงลงมา

                  ใช้คำว่า.........."ขวา"..................เมื่อประสงค์จะให้เลื่อนตำบลระเบิด หรือตำบลกระสุนตกไปทางขวา

                  ใช้คำว่า.........."ซ้าย"..................เมื่อประสงค์จะให้เลื่อนตำบลระเบิด หรือตำบลกระสุนตกไปทางซ้าย

                  ใช้คำว่า.........."บวก"..................เมื่อประสงค์จะให้เพิ่มระยะดักขึ้นอีก เช่น "บวกหนึ่ง" หมายความว่าให้เพิ่มระยะดักขึ้นอีกหนึ่งระยะดัก เป็นต้น

                  ใช้คำว่า.........."ลบ"...................เมื่อประสงค์จะให้ลดระยะดักลงอีก เช่น "ลบหนึ่ง"หมายความว่า ให้ลดระยะดักลงอีกหนึ่งระยะดัก เป็นต้น

จ. การแก้ไขการยิง

           การแก้ไขการยิงอาจจะกระทำได้เป็นสามลักษณะคือ การแก้ไขทางทิศ, การแก้ไขทางระยะยิง, และการแก้ไขทางระยะดัก การแก้ไขการยิงตามลักษณะการต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ จะต้องยึดถือเป็นทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้คำสั่งยิงต่อมาดังต่อไปนี้คือ

           ๑. การแก้ไขทางทิศ เมื่อทำการยิงต่อเป้าหมายอยู่กับที่ ให้แก้ไขการยิงในทางทิศเป็นมิลเลียม เช่น"ขวา ห้า" หรือ "ซ้าย หนึ่ง ศูนย์" เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหากความผิดพลาดในทางทิศไม่มี ก็ให้ตัดข้อความดังกล่าวนี้ออกไปเสียจากคำสั่งยิงต่อมา

           ๒. การแก้ไขทางระยะยิง ข้อความเกี่ยวกับระยะยิงจะต้องนำมาสั่งการไว้ในคำสั่งยิงต่อมาเสมอ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องแก้ไขระยะยิงใหม่ ก็ให้ใช้คำพูดตามตัวอย่าง เช่น "เพิ่มสองร้อย" หรือ "ลดสองร้อย"เป็นต้น ถ้าไม่มีความต้องการจะให้แก้ไขในทางระยะยิง ก็ให้ใช้คำพูดว่า "ระยะเดิม"

           ๓. การแก้ไขทางระยะดัก เมื่อทำการยิงต่อเป้าหมายเคลื่อนที่ ก็ให้ใช้คำพูดแก้ไขระยะดักตามตัวอย่างเช่น "บวกสอง" หรือ "ลบสอง" เป็นต้น คำสั่งเกี่ยวกับการแก้ไขระยะดักนี้  คงนำไปใช้กับคำสั่งยิงต่อมาตามความจำเป็นเท่านั้น ถ้าหากว่าไม่ต้องการให้แก้ไขระยะดัก ก็ให้งดไม่ต้องสั่งระยะดักในคำสั่งยิงต่อมา

ช. ตัวอย่างคำสั่งยิงต่อมาสำหรับเป้าหมายอยู่กับที่ เมื่อผู้บังคับหมู่เป็นผู้ปรับการยิง

           คำสั่งยิงต่อมาสำหรับการยิงต่อเป้าหมายอยู่กับที่ เมื่อผู้บังคับหมู่เป็นผู้ปรับการยิงนั้น จะประกอบไปด้วยรายละเอียดต่าง ๆ ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้คือ

           ๑. คำสั่งยิงต่อมาครั้งที่หนึ่ง

                  "ซ้าย ห้า"

                  "ลด สองร้อย" "ยิง"

           ๒. คำสั่งยิงต่อมาครั้งที่สอง

                  "ขวา ห้า"

                  "เพิ่ม หนึ่งร้อย"

                  "ยิง"

ช. ตัวอย่างคำสั่งยิงต่อมาสำหรับเป้าหมายเคลื่อนที่ เมื่อผู้บังคับหมู่เป็นผู้ปรับการยิง

           คำสั่งยิงต่อมาสำหรับการยิงต่อเป้าหมายเคลื่อนที่ เมื่อผู้บังคับหมู่เป็นผู้ปรับการยิงนั้น จะประกอบไปด้วยรายละเอียดต่าง ๆ ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้คือ

           ๑. คำสั่งยิงต่อมาครั้งที่หนึ่ง

                  "ลด สองร้อย"

                  "ลบ หนึ่ง"

                  "ยิง"

           ๒. คำสั่งยิงต่อมาครั้งที่สอง

                  "เพิ่ม หนึ่งร้อย"

                  "บวก สอง"

                  "ยิง"

           ๓. คำสั่งยิงต่อมาครั้งที่สาม

                  "ระยะเดิม"

                  "ลบ หนึ่ง"

                  "ยิง"

 

ซ. คำสั่งยิงต่อมาของพลยิง

           เมื่อพลยิงเป็นผู้ออกคำสั่งยิงเริ่มแรก และทำการปรับการยิงด้วยตนเอง ก็ให้ออกคำสั่งยิงต่อมาเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกระสุนเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นการประหยัดเวลา เพราะว่าการปรับการยิงนั้น พลยิงเป็นผู้กระทำเองอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องสั่งการใด ๆ ออกมาอีก เมื่อได้ทำการปรับการยิงด้วยวิธีนี้การยิงในลำดับต่อ ๆ ไป พลยิงก็สามารถจะกระทำติดต่อกันไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ขาดตอนจนกว่าจะบรรลุภารกิจการยิง ยกเว้นเฉพาะรายการเปลี่ยนแปลงชนิดของกระสุนเท่านั้นซึ่งพลบรรจุจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าไม่มีความต้องการจะเปลี่ยนชนิดของกระสุนในการยิงครั้งต่อไป พลยิงก็คงไม่ต้องมีการสั่งการใด ๆ ออกมาอีกเลย

ฌ. การสั่งยิงซ้ำและการแก้คำสั่ง

           ๑. การสั่งยิงซ้ำ ถ้าพลบรรจุหรือพลยิงไม่เข้าใจส่วนใดส่วนหนึ่งของคำสั่งยิง ก็ให้พลบรรจุหรือพลยิงร้องขอการสั่งยิงซ้ำเฉพาะส่วนของคำสั่งที่ไม่เข้าใจนั้น เมื่อพลประจำปืนคนใดคนหนึ่งก็ตามร้องขอให้มีการสั่งยิงซ้ำ ก็ให้พยายามหลีกเลี่ยงการกล่าวนำถึงข้อความที่จะกล่าวซ้ำนั้นด้วยคำพูดว่า "คำสั่งนั้นคือ..." เพราะว่าคำพูดกล่าวนำในทำนองนี้จะนำไปใช้เฉพาะเมื่อจะกล่าวถึงคำสั่งที่ยังไม่เคยกล่าวถึงมาก่อนเลยเท่านั้น

           ๒. การแก้คำสั่ง เมื่อผู้ให้คำสั่งยิงสั่งการใด ๆ ออกไปแล้วมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น และมีความประสงค์จะแก้ข้อความนั้น ๆ ใหม่ ให้ผู้ให้คำสั่งยิงใช้คำพูดว่า "ผิดหยุด" แล้วจึงกล่าวข้อความที่ประสงค์จะให้แก้นั้นตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ให้คำสั่งมีความประสงค์จะให้แก้ระยะยิงที่สั่งไปว่า ๕๐๐ เป็น ๖๐๐ เมื่อผู้ให้คำสั่งยิงสั่งการว่า "๕๐๐" ไปแล้ว จะต้องใช้คำพูดว่า "ผิดหยุด" แล้วจึงสั่งข้อความอื่นต่อไป ตัวอย่างเช่น "ผิดหยุด,หกร้อย, ยิง" เป็นต้น

ญ. การสั่งหยุดยิง

           เมื่อผู้บังคับหมู่มีความประสงค์จะให้หยุดชะงักการยิงลงด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผู้บังคับหมู่จะต้องใช้คำสั่งว่า "หยุดยิง" เมื่อได้มีการสั่งการในลักษณะการดังกล่าวนี้ไปแล้ว จะต้องถือว่าหลักฐานการยิงใด ๆก็ตามที่ได้กระทำไปก่อนหน้านั้นเป็นอันว่า ยกเลิกไปทั้งหมด การยิงที่จะกระทำในต่อไป จะต้องกระทำโดยการให้สั่งในรูปแบบของ คำสั่งยิงเริ่มแรกเท่านั้น

           ถ้าผู้บังคับหมู่มีความประสงค์จะให้หยุดพักการยิงไว้เป็นการชั่วคราวในภารกิจการยิงใด ๆ ก็ตาม ผู้บังคับหมู่จะต้องใช้คำสั่งว่า "พัก" เมื่อได้มีการสั่งการในลักษณะการดังกล่าวนี้ไปแล้ว จะต้องถือว่าหลักฐานการยิงเดิมยังมีผลใช้บังคับอยู่ การยิงที่จะกระทำในต่อไป ผู้บังคับหมู่คงให้คำสั่งเพียงสั้น ๆ ว่า "ยิง" เท่านั้น

ฎ. คำสั่งเตือนครั้งสุดท้าย

           เมื่อได้ทำการยิงเป้าหมายไปแล้ว และไม่ประสงค์จะให้มีการยิงใด ๆ อีกต่อไป ผู้ให้คำสั่งยิงจะต้องใช้คำบอกว่า "หยุดยิง, จบภารกิจยิง" อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถจะให้คำสั่งด้วยวาจาได้ ก็อาจจะใช้สัญญาณมือและแขน หรือสัญญาณอื่น ๆ แทนก็ได้