ตอนที่ ๔ การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด

ตอนที่ ๔ การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด

 

           ๑. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด ปรส.๑๐๖ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือซึ่งได้ระบุไว้ตามขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้อาวุธชำรุดเสียหายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จงระมัดระวังดูแลและรักษาอาวุธ  และปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ โดยเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการ

           ๒. ในขณะที่ทำการเคลื่อนย้ายหรือเมื่อทำการยิง ต้องหมั่นตรวจสภาพและทำความสะอาดตลอดเวลาเมื่อมีโอกาส โดยเฉพาะที่รังเพลิงและเครื่องปิดท้าย ขจัดฝุ่น ผง และสิ่งสกปรกอื่น ๆ ตามร่องเกลียวหรือชิ้นส่วนของเครื่องปิดท้าย เมื่อตรวจพบเขม่าดินส่งกระสุน ฝุ่น ผง ความชื้นปรากฏอยู่ตามชิ้นส่วนต่าง ๆ จงทำความสะอาด เพื่อขจัดสนิมซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายหลังด้วยผ้าแห้งเช็ดถูให้สะอาดและชโลมน้ำมัน

                  - จงใช้ถุงผ้าใบสำหรับคลุมปืนคลุมไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันความชื้นแก่ชิ้นส่วนที่เป็นโลหะ

                  - ทุกสัปดาห์เอาถุงผ้าใบคลุมปืนออก ทำความสะอาดชิ้นส่วนต่าง ๆ และชโลมน้ำมันในชิ้นส่วนที่ชโลม

                  - การทำความสะอาดถุงผ้าใบคลุมปืนและฝาครอบต่าง ๆ นำไปตากแดดให้แห้ง หรือชำระล้างเมื่อสกปรก

                  - ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปืน ห้ามทาสี เช็ดแห้ง ชโลมน้ำมัน

           ๓. ห้ามใช้น้ำหรือไอน้ำฉีดล้างชิ้นส่วนของปืน ถ้าจะใช้น้ำ ให้ใช้ฟองน้ำหรือเศษผ้าชุบน้ำเช็ดถูแล้วเช็ดแห้ง และชโลมน้ำมันบาง ๆ

           ๔. อาจใช้สีทาชิ้นส่วนภายนอกได้ตามความจำเป็น แต่ห้ามทาสีบริเวณที่เป็นแผ่นป้ายต่าง ๆ

           ๕. ใช้เครื่องมือควบประจำปืน ขันชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่หลวมคลอนให้แน่น

           ๖. ห้ามใช้ของมีคม หรือผิวหยาบกว่าผ้าทำการขัด ขูด เช็ดถู ชิ้นส่วนของปืนโดยเด็ดขาด

การบำรุงรักษา ให้ปฏิบัติตามข้อมูลดังต่อไปนี้

           ๑. การปฏิบัติก่อนการยิง ปรส.๑๐๖

                  - ถอดเครื่องปิดท้ายออกทำความสะอาดเช็ดแห้ง คราบเขม่าต่าง ๆ ชโลมน้ำมันทุกชิ้นส่วน รวมทั้งตรวจสอบสภาพของชิ้นส่วนให้อยู่ในสภาพปกติ

                  - ทำความสะอาดในลำกล้องและรังเพลิง เช็ดแห้ง

                  - ประกอบเครื่องปิดท้าย และเช็ดแห้งชิ้นส่วนภายนอกให้สะอาด

                  - ตรวจสอบการทำงานของเครื่องกลไกโดยถูกต้อง

                  - ตรวจกล้องเล็งให้ติดตั้งบนแท่นติดกล้องเล็ง โดยถูกต้องและมั่นคง

           ๒. การปฏิบัติก่อนการยิงต่อปืนชี้ที่หมาย

                  - ถอดปืนในขั้นปกติ เช็ดแห้งทุกชิ้นส่วน ตรวจสภาพของชิ้นส่วนทุกชิ้นส่วนให้อยู่ในสภาพปกติ

                  - ใช้ไขข้นทาตามร่องทางเดินคันรั้งโครงนำลูกเลื่อน และในร่องต่าง ๆ ของส่วนเคลื่อนที่ เพื่อให้การหล่อลื่น การใช้ไขข้นให้ใช้แต่น้อย

                  - ประกอบปืนและตรวจสภาพการทำงานของเครื่องกลไกโดยถูกต้อง

                  - ตรวจความถูกต้องของควงเกลียวปรับแก๊ส

                  -ทำความสะอาดซองกระสุน ตรวจสภาพปากซองกระสุน ตลอดจนชิ้นส่วนอื่นว่าทำงานถูกต้องหรือไม่

           ๓. ขณะทำการยิง ปรส.๑๐๖

                  - ตรวจภายในลำกล้องและรังเพลิงให้เกลียวสะอาด

                  - ตรวจดูเข็มแทงชนวนต้องสะอาด

           ๔. การปฏิบัติก่อนการยิงปืนชี้ที่หมาย

                  - ตรวจภายในลำกล้องและรังเพลิง ต้องเกลี้ยงและสะอาด

                  - ตรวจหน้าลูกเลื่อน รูเข็มแทงชนวน ไม่ให้มีสิ่งใดกีดขวางอยู่ในรูเข็มแทงชนวน

                  - ตรวจควงเกลียวปรับแก๊ส ขันแน่น และอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

           ๕. หลังการยิง

                  ทำความสะอาดโดยทันที ๑ ครั้ง และวันต่อ ๆ ไปวันละ ๑ ครั้ง เป็นเวลา ๓ วันติดต่อกัน หรือจนกว่าความชื้นภายในปืนจะหมดไป

อุปกรณ์ในการทำความสะอาดและวิธีใช้

           ๑. อุปกรณ์การทำความสะอาดสำหรับ ปรส.๑๐๖ และวิธีใช้ ใช้ดอกแส้ชุบน้ำมันล้างทำความสะอาดลำกล้อง เพื่อขจัดคราบเขม่าตามร่องเกลียวภายในลำกล้องตลอดจนรังเพลิง  อย่าใช้นำมันล้างทำความสะอาดลำกล้องในขณะที่ลำกล้องยังร้อนอยู่

                  - น้ำมันล้างลำกล้องจะกัดสนิมได้ดี เมื่อแช่ทิ้งไว้ ๒๔ - ๔๘ ชั่วโมง

                  - ถ้าปืนทำการยิงตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่ต้องแยงน้ำมันล้างออก จนกว่าจะทำการยิงใหม่

                  - ถ้าปืนไม่ได้ยิงติดต่อกันตลอด ๒๔ ชั่วโมง แยงน้ำมันล้างออกจนแห้งสนิท  และชโลมน้ำมันป้องกันสนิมไว้ กระทำอย่างนี้หลังจากปืนได้ทำการยิงมาแล้วทุกวันตลอด ๓ วัน

                  - ในวันที่ ๔ หลังจากยิงมาแล้ว เช็ดแห้งหมดและชโลมน้ำมันใหม่อีกครั้ง (ลำกล้องและรังเพลิง)

                  - ทุก ๆ วันที่ ๕ ทำความสะอาดด้วยน้ำมันล้างลำกล้อง แยงแห้ง ชโลมน้ำมัน

           ๒. น้ำมันชโลม (LUBRICATING OIL PRESERVATIVE)

                  - หลังจากเช็ดแห้งแล้ว ต้องชโลมชิ้นส่วนต่าง ๆ ด้วยน้ำมันชโลม

                  - น้ำมันชนิดนี้มีคุณสมบัติป้องกันสนิมและความชื้นได้ดี และสามารถให้การหล่อลื่นได้ด้วย

           ๓. สบู่

                  - ใช้สบู่ละลายน้ำตามอัตราส่วน ๑ ต่อ ๔ คือ สบู่ ๑ ปอนด์ ต่อน้ำ ๔ แกลลอน คนให้ละลายเป็นฟอง อาจจะต้องต้มน้ำให้อุ่นเพื่อช่วยให้ละลายสบู่ได้เร็วขึ้น ในสภาพอุณหภูมิต่ำกว่า ๓๒ องศาฟาเรนไฮด์ เมื่อใช้สบู่ทำความสะอาด จะต้องล้างออกให้หมด เพราะไขจะจับอยู่ตามร่องเกลียว

           ๔. น้ำร้อน

                  - ใช้ผ้าชุบน้ำร้อนเช็ดถูทำความสะอาดลำกล้องในขณะที่ลลำกล้องยังร้อนอยู่ เช็ดแห้งตลอดจนชโลมน้ำมันป้องกันสนิมไว้ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นวิธีชั่วคราว เพราะว่าเขม่าต่าง ๆ  อาจจะยังตกค้างอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นจะต้องทำความสะอาดให้ถูกต้องตามวิธีอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาส

รังเพลิงและเครื่องปิดท้าย กระทำตามกรรมวิธีและขั้นตอนการทำความสะอาดดังนี้

           - ทำความสะอาดในรังเพลิงและกรวยจัดแก๊ส โดยให้สอดผ้าเข้าไปเข็ดถูบริเวณภายในโดยทั่ว ๆ  ไปถอดเครื่องปิดท้ายออกทำความสะอาดชิ้นส่วนเคลื่อนที่ภายในเครื่องปิดท้ายแต่ละชิ้น โดยเช็ดแห้งและชโลมน้ำมันที่กรวยจัดแก๊ส ท้ายรังเพลิงใช้น้ำมันล้างชุบผ้าเช็ดคราบเขม่าให้สะอาดแห้ง ชโลมน้ำมันบาง ๆ

การทำความสะอาดปืนชี้ที่หมาย

           ทำการถอดขั้นปกติออกมาทำความสะอาดทุกชิ้นส่วน ขจัดคราบเขม่าทั้งภายในลำกล้อง ห้องลูกเลื่อนส่วนเคลื่อนที่ใช้น้ำมันล้างเช็ดแห้งและชโลมน้ำมัน ประกอบ

           หน่วยใช้ ปรส.๑๐๖ เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดขาหยั่ง เอ็ม.๗๙ โดยถูกหลักวิธี และปฏิบัติต่อขาหยั่งดังต่อไปนี้

           ๑. การทาสีบริเวณภายนอก

           ทำความสะอาดโดยทั่ว ๆ ไป ทาสีได้ตามความจำเป็น แต่ห้ามทาสีบริเวณที่เป็นแผ่นป้ายต่าง ๆเช่นแผ่นป้ายแนะนำวิธีใช้ แผ่นป้ายแสดงข้อระมัดระวังเป็นต้น นอกจากนั้นห้ามทาสีบริเวณจุดหมุนหรือส่วนเคลื่อนที่ได้ รวมทั้งจุดที่ต้องการหล่อลื่น เพราะสีจะทำให้เกิดการฝืดขึ้นได้

 

 

           ๒. การรักษาความสะอาดขาหยั่ง

           ขจัดสิ่งสกปรก ฝุ่น ผง หรือรอยขีดข่วนต่าง ๆ บริเวณนอกขาหยั่งโดยเฉพาะที่หัวขาหยั่ง เรือนขาหยั่ง จุดหมุนต่าง ๆ เรือนประแจควบคุมสายไก ช่องรับเดือยปืน คันยึดเดือยปืนต้องทำความสะอาด

           ๓. การหล่อลื่น

           อัดไขหล่อลื่นตามจุดต่าง ๆ สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ที่ชิ้นส่วนดังต่อไปนี้

                  ก) ควงเกลียวคันยึดเดือยปืน

                  ข) ควงยึดต่าง ๆ

                  ค) แกนขาหยั่งหลัง

                  ง) แกนหมุนล้อหมุนมุมทิศและมุมสูง

                  จ) แกนสลักกลอนยึดขาหยั่งหลัง

                  ฉ) หัวอัดไขทุก ๆ ที่

           ๔. การหยอดน้ำมันหล่อลื่น

                  ก) กระทำที่แกนหมุนมุมทิศ มุมสูง จุดสัมผัสต่าง ๆ

                  ข) ควงเกลียวต่าง ๆ

                  ค) ส่วนสัมผัสของแผ่นโลหะทุกส่วน

                         - ถ้าหากขาหยั่งถูกแก้ หลังจากได้ทำความสะอาดแล้ว จะต้องหยอดน้ำมันหล่อลื่นทุกครั้งตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้

           ๕. การใช้เครื่องมือทำความสะอาดขาหยั่ง ๗๙

                  ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วของ ปรส.๑๐๖ ทุกประการ

           ๖. การบำรุงรักษากล้องเล็ง ๙๒ ปฏิบัติดังนี้

                  ก) เมื่อไม่ใช้ให้เก็บขาหยั่งเข้าหีบให้เรียบร้อย

                  ข) เก็บกล้องเล็งและเครื่องมือต่าง ๆ ไว้ในที่แห้ง เมื่อหีบใส่กล้องเล็งเปียกชื้นห้ามเก็บกล้องเล็งไว้ในหีบ

                  ค) ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ โดยเคร่งครัด ห้ามหมุนควงยึดต่าง ๆ หรือชิ้นส่วนอื่น ๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

                  ง) ห้ามทาสีเครื่องเล็งทุก ๆ ชิ้น

                  จ) หยอดน้ำมันหล่อลื่นที่ชิ้นส่วนเคลื่อนที่ต่าง ๆ ของกล้องเล็งและหยอดกล้องเล็งด้วยน้ำมันเกรดบาง ๆ ๑ หรือ ๒ หยดเท่านั้น เป็นบางโอกาสทำความสะอาด ปัดฝุ่น ผงต่าง ๆ ซึ่งจับอยู่ตามซอกของส่วนกลไกภายนอก ด้วยแปรงขนอ่อน

                  - ห้ามหยอดน้ำมันใด ๆ ลงไปภายในกล้องเล็งหรือยางกันกระบอกตัวเป็นอันขาด

                  ฉ) เมื่อควงเกลียวต่าง ๆ ฝืดห้ามทำการไขบังคับเอาด้วยแรง

                  ช) ห้ามไม่ให้เลนส์ถูกแสงอาทิตย์โดยตรง

                  ซ) รักษาแว่นแก้วและเลนส์ให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ห้ามใช้น้ำยาขัดเงาหรือวัตถุผิวหยาบขัด หรือขัดเลนส์ให้ใช้แปรงขนอ่อนปัดและทำความสะอาด ห้ามนำแปรงชนิดอื่นมาทำความสะอาดเลนส์เป็นอันขาด

                  ฌ) ใช้เอทธิลแอลกอฮอล์ โดยใช้กระดาษเช็ดเลนส์ ชุบและเช็ดให้แห้ง เพื่อขจัดไขและน้ำมัน

                  ญ) เมื่อเลนส์ถูกอากาศชื้นจากภายนอก ควรนำลำกล้องเก็บไว้ในที่อบอุ่น ห้ามใช้ความร้อนต่อกล้องเล็งโดยตรง

           ๗. การระวังรักษาในสนาม

                  ก) การทำความสะอาดในสภาพอากาศหนาวจัด รักษาชิ้นส่วนเคลื่อนที่ต่าง ๆ ด้วยน้ำมันพิเศษและเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ให้เช็ดและล้างน้ำมันนี้ออก

                  ข) การทำความสะอาดในสภาพร้อนจัด เช็ดแห้งทุกชิ้นส่วนและชโลมน้ำมันเพียงบาง ๆ เท่าที่จำเป็น เท่านั้น

                  ค) การทำความสะอาดใต้สภาพภูมิประเทศที่เป็นทราย ฝุ่น ป้องกันฝุ่นทรายและละอองต่าง ๆด้วยการใช้ถุงผ้าใบคลุมปืน เพราะว่าฝุ่นละอองหรือทรายจะเข้าไปผสมกับน้ำมัน และจับอยู่ตามร่องครีบของส่วนเคลื่อนที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดความฝืดหรือเกิดการขัดข้องตลอดจนชำรุดเสียหายในที่สุด ในสภาพภูมิประเทศเช่นนี้เช็ดแห้งทุกชิ้นส่วนหยอดน้ำมันหล่อลื่นเพียงเล็กน้อยที่จำเป็นเท่านั้น และรักษาปืนให้สะอาดแห้ง ปราศจากความชื้นตลอดเวลา

                     ง) การรักษาและทำความสะอาดในสภาพอากาศชื้นและไอเค็ม ความชื้นและไอเค็มจากอากาศภายนอก ทำให้เกิดสนิมเร็วที่สุด ใช้น้ำมันป้องกันสนิมทุกชิ้นส่วนหนา ๆ และปฏิบัติต่อปืนเช่นเดียวกับการทำความสะอาดในสภาพอากาศร้อนทุกประการ