การทำงานของเครื่องกลไก 

การทำงานของเครื่องกลไก

ก. กล่าวทั่วไป

           ๑. พลประจำปืนจะต้องมีความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการทำงานของปืนและการทำงานตามหน้าที่ของชิ้นส่วนต่าง ๆ ของปืนชี้ที่หมายเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาให้สามารถใช้อาวุธทำการยิงได้โดยตลอดเวลา

           ๒. ปืนชี้ที่หมายแบ่งการทำงานออกได้เป็น ๓ ขั้นตอนคือ

                  ก) การทำงานของเครื่องควบคุมการลั่นไก

                  ข) การเคลื่อนที่มาข้างหลังของแท่งลูกเลื่อน

                  ค) การเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของแท่งลูกเลื่อน

           ๓. การทำงานของปืนทั้งสามขั้นตอนดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งวงรอบการทำงานโดยสมบูรณ์

ข. การทำงานของเครื่องควบคุมการลั่นไก

           ๑. เมื่อพลยิงมีความประสงค์จะทำการยิงปืนชี้ที่หมายขนาด .๕๐ นิ้ว ให้พลยิงดึงปุ่มลั่นไกที่อยู่บนฐานปืนเอ็ม.๗๙ เข้ามาหาตัว ในขณะที่พลยิงดึงปุ่มลั่นไกเข้ามาหาตัวนี้เอง ชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็จะเกิดการทำงานขึ้นดังต่อไปนี้ คือ

                  ก) ปลายลูกกลมของสายไกจะสอดเข้าไปในร่องบากที่อยู่ในเหล็กปลดกระเดื่องไกในขณะที่สายไกเคลื่อนที่ไปข้างหน้า สายไกก็จะดึงเอาเหล็กปลดกระเดื่องไกให้หมุนอยู่บนสลักเหล็กปลดกระเดื่องไกนั้น

                  ข) ที่เหล็กปลดกระเดื่องไก จะมีคันบังคับกระเดื่องไกสอดเข้าไปอยู่ในกระเดื่องไก เมื่อเหล็กปลดกระเดื่องไก เมื่อเหล็กปลดกระเดื่องไกหมุนจะทำให้กระเดื่องไกหมุนอยู่บนสลักเหล็กปลดกระเดื่องไกด้วย

                  ค) เมื่อนกปืนอยู่ในตำแหน่งขึ้นนก ร่องบากกระเดื่องไกที่อยู่บนนกปืนจะขัดอยู่กับปลายกระเดื่องไกนกปืน จะหลุดจากการขัดอยู่กับปลายกระเดื่องไกเมื่อกระเดื่องไกหมุน เมื่อนกปืนหลุดจากการขัดอยู่กับปลายกระเดื่องไกแล้ว นกปืนจึงมีอิสระที่จะหมุนอยู่บนสลักนกปืน (ด้วยแรงขยายของแหนบนกปืน) แล้วจะไปกระแทกเข้ากับเข็มแทงชนวน

                  ง) ปลายทางด้านยาวของแหนบนกปืน จะวางกดอยู่บนฐานของกระเดื่องไก จึงทำให้ปลายกระ-เดื่องไกขัดกับร่องบากกระเดื่องไกที่อยู่บนนกปืนได้อย่างถูกต้อง เมื่อนกปืนขยายตัวกลับมาอยู่ในตำแหน่งขึ้นนก

                  จ) ในขณะที่สายไกเคลื่อนที่มาข้างหลัง สายไกจะทำหน้าที่ขัดเหล็กรองแหนบเหล็กปลดกระเดื่องไกจึงทำให้แหนบเหล็กปลดกระเดื่องไกขยายตัว และบังคับให้เหล็กปลดกระเดื่องไกกระแทกกระเดื่องไกในขณะที่สายไกอ่อนแรงลง

                  ฉ) เมื่อดึงห้ามไกออกมาทางข้างหลัง ปุ่มห้ามไกจะเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ใต้กระเดื่องไกเมื่อดึงสายไกจึงจะเป็นการกระตุ้นเครื่องกลไกเกี่ยวกับการยิง ปุ่มห้ามไกนี้จะเป็นตัวบังคับไม่ให้กระเดื่องไกหมุนอยู่บนสลักเหล็กปลดกระเดื่องไกได้ และในทำนองเดียวกันก็จะเป็นการบังคับไม่ให้นกปืนหลุดออกจากการขัดอยู่กับปลายกระเดื่องไกด้วย

ค. การเคลื่อนที่มาข้างหลังของแท่งลูกเลื่อน

           เมื่อแท่งลูกเลื่อนเคลื่อนที่มาข้างหลังจะทำให้เกิดการทำงานขึ้นตามลำดับดังต่อไปนี้

           ๑. การทำงานของแก๊ส เมื่อได้ยิงกระสุนออกไปหนึ่งนัด แก๊สที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของดินส่งกระสุนจะมีผลทำให้ชิ้นส่วนในการทำงานมีการเคลื่อนที่ถอยไปข้างหลัง ในขณะที่กระสุนแล่นผ่านช่องระบายแก๊สเข้าไปนั้น จะมีแก๊สส่วนหนึ่งไหลผ่านเข้าไปทางช่องระบายแก๊สไปอยู่ในกระบอกสูบและจะปะทะกับหน้าลูกสูบซึ่งจะมีผลผลักดัน ให้ก้านสูบเคลื่อนที่ถอยไปข้างหลัง

           ๒. การทำงานของก้านสูบและแหนบก้านสูบ ในขณะที่ก้านสูบเคลื่อนที่มาข้างหลังนั้น ก้านสูบจะกดแหนบก้านสูบให้อัดตัวเข้ามาด้วย และบังคับให้โครงลูกเลื่อนพลอยเคลื่อนที่มาข้างหลังด้วย (เพราะว่าก้านสูบสัมผัสติดอยู่กับโครงลูกเลื่อน) เมื่อก้านสูบเคลื่อนที่ถอยมาข้างหลัง จนบ่าของก้านสูบปะทะกับห้องลูกเลื่อนแล้วแหนบก้านสูบจะขยายตัว และส่งก้านสูบให้เคลื่อนที่กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม

           ๓. การปลดกลอน ในขณะที่โครงลูกเลื่อนเคลื่อนที่มาข้างหลังได้ประมาณครึ่งนิ้ว โครงลูกเลื่อนจะไปปะทะกับส่วนของแท่งลูกเลื่อน ที่มีลักษณะเป็นบากเบี้ยว ซึ่งจะมีผลทำให้ท้ายแท่งลูกเลื่อนไปทางขวาและหลบเข้าไปอยู่ในโครงลูกเลื่อนในลักษณะที่ไม่มีโอกาสที่จะปะทะกับแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อนในทางด้านซ้ายของห้องลูกเลื่อนได้เลย ลักษณะดังกล่าวนี้จึงทำให้ลูกกระสุนหลุดพ้นออกไปจากปากลำกล้องปืน และช่วยลดแรงกดดันในรังเพลิงให้มีน้อยลงก่อนที่แท่งลูกเลื่อนจะปลดกลอน

           ๔. การรั้งปลอกกระสุน เนื่องจากว่าขอรั้งปลอกกระสุนจะจับอยู่ที่จานท้ายปลอกกระสุนในขณะที่กระสุนอยู่ในรังเพลิง เพราะฉะนั้นในขณะที่แท่งลูกเลื่อนเคลื่อนที่มาข้างหลัง ขอรั้งปลอกกระสุนจึงได้ดึงเอาปลอกกระสุนเปล่าออกมาจากรังเพลิงด้วย

           ๕. การถอนเข็มแทงชนวน ในขณะที่โครงลูกเลื่อนเคลื่อนที่มาข้างหลังได้ประมาณครึ่งนิ้วนั้น โครงลูกเลื่อนจะบังคับ ให้ขอยึดเข็มแทงชนวนเลื่อนลงมาอยู่ทางข้างหลัง และในทำนองเดียวกันจะบังคับให้เข็มแทงชนวนถอยออกมาจากท้ายปลอกกระสุนเปล่าแล้วเคลื่อนที่ถอยมาข้างหลังด้วย

           ๖. การคัดปลอกกระสุน เมื่อจานท้ายปลอกกระสุนได้เคลื่อนที่หลุดพ้นออกมาจากท้ายรังเพลิงแล้ว เหล็กคัดปลอกกระสุน (ซึ่งติดอยู่ทางด้านหลังของช่องกระสุน) จะทำหน้าที่ปัดจานท้ายปลอกกระสุนและคัดปลอกกระสุนให้กระเด็นออกไปจากห้องลูกเลื่อน

           ๗. การขึ้นนก ในขณะที่โครงลูกเลื่อนเคลื่อนที่ต่อไปยังข้างหลังนั้น โครงลูกเลื่อนจะขี่อยู่บนหลังนกปืนและบีบบังคับให้นกปืนหมุนตัวไปทางข้างหลัง เมื่อนกปืนหมุนตัวไปทางข้างหลังจนสุดแล้วปลายกระเดื่องไกจะเกาะติดอยู่ที่ช่องบากกระเดื่องไกของนกปืนไว้ให้อยู่ในตำแหน่งขึ้นนก

           ๘. การสิ้นสุดการเคลื่อนที่มาข้างหลัง การเคลื่อนที่มาหลังจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อโครงลูกเลื่อนได้เคลื่อนที่มาปะทะกับกันชนของแผ่นปิดท้ายห้องลูกเลื่อน และในขณะนี้เองแหนบส่งลูกเลื่อนทั้งสองตัวก็จะอัดตัวเข้าไปอยู่ในช่องของมันที่อยู่ในโครงลูกเลื่อน

ง. การเคลื่อนที่ไปข้างหน้าของแท่งลูกเลื่อน

           เมื่อลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้า จะทำให้เกิดการทำงานขึ้นตามลำดับดังต่อไปนี้ คือ

           ๑. การป้อนกระสุน เมื่อโครงลูกเลื่อนได้เคลื่อนที่มาข้างหลังจนสุดแล้ว เหล็กรองกระสุนของซองกระสุนจะทำหน้าที่ดันกระสุนนัดบนสุด ให้เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในร่องทางเดินของโครงลูกเลื่อนโดยอาศัยการทำงานของแหนบส่งเหล็กซองกระสุน

           ๒. การนำกระสุนเข้าสู่รังเพลิง ในขณะที่โครงลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยแรงขยายตัวของแหนบส่งลูกเลื่อนนั้น หน้าโครงลูกเลื่อนจะทำหน้าที่ปลดกระสุนนัดบนสุดออกจากซองกระสุนแล้วดันเอากระสุนนัดนี้เข้าไปอยู่ในรังเพลิง เมื่อโครงลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจนสุดแล้วขอรั้งปลอกกระสุนก็จะจับเอาจานท้ายปลอกกระสุนไว้พอดี

           ๓. การขัดกลอน เมื่อแท่งลูกเลื่อนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจนสุดแล้วแหนบส่งลูกเลื่อนทั้งสองตัวจะทำหน้าที่ผลักดันโครงลูกเลื่อน ให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอีกจนกว่าส่วนขัดกลอนที่อยู่บนโครงลูกเลื่อนจะขัดกลอนกับส่วนขัดกลอนที่อยู่บนแท่งลูกเลื่อน การขัดกลอนดังกล่าวนี้ ย่อมจะทำให้ท้ายลูกเลื่อนหันไปทางด้านซ้ายของลูกเลื่อน

         ๔. การสิ้นสุดการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า การสิ้นสุดการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อด้านหน้าของโครงลูกเลื่อนได้เคลื่อนที่ไปปะทะกับด้านหลังของรังเพลิง