การเล็งและการลั่นไก ปลย.เอ็ม.๑๖

ก. ส่วนประกอบของการยิงปืน

๑. ท่ายิง

๒. การเล็ง

๓. การหายใจ

๔. การลั่นไก

ข. ท่ายิง

ท่ายิงเป็นหลักอันแรกที่นักแม่นปืนทุกคน จะต้องรู้ให้ถ่องแท้ถึงจุดสำคัญต่าง ๆ ภายในร่างกายว่าส่วนไหนของร่างกายจะให้ประโยชน์และให้โทษต่อการทำท่ายิง ซึ่งเราจะต้องทำการยิงอยู่เป็นเวลานาน ๆ ถ้าหากทำท่ายิงไม่ถูกหลักแล้ว การเล็งนาน ๆ ก็จะเกิดการเมื่อยล้าได้ง่าย อีกอย่างทำให้การเล็งปืนไม่มั่นคงส่ายไปมาได้ การจับปืนในเวลาเล็ง จับปืนอย่าให้ปืนเอียงเพราะถ้าปืนเอียงจะทำให้วิถีกระสุนผิดไปจากเส้นเล็งและจงจำ ไว้ว่า

- เนื้อกับเนื้อจะแนบสนิท

- กระดูกกับกระดูกจะสั่นคลอนและเจ็บ

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติอยู่เสมอ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเกิดความเคยชินจะเป็นผลดีต่อท่ายิงปืนที่มั่นคงการยิงปืนให้แม่นยำนั้น ไม่จำเป็นว่าผู้ที่มีร่างกายกำยำใหญ่โตถึงจะยิงได้ดีกว่า จากผลพิสูจน์มาแล้วหลายครั้งผู้ที่มี ร่างกายเล็ก แต่ทำได้ถูกต้องตามวิธีกรรมของการยิง ก็เป็นนักแม่นปืนชั้นเยี่ยมมาแล้วมากต่อมาก

ค. การเล็ง

การเล็งเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่การยิงปืนทุกครั้งหรือทุกชนิดจะได้ผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการเล็ง การเล็งมีอยู่ ๒ อย่าง

๑. การเล็งศูนย์พอดี คือ การเล็งให้ยอดศูนย์หน้าอยู่กึ่งกลางวงกลมศูนย์หลัง ทั้งทางดิ่งและทางระดับ

๒. การเล็งศูนย์นั่งแท่น คือ การเล็งศูนย์พอดีให้ได้ และรักษาศูนย์พอดีเอาไว้แล้วเล็งให้ยอดศูนย์หน้าสัมผัสวงกลมดำทางทิศ ๖ นาฬิกา ในระยะ ๒๐๐ หลา เล็งกึ่งกลางวงกลมดำในระยะ ๓๐๐ หลา เล็งคอหรืออกในระยะ ๕๐๐ หลา

การเล็งปืนในการยิงทุกครั้ง จงจำไว้เสมอว่าให้เล็งศูนย์พอดีก่อนแล้วจึงเล็งศูนย์นั่งแท่นหากการเล็งศูนย์ พอดีไม่ถูกต้องและไปเล็งศูนย์นั่งแท่นก็ไร้ผล

ความผิดพลาดจากการเล็งศูนย์พอดีนั้น กระสุนจะถูกห่างจากเป้าวงกลมดำมากกว่าความผิดพลาดจากการเล็งศูนย์นั่งแท่น ดังนั้น แต่ละนัดของการเล็งยิง พยายามเล็งศูนย์พอดีก่อน แล้วจึงเลื่อนยอดศูนย์หน้าไปยังศูนย์นั่งแท่น

ง. การเล็ง เล็งศูนย์พอดีและศูนย์นั่งแท่นตามที่ได้เรียนมาแล้วการเล็งให้ทำไว้ก่อนการกลั้นลมหายใจอย่ากลั้นหายใจก่อนแล้วเล็งเพราะจะเสียเวลามาก

จ. สูดลมหายใจเข้าเต็มปอด ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ จนได้จุดที่สบายประมาณครึ่งหนึ่งแล้วกลั้นไว้เมื่อลมหายใจหมดเริ่มใหม่อย่าตัดสินใจลั่นไกเมื่อลมหายใจหมด การกลั้นลมหายใจแต่ละครั้งถ้าจังหวะยิงเร็วยิงได้ ๒ - ๓ นัด ถ้าจังหวะยิงช้ากลั้นหนึ่งครั้งต่อ ๑ นัด

ฉ. การลั่นไก เมื่อเล็งศูนย์พอดี ศูนย์นั่งแท่นได้ที่แล้วให้เหนี่ยวไกมาข้างหลังตรง ๆ อย่างช้า ๆ จนปืนลั่นโดยไม่รู้สึกตัว

กฎการลั่นไกทั้ง ๔ ข้อที่เป็นหัวใจในการยิงปืน ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องไม่ขาดข้อใดข้อหนึ่งการปฏิบัติให้ปฏิบัติติดต่อกันตลอดเวลา

ช. ข้อควรระมัดระวังในการลั่นไก

๑. เหนี่ยวไกด้วยนิ้วชี้ ระหว่างปลายนิ้วกับข้อต่อข้อแรก

๒. การเหนี่ยวไกให้เหนี่ยวมาข้างหลังตรง ๆ เพื่อป้องกันปืนไปทางขวาหรือทางซ้าย

๓. จิตใจอย่าจดจ่ออยู่ที่การลั่นไก ปล่อยให้เป็นไปตามอัตโนมัติให้รวมจิตใจไปจดจ่ออยู่ที่การเล็งศูนย์พอดี และศูนย์นั่งแท่น

๔. การยิงไปแต่ละนัดปืนต้องลั่นไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าผู้ยิงรู้ตัวว่าปืนจะลั่นแล้วโดยสัญชาติญาณทหารจะเกร็งกล้ามเนื้อเอาไว้คอยรับแรงถอยของปืน การเกร็งกล้ามเนื้อนี้จะทำให้การเล็งที่หมายคลาดเคลื่อนได้ คือเล็งศูนย์พอดีไม่ได้

๕. การยิงจังหวะเร็ว กระทำเช่นเดียวกับจังหวะช้า

ซ. การรายงานตำบลลั่นไก

การรายงานตำบลลั่นไก เป็นหนทางอันหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ยิงมีการลั่นไกดีขึ้นถ้าหากผู้ยิงทำการรายงานตำบลลั่นไกได้ถูกต้องตรงตามที่กระสุนไปถูกจริงแล้วแสดงว่าเวลาทำการยิง ผู้ยิงลืมตาและลั่นไกถูกต้องไม่กระตุกไกแต่ถ้าหากว่าผู้ยิงรายงานตำบลลั่นไกไม่ถูกต้องแสดงว่า ผู้ยิงไม่ทราบเส้นเล็งตรงไปยังที่ใดในเวลาทำการยิงแสดงว่าเวลาทำการยิงผู้ยิงกระพริบตาและปืนเขยื้อน ถ้ากระพริบตาหรือทำปืนเขยื้อนหากกระสุนถูกวงกลมดำก็ โดยบังเอิญเท่านั้น

การรายงานตำบลลั่นไกนั้น ผู้ยิงจะต้องรายงานทันที่ว่าเส้นเล็งชี้ไปตรงไหนของเป้าเมื่อปืนลั่นเช่น ๕นาฬิกา ๔ แต้ม ในเวลาฝึกก็ต้องรายงานด้วยทุกคนเพื่อให้เกิดความชำนาญในการเล็งและการรายงานตำบลลั่นไกดียิ่งขึ้น

การรายงานตำบลลั่นไกให้กระทำดังนี้ สมมุติให้วงกลมดำเป็นหน้าปัทม์นาฬิกามีเลข ๑๒ อยู่ข้างบนเลข ๖ อยู่ข้างล่าง ตัวอย่างการรายงาน

- ๔ นาฬิกา ๕ แต้ม

- ๑๒ นาฬิกา ๔ แต้ม

- ๓ นาฬิกา ๓ แต้ม

ฌ. การเล็งตาม

การเล็งตามเป็นวิธีที่จะสามารถรายงานตำบลลั่นไกและค้นหาข้อบกพร่องของท่ายิงได้ดีที่สุด การเล็งตามหมายความว่าหลังจากที่ผู้ยิงลั่นไกไปแล้วคงอยู่ในท่าเล็งตามเดิมสัก ๒ - ๓ วินาที โดยผู้ยิงยังคงกลั้นลมหายใจอยู่ เล็งอยู่แล้วนิ้วชี้ยังคงเหนี่ยวไกอยู่อย่างเดิมปฏิบัติเช่นนี้จะเห็นอย่างชัดแจ้งที่เดียวว่าอะไรเป็นเหตุให้การยิงคลาดเคลื่อน

การเล็งที่หมายนั่งแท่นคลาดเคลื่อนเล็กน้อยขณะที่ลั่นไกผู้ยิงก็สามารถรายงานตำบลลั่นไกได้ถูกต้องผู้ยิงมักจะเอาพานท้ายออกจากบ่าหรือหลบศีรษะออกจากพานท้ายรวดเร็วมากหลังจากที่ลั่นไกไปแล้วอาการกระตุกไกเหล่านี้บางทีทำก่อนปืนลั่นเสียอีกการฝึกให้ผู้ยิงเล็งตามจะบังคับมิให้อาการกระตุกไกเกิดขึ้น

การปรับศูนย์ และการแก้ทิศทางลม ปลย.เอ็ม.๑๖

กล่าวนำ

ถึงแม้ว่าจะเรียนเรื่องอาวุธศึกษามาอย่างเชี่ยวชาญแล้วก็ตาม แต่ไม่รู้จักใช้อาวุธนั้นก็ไร้ประสิทธิภาพอาวุธจะพาไปให้ข้าศึกยิง ไม่ใช้นำอาวุธไปยิงข้าศึก อาวุธจะเกิดประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อรู้จักใช้และที่สำคัญคือต้องรู้จักการปรับศูนย์และการแก้ทิศทางลม เพื่อปรับตำบลกระสุนให้ถูกเป้าหมายที่เราต้องการ

๑. ศูนย์ปืน

ศูนย์ของปืน ปลย.เอ็ม.๑๖ เป็นศูนย์ที่สามารถปรับเลื่อนได้ทั้งมุมสูงและมุมทิศการปรับเลื่อนมุมทิศปรับที่ ศูนย์หลัง ส่วนการปรับเลื่อนมุมสูงปรับที่ศูนย์หน้า

ก. ศูนย์หลัง ประกอบด้วยช่องเล็ง ๒ ช่อง และมีควงมุมทิศพร้อมด้วยเดือยบังคับ ช่องเล็งศูนย์หลังที่มี เครื่องหมาย " L " ใช้สำหรับระยะยิงตั้งแต่ ๓๐๐ เมตรขึ้นไป และช่องเล็งศูนย์หลังที่ไม่มีเครื่องหมายสำหรับ ระยะยิงตั้งแต่ ๐ ถึง ๓๐๐ เมตร การปรับทางทิศ กระทำได้โดยการกดเดือยบังคับด้วยวัตถุปลายแหลมและหมุน ควงมุมทิศทางที่ต้องการให้ตำบลกระสุนถูกเปลี่ยนไป การหมุนตามเข็มนาฬิกา ๑ คลิ๊ก ตำบลกระสุนจะถูกเปลี่ยน ไปทางขวา ๒.๘ ซม. ทุก ๆ ๑๐๐ เมตร ของระยะยิง

ข. ศูนย์หน้า ประกอบด้วยแท่นศูนย์หน้าชนิดหมุนได้และเดือยบังคับ กดเดือยบังคับด้วยวัตถุที่แหลมหมุนแท่นศูนย์หน้าไปในทิศทางที่ยกขึ้น หรือทำให้ตำบลกระสุนต่ำลง การหมุนแท่นศูนย์ไปในทิศทางเครื่องหมายลูกศร" UPจะยกตำบลกระสุนถูกให้สูงขึ้น แต่ละคลิ๊กของแท่นศูนย์ที่หมุนจะทำให้ตำบลกระสุนถูกเปลี่ยนไป ๒.๘ ซม. ทุก ๆ๑๐๐ เมตร ของระยะยิง

๒. การตั้งศูนย์ตามระยะยิง

เริ่มแรกให้ดำเนินการตั้งศูนย์ทางช่างเสียก่อน คือ ศูนย์หน้า หมุนแท่นศูนย์หน้าให้เสมอกับฐานแท่นศูนย์,ศูนย์หลังหมุนควงมุมทิศทวนเข็มนาฬิกาจะทำให้ช่องเล็งศูนย์หลังเลื่อนไปทางซ้ายให้หมุนต่อไปจนกระทั่งสุดระยะเสร็จแล้วให้หมุนควงมุมทิศกลับ (หมุนตามเข็มนาฬิกา) ไปจำนวน ๑๗ คลิ๊ก มุมทิศจะอยู่กึ่งกลางเมื่อตั้งศูนย์ทางช่างได้ เรียบร้อยแล้ว ให้ตั้งศูนย์ตามระยะยิงดังนี้

ก. ระยะ ๑๘๓ เมตร (๒๐๐ หลา) ตั้งมุมสูง ๒๔ คลิ๊ก (แท่นศูนย์หน้าให้เสมอกับฐานแท่นศูนย์) ที่ศูนย์หน้าศูนย์หลังปรับให้มีค่าเป็นศูนย์ทางช่าง (กึ่งกลาง)ขั้นการปรับศูนย์เริ่มแรกควรจะเริ่มจากระยะยิงนี้การแก้ทางทิศถ้าไม่จำเป็นแล้วไม่ควรปรับเกินกว่า ๖ คลิ๊ก การเล็งให้ใช้จุดเล็งที่ ๖ นาฬิกา

ข. ระยะ ๒๗๔ เมตร (๓๐๐ หลา) การตั้งศูนย์คงกระทำเช่นเดียวกันกับระยะ ๑๘๓ เมตร แต่ตำบลเล็งให้เล็งที่กึ่งกลาง

ค. ระยะ ๔๖๐ เมตร (๕๐๐ หลา) การตั้งศูนย์คงกระทำเช่นเดียวกับระยะ ๑๘๓ เมตร แต่ยกช่องเล็งระยะไกลขึ้น และตำบลเล็งจับบริเวณคอ หรืออกของภาพเงาดำ