ข้อจำกัดและข้อระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย

ขีดจำกัดและข้อระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย

 

กล่าวทั่วไป

              เพื่อให้ทราบข้อจำกัดจนสามารถจดจำ, การตรวจ และระเบียบปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ เครื่องยิงจรวดนำวิถีต่อสู้รถถังโทว์

ก. การระมัดระวังเปลวเพลิงทางท้ายลำกล้อง

              ๑. เนื่องจากเปลวเพลิงที่พ่นออกท้ายลำกล้องของอาวุธไร้แรงสะท้อนถอยหลัง อาจทำอันตรายต่อทหาร ได้ ดังนั้นจึงต้องฝึกให้พลประจำอาวุธควรระมัดระวังอย่างรอบคอบในทุกขั้นตอนของการฝึก ต้องย้ำให้ผู้รับการ ฝึกทราบถึงอันตรายที่เกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนในการฝึก ทั้งการฝึกพลประจำอาวุธ, การตั้งเล็ง, การฝึกเล็งเกาะ เป้าหมาย และฝึกยิงโดยใช้จรวดเทียมเช่นเดียวกับการใช้จรวดจริง

              ๒. เปลวเพลิงที่เกิดจากการยิงจรวดโทว์ จะพ่นออกไปทางท้ายของท่อจรวดเป็นระยะถึง ๗๕ เมตร และแผ่ออกเป็นมุมกว้าง ๙๐ องศา บริเวณพื้นที่ด้านหลังของที่ตั้งยิง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ ย่าน คือ ย่าน อันตราย และย่านที่ต้องระมัดระวัง ย่านอันตรายจะอยู่ในพื้นที่จากท้ายท่อจรวดออกมาถึงระยะ ๕๐ เมตร ในย่านพื้นที่เปลวเพลิงอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส หรือทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากเปลวเพลิงเองหรือเศษ วัตถุที่ถูกผลักดันให้กระเด็นออกมาในย่านบริเวณที่ต้องระมัดระวังหมายถึงหากไม่หันหน้าเข้าหาทางด้านท้ายของท่อจรวดแล้วจะไม่ได้รับอันตราย คือบริเวณพื้นที่ถัดจากย่านอันตรายออกมาอีกระยะ ๒๕ เมตร ในการฝึกจะต้องห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในย่านนี้

              ๓. เครื่องยิงจรวดโทว์ ก็เหมือนกับอาวุธชนิดอื่นโดยทั่วไปที่มีเปลวเพลิงพ่นออกจากท้ายลำกล้อง การใช้ตั้งยิงในพื้นที่มีสิ่งปลูกสร้าง จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ จรวดโทว์ไม่สามารถทำการยิงในอาคารที่ปิดทึบ หรือไม่มีช่องถ่ายเทอากาศได้ อย่างไรก็ตาม ยังอาจตั้งยิงในอาคารได้ตามข้อจำกัดดังต่อไปนี้

                     ก) อาคารที่มีโครงสร้างแข็งแรง (ก่ออิฐถือปูนหรือโครงเหล็ก)

                     ข) เพดานต้องสูงอย่างน้อย ๗ ฟุต

                     ค) พื้นอาคารต้องมีขนาดกว้างยาว ๑๗ - ๒๔ ฟุต

                           ง) ต้องมีช่องระบายอากาศอย่างน้อยเป็นพื้นที่ขนาด ๒๐ ตารางฟุต (ด้านเปิดโล่งของห้อง)

หมายเหตุ ต้องประกันได้ว่าพลประจำอาวุธสามารถคำนวณพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ประตูขนาด๓ x ๗ ฟุต เป็นพื้นที่เท่ากับ ๒๑ ตารางฟุต

                     จ) ต้องถอดกระจกออกจากประตูหน้าต่างให้หมด

                           ฉ) ต้องไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดอยู่ในบริเวณที่เปลวเพลิงจะพ่นออกไปทางท้าย ภายในห้องที่ตั้งยิง

                     ช) พลประจำรถทุกนาย ต้องสวมเครื่องอุดหู หรือเครื่องป้องกัน

                     ซ) ปากท่อยิงจรวดต้องโผล่เลยช่องยิงออกไปข้างนอกอย่างน้อย ๙ ๑/๒ นิ้ว

              ๔. ที่ตั้งยิงของอาวุธธรรมดาโดยทั่วไป ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นที่ตั้งยิงจรวดโทว์ ทึ่ตั้งยิงที่มีสิ่งกีดขวางอยู่ใกล้ท้ายท่อยิงจรวด ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นที่ตั้งยิง เนื่องจากสิ่งกีดขวางนั้นอาจทำให้เปลวเพลิงสะท้อนกลับไปทำอันตรายต่อพลประจำอาวุธได้ ที่ตั้งยิงที่เหมาะสมที่สุดต้องมีพื้นที่ทางด้านหลังเป็นที่โล่งแจ้ง หรือเกือบโล่งแจ้ง ไม่มีสิ่งกีดขวางอยู่ด้านหลัง หากตั้งยิงบนยานยนต์ควรมีที่กำบังยานยนต์ด้วย

              ๕. ห้ามยิงจรวดโทว์ผ่านสายไฟที่มีกระแสไฟ หรือพุ่มไม้ หรือกองไฟ หรือบริเวณที่มีสิ่งใดยื่นออกมาหรือ สิ่งกีดขวาง ซึ่งจะเป็นผลกระทบกระเทือนต่อการบังคับนำวิถี โดยทำให้เส้นลวดบังคับนำวิถีขาดและชำรุดได้

              ๖. ห้ามมิให้หน่วยทหารฝ่ายเดียวกันอยู่ด้านหน้าที่ตั้งยิง

ข. ข้อควรระวัง

              ๑. การปฏิบัติต่อท่อจรวด, การปฏิบัติด้วยความขาดการระมัดระวังต่อท่อจรวด อาจทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ เกิดการชำรุดเสียหาย หรือทำงานผิดพลาดในขณะใช้ทำการยิง หากท่อจรวดพลัดตกอาจทำให้ที่จับทางด้านท้ายท่อจรวดชำรุด หรือท่อจรวดบุบสลายผิดรูป หรือแตกได้ หากมีเหตุเชื่อได้ว่าลูกจรวดเกิดชำรุด หรือ เห็นได้ชัดว่าท่อจรวดบุบสลายผิดปกติ หรือรอยแตก (นอกจากที่ด้านท้ายท่อผิดรูปไปเพียงเล็กน้อย) ให้นำท่อจรวดส่งคืนหน่วยผู้รับผิดชอบเพื่อทำการตรวจสภาพทันที

              ๒. การป้องกันหู การใช้เครื่องป้องกันหูไม่ถูกต้องขณะทำการยิงจรวด อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเกี่ยว กับหูอย่างรุนแรง ฉะนั้นพลประจำอาวุธทุกนายต้องใช้เครื่องป้องกันหูอย่างถูกต้อง

              ๓. ต้องระมัดระวังในการเล็ง และการตรวจการณ์ การมองผ่านกล้องเล็งตรงไปยังดวงอาทิตย์หรือ ไฟฉาย อาจทำให้เกิดอันตรายอย่างสาหัสกับนัยตาผู้เล็ง ดังนั้นจึงห้ามมองผ่านกล้องเล็งตรงไปยังดวงอาทิตย์ หรือไฟฉาย

              ๔. มุมยิงที่จำกัด เนื่องจากเครื่องให้ทิศทางไม่จำกัดการส่าย จึงสามารถส่ายเครื่องยิงเพื่อเล็งเกาะเป้าหมายได้ตลอด ๓๖๐ องศา แต่เครื่องให้ความสูงมีขีดจำกัดในการให้ทางสูง สามารถกดลงได้เพียง ๒๐ องศา ต่ำจากแนวระดับ และยกได้ ๓๐ องศา จากแนวระดับ ฉะนั้นก่อนยิงจรวดจะต้องประมาณมุมยิงประกอบ กับระยะเวลาแล่นของลูกจรวด เมื่อทำการยิง อาจต้องเปลี่ยนที่ตั้งยิงจรวด หรือเลือกเป้าหมายที่จะทำการยิง ไว้หลายเป้าหมาย เมื่อมุมยิงจำกัด

หมายเหตุ

              เมื่อมุมยิงมากกว่า ๒๐ องศา เหนือพื้นระดับ แรงผลักดันของเปลวเพลิงและเศษวัสดุที่ถูกผลักดัน ด้วยเปลวเพลิงที่พ่นออกทางท้าย อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่พลประจำอาวุธได้ ฉะนั้นจึงห้ามยิงด้วยมุมยิงเกิน ๒๐ องศา ข้อจำกัดนี้ใช้เมื่อตั้งยิงบนรถ รสพ.เอ็ม.๑๑๓, รถ เอ็ม.๑๕๑ และรถ เอ็ม.๒๗๔ ด้วย

              ความมุ่งหมายชั้นที่ ๒ ของการฝึก นักเรียนต้องระลึกและจดจำข้อกำหนดพิเศษในการยิงจรวดโทว์ และ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อความแม่นยำในการยิง และความเชื่อมั่นในอาวุธ

  

ค. ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาการใช้จรวดนำวิถีต่อสู้รถถังโทว์

              ๑. การยิงข้ามพื้นผิวน้ำ โดยปกติความชื้นจะไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการยิงจรวดโทว์  แต่การยิง จรวดโทว์ข้ามบริเวณพื้นน้ำเป็นบริเวณกว้าง ระยะยิงที่คาดคะเนไว้ในการยิงจะลดหรือผิดพลาดลงประมาณ ครึ่งหนึ่งของระยะยิง เนื่องจากสัญญาณกระแสคลื่นไฟฟ้าลัดวงจรระหว่างเส้นลวด เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดในการบังคับนำวิถีจากสัญญาณที่ส่งออกจากเครื่องยิง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ลูกจรวดเคลื่อนที่ผิดพลาดไป หรืออาจตก กระทบพื้นก่อนถึงเป้าหมาย ปกติเส้นลวดนำวิถีได้เคลือบไว้ด้วยน้ำยาฉนวนแลคเกอร์แล้ว แต่ไม่สามารถป้องกัน น้ำได้นานกว่า ๙ วินาที หากแช่อยู่ในน้ำดังที่กล่าวแล้ว เวลา ๙ วินาทีแรกที่จรวดวิ่งผ่านพื้นผิวน้ำ จรวดจะแล่น ไปได้เป็นระยะทางเพียง ๑,๕๐๐ - ๑,๘๐๐ เมตร

              ๒. การยิงข้ามสายไฟ  เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากกระแสไฟฟ้า หรือทำให้ระบบบังคับ นำวิถีเกิดชำรุด จึงห้ามยิงข้ามสายส่งกระแสไฟฟ้า

              ๓. มาตรการป้องกันการต่อต้านจรวดโทว์ ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อต่อต้านจรวดโทว์ นับว่ามีความยุ่งยากมาก กระทำได้ยาก การบังคับนำวิถีจรวดโทว์ใช้บังคับผ่าน เส้นลวด จึงทำให้เกิดความปลอดภัยมาก สำหรับการขัดขวางและรบกวนระบบเครื่องรับอินฟราเรดอาจกระทำ ได้แต่ต้องใช้เครื่องอินฟราเรดที่มีย่านความถี่ตรงกัน ส่งตรงเข้าหาในย่านการรับความถี่ของเครื่องเล็งจริง ๆ

              ๔. ระยะห่างระหว่างที่ตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง ที่ตั้งจรวดโทว์ต้องให้ห่างกันไม่น้อยกว่า ๓๐๐ เมตร เพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายร่วมกันจากการยิงของตอนปืนใหญ่ ถ้าสถานการณ์บังคับให้ต้องตั้งยิงห่างกันน้อยกว่า ๓๐๐ เมตร ให้ตั้งห่างกันไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร เพื่อป้องกันมิให้เครื่องเล็งของจรวดโทว์เครื่องหนึ่งไปเล็งเกาะลูก จรวดอีกเครื่องหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ถึงแม้จะมีการบังคับไกลก็ต้องพิจารณาปัญหานี้ด้วยเช่นเดียวกัน

              ๕. ระยะห่างพื้นดินของระบบอาวุธจรวดโทว์ การยิงจรวดโทว์  ลูกจรวดมิได้เคลื่อนที่เป็นเส้นตรงใน แนวเส้นเล็ง การเลือกที่ตั้งยิงจึงต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดอีก ๒ ประการคือ ประการแรกส่วนล่างสุดของท่อยิง จรวดต้องอยู่สูงจากพื้นดินอย่างน้อย ๙ นิ้ว ประการที่สอง แนวเส้นเล็งต้องอยู่เหนือที่กำบังหรือสิ่งกีดขวางข้าง หน้าตามแนวเส้นเล็งขึ้นไปอย่างน้อย ๒๖ นิ้ว ตั้งแต่ระยะ ๕๐๐ เมตรถึง ๙๐๐ เมตร จากที่ตั้งยิง

              ๖. ผลเนื่องจากลมพายุหรือกระแสลมที่มีความเร็วกว่า ๑๕ น๊อต ที่พัดทางข้างหรือตัดเฉียงกับทิศทางยิงอาจเป็นอุปสรรคในการเล็งเกาะเป้าหมายของพลยิง เพื่อขจัดปัญหาเนื่องจากลม ให้เลือกที่ตั้งยิงให้สามารถยิงทวนลมหรือตามลมได้  หากสามารถกระทำได้ให้หลีกเลี่ยงการเล็งเกาะเป้าหมายในทิศทางที่มีลมพัดเฉียงกับทิศ ทางยิง เพราะจะทำให้ท่อยิงจรวด หรือระบบอาวุธทั้งระบบสั่นสะเทือนเนื่องจากลมได้

              ๗. อุณหภูมิ ห้ามใช้ระบบอาวุธโทว์ทำการยิงเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า -๓๒ องศาเซลเซียส  ( -๒๕  องศาฟา เรนไฮด์) หรือเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า ๖๐ องศาเซลเซียส (๑๔๐ องศาฟาเรนไฮด์)