ตอนที่ ๙  การควบคุมการยิง 

ตอนที่ ๙  การควบคุมการยิง

 

ก. กล่าวทั่วไป

           การควบคุมการยิง หมายถึงขีดความสามารถของผู้บังคับหน่วยที่จะสั่งการเปิดฉากการยิงได้ในทันทีทันใดตามที่ต้องการ, ทำการปรับการยิงให้กับอาวุธของตนหรือตรวจผลการยิง ณ เป้าหมาย , ย้ายการยิงจากเป้าหมายหนึ่งไปยังอีกเป้าหมายหนึ่ง , กำหนดอัตราความเร็วในการยิง , และสั่งหยุดยิงเมื่อมีความประสงค์จะให้หยุดทำการยิง การยิงจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อผู้บังคับหน่วยสามารถปฏิบัติในสิ่งต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมานี้ได้อย่างบรรลุผลในทันทีทันใด การขาดการควบคุมการยิงที่ดีย่อมจะทำให้เสียผลในการจู่โจม, ต้องเปิดเผยที่ตั้งยิงของตนให้ข้าศึกตรวจการณ์เห็นก่อนที่จะถึงเวลาอันสมควร, และมักจะได้ทำการยิงไปยังเป้าหมายต่าง ๆ ที่ไม่มีความสำคัญ นอกจากนี้ยังจะมีผลทำให้ต้องเสียเวลาในการปรับการยิงโดยไม่มีความปลอดภัย และต้องสิ้นเปลืองกระสุนไปโดยใช่เหตุด้วย  การควบคุมการยิงที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยวินัย , การฝึกทางเทคนิค ,และความริเริ่ม ของทหารภายในหมู่ด้วย เนื่องจากว่าการยิงของปืนไร้แรงสะท้อน มีเสียงดังมาก , ที่ตั้งยิงมีลักษณะเกือบจะโดดเดี่ยว , มีสภาพการตรวจการณ์จำกัด  และเป้าหมายต่าง ๆ มักจะหายไปได้อย่างรวดเร็วฉะนั้นวิธีการควบคุมการยิงจึงต้องพยายามกำหนดในลักษณะที่ให้มีความง่ายมากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้

ข. สายการควบคุมการยิง

           ผู้บังคับกองร้อย จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม.โดยจะเป็นผู้ออกคำสั่งตามความจำเป็นไปยังผู้บังคับหมวดโดยตรง ในทำนองเดียวกันผู้บังคับหมวดก็จะเป็นผู้ออกคำสั่งการปฏิบัติต่าง ๆ ให้แก่ผู้บังคับหมู่ต่าง ๆ ของตน ผู้บังคับหมู่มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมบังคับบัญชาหมู่ และปฏิบัติภารกิจของหมู่ให้สำเร็จลุล่วงไป

ค. การปรับการยิง

           ๑. กล่าวทั่วไป การปรับการยิงถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของการควบคุมการยิงที่มีความสำคัญยิ่ง  ถ้าการยิงกระสุนนัดแรกไม่ถูกเป้าหมาย จะต้องรีบทำการปรับการยิง แล้วทำการยิงกระสุนนัดต่อไปอย่างรวดเร็ว วิธีปรับการยิงอาจจะกระทำได้เป็นหลายวิธี ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับระยะยิง , ทัศนวิสัยและชนิดของกระสุนที่ใช้ยิง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นวิธีใหญ่ ๆ ได้ ๓ วิธี คือ วิธีใช้ปืนชี้ที่หมาย , วิธีปรับตำบลระเบิดทับเป้าหมาย และ วิธีตรวจแสงส่องวิถี

           ๒. วิธีใช้ปืนชี้ที่หมาย

                  ก) วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีการปรับ การยิงหลัก ซึ่งสามารถจะทำการปรับการยิง ในระยะยิงได้มากถึง ๑,๑๐๐ เมตร ถ้าพลยิงเป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี การปรับการยิงวิธีนี้จะ เป็นวิธีที่มีความแม่นยำมากที่สุด และเป็นวิธีที่สามารถจะกระทำได้อย่างรวดเร็วที่สุดด้วย

                  ข) ในขณะที่พลยิงทำการยิงปืนชี้ที่หมายออกไปนั้น พลยิงจะต้องสังเกตดูตำบลระเบิดที่ปรากฏอยู่บนแว่นมาตราส่วนของกล้องเล็ง (รูปที่ ๑๙) แล้วทำการปรับการเล็งของปืนไปจนกว่าตำบลระเบิดที่ปรากฏอยู่บนแว่นมาตราส่วนนั้นจะไปอยู่บนจุดกึ่งกลางของเป้าหมาย (รูปที่ ๒๐) แล้วจึงทำการยิงปืนชี้ที่หมายออกไปใหม่เมื่อกระสุนปืนชี้ที่หมายถูกเป้าหมายแล้ว จึงทำการยิงปืนไร้แรงสะท้อนติดตามไปในทันทีด้วยภาพเล็งเดิมนั้น

                  ค) ถ้าลูกกระสุนเคลื่อนที่ข้ามเป้าหมายไป พลยิงจะต้องใช้วิธีสังเกตจากการส่องวิถีของลูกกระสุนวิธีการดังกล่าวนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติเหมือนกันกับวิธีปรับตำบลระเบิดทับเป้าหมาย  จะมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างก็แต่เพียงถ้าแสงส่องวิถีนั้นเลยเป้าหมายออกไปมาก  พลยิงไม่จำเป็นต้องตรวจการระเบิด ณ ตำบลระเบิด แต่ให้ใช้วิธีตรวจดูที่จุดซึ่งปรากฏอยู่บนแว่นมาตราส่วนของกล้องเล็งของตน ณ ตรงจุดที่แสงส่องวิถีผ่านหรืออยู่เหนือเป้าหมาย แล้วจึงเลื่อนเอาจุดที่แสงส่องวิถีผ่านหรืออยู่เหนือเป้าหมายที่อยู่ในแว่นมาตราส่วนนี้(โดยการปรับแนวปากลำกล้องปืน) ไปทับอยู่บนจุดกึ่งกลางของเป้าหมาย แล้วจึงทำการยิงกระสุนนัดต่อไป

           ๓. วิธีปรับตำบลระเบิดทับเป้าหมาย

                  ก) วิธีนี้ควรจะนำมาใช้เมื่อปืนชี้ที่หมายชำรุด  หรือมีระยะยิงเกินกว่า ๑,๑๐๐ เมตร แต่ไม่เกิน๒,๔๐๐ เมตรเท่านั้น เมื่อสามารถกระทำได้ พลยิงจะต้องทำการปรับการยิงด้วยตนเองเสมอ ถ้าพลยิงยิงกระสุนนัดแรกผิดเป้าหมาย พลยิงจะต้องปรับแนวปากลำกล้องปืนของตนไปจนกว่าตำบลกระสุนตกที่ปรากฏอยู่บนแว่นมาตราส่วนของกล้องเล็งจะเลื่อนไปทับอยู่ที่จุดศูนย์กลางของเป้าหมาย แล้วจึงทำการยิงกระสุนนัดที่สอง ในการตรวจตำบลระเบิดดังกล่าวนี้ พลยิงจะต้องมีความประณีตพอสมควรและจดจำได้อย่างแม่นยำว่า ตำบลระเบิดที่ปรากฏอยู่บนแว่นมาตราส่วนของกล้องเล็งนั้นอยู่ที่เส้นระยะดักและเส้นระยะยิงใด หรืออยู่ในระหว่างช่องว่างของเส้นระยะดัก และ/หรือ เส้นระยะยิงใด แล้วจึงเลื่อนตำบลระเบิด ณ จุดนั้นไปทับเป้าหมายอย่างประณีตที่สุด การที่พลยิงยิงกระสุนนัดที่สองไปแล้วยังไม่ถูกเป้าหมายอีก ก็ย่อมจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นได้ว่าการเลื่อนจุดศูนย์กลางของตำบลระเบิด (ตำบลกระสุนตก) ยังกระทำไม่ถูกต้องหรือขาดความประณีต ถ้าหากว่าพลยิงยิงกระสุนนัดที่สองไปแล้วยังไม่ถูกเป้าหมาย พลยิงจะต้องทำการปรับการยิงเช่นเดียวกับการยิงกระสุนนัดที่สองอีกกล่าวคือให้เลื่อนเอาจุดศูนย์กลางของตำบลระเบิดของกระสุนนัดที่สองไปทับที่จุดศูนย์กลางของเป้าหมาย โดยการใช้ควงมุมสูง และควงมุมส่ายของปืน

                  ข) ถ้าหากว่าพลยิงตรวจตำบลระเบิดของตนไม่ได้ ผู้บังคับหมู่จะต้องเป็นผู้ปรับการยิงโดยใช้วิธีปรับการยิงโดยตรง กล่าวคือผู้บังคับหมู่จะต้องเป็นผู้ตรวจตำบลระเบิด และเป็นผู้ให้คำสั่งยิงต่อมาด้วยตนเอง  โดยยึดถือเป็นหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้คือ


รูปที่ ๑๙ วิธีปรับตำบลระเบิดทับเป้าหมาย           รูปที่ ๒๐  วิธีปรับตำบลระเบิดทับเป้าหมาย

(การสังเกตตำบลกระสุนตก)                                      (การปรับจุดเล็ง)


๑) ถ้าลูกกระสุนตกหน้าเป้าหมาย ในขั้นแรกผู้บังคับหมู่จะต้องกะประมาณ ระยะห่างระหว่างตำบลระเบิดบนพื้นดินกับเป้าหมายให้ได้เสียก่อนว่า ลูกกระสุนตกหน้าเป้าหมายเป็นระยะกี่เมตรต่อจากนั้นจึงใช้กล้องส่องสองตาวัดครึ่งความสูงของเป้าหมายออกมาเป็นมุมมิลเลียม แล้วแปลงค่ามุม มิลเลียมที่วัดได้นั้นออกมาเป็นระยะเมตร เมื่อคำนวณมุมมิลเลียมที่วัดได้ออกเป็นเมตรแล้ว ให้เอาค่าของมุมมิลเลียมที่แปลงเป็นระยะเมตรแล้วนี้ไปบวกกันกับระยะที่ลูกกระสุนตกหน้าเป้าหมายตามที่กะประมาณไว้ในตอนต้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือระยะยิงที่จะยิงกระสุนนัดต่อไป

           สำหรับการแปลงค่ามุมมิลเลียม ( ครึ่งความสูงของเป้าหมาย ) ออกมาเป็นระยะเมตรนั้น ให้ใช้วิธีคำนวณโดยยึดถือข้อมูลซึ่งถือว่าเป็นค่าความเปลี่ยนแปลงคงที่มาเป็นตัวคำนวณ กล่าวคือ ถ้าทำการยิงปืนในระยะตั้งแต่ ๐ - ๒,๔๐๐ เมตร ค่าของมุมมิลเลียมที่วัดในทางสูงได้ ๓ มิลเลียม จะเปลี่ยนระยะทางได้เท่ากับระยะ๑๐๐ เมตรบนพื้นระดับ เพราะฉะนั้น ในการแปลงค่าของมุมมิลเลี่ยมที่วัดได้จากครึ่งความสูงของเป้าหมายออกมาเป็นระยะที่จะต้องเปลี่ยนแปลงบนพื้นระดับเป็นหน่วยเมตรจึงต้องคำนวณเทียบกับ ค่าความเปลี่ยนแปลงคงที่ตามที่กล่าวนี้เสมอ

           ตัวอย่างจากภาพในรูปที่ ๒๑ ผู้บังคับหมู่ตรวจเห็นลูกกระสุนตกหน้าเป้าหมายและกะประมาณเป็นระยะได้ว่า ตกหน้าเป้าหมาย ๗๕ เมตร ใช้กล้องส่องสองตาวัดครึ่งความสูงของเป้าหมายได้ ๒ มิลเลี่ยม ผู้บังคับหมู่จะต้องเปลี่ยนค่าความสูงเป็นมิลเลียมที่วัดได้ ๒ มิลเลียม นี้ออกมาเป็นระยะเมตร ซึ่งจะต้องคำนวณเทียบกับค่าความเปลี่ยนแปลงคงที่ โดยเอา ๓ มาหารแล้วคูณด้วย ๑๐๐ เพราะฉะนั้นระยะที่เปลี่ยนแปลงเป็นเมตร จะต้องมีค่าเท่ากับ ๒x๑๐๐ /๓ = ๖๖ X ๒/๓ เมตร เมื่อคำนวณได้ระยะเป็นเมตรดังกล่าวนี้แล้ว จะต้องปัดเศษระยะทางที่คำนวณ ได้เป็นเมตรนี้ให้ใกล้เคียงหน่วย  ๒๕ เมตร ในที่นี้เมื่อปัดเศษแล้วจะมีค่าเป็นระยะเมตรเท่ากับ  ๗๕  เมตร (ในการปัดเศษถ้าเศษที่มีเกินครึ่งให้ปัดขึ้นไปทางสูง เช่น ๖๖ X ๒/๓ เมตร ปัดเป็น ๗๕ เมตร ๕๒ X ๒/๓ เมตรปัดเป็น ๕๐ เมตรเป็นต้น) ต่อจากนั้นให้เอาค่าของมุมมิลเลียมที่แปลงเป็นระยะเมตรแล้วนี้ ไปบวกกับระยะที่ถูกลูกระเบิดตกหน้าเป้าหมายตามที่กะประมาณไว้ในตอนต้น ในที่นี้ผู้บังคับหมู่กะประมาณระยะลูกกระสุนตกหน้าเป้าหมายไว้ ในตอนต้นว่าตกหน้าเป้าหมาย ๗๕ เมตร เพราะฉะนั้นระยะยิงที่เปลี่ยนแปลงจะต้องมีค่าเป็น ๗๕ บวก๗๕ เท่ากับ ๑๕๐ เมตร เมื่อกระสุนตกหน้าเป้าหมาย  ผู้บังคับหมู่จะต้องใช้คำสั่งยิงต่อไปว่า "เพิ่ม  หนึ่ง  ห้า ศูนย์,ยิง"

                  ๒) ถ้าลูกกระสุนต่อสู้รถถังระเบิดแรงสูงเคลื่อนที่ข้ามเป้าหมายไป ผู้บังคับหมู่จะต้องให้คำสั่งยิงต่อมาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางระยะไม่เกิน ๒๐๐ เมตรแก่พลยิง ถ้าลูกกระสุนนัดที่สองตกหน้าเป้าหมาย ผู้บังคับหมู่จะต้องใช้วิธีปรับการยิงสำหรับการยิงกระสุนนัดต่อไปเช่นเดียวกันกับที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อข้างต้น แล้วจึงให้คำสั่งยิงต่อมา


รูปที่ ๒๑  วิธีตรวจแสงส่องวิถี (ตำบลระเบิดตกหน้าเป้าหมาย) 

๔. วิธีตรวจแสงส่องวิถี

                  ก) การปรับการยิงโดยพลยิง เมื่อพลยิงทำการปรับการยิงของตน ที่ทำการยิงด้วยกระสุนส่องวิถีระเบิดแรงสูง พลยิงควรจะทำการปรับการยิงด้วยวิธีตรวจแสงส่องวิถี  การปรับการยิงวิธีนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติเหมือนกันกับวิธีปรับตำบลระเบิดทับเป้าหมาย จะมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างก็แต่เพียงถ้าแสงส่องวิถีนั้นเคลื่อนที่เลยเป้าหมายไปมาก พลยิงก็ไม่จำเป็นต้องตรวจการระเบิดแต่ให้ใช้วิธีตรวจดูที่จุด ซึ่งปรากฏอยู่บนแว่นมาตราส่วนของกล้องเล็งของตน ณ ตรงจุดที่แสงส่องวิถีผ่านหรืออยู่เหนือเป้าหมายแล้วจึงเลื่อนเอาจุดที่แสงส่องวิถีผ่านหรืออยู่เหนือเป้าหมายที่อยู่ในแว่นมาตราส่วนนี้ไปทับอยู่บนจุดกึ่งกลางของเป้าหมาย(โดยการปรับแนวปากลำกล้องปืน) แล้วจึงทำการยิงกระสุนนัดต่อไป

                  ข) การปรับการยิงโดยผู้บังคับหมู่

                         ๑) ถ้าผู้บังคับหมู่เป็นผู้ทำการปรับการยิงด้วยกระสุนส่องวิถีระเบิดแรงสูง  ผู้บังคับหมู่จะต้องทำการปรับการยิง โดยใช้ระบบการหาค่าความเปลี่ยนแปลงของลูกกระสุนที่ผิดเป้าหมาย ซึ่งมักจะมีค่าความเปลี่ยนแปลงในทางระยะยิงมากกว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงในทางทิศ

                         ๒) ถ้าลูกกระสุนเคลื่อนที่ข้ามเป้าหมายไป ผู้บังคับหมู่จะต้องตรวจดูที่จุดซึ่งแสงของกระสุนส่องวิถีผ่านหรืออยู่เหนือเป้าหมาย ในขณะที่แสงของกระสุนส่องวิถีเคลื่อนที่ผ่านหรืออยู่เหนือเป้าหมายนั้น ผู้บังคับหมู่จะต้องใช้กล้องส่องสองตาวัดดูว่า จุดซึ่งแสงของกระสุนส่องวิถีอยู่เหนือเป้าหมายนั้น อยู่สูงจากจุดศูนย์กลางของเป้าหมายเป็นมุมกี่มิลเลียม (ตามที่แสดงไว้ด้วยภาพในรูปที่ ๒๒) แล้วจึงคำนวณลดความสูงของวิถีกระสุนลงมาเท่ากับจำนวนมุมที่วัดได้ (จากจุด ก.ถึงจุด ข.ในรูปที่ ๒๒ เป็นมุมเท่ากับ ๖ มิลเลียม) เพื่อให้กระสุนนัดต่อไปยิงถูกกึ่งกลางเป้าหมายได้พอดี


รูปที่ ๒๒  วิธีตรวจแสงส่องวิถี


๓) เมื่อได้ทราบค่าความสูงของกระสุนเป็นมุมมิลเลียมที่จำเป็น จะต้องนำมาใช้ในการปรับการยิงของกระสุนนัดต่อไปให้ถูกจุดกึ่งกลางของเป้าหมายแล้วผู้บังคับหมู่ จะต้องนำเอาค่าของมุมสูงเป็นมิลเลียมที่วัดได้นี้มาคำนวณเปลี่ยนเป็นระยะเมตรในลักษณะการเช่นเดียวกับที่ได้อธิบายไว้ในข้อ ๑) ข้างต้น แล้วจึงให้คำสั่งยิงต่อมาโดยลดระยะยิงลงเป็นเมตร

                         ๔) ตัวอย่างจากภาพที่แสดงไว้ ในรูปที่ ๒๒ ผู้บังคับหมู่ใช้กล้องส่องสองตาวัดแสงกระสุนส่องวิถีได้ว่าอยู่สูงจากจุดกึ่งกลางของเป้าหมายเป็นมุม ๖ มิลเลียม แปลงค่ามุมมิลเลียมเป็นเมตรด้วยการคำนวณในใจ ๖x๑๐๐ / ๓ (ตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ในข้อ ๑) ข้างต้น) ได้ผลลัพธ์เป็นระยะเมตรเท่ากับ ๒๐๐ เมตรจึงสั่งยิงกระสุนนัดต่อไปว่า "ลด, สองร้อย, ยิง"

                         ๕) ถ้ายิงไปแล้วปรากฏว่าลูกกระสุนตกหน้าเป้าหมาย ผู้บังคับหมู่จะต้องใช้วิธีการปรับการยิงเช่นเดียวกันกับรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้แล้วใน ข้อ ๑) ข้างต้นทุกประการ

ง. การยิงข้ามศีรษะทหารฝ่ายเดียวกัน

           ๑. ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม. สามารถนำมาใช้ทำการยิงข้ามศีรษะทหารฝ่ายเดียวกันได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย ยกเว้นเฉพาะเมื่อทำการยิงด้วยกระสุนส่องวิถีสังหารเท่านั้น   ความแม่นยำดังกล่าวนี้ย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยการปรับการยิงด้วยการใช้กระสุนชี้ที่หมายของปืนชี้ที่หมายซึ่งเป็นกระสุนขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น

           ๒. พลยิงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องเกี่ยวกับการบังทางยิง ซึ่งสามารถจะขจัดการบังทางยิงของกระสุนแต่ละนัดได้โดยการตรวจไม่ให้มีสิ่งกีดขวางใด ๆ อยู่ในเส้นเล็งของตน พลยิงจะต้องจัดเส้นเล็งโดยการหันปากกระบอกปืนไปยังเป้าหมายด้วยภาพเล็งที่ถูกต้อง ถ้าในเส้นเล็งของพลยิงไม่มีสิ่งกีดขวางใด ๆ อาวุธก็ย่อมจะไม่มีการบังทางยิง เพราะว่าวิถีกระสุนของลูกกระสุนย่อมจะอยู่สูงกว่าเส้นเล็งเสมอ

           ๓. พลยิงจะย้ายการยิงได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือเมื่อถูกบังทางยิงเท่านั้น

           หมายเหตุ ถ้าใช้ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม. ทำการยิงสนับสนุนให้กับหน่วยอาวุธเบาก็ควรจะใช้ปืนนี้ทำการยิงต่อเป้าหมายที่เป็นจุด และไม่ควรใช้ทำการยิงเป็นพื้นที่โดยเด็ดขาด

จ. เทคนิคการยิงในเวลากลางคืน

           การยิงปืนไร้แรงสะท้อนขนาด ๑๐๖ มม. ในห้วงเวลาที่มีความมืดหรือในเวลากลางคืนนั้น วิธียิงที่ถือว่าเป็นวิธีหลักก็คือ จะต้องทำการยิงโดยจัดให้มีการส่องสว่างเหนือเป้าหมาย ถ้าได้มีการจัดให้มีการส่องสว่างเหนือเป้าหมายแล้ว การปรับการยิงก็คงกระทำเช่นเดียวกันกับที่ได้อธิบายมาแล้วทั้งหมดในคู่มือเล่มนี้ ส่วนวิธีจัดให้มีการส่องสว่างเหนือเป้าหมายจะกระทำอย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์และวัสดุการส่องสว่างที่มีอยู่เป็นประการสำคัญ

ฉ. แผ่นจดระยะ

           ๑. กล่าวทั่วไป

                  ก) แผ่นจดระยะ (รูปที่ ๒๓) คือแผ่นภาพสังเขปที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางต่าง ๆ ซึ่งจัดทำขึ้นสำหรับปืนแต่ละกระบอก แผ่นจดระยะนี้จะต้องแสดงให้เห็นถึงที่ตั้งปืน,มุมภาคของทิศเหนือแม่เหล็ก,ระยะยิง, ความสูงและทิศทางไปยังลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัด หรือภูมิประเทศซึ่งคาดว่าน่าจะมีเป้าหมายเกิดขึ้นได้ การที่ได้แสดงให้ทราบถึงระยะยิงและทิศทางไปยังเป้าหมายต่าง ๆ ที่ไม่อยู่ไกลเกินไปนัก ย่อมจะทำให้พลประจำปืนหาหลักฐานการยิงที่จำเป็นต่อการยิงเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งภายในเขตการยิงของตนได้อย่างถูกต้อง  และรวดเร็ว

                     ข) การที่ได้ทำแผ่นจดระยะไว้ย่อมจะทำให้สามารถใช้อาวุธทำการยิงไปยังเป้าหมายต่าง ๆ ในห้วงเวลาที่มีทัศนวิสัยจำกัดได้ และนอกจากนี้ยังทำให้สามารถส่งมอบรายละเอียดที่มีอยู่ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยที่จะมาผลัดเปลี่ยนได้โดยละเอียดด้วย ในบางครั้งผู้บังคับบัญชาชั้นเหนืออาจจะนำเอาแผ่นจดระยะดังกล่าวนี้ไปใช้ในการประสานการยิงด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้น  พลยิงจึงควรจัดทำแผ่นจดระยะขึ้นสองชุด และส่งให้แก่ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือตน ๑ ชุดเสมอ 

รูปที่ ๒๓  แผ่นจดระยะ


๒. การทำแผ่นจดระยะ

                  ก) ให้เขียนนามหน่วย และวันที่ด้วยตัวหนังสือขนาดโตพอสมควร ไว้ที่มุมข้างใดข้างหนึ่งของแผ่นจดระยะ ในลำดับต่อไปให้กำหนด จุด ๆ หนึ่งไว้ตรงประมาณกึ่งกลางของแผ่นกระดาษ เพื่อแสดงว่าเป็นที่ตั้งปืนแล้วให้ลากเส้นตรงเส้นหนึ่งออกไปจากจุด ๆ นี้ ไปในแนวทิศเหนือแม่เหล็ก เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทิศเหนือแม่เหล็กที่แท้จริง พร้อมกับทำเครื่องหมายหัวลูกศรไว้ที่ปลายเส้นด้าย ต่อจากนั้นให้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างที่ตั้งปืนกับลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดต่าง ๆ โดยการวัดมุมภาคของทิศเหนือแม่เหล็กจากที่ตั้งปืน ไปยังลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดต่าง ๆ เหล่านั้น รวมทั้งหาระยะที่แน่นอนระหว่างที่ตั้งปืนไปยังภูมิประเทศที่เด่นชัดเหล่านั้นด้วย เสร็จแล้วให้กรุยที่ตั้งของลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดต่าง ๆ ลงไปบนแผ่นจดระยะ พร้อมกับวาดเป็นภาพสังเขปแสดงให้เห็นทรวดทรงแบบง่าย ๆ ของลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดต่าง ๆ เหล่านั้น ต่อจากนั้นให้ลากเส้นตรงจากจุดที่ใช้เป็นที่ตั้งปืนไปยังลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดทุกแห่ง และให้บันทึกไว้บนเส้นตรงต่าง ๆเหล่านั้น เพื่อแสดงให้ทราบถึงมุมภาคของทิศ และระยะจากที่ตั้งปืนไปยังลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดเหล่านั้นทุกแห่ง

                  ข) ให้พยายามเลือกหาลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดที่มีอยู่ ในภูมิประเทศที่อยู่ใกล้ที่ตั้งปืนที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพื่อนำมาใช้ในการหมายที่ตั้งปืนอย่างถูกต้องโดยให้วาดเป็นภาพสังเขปของลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดนั้นลงไปบนแผนที่สังเขป ตามทิศทางที่สัมพันธ์กับที่ตั้งปืนอย่างใกล้เคียงความจริงที่สุด  แล้วลากเส้นตรงเส้นหนึ่งจากลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดเหล่านั้นมายังที่ตั้งปืนครั้นแล้วให้ใช้เข็มทิศวัดมุมภาคทิศเหนือ แม่เหล็กจากที่ตั้งปืนไปยังลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดนั้นแล้วเปลี่ยนค่าเป็นมุมภาคทิศเหนือกลับ ( ถ้าวัดมุมได้น้อยกว่า ๓,๒๐๐ มิลเลียม ให้เอา ๓,๒๐๐ มิลเลียมมาบวกกับมุมที่วัดได้, ถ้าวัดมุมได้มากกว่า ๓,๒๐๐ มิลเลียม ให้เอา ๓,๒๐๐มิลเลียม มาลบออกจากมุมที่วัดได้) แล้วให้บันทึกค่าของมุมภาคของทิศเหนือที่แปลงเป็นมุมภาคของทิศเหนือกลับแล้วกำกับเส้นตรงเส้นนั้นไว้ และให้หาระยะห่างที่แน่นอนระหว่างที่ตั้งปืนกับลักษณะภูมิประเทศที่เด่นชัดนั้นเป็นเมตร แล้วบันทึกจำนวนของระยะห่างเป็นเมตรกำกับไว้ที่เส้นตรงเส้นนี้ด้วย

                  การที่หมายที่ตั้งปืนไว้ในลักษณะเช่นนี้ในแผ่นจดระยะย่อมจะช่วยให้พลยิงสามารถรายงานจุดที่อยู่เป็นพิกัดเปล่าให้ผู้บังคับบัญชาทราบได้อย่างเร็วที่สุด

                  ค) บนแผ่นจดระยะจะต้องแสดงให้เห็นแนวทิศทางเขตจำกัดการยิงไว้ด้วยเสมอ โดยจะต้องแสดงค่าของมุมภาคทิศเหนือแม่เหล็กจากที่ตั้งปืนไปตามแนวทิศทางเขตจำกัดการยิงไว้ให้เห็นบนเส้นตรงที่ลากขึ้นมานั้นด้วย

                  ง) เมื่อได้ทำแผ่นจดระยะเสร็จเรียบร้อยแล้ว พลยิงจะต้องทดลองวางพื้นยิงไปยังตำบลต่าง ๆ ที่คาดว่าน่าจะมีเป้าหมายเกิดขึ้น หรือวางพื้นยิงไปยังภูมิประเทศที่สำคัญ ๆ ภายในเขตการยิงของตน เพื่อให้ทราบถึงมุมสูงและมุมทิศที่จะต้องนำมาใช้ที่กล้องเล็ง อย่างไรก็ตามถ้าหากสามารถหรือมีโอกาสที่จะกระทำได้แล้ว ก็ควรจะใช้ปืนชี้ที่หมายทำการยิงเพื่อหาระยะยิงที่ถูกต้องไปยังเป้าหมายต่าง ๆ ที่กรุยไว้แล้วแต่ละเป้าหมาย แล้วบันทึกมุมสูงและมุมทิศลงไปบนแผ่นจดระยะนั้นด้วย

ช. หลักเล็งในเวลากลางคืน

           ๑. กล่าวทั่วไป

                  ก) จะต้องนำเอาหลักเล็งในเวลากลางคืนมาใช้ร่วมกับแผ่นจดระยะเสมอ หลักเล็งในเวลากลางคืนก็คือหลักเล็งที่มีดวงไฟขนาดเล็กติดอยู่ที่ปลายหลัก หลักเล็งแต่ละหลักควรจะกำหนดให้มีดวงไฟที่มีสีแตกต่างกันออกไปเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ทราบพื้นที่เป้าหมายแต่ละแห่ง และควรจะอ้างถึงสีของดวงไฟแต่ละหลักเล็งไว้บนแผ่นจดระยะด้วย

                  ข) หลังจากที่ได้ทำการพิสูจน์ทราบพื้นที่เป้าหมายแต่ละแห่งอย่างถูกต้องแล้วจะต้องจัดการ

ปักหลักเล็งต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตั้งแต่เวลากลางวันเสมอ

 

 

           ๒. วิธีปักหลักเล็ง

                  ก) หลังจากที่พลยิงได้ทำการพิสูจน์ทราบเป้าหมายต่าง ๆ โดยการใช้การยิงของปืนชี้ที่หมายแล้วจะต้องให้พลบรรจุหรือเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งของหมู่ก็ได้เป็นผู้นำเอาหลักเล็งออกไปปักข้างหน้าที่ตั้งปืน จุดที่จะใช้ปักหลักเล็งควรจะอยู่ห่างจากที่ตั้งปืนประมาณ ๒๕ เมตร หรือปักให้ห่างไกลออกไปจากที่ตั้งปืนออกไปให้มากพอที่จะไม่ทำให้ลมระเบิดที่เกิดขึ้น ณ ปากลำกล้องปืนขณะทำการยิงปืนไร้แรงสะท้อนจะผลักดันให้หลักเล็งล้มลงได้

                  ข) พลยิงจะต้องทำการเล็งออกไปทางกล้องเล็ง แล้วคอยสั่งให้พลบรรจุค่อย ๆ เลื่อนหลักเล็งไปจนกว่าแสงไฟของหลักเล็งจะปรากฏอยู่ในเครื่องหมายรูปวงกลมขนาดเล็กที่ระยะยิง ๒,๒๐๐ เมตร ของแว่นมาตราส่วนของกล้องเล็งโดยไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวลำกล้องปืนแต่อย่างไร

                     ค) ถ้ามีการปักหลักเล็งเพิ่มเติม จะต้องดำเนินกรรมวิธีเช่นเดียวกันกับรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมดนี้เสมอ