คุณลักษณะและหลักการทำงาน

ตอนที่ ๑ คุณลักษณะทั่วไป และหลักการทำงาน


ก. คุณลักษณะทั่วไป

           ๑. ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาด ๑๐๖ มม. ถือว่าเป็นปืนไร้แรงสะท้อนที่มีน้ำหนักเบา จัดเป็นอาวุธต่อสู้รถถังขนาดกลาง ซึ่งได้ออกแบบสร้างขึ้นให้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในบทบาทของการต่อสู้รถถังและสังหารบุคคล ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาด ๑๐๖ มม.เป็นปืนไร้แรงสะท้อนที่บรรจุกระสุนทางท้ายลำกล้อง และทำการยิงได้ที่ละนัด โดยมีเครื่องปิดท้ายลำกล้อง ที่ต้องปิดเปิดด้วยมือ และเป็นปืนชนิดที่ทำการยิงด้วยเครื่องลั่นไกแบบใช้เข็มแทงชนวนกระทบต่อจอกกระทบแตกที่ท้ายปลอกกระสุน

           ๒. ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.นี้จะต้องติดตั้งอยู่บนฐานปืนแบบมาตรฐาน (ฐานปืน เอ็ม.๗๙) ซึ่งสามารถที่จะตั้งยิงได้ ทั้งบนรถยนต์และบนพื้นดิน (ดูรูปที่ ๑, ๒, ๓)

ข. คุณลักษณะเฉพาะ

           - ขนาดกว้างปากลำกล้อง ๑๐๖ มม.

           - ภายในลำกล้องมีเกลียว ๓๖ เกลียวเวียนขวา

           - บรรจุกระสุนท้ายรังเพลิงด้วยมือทีละนัด

           - เป็นเป็นอาวุธวิถีราบ ทำการเล็งด้วยแนวตรง

           - ไม่มีการสะท้อนถอยหลัง

           - จัดเป็นอาวุธประจำหน่วย

           - มีปืนชี้ที่หมาย ขนาด .๕๐ นิ้ว (เอ็ม.๘ ซี.) ติดตั้งอยู่บนลำกล้อง

ค. ขีดจำกัด

           - ลำกล้องปืน เอ็ม.๒๐๖ มีอายุการใช้งาน ๒,๕๐๐ นัด

           - ลำกล้องปืนชี้ที่หมาย เอ็ม.๘ ซี.มีอายุการใช้งาน ๕,๐๐๐ นัด

           - กรวยจัดแก็สมีอายุการใช้งาน ๑,๒๕๐ นัด

ง. รายการน้ำหนัก, ขนาด, และลักษณะทางขีปนะวิธี และ อัตราการยิง

           ๑. น้ำหนัก

           - กระบอกปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.พร้อมด้วยโครงยึดลำกล้องปืนชี้ที่หมายอันหน้าและอันหลังท่อสายไก, เรือนกล้องเล็งและแท่นบังคับการลั่นไกที่กระบอกปืนหนัก ๒๕๑ ปอนด์

           - ปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว (ไม่ติดซองกระสุน)  -----------------------  หนัก  ๒๕ ปอนด์

           - ซองกระสุนปืนชี้ที่หมาย ขนาด .๕๐ นิ้ว  --------------------------------  หนัก   ๒ ปอนด์

           - ฐานปืน เอ็ม.๗๙  ---------------------------------------------------------  หนัก ๑๘๑ ปอนด์

           - กล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ พร้อมเครื่องให้แสงสว่างและแบตเตอรี่ ------------ หนัก   ๓ ปอนด์

                                                                                                         รวมน้ำหนักทั้งสิ้น ๔๖๒ ปอนด์ 

รูปที่ ๑

รูปที่ ๒ ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.ติดตั้งบน รยบ.๑/๔ ตัน


รูปที่ ๓ ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาด ๑๐๖ มม. ใช้ฐานปืน เอ็ม.๗๙ ตั้งยิงบนพื้นดิน


๒. ขนาด

                  - ปืนทั้งกระบอก  -----------------------------------------------------------  ยาว ๑๓๔ นิ้ว

                  - ฐานปืน เอ็ม.๗๙  ----------------------------------------------------------  สูง   ๔๔ นิ้ว

                  - ฐานปืน เอ็ม.๗๙ (เมื่อกางขาหยั่งออก)  --------------------------------  กว้าง ๖๐ นิ้ว

                  - ฐานปืน เอ็ม.๗๙ (เมื่อพับขาหยั่ง)  --------------------------------------  กว้าง ๓๑.๕ นิ้ว

           ๓. ลักษณะทางขีปนะวิธี

                  - ระยะยิงไกล  -------------------------------------------------------------  ๗,๗๐๐ เมตร

                  - ระยะยิงหวังผลไกลสุด  -------------------------------------------------  ๑,๑๐๐ เมตร

                  - สามารถเจาะเกราะหนา  -------------------------------------------------  ๑๘ นิ้ว

           ๔. อัตราความเร็วในการยิงปืนไร้แรงสะท้อน ขนาด ๑๐๖ มม.มีดังต่อไปนี้ คือ

                  ๔.๑  อัตราความเร็วในการยิงต่อเนื่องสูงสุด ๑ นัดต่อ ๑ นาที โดยประมาณ

                  ๔.๒ อัตราเร็วในการยิงสูงสุด ควรใช้อัตราความเร็วในการยิงไม่เกินหนึ่งนัดต่อ ๖ วินาที ถ้าใช้อัตราความเร็วในการยิงจะต้องยิงกระสุนไม่เกินห้วงละ ๑ นัด ถ้าใช้อัตราความเร็วในการยิงทำการยิงติดต่อกันทั้งสองห้วง จะต้องหยุดยิงเพื่อให้ลำกล้องเย็นเป็นเวลา ๑๕ นาที เสียก่อนจึงจะทำการยิงต่อไปได้

           จ. ชิ้นส่วนที่สำคัญของปืน

           กล่าวทั่วไป ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.ประกอบด้วยชิ้นส่วนที่สำคัญของปืน คือ ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม., ฐานปืน เอ็ม.๗๙, ปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว, กล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.หรือ เอ็ม.๙๒ เอฟและเครื่องให้แสงสว่าง เอ็ม.๔๒

ฉ. ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.

           ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม. ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ

           ๑. กระบอกปืน เอ็ม.๒๐๖  ประกอบด้วย

                  - ลำกล้องปืน

                  - รังเพลิง

                  - ปลอกแท่นเดือยปืน

           ๒. เครื่องปิดท้าย (ดูรูปที่ ๔) ประกอบด้วย

                  - กรวยจัดแก็ส               - เรือนเครื่องปิดท้าย

                  - เหล็กบานพับ              - ชิ้นส่วนประกอบในการทำงานของเครื่องปิดท้าย

           ๓. ฐานปืน เอ็ม.๗๙ (ดูรูปที่ ๕) ประกอบด้วย

                  - ขาหยั่งหน้าจะมีล้อยางตันหนึ่งล้อ

                  - ขาหยั่งหลังสองขา มีด้ามหิ้ว และเหล็กหนีบขาทั้งสองขา

                  - ควงมุมสูง

                  - ควงมุมส่าย                   

   - เครื่องกลไกเกี่ยวกับการยิง 

รูปที่ ๔  เครื่องปิดท้ายของปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.


รูปที่ ๕  ฐานปืน เอ็ม.๗๙


รูปที่ ๖ ปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว เอ็ม.๘ ซี.


ช. ปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว เอ็ม.๘ ซี. (ดูรูปที่ ๖) มีคุณลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้คือ

           ๑. ปืนชี้ที่หมายเป็นอาวุธที่ทำงานด้วยแก๊ส, ป้อนกระสุนด้วยซองกระสุน และทำการยิงเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ ปืนชี้ที่หมายจะเป็นเครื่องช่วยพลยิงไปเรื่องการหาระยะยิงและระยะดักไปยังเป้าหมาย และต้องทำการยิงด้วยกระสุนปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว โดยเฉพาะเท่านั้น

           ๒. ปืนชี้ที่หมายจะติดตั้งอยู่บนกระบอกปืนไร้แรงสะท้อน เอ็ม ๒๐๖ และที่โครงยึดลำกล้องปืนอันหน้าจะสามารถปรับมุมสูงและมุมทิศที่ปากกระบอกปืนไปจากแนวศูนย์กลางได้  ๑๑ มิลเลียมการปรับมุมสูงและมุมทิศที่ปากกระบอกปืนดังกล่าวนี้ จะนำไปใช้เมื่อจะทำการปรับเส้นเล็งของปืนชี้ที่หมายให้เป็นเส้นเล็งเดียวกันกับปืนไร้แรงสะท้อน สำหรับโครงยึดลำกล้องปืนชี้ที่หมายอันหลังนั้นจะติดอยู่กับกระบอกปืน โดยใช้ข้อต่อแบบทรงกลมโครงยึดลำกล้องปืนอันหลังนี้จะทำงานในฐานะเป็นข้อต่อที่หมุนไปมาได้โดยรอบตัว เพื่อให้มีการทำงานสอดคล้องกันกับการปรับลำกล้องปืนชี้ที่หมายที่โครงยึดลำกล้องปืนอันหน้า โครงยึดลำกล้องปืนทั้งสองแห่งนี้จะเชื่อมติดตายอยู่โดยรอบกระบอกปืนไร้แรงสะท้อนอย่างมั่นคง

ซ. กล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.หรือ เอ็ม.๙๒ เอฟ. (ดูรูปที่ ๗)

           กล้องเล็ง  เอ็ม.๙๒ ดี.หรือ  เอ็ม.๙๒  เอฟ.ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการยิงของปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.นั้น มีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้คือ

           ๑. ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.จะต้องนำไปใช้ประกอบกับกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.หรือกล้องเล็งเอ็ม.๙๒ เอฟ.เท่านั้น กล้องเล็งทั้งสองชนิดนี้จะต้องนำไปใช้ในการยิงเล็งตรงในระยะยิงสูงสุด ๒,๔๐๐ หลาสำหรับกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.และในระยะยิงสูงสุด ๒,๔๐๐ เมตร สำหรับกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ เอฟ.กล้องเล็งทั้งสองชนิดนี้จะมีโฟกัสแบบตายตัว ซึ่งไม่สามารถจะปรับภาพที่เห็นให้เล็กหรือใหญ่ได้ตามต้องการ เป็นกล้องเล็งที่มีกำลังขยายได้ ๓ เท่า และมีขอบเขตการมองเห็น ๑๒ องศา ๑๒ ลิปดา (ดูรูปที่ ๘)

           ๒. ที่บนแว่นแก้วมาตราส่วนของกล้องเล็งทั้งสองชนิดนี้ จะประกอบไปด้วยเส้นทางระดับและเส้นดิ่งที่ขาดเป็นห้วง ๆ และเรียงติดต่อกันเป็นแถว ๆ และที่ตรงส่วนบนสุดในแนวกึ่งกลางของแว่นแก้วมาตราส่วน จะมีเส้นกากบาทอยู่หนึ่งแห่ง ซึ่งใช้แทนมุมทิศศูนย์และระยะศูนย์  เส้นกากบาทนี้ถือว่าเป็นเส้นกากบาทที่จะต้องนำไปใช้ในการปรับเส้นเล็งของกล้องเล็งให้เป็นแนวเดียวกันกับเส้นแกนหลอดลำกล้องปืน เส้นทางดิ่งแต่ละเส้นหรือช่องว่างของเส้นทางดิ่งแต่ละช่อง จะมีค่าเท่ากับระยะ ๑๐๐ เมตร สำหรับกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ เอฟ.และจะมีค่าเท่ากับ ๑๐๐ หลา สำหรับกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.ส่วนเส้นทางระดับแต่ละเส้นหรือช่องว่างของเส้นทางระดับแต่ละช่องจะมีค่าเท่ากับความเร็วของเป้าหมายที่ปรากฏ ๕ ไมล์ต่อชั่วโมง หรือมีค่าเท่ากับมุม ๕ มิลเลียม

           ๓. สำหรับเส้นวัดระยะที่มีรูปร่างเป็นเส้นโค้งสองเส้นนั้น จะใช้เป็นเครื่องช่วยในการกะระยะห่างของเป้าหมาย จุดศูนย์กลางของวงกลมขนาดเล็กหลาย ๆ วงที่มองเห็นอยู่ในแว่นแก้วมาตราส่วนนั้น จะใช้เป็นสิ่งแสดงให้ทราบถึงจุดหัวและท้ายของเส้นระยะดัก ซึ่งไม่ได้แสดงไว้เต็มในแว่นแก้วมาตราส่วนเพื่อให้มีขอบเขตการมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน สำหรับวงกลมขนาดเล็กที่อยู่ตรงกึ่งกลางของเส้นบอกระยะ ๒,๒๐๐ เมตรนั้นจะนำไปใช้ประกอบกันกับหลอดไฟของหลักเล็งในระหว่างการยิงในเวลากลางคืน และจะมีมาตรามุมมิลเลียมส่วนย่อยทั้งในทางระดับและในทางดิ่งแสดงไว้ที่ตรงส่วนล่างของแว่นแก้วมาตราส่วน เพื่อให้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเล็งตรง ในการยิงด้วยวิธีเล็งตรงในกรณีฉุกเฉิน มาตรามุมมิลเลียมส่วนย่อยทางระดับจะมีค่าขีดละ๑ มิลเลียม ซึ่งเริ่มต้นด้วย ๐ องศา จากเส้นศูนย์กลางในทางดิ่งไปทางขวาและทางซ้ายข้างละ ๓๐  มิลเลียม แต่เฉพาะเครื่องหมายขีดแรกที่นับไปจากเส้นศูนย์กลางไปทางขวาหรือไปทางซ้ายนั้น จะมีค่าเท่ากับ ๒ มิลเลียมโดยมิได้แสดงเครื่องหมายขีดที่มีค่า ๑ มิลเลียมบอกไว้ให้เห็น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถอ่านเครื่องหมายขีดบอกค่ามุมมิลเลียมได้อย่างชัดเจนขึ้น ส่วนที่ตรงกึ่งกลางของมาตราส่วนย่อยนี้จะเป็นมาตรามุมมิลเลียมส่วนย่อยในทางดิ่งสำหรับมาตรามุมมิลเลียมส่วนย่อยในทางดิ่งนี้ ได้แบ่งไว้เป็นขีด ๆ แต่ละขีดจะมีค่าเท่ากับ ๑ มิลเลียม โดยแสดงไว้ทางข้างบนของมาตรามมุมมิลเลียม ทางระดับ ๕ มิลเลียม และทางข้างล่างของมาตรามุมมิลเลียมทางระดับ ๕ มิลเลียม หลอดระดับจะเป็นเครื่องช่วยให้พลยิงจัดกล้องเล็งไม่ให้เอียงได้โดยการหมุนที่ลูกบิดแก้เอียงซึ่งอยู่ที่เรือนกล้องเล็งจนกว่าฟองน้ำในหลอดระดับจะอยู่ตรงกึ่งกลางหลอดระดับ เครื่องกลไกในการแก้เอียงดังกล่าวนี้จะแก้ความเอียงของกล้องเล็งได้มากถึง ๑๕ องศา ทั้งในทางด้านซ้ายและด้านขวา


รูปที่ ๗  กล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ เอฟ.และเรือนกล้องเล็ง เอ็ม.๙๐


รูปที่ ๘  รูปแบบแว่นแก้วมาตราส่วนของกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.และ เอ็ม.๙๒ เอฟ.


๔. ทางส่วนหน้าของกล้องเล็ง จะมีรูปร่างลักษณะเล็กเรียว เพื่อให้สวมเข้าไปในช่องของเรือนกล้องเล็งที่เล็กเรียวได้พอดี ในการนำกล้องเล็งสอดเข้าไปในช่องของเรือนกล้องเล้ง จะต้องนำเอาทางด้านปลายของกล้องเล็งสอดเข้าไปในช่องของเรือนกล้องเล็ง โดยวางครีบขัดกลอนทั้งสองข้างที่ฐานของกล้องเล็งให้อยู่ตรงกันกับร่องขัดกลอนทั้งสองข้างในช่องของเรือนกล้องเล็ง กล้องเล็งจะตรึงติดอยู่ภายในช่องของเรือนกล้องเล็งได้โดยการดันกล้องเล็งให้เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ภายในช่องของเรือนกล้องเล็ง จนกว่าครีบขัดกลอนทั้งสองข้างที่ฐานกล้องเล็งจะวางอยู่ในร่องขัดกลอนทั้งสองข้างที่ฐานกล้องเล็ง เคลื่อนที่ถอยมาข้างหลังจนมาอยู่ในช่องของมันซึ่งอยู่ในเรือนกล้องเล็งได้อย่างพอดี จงพึงสังเกตว่าเรือนกล้องเล็ง เอ็ม.๙๐ ที่ใช้กับกล้องเล็งเอ็ม.๙๒ เอฟ.หรือ เอ็ม.๙๒ ดี.นี้ได้สร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นเครื่องป้องกันเลนซ์ด้วย นอกจากนี้ที่เรือนกล้องเล็ง เอ็ม.๙๐ ยังมีเครื่องกลไกในการแก้เอียงและเครื่องกลไกในการปรับเส้นเล็งของกล้องเล็งจะสามารถปรับมุมสูงหรือมุมทิศของเส้นเล็งให้มากขึ้นหรือน้อยลงได้ ๑๑ มิลเลียม โดยการปรับที่หมุดเกลียวสองตัวที่อยู่ตรงส่วนบนของเรือนกล้องเล็งซึ่งมีฝาปิดอยู่นั้น

           ๕. กล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ เอฟ.เป็นกล้องเล็งที่แตกต่างไปจากกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.ตรงที่เปลี่ยนหน่วยวัดระยะจากหลาไปเป็นเมตรเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นความแตกต่างระหว่างกล้องเล็งทั้งสองชนิดนี้จึงมีอยู่แต่เฉพาะแว่นแก้วมาตราส่วน และแผ่นป้ายชื่อกล้องเล็งเท่านั้น ส่วนรูปร่างลักษณะภายนอกและรูปร่างของแว่นแก้วมาตราส่วนของกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ เอฟ.ก็คงมีลักษณะเหมือนกันกับกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.ทุกประการ

ฌ. เครื่องให้แสงสว่าง เอ็ม.๔๒ (ดูรูปที่ ๙)

           เครื่องให้แสงสว่าง เอ็ม.๔๒ จะนำไปใช้เพื่อช่วยในการส่องสว่างให้กับแว่นแก้วมาตราส่วนของกล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.และ เอ็ม.๙๒ เอฟ.โดยการนำเอาครอบหลอดไฟของเครื่องให้แสงสว่างเสียบเข้าไปในช่องเสียบที่อยู่บนกล้องเล็ง พลังงานไฟฟ้าของเครื่องให้แสงสว่างนี้จะเกิดขึ้นจากสายไฟที่ต่อมาจากกล่องแบตเตอรี่ซึ่งบรรจุแบตเตอรี่ไฟฉายขนาดมาตรฐานจำนวนสองก้อน ที่ตอนปลายของกล่องแบตเตอรี่จะมีปุ่มปรับกระแสไฟอยู่หนึ่งปุ่ม ซึ่งสามารถจะหมุนให้อยู่ในตำแหน่งเปิดและปิดและใช้ควบคุมปริมาณการส่องสว่างในแว่นแก้วมาตราส่วนของกล้องเล็งได้ตามที่ต้องการ ส่วนไฟฉายและสายไฟอีกเส้นหนึ่งนั้นได้จัดให้มีไว้เพื่อใช้ในการส่องสว่างบริเวณโดยทั่ว ๆ ไปของตัวปืน


รูปที่ ๙  เครื่องให้แสงสว่าง เอ็ม.๔๒