ตอนที่ ๒ อาวุธศึกษาปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว 

ตอนที่ ๒ อาวุธศึกษาปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว

 

ก. ลักษณะทั่วไป

           ปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว เป็นอาวุธแบบกึ่งอัตโนมัติ ทำงานด้วยแก๊ส  และป้อนกระสุนด้วยซองกระสุนชนิดบรรจุ ๒๐ นัด ปืนชี้ที่หมายนี้จะใช้เป็นเครื่องช่วยพลยิงในเรื่องการหาระยะยิงและการหาระยะดักไปยังเป้าหมาย และปืนนี้จะติดตั้งอยู่บนปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.โดยยึดไว้ด้วยโครงยึดลำกล้องปืนอันหน้าและหลัง

ข. รายการน้ำหนัก ขนาด และลักษณะทางขีปนะวิธี

           ๑. น้ำหนัก

                  - น้ำหนักไม่รวมซองกระสุน  ------------------------------------------------  ๒๕ ปอนด์

                  - ซองกระสุนบรรจุกระสุนได้  -----------------------------------------------  ๒๐ นัด

                  - น้ำหนักของกระสุนบรรจุเต็ม  --------------------------------------------  ๑๐ ปอนด์

           ๒. ขนาด

                  - ปืนทั้งกระบอกยาว  -------------------------------------------------------  ๔๔ นิ้ว

                  - ลำกล้องยาว  --------------------------------------------------------------  ๓๒ นิ้ว

           ๓. ลักษณะทางขีปนะวิธี

                  - ระยะยิงไกลสุด  -------------------------------------------------------  ๓,๑๐๐ เมตร

                  - ระยะการส่องวิถี  ------------------------------------------------------  ๑,๕๐๐ เมตร

                  - ความเร็วต้น  ----------------------------------------------------------  ๑,๓๐๐ ฟุต/วินาที


การถอดและการประกอบ

ก. กล่าวทั่วไป

           ๑. ประเภทของการถอดประกอบ การถอดประกอบแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ การถอดประกอบปกติ และการถอดประกอบพิเศษ

                  ก) การถอดประกอบปกติ คือการถอดประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายในห้องลูกเลื่อนทั้งหมด เพื่อความมุ่งหมายในการบำรุงรักษาและการทำความสะอาด ซึ่งตามปกติแล้วพลประจำปืนทุกคนสามารถทำการถอดประกอบได้โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม

                  ข) การถอดประกอบพิเศษ คือการถอดประกอบเครื่องควบคุมการลั่นไกและชิ้นส่วนต่าง ๆ ของกระบอกสูบ การถอดประกอบพิเศษดังกล่าวนี้ ให้ถอดเฉพาะเมื่อประสงค์จะทำความสะอาดอย่างละเอียดเท่านั้นพลประจำปืนจะถอดประกอบได้ก็ต่อเมื่อได้กระทำอยู่ภายใต้การควบคุมของนายทหารสัญญาบัตรหรือนายสิบช่างอาวุธของหน่วย

           ๒. เครื่องมือถอดประกอบ  ในการถอดและการประกอบปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว คงใช้แต่เพียงเครื่องมือรวม เอ็ม.๘ (กุญแจปรับปืนชี้ที่หมาย) อย่างเดียวเท่านั้น  ก็สามารถทำการถอดและประกอบอาวุธได้โดยตลอด

ข. การถอดประกอบปกติ

           ในการถอดประกอบปกติสำหรับปืนชี้ที่หมายขนาด ๐.๕๐ นิ้วนั้น คงมีการถอดและการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้คือ

           ๑. การถอด รูปการถอดชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปืนชี้ที่หมายขนาด ๐.๕๐ นิ้ว ให้กระทำไปตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้คือ

                  ก) การถอดซองกระสุน ให้กดกระเดื่องยึดซองกระสุนไปข้างหน้าจนสุด แล้วดึงเอาซองกระสุนออกมาจากช่องบรรจุซองกระสุน

                  ข) การถอดแกนแหนบส่งลูกเลื่อนและแหนบส่งลูกเลื่อน ให้กดและหมุนหมุดยึดแกนแหนบส่งลูกเลื่อนทั้งสองตัวไปจนกว่ารอยบากที่หัวหมุดของหมุดทั้งสองตัว จะไปอยู่เป็นแนวเดียวกันกับช่องบากทั้งสองช่องซึ่งอยู่บนแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อน เสร็จแล้วให้ดึงเอาแกนแหนบส่งลูกเลื่อนและแหนบส่งลูกเลื่อนออกมาตามลำดับ

                  ค) การถอดแกนแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อน ให้ดึงปุ่มยึดแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนออกมา แล้วหมุนแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา จนกว่าสันเกลียวของแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนจะหลุดพ้นออกมาจากห้องลูกเลื่อน แล้วจึงถอดเอาแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนออกมา

                  ง) การถอดคันรั้งลูกเลื่อน ให้จับที่คันรั้งลูกเลื่อนแล้วดึงมาข้างหลังจนสุด ต่อจากนั้นให้ดันคันรั้งลูกเลื่อนกลับไปข้างหน้า จนกว่าครีบของคันรั้งลูกเลื่อนจะไปอยู่เป็นแนวเดียวกับช่องบากหน้าที่อยู่ในโครงลูกเลื่อนนั้น แล้วจึงถอดเอาคันรั้งลูกเลื่อนออกมา

                  จ) การถอดโครงลูกเลื่อน ให้ทำการถอดโครงลูกเลื่อนโดยการดันโครงลูกเลื่อนไปทางข้างหลังในขณะที่โครงลูกเลื่อนจะเลื่อนหลุดออกมาจากห้องลูกเลื่อนนั้น ให้ใช้มือคอยจับโครงลูกเลื่อนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เหล็กนำลูกเลื่อนทั้งสองตัวตกหายไป

                  ฉ) การถอดเหล็กนำลูกเลื่อน ให้จับเหล็กนำลูกเลื่อนทั้งสองตัว (ซ้ายและขวา) แล้วถอดออกมาจากโครงนำลูกเลื่อนเฉย ๆ

                  ช) การถอดแท่งลูกเลื่อน ให้ใช้มือข้างหนึ่งถือโครงลูกเลื่อนไว้ในลักษณะที่หันเอาด้านลูกเลื่อนขึ้นทางข้างบน แล้วจึงใช้มืออีกข้างหนึ่งถอดเอาแท่งลูกเลื่อนออก โดยการจับแท่งลูกเลื่อนยกให้สูงขึ้นมาทางข้างบนและในขณะเดียวกันนั้นก็ให้ดึงเอาแท่งลูกเลื่อนออกทางทางข้างหลังจนกว่าแท่งลูกเลื่อนจะหลุดออกมาจากโครงลูกเลื่อน

                  ซ) การถอดขอยึดเข็มแทงชนวนและเข็มแทงชนวน ให้ใช้มือหยิบเอาขอยึดเข็มแทงชนวนและเข็มแทงชนวนออกมาจากแท่งลูกเลื่อนเฉย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย

           ๒. การประกอบ การประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปืนชี้ที่หมาย .๕๐ นิ้ว ให้กระทำไปตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้คือ

                  ก) การประกอบขอยึดเข็มแทงชนวนและเข็มแทงชนวน ให้ใช้มือหยิบเอาเข็มแทงชนวนขึ้นมา แล้วใส่คืนลงไปในแท่งลูกเลื่อน โดยจะต้องจัดให้รูของขอยึดเข็มแทงชนวนที่อยู่ในเข็มแทงชนวนอยู่ตรงกับรูของขอยึดเข็มแทงชนวนที่อยู่ในแท่งลูกเลื่อน ต่อจากนั้นจึงหยิบเอาขอยึดเข็มแทงชนวนขึ้นมา แล้วใส่คืนลงไปในที่ของมันโดยการเอาทางด้านปลายเล็กใส่ลงไปก่อน และจัดให้บ่าของขอยึดเข็มแทงชนวนอยู่ทางข้างหลัง

คำเตือน

           ในการประกอบเข็มแทงชนวนเข้าไปในแท่งลูกเลื่อนนั้น จะต้องตรวจดูให้เป็นที่แน่ใจเสียก่อนว่า ได้ใส่ขอยึดเข็มแทงชนวนไว้ในช่องของมันอย่างเรียบร้อยแล้ว จึงจะนำแท่งลูกเลื่อนไปประกอบเข้ากับโครงลูกเลื่อนในขั้นต่อไป ถ้าหากว่าขอยึดเข็มแทงชนวนไม่ได้อยู่ในช่องของมันอย่างถูกต้องแล้ว จะทำให้การยิงกระทำไปในลักษณะที่แท่งลูกเลื่อนขัดกลอนไม่สนิท ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้หน่วยทหารฝ่ายเดียวกันเป็นอันตราย

                  ข) การประกอบแท่งลูกเลื่อน ให้ทำการประกอบแท่งลูกเลื่อนเข้าไปในโครงลูกเลื่อน โดยใช้มือข้างหนึ่งถือโครงลูกเลื่อนไว้ในลักษณะที่หันเอาทางที่จะใส่ลูกเลื่อนขึ้นข้างบน ต่อจากนั้นจึงใช้มือข้างหนึ่งหยิบเอาแท่งลูกเลื่อนขึ้นมา แล้วใส่คืนเข้าไปในโครงลูกเลื่อน ด้วยการวางลงไปเฉย ๆ

                  ค) การประกอบเหล็กนำลูกเลื่อน ให้ทำการประกอบเหล็กนำลูกเลื่อนเข้าไปในโครงลูกเลื่อน โดยการนำเอาเหล็กนำลูกเลื่อนทั้งสองตัวใส่เข้าไปในที่เดิมของมันที่โครงลูกเลื่อน (เหล็กนำลูกเลื่อนทั้งสองตัวนี้สามารถที่จะเปลี่ยนที่กันได้)

                  ง) การประกอบโครงลูกเลื่อน ให้ทำการประกอบโครงลูกเลื่อนเข้าไปในห้องลูกเลื่อน โดยการนำเอาโครงลูกเลื่อนใส่เข้าไปในห้องลูกเลื่อนตรง ๆ แล้วดันไปข้างหน้าให้เข้าที่เดิม

                  จ) การประกอบคันรั้งลูกเลื่อน ให้ทำการประกอบคันรั้งลูกเลื่อนเข้าไปในช่องของโครงลูกเลื่อนโดยการหยิบเอาคันรั้งลูกเลื่อนขึ้นมา แล้วใส่เข้าไปตรงช่องบากหน้าของโครงลูกเลื่อน ต่อจากนั้นจึงกดแผ่นคันรั้งลูกเลื่อนให้จมเข้าไปข้างใน แล้วจึงจับคันรั้งลูกเลื่อนให้เลื่อนถอยมาข้างหลังจนกว่าครีบของคันรั้งลูกเลื่อนจะเข้าไปอยู่ในช่องของโครงลูกเลื่อน

                  ฉ) การประกอบแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อน ให้ทำการประกอบแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนเข้ากับท้ายห้องลูกเลื่อน โดยการดึงปุ่มยึดแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนออกมา แล้วจับให้สันเกลียวของแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนซึ่งอยู่บนแผ่นปิดท้ายของห้องลูกเลื่อนมาอยู่ในแนวเดียวกันกับช่องว่างบนสันเกลียวของห้องลูกเลื่อน ต่อจากนั้นให้หมุนแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนไปจนกว่าสันเกลียว ของแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนจะไปติดกับสันเกลียวของห้องลูกเลื่อนซึ่งอยู่บนห้องลูกเลื่อนนั้น เสร็จแล้วให้ปล่อยให้ปุ่มยึดแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนให้เลื่อนกลับไปเข้าที่เดิมในลักษณะที่ให้ปุ่มยึดแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนเข้าไปฝังตัวอยู่ในรอยบากของแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนตามเดิม

                  ช) การประกอบแกนแหนบส่งลูกเลื่อนและแหนบส่งลูกเลื่อน ให้ทำการประกอบแกนแหนบส่งลูกเลื่อนและแหนบส่งลูกเลื่อน เข้ากับแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อน โดยการดึงลูกเลื่อนให้เคลื่อนที่มาข้างหลังจนสุด แล้วนำเอาแกนแหนบส่งลูกเลื่อนและแหนบส่งลูกเลื่อนใส่คืนเข้าไปในช่องของมันที่อยู่ในแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อน แล้วดันให้แกนแหนบและแหนบส่งลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าให้มากที่สุดเท่าที่สามารถกระทำได้ ต่อจากนั้นจึงค่อย ๆปล่อยให้แท่งลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าช้า ๆ จนสุด แล้วจึงใส่หมุดยึดแกนแหนบส่งลูกเลื่อนทั้งสองตัวโดยการหมุนที่หัวหมุด จนกว่าหมุดนั้นจะเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในช่องของมันที่อยู่ในแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนจนสุด

                  ซ) การประกอบซองกระสุน ให้ทำการประกอบซองกระสุนเข้าไปในช่องบรรจุซองกระสุนของปืนโดยใช้นิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่งกดที่กระเดื่องยึดซองกระสุนไปในทิศทางข้างหน้าของปืน แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งหยิบเอาซองกระสุนสอดเข้าไปในช่องบรรจุซองกระสุนจนสุด แล้วจึงเลิกกดที่กระเดื่องยึดซองกระสุน เพื่อปล่อยให้กระเดื่องยึดซองกระสุน ยึดซองกระสุนให้ติดแน่นอยู่กับช่องบรรจุซองกระสุนโดยอัตโนมัติ

ค. การถอดประกอบพิเศษ

           ในการถอดประกอบพิเศษ สำหรับปืนชี้ที่หมายขนาด ๐.๐๕ นิ้ว คงมีการถอดประกอบเฉพาะกระบอกสูบเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นชิ้นส่วนประกอบในการทำงานของแก๊ส ที่อาจจะเกิดความสกปรกในระหว่างทำการยิงได้จึงจำเป็นต้องมีการถอดประกอบเพื่อทำความสะอาดในบางโอกาส

           ๑. การถอดกระบอกสูบ ให้ทำไปตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้คือ

                  ก) ให้คลายควงผีเสื้อหมุดเกลียวจัดแก๊สออกให้หมดเสียก่อน แล้วจึงใช้เหล็กไขควงคลายเกลียวของหมุดเกลียวจัดแก๊สออกจนหมด ต่อจากนั้นจึงถอดเอาหมุดเกลียวจัดแก๊สออกจากแท่นกระบอกสูบ

                  ข) ให้หมุนกระบอกสูบไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาครึ่ง แล้วจึงถอดกระบอกสูบออกมา โดยการดึงเอากระบอกสูบออกไปทางปากลำกล้องปืน

                  ค) ให้ดึง หรือ ดัน ก้านสูบให้ห่างออกจากแท่นกระบอกสูง ให้มีระยะห่างมากพอที่จะทำความสะอาดลูกสูบได้

           ๒. การประกอบกระบอกสูบ ให้กระทำไปตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้คือ

                  ก) ให้ตรวจดูเสียก่อนว่าถ้าแหนบก้านสูบอยู่ห่างจากจุดแหนบก้านสูบ จะต้องใช้ปลายเหล็กไขควงขนาดเล็กจัดให้เข้าที่เสียก่อนเสมอ

                  ข) ให้นำกระบอกสูบใส่คืนเข้าที่เดิมแล้วดึงกระบอกสูบให้แน่น โดยการจับกระบอกสูบไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกาครึ่งรอบ

                  ค) ให้เอาควงผีเสื้อหมุดเกลียวจัดแก๊สจนแน่นสนิทดีเสียก่อน แล้วจึงเอาทั้งหมุดเกลียวและควงผีเสื้อขันลงไปในช่องของแท่นกระบอกสูบจนแน่นขนาดใช้นิ้วบิดต่อไปไม่ได้อีกแล้ว จึงหมุนคลายเกลียวออกไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาครึ่งรอบแล้ว จึงตรึงหมุดเกลียวจัดแก๊สให้แน่นด้วยการขันที่ควงผีเสื้อให้แน่น

         สำหรับปืนชี้ที่หมายบางกระบอกอาจจะหมุนคลายเกลียวออกครึ่งรอบแล้วยังไม่พอก็ได้เพราะว่ายังจัดแก๊สไม่ได้เพียงพอ สิ่งบอกเหตุที่จะแสดงให้ทราบว่าการจัดแก๊สยังไม่พอเพียงก็คือ กระสุนนัดต่อไปจะไม่ป้อนออกมาจากซองกระสุน หรือเมื่อยิงกระสุนออกไปแล้วปืนจะไม่คัดปลอกกระสุนออกมาจากรังเพลิง ส่วนสิ่งบอกเหตุที่จะแสดงให้ทราบว่ามีแก๊สมากเกินไปนั้นก็คือ ในการป้อนกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิง หัวของลูกกระสุนจะไปปะทะกับผนังทางด้านหน้าของห้องลูกเลื่อนหรือมิฉะนั้นก็จะป้อนกระสุนนัดใหม่แรงเกินไป จนเป็นเหตุให้ปากซองกระสุนฉีกขาดได้ จากสาเหตุทั้งสองประการซึ่งได้แก่แก๊สไม่พอและแก็สมากเกินไปดังกล่าวนี้ สาเหตุเพราะแก๊สไม่พอจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีแก๊สไม่พอหรือแก๊สมากเกินไปก็ตาม จะต้องทำการปรับแก๊สให้อยู่ในสภาพพอดี โดยยึดถือเป็นหลักปฏิบัติดังนี้ ถ้าแก๊สไม่พอหรือประสงค์จะเพิ่มจำนวนแก๊สให้มากขึ้น ให้หมุนคลายควงผีเสื้อออกให้หลวมเสียก่อน แล้วจึงใช้ปลายเหล็กไขควงหมุดเกลียวจัดแก๊สไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ต่อจากนั้นจึงขันควงผีเสื้อให้แน่นตามเดิม ถ้ามีแก๊สมากเกินไป หรือประสงค์จะลดจำนวนแก๊สลง ก็คงปฏิบัติในลักษณะการเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว  แต่ว่าให้ใช้ปลายเหล็กไขควงหมุนหมุดเกลียวจัดแก๊สไปในในทิศทางตามเข็มนาฬิกา