ปลย.M16 A1

ปืนเล็กยาว M16 A1

ก. คุณลักษณะและความสามารถ

๑. คุณลักษณะทั่วไป

ก) ปืนเล็กยาว เอ็ม.๑๖ มีขนาดกว้างปากลำกล้อง ๕.๕๖ มม. ป้อนกระสุนด้วยซองกระสุนทำงานด้วยแก็ส เป็นอาวุธ

ยิงด้วยการประทับบ่า ออกแบบสร้างขึ้นเพื่อให้ทำการยิงทั้งในแบบกึ่งอัตโนมัติ หรือแบบอัตโนมัติ โดยการจัดคันบังคับการยิง

ข) ปืนมีปลอกลดแสงติดอยู่ที่ปากลำกล้อง

ค) ลำกล้องปืนหุ้มอยู่ด้วยฝาครอบลำกล้องปืนซึ่งเป็นแก้วไฟเบอร์และอลูมิเนียม ๒ อัน ฝาครอบลำกล้องปืนนี้มีรอยบาก

เพื่อให้อากาศเข้าหมุนเวียนรอบลำกล้องได้ และยังใช้ป้องกันท่อแก็สอีกด้วย

ง) แผ่นรองพานท้าย ซึ่งติดอยู่ที่พานท้ายปืนใช้สำหรับลดแรงสะท้อนถอยหลังของปืนให้น้อยลง

จ) เครื่องช่วยส่งลูกเลื่อนไปข้างหน้า ติดอยู่ทางด้านหลังขวาของห้องลูกเลื่อนส่วนบน ช่วยทำให้ลูกเลื่อนเข้าที่สนิทเมื่อ

ลูกเลื่อนไม่ปิดสนิทด้วยกำลังของแหนบเครื่องรับแรงถอย

ฉ) มีขาทราย รูป "ไม้หนีบผ้า" เพื่อใช้สำหรับพลยิงปืนเล็กกล

ช) โกร่งไกสามารถปรับได้ง่าย เพื่อการปฏิบัติการในฤดูหนาว ใช้ยิงเมื่อสวมถุงมือ

ซ) ฝาปิดกันฝุ่น มีไว้เพื่อป้องกันฝุ่นและทรายที่จะเข้าไปในปืน

๒. ขีดความสามารถและรายการทั่วไป

ก) น้ำหนัก

๑) ปืนไม่มีซองกระสุนและสายสะพาย …………………….๒.๙๕ กก.

๒) ซองกระสุนเปล่า

- ขนาด ๒๐ นัด ………………………………………...๐.๐๙ กก.

- ขนาด ๓๐ นัด …………………………………………๐.๑๑ กก.

๓) ซองกระสุนบรรจุเต็ม

- ขนาด ๒๐ นัด …………………………………………๐.๓๒ กก.

- ขนาด ๓๐ นัด …………………………………………๐.๔๖ กก.

๔) สายสะพาย แบบ M1 ……………………………………๐.๑๘ กก.

๕) น้ำหนักในการยิง (พร้อมสายสะพายและบรรจุกระสุนเต็ม)

- ขนาด ๒๐ นัด ………………………………………….๓.๔๕ กก.

- ขนาด ๓๐ นัด ………………………………………….๓.๖๐ กก.

๖) ขาทราย ………………………………………………….๐.๒๗ กก.

๗) ดาบปลายปืน M7 ……………………………………….๐.๒๗ กก.

๘) ฝักดาบ M8 A1 ………………………………………….๐.๑๔ กก.

ข) ความยาว

๑) ปืนติดดาบปลายปืน …………………………………….๑๑๒.๔๐ ซม.

๒) ปืนพร้อมปลอกลดแสง ………………………………….๙๙.๐๖ ซม.

ค) เครื่องเล็ง

๑) ศูนย์หน้า เป็นศูนย์แท่นแบบมีคลิ๊กปรับได้ แต่ละคลิ๊กมีค่าเท่ากับ ๒.๘ ซม.ต่อทุกระยะ ๑๐๐ ม.

๒) ศูนย์หลัง เป็นแบบศูนย์กระดกปรับได้ ระยะยิงปกติจะตั้งไว้ตั้งแต่ ๐-๓๐๐ ม.ตั้งศูนย์ยิงระยะไกล (L) ใช้ระยะ

๓๐๐ - ๔๖๐ ม.แต่ละร่องของจานมุมทิศมีค่า ๒.๘ ซม.ต่อทุก ๆ ระยะ ๑๐๐ ม.

ง) กระสุนมี ๔ แบบ

๑) กระสุนจริง M193

๒) กระสุนส่องวิถี M196 (หัวทาสีแดง)

๓) กระสุนฝึกหัดบรรจุ M199

๔) กระสุนซ้อมยิง M200 (หัวทาสีม่วง) ใช้ประกอบทำการยิงกับเครื่องทวีความถอย (BFA) แบบ

M15 E1

จ) ลักษณะทางขีปณะวิธี

๑) ความเร็วต้น ๙๙๐.๘๕ ม./วินาที (๓,๒๕๐ ฟุต/วินาที)

๒) ความเร็วในการยิง ๗๐๐-๘๐๐ นัดต่อนาที

๓) อัตราในการยิงหวังผลสูงสุด

- กึ่งอัตโนมัติ …………………………………………….๔๕ - ๖๕ นัด/นาที

- อัตโนมัติ ……………………………………………….๑๕๐ - ๒๐๐ นัด/นาที

- ยิงต่อเนื่อง …………………………………………….๑๒ - ๑๕ นัด/นาที

๔) ระยะยิงไกลสุด …………………………………………๒,๖๕๓ เมตร

๕) ระยะยิงหวังผลสูงสุด …………………………………..๔๖๐ เมต

ข. อาวุธศึกษา

๑. การถอดและการประกอบ

ก) กล่าวทั่วไป

๑) เพื่อให้ทหารได้รู้จักชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปืน และสามารถหาสาเหตุติดขัด และกำจัดเหตุติดขัดให้น้อยลง

๒) ทหารจะได้รับอนุญาตให้ทำการถอดปืนแบบ "คุมปกติ" โดยไม่ต้องอยู่ในการกำกับดูแล เพื่อบำรุงรักษา

๓) การถอดและการประกอบกระทำได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังมาก

๔) เมื่อถอดปืนออกมา ควรจะวางชิ้นส่วนไล่จากซ้ายไปขวา เพื่อง่ายในการประกอบ

ข) การตรวจปืน ก่อนจะทำการถอดประกอบปืนนั้น ควรตรวจปืนเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย แล้วจึงดำเนินการดังนี้

๑) ตั้งคันบังคับการยิงไว้ที่ "ห้ามไก"

๒) ถอดซองกระสุนออก (ถ้ามี)

๓) ดึงคันรั้งลูกเลื่อนมาข้างหลังจนสุด แล้วใช้หัวแม่มือซ้ายกดเหล็กหยุดลูกเลื่อน หยุดลูกเลื่อนไว้

๔) ตรวจดูในรังเพลิงว่ามีกระสุนอยู่หรือไม่

๕) กดเหล็กหยุดลูกเลื่อนให้ลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้า

ข้อระมัดระวัง : คันบังคับการยิงต้องอยู่ในท่าห้ามไก เพื่อป้องกันมิให้กระเดื่องไกอัตโนมัติชำรุดเสียหาย

ค) การถอดปกติและการประกอบ

๑) การถอดชิ้นส่วนสำคัญ

(ก) ถอดสายสะพายออก

(ข) ใช้ปลายหัวกระสุนกดและดันสลักยึดโครงปืน จนกระทั่งโครงปืนส่วนบนหลุดจากส่วนล่าง

(ค) ถอดชุดโครงนำลูกเลื่อนออกจากชุดโครงปืนส่วนบน

(๑) บีบกลอนยึดคันรั้งลูกเลื่อนแล้วดึงมาข้างหลัง

(๒) นำโครงนำลูกเลื่อนและคันรั้งลูกเลื่อนออกจากโครงปืนส่วนบน

๒) การถอดแยกชุดโครงนำลูกเลื่อน

(ก) ใช้ปลายหัวกระสุนดันสลักเข็มแทงชนวนจากขวาไปซ้าย แล้วดึงเข็มแทงชนวนออกทางด้านหลังของโครงนำลูกเลื่อน

(ข) ถอดลูกเลื่อนออกจากโครงนำลูกเลื่อน

(๑) ดันลูกเลื่อนให้ติดกับโครงนำลูกเลื่อน

(๒) หมุนสลักลูกเบี้ยวไปทางขวาหรือซ้าย ๙๐ องศา

(๓) ยกสลักลูกเบี้ยวออก

(๔) ดึงลูกเลื่อนออกจากโครงนำลูกเลื่อน

ข้อควรระวัง : อย่าให้แหวนประคองลูกเลื่อนชำรุด

๓) การถอดฝาคลอบลำกล้อง

(ก) กดเหล็กยึดฝาคลอบลงให้สุด

(ข) นำฝาคลอบลำกล้องออกทั้งสองข้าง

๔) การถอดเครื่องรับแรงถอยออกจากชุดโครงปืนส่วนล่าง

(ก) ใช้นิ้วมือขวาดันแกนแหนบรับแรงถอยเข้าไปข้างใน

(ข) ใช้ปลายหัวกระสุนหรือเข็มแทงชนวนกดลงบนแป้นรับแรงถอย

(ค) ปล่อยแกนแหนบรับแรงถอยให้ค่อย ๆ เคลื่อนออกมาช้า ๆ

หมายเหตุ เป็นการสิ้นสุดการถอดแบบคุมปกติ

๕) การประกอบ กระทำตรงข้ามกับการถอด ชิ้นส่วนใดถอดก่อนประกอบทีหลัง ชิ้นส่วนใดถอดทีหลังประกอบก่อน

(ก) ประกอบเครื่องรับแรงถอยเข้ากับชุดโครงปืนส่วนล่าง

(๑) ใช้ปลายหัวกระสุนกดแป้นรับแรงถอยให้ยุบตัวลง

(๒) ใส่แกนแหนบรังแรงถอยเข้าที่ให้สุดระยะ

(๓) เอาหัวกระสุนที่กดแป้นรับแรงถอยออก แป้นนี้จะกั้นแกนแหนบไม่ให้พุ่งออกมา

(ข) การประกอบฝาครอบลำกล้องลงให้สุด

(๑) กดเหล็กยึดฝาครอบลำกล้องลงให้สุด

(๒) นำฝาครอบลำกล้องใส่กลับเข้าที่ทั้งสองข้าง

(ค) ประกอบชุดโครงนำลูกเลื่อน

(๑) นำลูกเลื่อนใส่เข้ากับโครงนำลูกเลื่อนทางด้านหน้า

(๒) ใส่สลักลูกเบี้ยวตรงช่องสลักลูกเบี้ยว

(๓) หมุนลูกเบี้ยวไปทางขวาหรือทางซ้าย ๙๐ องศา

(๔) ใส่เข็มแทงชนวนทางด้านหลังโครงนำลูกเลื่อนเข้าไปให้สุด

(๕) ใส่สลักเข็มแทงชนวนทางซ้ายไปขวา

(ง) ประกอบชุดโครงนำลูกเลื่อนกับชุดโครงปืนส่วนบน

(๑) ใส่คันรั้งลูกเลื่อนเข้ากับชุดโครงปืนส่วนบน โดยใส่ให้ตรงกับช่องด้านบนของชุดโครงปืนส่วนบนแล้วดันเข้าไปพอประมาณ

(๒) ใส่ชุดโครงนำลูกเลื่อนเข้ากับชุดโครงปืนส่วนบน

(๓) ดันโครงนำลูกเลื่อนเข้าไปให้สุดระยะ กลอนยึดคันรั้งจะยึดอยู่เหมือนเดิม

(จ) ประกอบชุดโครงปืนส่วนบนกับชุดโครงปืนส่วนล่าง

(๑) ประกอบชุดโครงปืนส่วนบนเข้ากับส่วนล่างแล้วกดสลักยึดโครงปืนให้เข้าที่

(๒) ประกอบสายสะพายเข้าตัวปืน

หมายเหตุ เป็นการสิ้นสุดการประกอบ

ง) การถอดพิเศษและการประกอบ ต้องถอดอยู่ในความควบคุม

๑) ถอดแยกชุดโครงปืนส่วนล่าง

(ก) ถอดนกปืนและสลักนกปืน (ตั้งคันบังคับการยิงไว้ที่ "กึ่งอัตโนมัติ" นกปืนอยู่ในตำแหน่งปกติ)

(๑) ใช้เข็มแทงชนวนดันสลักนกปืนออกจากซ้ายไปขวา

(๒) เอาสลักนกปืนและนกปืนกับแหนบนกปืนออก

ข้อระมัดระวัง : ขณะถอดสลักนกปืนออกจากนกปืน ต้องระวังนกปืนกระเด็นออกเพราะแหนบนกปืนถูกอัดตัวอยู่

(ข) ถอดกระเดื่องไกอัตโนมัติและสลักกระเดื่องไกอัตโนมัติ ใช้เข็มแทงชนวนดันสลักกระเดื่องไกอัตโนมัติออกจากซ้ายไปขวา แล้วยกกระเดื่องไกอัตโนมัติออก

(ค) ถอดคันบังคับการยิง ดันคันบังคับการยิงจากขวาไปซ้าย

(ง) การถอดไกและสะพานไก

(๑) ใช้เข็มแทงชนวนดันสลักไกออกมาข้างใดข้างหนึ่ง

(๒) ยกไกและสะพานไกออก

ข้อควรระวัง : ไกและสะพานไกจะกระเด็นออกมาเมื่อสลักไกหลุดออก

หมายเหตุ เป็นการสิ้นสุดการถอดพิเศษ

๒) การประกอบ ต้องกระทำตรงกันข้ามกัน ชิ้นส่วนใดถอดก่อนประกอบทีหลังถอดทีหลังประกอบก่อน

(ก) ประกอบไกและสะพานไก

(๑) ประกอบลงไปในห้องลูกเลื่อน แล้วกดไกและสะพานไกให้ยุบตัวลง ใส่สลักไกจนเข้าที่

(๒) ประกอบคันบังคับการยิง ใส่คันบังคับการยิงจากซ้ายไปขวา

(๓) ประกอบกระเดื่องไกอัตโนมัติและสลัก

- หมุนคันบังคับการยิงไว้ที่ "ยิงกล"

- ใส่กระเดื่องไกอัตโนมัติให้จงอยกระเดื่องไกอัตโนมัติอยู่ตรงกันข้ามกับสปริงกระเดื่องไกอัตโนมัติ

- ใส่สลักกระเดื่องไกอัตโนมัติ

(๔) ประกอบนกปืนและสลักนกปืน

- ใส่นกปืนโดยให้แหนบนกปืนอยู่ในลักษณะอัดตัว

- ใส่สลักนกปืนให้เข้าที่

หมายเหตุ เป็นการสิ้นสุดการประกอบแบบพิเศษ

จ) การตรวจภายหลังการประกอบ เพื่อตรวจการทำงานให้ถูกต้องภายหลังการประกอบเรียบร้อยแล้วโดยเอาเฉพาะชุดโครงลูกเลื่อนส่วนล่างมาตรวจดังนี้

๑) ตำแหน่งห้ามไก (SAFE)

(ก) ขึ้นนกแล้วเหนี่ยวไกนกปืนไม่ฟาดไปข้างหน้า

๒) ตำแหน่งยิงกึ่งกล (SEMI)

(ก) ขึ้นนกแล้วเหนี่ยวไก อาการแสดง

(๑) นกปืนฟาดไปข้างหน้า

(๒) ถ้าเหนี่ยวไกเอาไว้ กดนกปืนขึ้นนกใหม่ นกปืนจะขัดกับสะพานไก

(๓) ถ้าปล่อยไกไป นกปืนจะเปลี่ยนมาขัดกับแง่หน้าไก

๓) ตำแหน่งยิงกล (AUTO)

(ก) ขึ้นนกปืนแล้วเหนี่ยวไก อาการแสดง

(๑) นกปืนจะฟาดไปข้างหน้า

(๒) ถ้าเหนี่ยวไก กดนกปืนขึ้นใหม่ นกปืนจะขัดกับแง่ล่างของกระเดื่องไกอัตโนมัติ

(๓) ถ้าพลิกกระเดื่องไกไปข้างหน้า นกปืนจะฟาดไปข้างหน้าทันที

(๔) แต่ถ้าเราไม่เหนี่ยวไกอยู่ เมื่อพลิกกระเดื่องไกอัตโนมัติไปข้างหน้า

(๕) นกปืนจะฟาดไปข้างหน้าหน่อยเดียวแล้วขัดตัวกับจมูกไก เป็นการหยุดยิงของการยิงกล

๒. การทำงานของเครื่องกลไก

ก) วงรอบการทำงาน แบ่งเป็น ๘ ขั้น เครื่องกลไกของปืนจะทำงานมากกว่าหนึ่งขั้นเสมอ

๑) การขึ้นนก

๒) การป้อนกระสุน

๓) การเข้าสู่รังเพลิง

๔) การขัดกลอน

๕) การยิง

๖) การปลดกลอน

๗) การรั้งปลอกกระสุน

๘) การคัดปลอกกระสุน

ข) การยิงแบบกึ่งอัตโนมัติ บรรจุซองกระสุนเข้าช่องบรรจุ เหล็กยึดซองกระสุนจะยึดซองกระสุนไว้กดกลอนยึดคันรั้ง
ลูกเลื่อนแล้วดึงคันรั้งลูกเลื่อนมาข้างหลัง

๑) การขึ้นนก โครงนำลูกเลื่อนถอยมาข้างหลัง กดนกปืนให้ต่ำลง แหนบนกปืนถูกอัดตัว แง่ล่าง นกปืนจะขัดกับจมูกไก


๒) การป้อนกระสุน เมื่อโครงนำลูกเลื่อนถอยพ้นด้านบนสุดของซองกระสุนแล้ว กระสุนนัดบนสุดจะขึ้นมาอยู่ในเส้นทางเดินของลูกเลื่อนด้วยกำลังของแหนบในซองกระสุน

๓) การเข้าสู่รังเพลิง ขณะที่โครงนำลูกเลื่อนถอยมาข้างหลัง หัวเครื่องรับแรงถอยจะถูกกระแทกและทำให้แหนบรังแรงถอยถูกอัดตัวไปข้างหลัง แรงขยายตัวของ
แหนบจะดันให้แกนแหนบรังแรงถอยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและดันโครงนำลูกเลื่อนไปข้างหน้าด้วย หน้าของลูกเลื่อนจะชนเข้ากับจานท้ายกระสุนและดันกระสุนนัดนั้นเข้ารังเพลิง พร้อม ๆ กันนั้นขอรั้งปลอกกระสุนจะจับขอบจานท้ายกระสุนและเหล็กคัดปลอกถูกดันให้ยุบตัว

๔) การขัดกลอน เมื่อโครงนำลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้า อีก ๑/๒ นิ้วจะสุดระยะ สลักลูกเบี้ยวจะถูกร่องลาดลูกเบี้ยวบังคับให้เคลื่อนที่ไปตามแนวของร่องลาด ทำให้ลูกเลื่อนหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกาเข้าไปอยู่ในช่องขัดกลอน ปืนพร้อมที่จะทำการยิง

๕) การยิง เมื่อผู้ยิงเหนี่ยวไก ทำให้ปลายหน้าไกต่ำลงหลุดจากแง่ล่างของนกปืน นกปืนฟาดตัวไปข้างหน้าด้วยแรงขยายตัวของแหนบนกปืน นกปืนจะตีเข้ากับท้ายเข็มแทงชนวนและทำให้เข็มแทงชนวนพุ่งแทงจอกกระทบแตกที่จานท้ายปลอกกระสุน ขณะที่เหนี่ยวไกอยู่นั้นสะพานไกก็จะกระดกไปข้างหน้าด้วยแก็สซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของดินขับจะขับหัวกระสุนให้วิ่งไปตามลำกล้อง เมื่อผ่านรูแก็สที่ใต้ศูนย์หน้า แก๊สส่วนน้อยจะไหลไปตามรูแก็สเข้าไปในท่อแก๊สที่อยู่ในกุญแจโครงนำลูกเลื่อน ส่งโครงนำลูกเลื่อนถอยหลังก่อนที่เราจะปล่อยไกโครงนำลูกเลื่อนถอยหลังกดให้นกปืนเอนตัวไปข้างหลัง แง่กลางนกปืนจะขัดกับจงอยสะพานไกที่กระดกไปข้างหน้าถ้าไม่ปล่อยไกจะค้างอยู่ในลักษณะนี้ เมื่อปล่อยไกแล้ว นกปืนจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเล็กน้อย และจะหลุดจากการขัดตัวกับสะพานไก แง่ล่างของนกปืนจะไปขัดตัวกับแง่หน้าไก

๖) การปลดกลอน เมื่อโครงนำลูกเลื่อนเคลื่อนที่มาข้างหลัง ร่องลาดจะบังคับสลักลูกเบี้ยว ทำให้ลูกเลื่อนหมุนตัวจนแง่ขัดกลอนของลูกเลื่อนพ้นจากช่องขัดกลอนที่โครงต่อท้ายลำกล้อง

๗) การรั้งปลอกกระสุน โครงนำลูกเลื่อนที่มาข้างหลังพร้อมกับลูกเลื่อน ขอรั้งที่ติดอยู่กับลูกเลื่อนจะดึงปลอกกระสุนที่ยิงแล้วออกมาจากรังเพลิง

๘) การคัดปลอกกระสุน เมื่อโครงนำลูกเลื่อนเคลื่อนที่ผ่านช่องคัดปลอกกระสุน ปลอกกระสุนจะถูกเหวี่ยงออกด้วยแรงดันของแหนบคัดปลอก ครบวงรอบการทำงาน


ค) การยิงแบบอัตโนมัติ เมื่อตั้งคันบังคับการยิงอยู่ในตำแหน่งยิงอัตโนมัติ (AUTO) ปืนจะทำการยิงติดต่อกันตลอดเวลาที่ยังเหนี่ยวไกมาข้างหลัง และยังมีกระสุนอยู่ในซองกระสุน

๑) เมื่อเหนี่ยวไก วงรอบการทำงานจะเกิดขึ้น โครงนำลูกเลื่อนถอยมาข้างหลังนกปืนจะขึ้นนกลูกเบี้ยวตัวกลางของคันบังคับการยิงจะกดส่วนท้ายของสะพานไกไว้

ทำให้จงอยของสะพานไกไม่ขัดกับนกปืน แต่แง่บนของนกปืนจะขัดกับแง่ล่างของกระเดื่องไกอัตโนมัติ ทำให้นกปืนไม่ฟาดไปข้างหน้า

๒) เมื่อโครงนำลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้า จะกระแทกกับแง่บนของกระเดื่องไกอัตโนมัติ ทำให้แง่บนของนกปืนหลุดจากกระเดื่องไกอัตโนมัติ เป็นการปลดนกปืน และทำให้ปืนยิงเป็นอัตโนมัติ

๓) ถ้าปล่อยไก นกปืนจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และถูกขัดกับแง่หน้าไก เป็นการสิ้นสุดวงรอบของการยิงแบบอัตโนมัติ จนกว่าจะเหนี่ยวไกอีก ส่วนขั้นตอนของวงรอบการทำงานอื่น ๆ คงเป็นเช่นเดียวกับการยิงแบบกึ่งอัตโนมัติทุกประการ

ง) การทำงานของเครื่องนิรภัย เมื่อผลักคันบังคับการยิงไปยังตำแหน่งห้ามไก (SAFE) คันบังคับการยิงจะหันด้านเดิมเข้าหาไกทำให้เหนี่ยวไกไม่ได้

จ) การทำงานเมื่อกระสุนหมดลง เมื่อกระสุนหมดซอง เหล็กรองกระสุนจะสูงขึ้นสุดด้วยแรงดันของแหนบส่งกระสุน เหล็กรองกระสุนจะดันเหล็กหยุดลูกเลื่อนให้สูงขึ้นขัดที่ด้านหน้าของลูกเลื่อน ทำให้ลูกเลื่อนค้างอยู่ข้างหลัง

๓. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด

ก) ลำกล้องปืน

๑) ติดดอกแส้เข้ากับแส้แยงลำกล้องจุ่มลงในน้ำมันชำระลำกล้องแล้วแยงลำกล้องตั้งแต่รังเพลิงไปยังปากลำกล้องลงไปตรง ๆ ดันดอกแส้ กระทุ้งโผล่ที่ปากลำกล้อง ทำติดต่อกันแล้วถอดดอกแส้ออก แล้วใช้ผ้าเช็ด ลำกล้องให้แห้ง

๒) ทำความสะอาดช่องขัดกลอน โดยใช้แปรงทำความสะอาดขนาดเล็ก

๓) ทำความสะอาดท่อแก็สที่อยู่ภายนอก ด้วยดอกแส้ชำระลำกล้อง

๔) หลังจากทำความสะอาดแล้ว ให้หล่อลื่นลำกล้องและช่องขัดกลอนลูกเลื่อนโดยชโลมน้ำมัน บาง ๆ ป้องกันสนิมและการสึกหรอ รวมทั้งผิวลำกล้องที่หุ้มด้วยฝาครอบลำกล้องปืนด้วย

ข) ชุดโครงลูกเลื่อน

๑) ถอดโครงนำลูกเลื่อนออกจากชุดโครงปืนส่วนบน และถอดชิ้นส่วนของโครงนำลูกเลื่อนออกใช้ผ้าชุบน้ำมันทำความสะอาด

๒) ทำความสะอาดแง่ขัดกลอนที่ลูกเลื่อน โดยใช้แปรงและน้ำมันแล้วเช็ดให้แห้ง และทาน้ำมันบาง ๆ

๓) ทำความสะอาดกุญแจโครงนำลูกเลื่อนด้วยดอกแส้แยงลำกล้อง

๔) หยอดน้ำมันเพียงหนึ่งหยด ลงในรูด้านขวาของโครงนำลูกเลื่อน และปลายด้านเปิดของกุญแจโครงนำลูกเลื่อน แล้วทาน้ำมันบาง ๆ บนพื้นผิวลูกเลื่อนและโครงนำลูกเลื่อนให้ทั่ว

๕) สำหรับชุดโครงปืนส่วนล่างไม่จำเป็นต้องถอดชิ้นส่วนละเอียด เพียงใช้ผ้าหรือแปรงทำความสะอาด ใส่น้ำมันใสลงบนสลักทุกตัวและด้านคันบังคับการยิง

ค) การปรนนิบัติบำรุง

๑) การปรนนิบัติบำรุง เป็นระบบการรักษา การตรวจสภาพ และการบริการยุทโธปกรณ์ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตลอดเวลา ต้องปฏิบัติทุกวันที่นำปืนไปใช้

๒) ตารางการปรนนิบัติบำรุง

๔. เหตุติดขัดและการแก้ไข

ก) การแก้ไขทันทีทันใด คือการปฏิบัติโดยไม่ชักช้า เพื่อแก้ไข โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุ มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้คือ

ขั้นที่ ๑ ตบซองกระสุนขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าเข้าถึงที่สุดแล้ว

ขั้นที่ ๒ ดึงคันรั้งลูกเลื่อนมาข้างหลังจนสุดแล้วปล่อย

ขั้นที่ ๓ ตบเครื่องช่วยส่งลูกเลื่อนกลับไปข้างหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าลูกเลื่อนเข้าที่สนิทแล้ว

ขั้นที่ ๔ พยายามยิงปืนออกไปใหม่

ข) การขัดข้อง สาเหตุ และวิธีแก้ไข

อาการ ลูกเลื่อนไม่ค้างอยู่ข้างหลังเมื่อยิงกระสุนนัดสุดท้ายไปแล้ว

สาเหตุ - ซองกระสุนผิดรูป

- เหล็กยึดลูกเลื่อนหรือแหนบเหล็กหยุดลูกเลื่อนหัก

วิธีแก้ไข - เปลี่ยนซองกระสุนใหม่ เปลี่ยนเหล็กหยุดลูกเลื่อนใหม่ หรือแหนบใหม่

อาการ ไม่ป้อนกระสุน

สาเหตุ - ซองกระสุนผิดรูป

- ลูกเลื่อนและโครงนำลูกเลื่อนฝืดหรือขัดตัว

- ชุดเครื่องรับแรงถอยไม่ขยายตัว

วิธีแก้ไข - เปลี่ยนซองกระสุนใหม่

- ถอดแยกและทำความสะอาดอาวุธใหม่

- หยอดน้ำมันที่แหวนลูกเลื่อน ๑-๒ หยด

อาการ รอบการทำงานผิดเมื่อจัดคันบังคับการยิงไว้ที่ตำแหน่งยิงอัตโนมัติ

สาเหตุ - กระเดื่องไกอัตโนมัติหรือแหนบหัก

- คันบังคับการยิงผิดรูป

- เหล็กคัดปลอกไม่ทำงาน

วิธีแก้ไข - เปลี่ยนชุดกระเดื่องไกอัตโนมัติใหม่

- เปลี่ยนคันบังคับการยิงใหม่ ถอดและทำความสะอาด

อาการ ปืนไม่ลั่น

สาเหตุ - ประกอบเข็มแทงชนวนไม่ถูกต้อง

- แหนบนกปืนหัก

- เหล็กสะพานไกหัก

- แหนบไกหรือแหนบนกปืนคดหรือชำรุด

- ประกอบแหนบนกปืนหรือนกปืนไม่ถูกต้อง

วิธีแก้ไข - ประกอบเข็มแทงชนวนใหม่

- เปลี่ยนแหนบนกปืนใหม่

- เปลี่ยนเหล็กสะพานไกหรือแหนบใหม่

- เปลี่ยนไกหรือแหนบปืนใหม่

- ถอดและประกอบให้ถูกต้อง

อาการ ปืนลั่นเมื่อจัดคันบังคับการยิงไว้ที่ตำแหน่ง "ห้ามไก"

สาเหตุ - คันบังคับการยิงชำรุดเสียหาย

- สลักไกชำรุดหรือคด

- นกปืนหรือไกชำรุด

วิธีแก้ไข - เปลี่ยนคันบังคับการยิง

- เปลี่ยนสลักไกใหม่

- เปลี่ยนนกปืนหรือไกใหม่

อาการ ลูกเลื่อนติดแน่นไม่หมุนตัว

สาเหตุ - ชุดลูกเลื่อนเยินหรือมีเขม่าดินปืนจับสกปรก

วิธีแก้ไข - จับปืนตั้งขึ้น และกระแทกพานท้ายลงกับพื้นแรง ๆ พร้อมกับดึงคันรั้งมาข้างหลัง

ค. การปรับศูนย์

๑. ศูนย์ปืน

ศูนย์ของ ปลย.เอ็ม.๑๖ เป็นศูนย์ที่สามารถปรับเลื่อนได้ทั้งมุมสูงและมุมทิศ การปรับเลื่อนมุมทิศทำที่ศูนย์หลัง ส่วนการปรับเลื่อนมุมสูงทำที่ศูนย์หน้า

ก) ศูนย์หลัง ประกอบด้วยช่องเล็ง ๒ ช่อง และมีควงมุมทิศ พร้อมด้วยเดือยบังคับ ช่องเล็งศูนย์หลังที่มีเครื่องหมาย L ใช้สำหรับระยะยิงตั้งแต่ ๓๐๐ เมตรขึ้นไป และช่องเล็งศูนย์หลังที่ไม่มีเครื่องหมายสำหรับระยะยิงตั้งแต่ ๐ ถึง ๓๐๐ เมตร การปรับทางทิศกระทำได้โดยการกดเดือยบังคับด้วยวัตถุปลายแหลมและหมุนควงมุมทิศไปในทิศทางที่ต้องการให้ตำบลกระสุนถูกเคลื่อนไปการหมุนตามเข็มนาฬิกา ๑ คลิ๊ก ตำบลกระสุนถูกจะเปลี่ยนไปทางขวา ๒.๘ ซม.ทุก ๆ ๑๐๐ เมตรของระยะยิง

ข) ศูนย์หน้า ศูนย์หน้าประกอบด้วยแท่นศูนย์หน้าชนิดหมุนได้ และเดือยบังคับ กดเดือยบังคับด้วยวัตถุที่แหลม หมุนแท่นศูนย์ไปในทิศทางที่ยกขึ้น หรือทำให้ตำบลกระสุนถูกต่ำลง การหมุนแท่นศูนย์ไปในทิศทางเครื่องหมายลูกศร "UP" จะยกตำบลกระสุนถูกให้สูงขึ้น แต่ละคลิ๊กของแท่นศูนย์ที่หมุนจะทำให้ตำบลกระสุนถูกเปลี่ยนไป ๒.๘ ซม.ทุก ๆ ๑๐๐ เมตรของระยะยิง

๒. การตั้งศูนย์ตามระยะยิง

ก) ระยะ ๑๘๓ เมตร (๒๐๐ หลา) ตั้งมุมสูง ๒๔ คลิ๊ก จากตำแหน่งต่ำสุดที่ศูนย์หน้าและศูนย์หลังปรับให้อยู่กึ่งกลาง (MACHANICAL ZERO) และขั้นการปรับศูนย์เริ่มแรกควรจะเริ่มจากระยะนี้ การแก้ทางทิศไม่จำเป็นต้องปรับเกินกว่า ๖ คลิ๊กไปทางขวาหรือทางซ้าย การเล็งให้ใช้จุดเล็งที่ ๖ นาฬิกา

ข) ระยะ ๒๗๔ เมตร (๓๐๐ หลา) การตั้งศูนย์คงกระทำเช่นเดียวกันกับระยะ ๑๘๓ เมตร แต่ตำบลเล็งให้เล็งกึ่งกลาง

ค) ระยะ ๔๖๐ เมตร (๕๐๐ หลา) การตั้งศูนย์คงกระทำเช่นเดียวกับระยะ ๑๘๓ เมตร แต่ให้ยกช่องเล็งยิงระยะไกลขึ้น และตำบลเล็งจับบริเวณคอหรืออกของภาพเงาดำ

ง. การปรับปืนตั้งศูนย์รบ

๑. หลักในการปรับ ในปัจจุบัน นย.กำหนดการปรับปืนตั้งศูนย์รบกระทำในระยะ ๒๗๔ เมตร (๓๐๐หลา) วิถีกระสุนจะต่ำกว่าเส้นเล็งประมาณ ๒.๔ ซม.(.๘ นิ้ว) ที่ระยะ ๒๕ เมตร (๑,๐๐๐ นิ้ว) และจะบรรจบเส้นเล็งที่ระยะประมาณ ๓๔.๐๘ เมตร ดังนั้นผู้ที่ทำการยิงปรับศูนย์รบสามารถทำการยิงปรับในระยะเป้า๒๕ เมตร หรือ ๓๔.๐๘ เมตร

๒. เป้าปรับปืนตั้งศูนย์รบ เป้ามาตรฐานระยะ ๒๕ เมตร ใช้ในการปรับปืนตั้งศูนย์รบสำหรับ ปลย.เอ็ม.๑๖ เอ ๑ ขนาดของรูปสี่เหลี่ยมบนแผ่นเป้า มีความกว้างยาว ๑.๔ ซม.หนึ่งคลิ๊กของมุมสูงหรือมุมทิศจะเลื่อนตำบลกระสุนถูกไป ๐.๗ ซม.ในระยะ ๒๕ เมตร เมื่อหมุนมุมสูงหรือมุมทิศให้สูงขึ้น ๒ คลิ๊กจะทำให้ตำบลกระสุนถูกเลื่อนไปหนึ่งช่องสี่เหลี่ยม

๓. การปฏิบัติ การปรับปืนตั้งศูนย์รบ ๒๗๔ เมตร คือการทำโดยการยิงเป็นกลุ่ม ๓ นัด ไปยังเป้าในระยะ ๒๕เมตรตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๒. ผู้ยิงทำการเล็งไปยังตำบลที่เห็นชัดเจนที่อยู่กึ่งกลาง ด้านใต้ของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำ และทำการปรับศูนย์ปืนจนกระทั่งกึ่งกลางของกลุ่มกระสุนมาอยู่ตรงวงข้างล่างห่างจากตำบลเล็ง๒.๔ ซม. ตรงจุดนี้เขียนเอาไว้โดยเส้นไขว้ไว้บนแผ่นเป้า

จ. การยิงในสนาม

๑. การเปลี่ยนซองกระสุน

ก) ซองกระสุนที่ใส่ในแต่ละกระเป๋ากระสุนต้องให้ปลายด้านเปิดของช่องกระสุนลงอยู่ข้างล่างโดยให้ส่วนยาวอยู่ข้างลำตัว

ข) การดึงซองกระสุนออกจากกระเป๋าจะใช้มือขวาหรือมือซ้ายก็ได้ วิธีดึงซองกระสุนออกจากกระเป๋าคือให้จับซองกระสุนด้วยหัวแม่มือขวา ขอบด้านยาวและนิ้วชี้กลางจับอยู่ที่ขอบด้านสั้น ดึงซองกระสุนให้ออกมาจากกระเป๋า แล้วเหยียดแขนออกไปข้างหน้า โดยการหมุนมือและข้อมือ ดังนั้นซองกระสุนจะอยู่ในท่าที่จะบรรจุเข้าในปืน ซองกระสุนจะบรรจุเข้าไปในปืน โดยการสอดซองกระสุนขึ้นตรง ๆ จนเข้าที่สนิท

ค) การถอดซองกระสุนเปล่าออกเมื่อทำการยิงหมดแล้ว ผู้ยิงจะต้องถอดซองกระสุนออกโดยใช้นิ้วมือขวากดที่ปุ่มยึดซองกระสุน และปล่อยให้ซองกระสุนหลุดออกมาโดยน้ำหนักของซองกระสุนเอง

ง) การบรรจุก็ให้กดปุ่มเหล็กหยุดลูกเลื่อนด้วยหัวแม่มือซ้าย ถ้าลูกเลื่อนไปอยู่ในลักษณะเปิดเมื่อบรรจุซองกระสุนแล้ว ต้องดึงคันรั้งลูกเลื่อนมาข้างหลังแล้วปล่อยไป

๒. การยิงชี้ที่หมาย การยิงชี้ที่หมาย กระทำในท่ายืนหรือหมอบ โดยการประทับปืนเข้าร่องไหล่อย่างรวดเร็ว ลืมตาทั้งสองข้างพุ่งตรงไปยังเป้าหมาย วิธีนี้จะช่วยให้เส้นเล็งขนานกับเส้นแกนลำกล้องโดยธรรมชาติ และทำให้ผู้ยิงสามารถทำการยิงในอัตราที่ให้ความแม่นยำสูง การยิงจากท่าประทับตะโพกไม่ค่อยได้ผลและไม่ควรนำมาใช้

๓. การยิงเป้าเคลื่อนที่

ก) เป้าเคลื่อนที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับตำบลที่ของเป้ามากกว่าเป้านิ่ง การเล็งยิงก็หาจุดเล็งโดยประมาณเช่น ในระหว่างการโผ ทหารข้าศึกจะมีลักษณะเป็นเป้าหมายเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามในช่วงการเคลื่อนไหวที่สั้น ๆ ได้แก่ตอนเริ่มและตอนท้ายของการโผ ปกติแล้วการเคลื่อนไหวจะช้า การเคลื่อนที่ของเป้าหมายในทิศทางเข้ามาตรงหน้า คงทำการเล็งยิงเช่นเดียวกับเป้านิ่ง แต่ในการยิงเป้าเคลื่อนที่ผ่านหน้าจะต้องทำการเล็งยิงดักหน้าเป้า เพื่อจะให้กระสุนกระทบกับเป้าหมายนั้น

ข) การเล็งดักหน้าเป้านั้นมีอยู่หลายระยะ ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๒ ประการคือ ระยะ และความเร็วที่เป้าเคลื่อนที่

๑) คนเคลื่อนที่ด้วยการเดินปกติผ่านหน้าในระยะ ๒๐๐ เมตรหรือน้อยกว่า เล็งขอบหน้า ในระยะ ๒๐๐ - ๔๐๐ เมตร เล็งดัก ๑ ช่วงความกว้างของลำตัว

๒) ถ้าเป้าวิ่งผ่านหน้า การเล็งดักก็เพิ่มเป็น ๒ เท่า

๔. การยิงอากาศยาน

ก) การยิง บ. จะถูกจำกัดโอกาสเมื่อเครื่องบินปฏิบัติการ ดังนี้

๑) ขณะบินระดับความสูง ๑,๒๕๐ ฟุต ในลักษณะบินข้าม

๒) ทำการโจมตีด้วยการยิง หรือทิ้งระเบิด

เมื่อเครื่องบินทำการบินข้ามในระดับปกติ การเล็งดักให้กระทำทางด้านหัวเครื่องบินในทิศทางบินเพื่อให้เครื่องบินและหัวกระสุนบรรจบพบกัน ณ จุดที่กำหนดให้

ข) เฮลิคอปเตอร์ ขณะที่ทำการบินปกติ การเล็งดักประมาณ ๑ ช่วงความยาวตัวเครื่อง เมื่อฮ.ลงสู่พื้น ความเร็วจะต่ำกว่าเครื่องบิน ให้เล็งยิงตรง ๆ ณ ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของ ฮ.

ค) ระยะการเล็งดัก

๑) ระยะ ๒๐๐ เมตร สำหรับ ฮ.เล็งดัก ๑ ช่วงความยาว

บ.เล็งดัก ๓.๕ ช่วงความยาว

๒) ระยะ ๒๕๐ เมตร สำหรับ ฮ.เล็งดัก ๑ ช่วงความยาว

บ.เล็งดัก ๔.๕ ช่วงความยาว

๓) ระยะ ๓๐๐ เมตร สำหรับ ฮ.เล็งดัก ๑.๕ ช่วงความยาว

บ.เล็งดัก ๕.๕ ช่วงความยาว

๔) ระยะ ๔๐๐ เมตร สำหรับ ฮ.เล็งดัก ๒ ช่วงความยาว

บ.เล็งดัก ๗ ช่วงความยาว

๕) ระยะ ๔๖๐ เมตร สำหรับ ฮ.เล็งดัก ๒ ช่วงความยาว

บ.เล็งดัก ๘.๕ ช่วงความยาว