การเก็บรักษาและปรนนิบัติบำรุง

การเก็บรักษาและการปรนนิบัติบำรุง

 

ก. ข้อควรระมัดระวังในการเก็บรักษาโดยทั่วไป

           ๑. อาวุธนำวิถีดรากอน เป็นอาวุธที่มีแรงขับดันส่งไปได้ไกล ดังนั้น

                  ก) เมื่อเก็บในคลังมูลดิน ต้องหันหัวเข้าหาฝาท้ายคลัง

                  ข) เมื่อเก็บในคลังชั่วคราวหรือคลังอื่น ๆ ที่ฝาคลังไม่แข็งแรงเหมือนคลังมูลดินจะต้องไม่หันหัวไป หาแหล่งชุมชน เช่นโรงเลี้ยงอาหาร, แหล่งรวมรถ, ที่พักอาศัย, ถนนสาธารณะ เป็นต้น

               ๒. อาวุธนำวิถีดรากอน มีส่วนประกอบเป็นวัตถุระเบิด ถึงแม้จะออกแบบมาให้มีความปลอดภัยสูง คงทนต่อสภาพต่าง ๆ แต่โดยเนื้อหาก็ยังเป็นสิ่งที่มีอันตรายอยู่ ดังนั้นการปฏิบัติการต่าง ๆ ต่ออาวุธนี้ จะต้องกระทำ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจอย่างดีต่อภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

           ๓. การวางแผนผังในการซ่อมอาวุธนำวิถี และการกำหนดจุดปฏิบัติการต่าง ๆ จะต้องยึดถือระยะห่าง ตามตารางปริมาณ - ระยะ (Quantity Distance) ที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด

           ๔. การหยิบยกขนย้าย

                        ก) ต้องจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่และจำนวนวัตถุที่จะก่อให้เกิดอันตรายให้มีจำนวนน้อยที่สุด

                  ข) ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังตลอดเวลา

                  ค) ห้ามกลิ้ง โยน ทิ้ง ฉุดลาก กระเถิบไปบนพื้น หรือให้หีบกระทบกระแทกกัน

                  ง) เครื่องมือยกขนทุกชนิดจะต้องได้รับอนุมัติให้ใช้เป็นเครื่องมือยกขนกระสุนวัตถุระเบิดได้ และได้รับการทดสอบข้อจำกัดต่าง ๆ ถูกต้องแล้ว

           ๕. การป้องกันเพลิง

                  ก) บริเวณรอบ ๆ ที่ตั้งคลังต้องไม่มีใบไม้หรือหญ้าแห้งและเชื้อเพลิง ต้องมีเขตกันเพลิง

                  ข) ต้องมีเครื่องมือดับเพลิง และถังใส่น้ำดับเพลิง (อย่างน้อยจุน้ำได้ ๒ ถังหูหิ้ว)

                  ค) ห้ามนำไม้ขีด เครื่องจุดไฟ หรือสิ่งที่จะทำให้เกิดเปลวเพลิงเข้าใกล้กองกระสุน

                  ง) ไม่ควรใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหรือของเหลวที่ไวไฟสูงทำความสะอาดอาวุธนำวิถี

                  จ) ของเหลวที่ไวไฟรวมทั้งสี จะต้องเก็บห่างจากอาวุธนำวิถีอย่างน้อย ๕๐ ฟุต

                  ฉ) จะต้องเก็บอาวุธนำวิถีห่างจากที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้.-

                         ๑) ที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงใต้ดินพร้อมปั๊มสูบจ่ายน้ำมันต้องห่างอย่างน้อย ๓๐๐ ฟุต

                         ๒) ที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงบนดินพร้อมปั๊มสูบจ่าย  (ไม่รวมหน่วยจ่ายย่อยเคลื่อนที่)  จะต้องอยู่ ห่าง ๑๘,๐๐๐ ฟุต

                         ๓) หน่วยจ่ายน้ำมันย่อยเคลื่อนที่จุไม่เกิน ๒๕๐ แกลลอน ควรอยู่ห่างอย่างน้อย ๙๐ ฟุต

           ๖. การป้องกันเกี่ยวกับไฟฟ้า

                  ก) วัตถุระเบิดที่รวมอยู่กับส่วนประกอบไฟฟ้า  จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้าชักนำขึ้น เช่น ไม่ให้อยู่ในรัศมีชักนำของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความถี่สูง สายไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น

                  ข) เมื่อนำอาวุธนำวิถีออกจากหีบห่อทุกครั้งจะต้องปล่อยกระแสไฟฟ้าลงดิน เพื่อป้องกันไฟฟ้าสถิตย์หรือกระแสไฟฟ้าตกค้างอยู่ไม่ให้จุดวัตถุระเบิดโดยอุปัทวเหตุ

                  ค) สายไฟฟ้าที่อยู่บนเสาไฟฟ้า จะต้องอยู่ห่างจากที่เก็บอาวุธนำวิถีอย่างน้อยเท่ากับความยาวของ เสา แต่ต้องไม่ต่ำกว่า ๕๐ ฟุต

ข. การเก็บรักษาอาวุธนำวิถีดรากอน

           ๑. หีบห่อที่ใช้ในการเก็บรักษาและขนส่ง อาวุธนำวิถีดรากอน

                  ก) ในการเก็บรักษาอาวุธนำวิถีดรากอน จะต้องใส่ไว้ในหีบโดยเฉพาะของมันตลอดเวลา ถ้าไม่ จำเป็นจริง ๆ ห้ามเปิดหีบห่อ เพราะจะทำให้ความชื้นเข้าไปทำให้อาวุธนำวิถีเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ

             ข) หีบห่อเก็บรักษาและขนส่งจะมีเลขงานและวันเดือนปีที่จะสามารถพิจารณาถึงการสิ้นอายุการเก็บรักษาของอาวุธนำวิถีดรากอนที่บรรจุอยู่ภายในหีบด้วย

           ๒. คลังเก็บรักษา

                  ก) คลังหรือสิ่งที่จะใช้เก็บรักษาอาวุธนำวิถีดรากอน  จะต้องสามารถป้องกันอาวุธนำวิถีไม่ให้เกิด ความเสียหาย เสื่อมสภาพ และเป็นสนิมสึกกร่อนระหว่างการเก็บรักษา

                  ข) ควรเป็นคลังมูลดิน (IGLOO TYPE) หรืออาคารอื่นที่ออกแบบไว้โดยเฉพาะ ไม่ควรเก็บไว้ใน อาคารที่สร้างขึ้นมาเพื่อความมุ่งหมายอื่น (ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เก็บกระสุนวัตถุระเบิด)

                  ค) ถ้าคลังที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เก็บกระสุนวัตถุระเบิดโดยเฉพาะไม่มี อาคารอื่นที่นำมาเก็บอาวุธนำวิถีดรากอนจะต้องสามารถป้องกันความชื้นได้ดี และมีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ

ค. การปรนนิบัติบำรุง

           ๑. การทาสีทำเครื่องหมาย

                  ก) การทาสีจะจำกัดให้กระทำได้เฉพาะส่วนที่สัมผัสได้ตามปกติเท่านั้น (ห้ามถอดชิ้นส่วนออกมาทาสี)

                  ข) การทำเครื่องหมายใหม่ให้ทำได้ตามต้องการ

                  ค) เครื่องหมายข้อมูลต่าง ๆ และเลขงานที่ลบเลือนให้รีบทำใหม่ให้ถูกต้องก่อนที่จะอ่านไม่ออก

                  ง) เมื่อเปลี่ยนหีบห่อใหม่ จะต้องทำเครื่องหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้องตรงตามชนิดของอาวุธนำวิถีที่บรรจุอยู่ภายใน

           ๒. การทำความสะอาด

                  ก) การทำความสะอาดอาวุธนำวิถีให้ใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาด ๆ เช็ด

                  ข) อย่าใช้น้ำมันหล่อลื่นทาอาวุธนำวิถี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขาทราย

                  ค) ถ้าอาวุธนำวิถีเปื้อนน้ำมันหรือไขข้น ให้ใช้ผ้าหรือสำลีที่สะอาดชุบแอลกอฮอล์เช็ดออก

                  ง) การทำความสะอาดสายสะพายและเข็มขัดรัดขาทรายให้ใช้แปรงแข็ง ๆ ขัดถูให้ฝุ่นผงที่สกปรก ออกไป แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด