ประเพณีปีใหม่เมือง

ประเพณีปีใหม่เมือง : ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง

สงกรานต์หรือทางล้านนาเรียกว่า "ปีใหม่เมือง" และคำว่าสงกรานต์ ทางเหนือทางล้านนาจะออกเสียงตัว กร ว่า "ขาน-สัง" ก็มี "สังขานต์"

สงกรานต์ มาจากคำสันสกฤต สงฺกฺรานฺติ คือ สังกรานติ หรือสังกรานติ์ แปลว่าคติ (ทาง) ของดวงอาทิตย์ หรือดาวนพเคราะห์ที่ย้ายจากฎจักร (จักรราศี, ราศี) หนึ่ง ไปสู่อีกภูจักรหนึ่งคติ คือ การไป ในความหมายทางโหราศาสตร์ไทย มีความหมายถึง ก้าวขึ้นย่างขึ้น หรือการเคลื่อนย้าย (เคลื่อนที่) 

แปลความได้ว่า พระอาทิตย์ย่างขึ้น (เข้า) สู่ราศีใหม่ซึ่งตามโหราศาสตร์จะนับเอาเฉพาะ ย้ายจากราศีมีนไปสู่ราศีเมษเท่านั้น เพราะเป็นวันที่พระอาทิตย์มาใกล้โลกมากที่สุดและการนับในกลางวันและกลางคืนจะเท่ากัน คือ กลางวัน 12 ชั่วโมงเต็ม กลางคืน 12 ชั่วโมงเต็ม ทำให้ในวันนั้นจึงมี 24 ชั่วโมงเต็มจึงนับวันนั้นเป็น "วันขึ้นปีใหม่"

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเวลาจากปีเก่า ขึ้นสู่ปีใหม่ของชาวล้านนาแต่โบราณกาล และสิ่งที่ต้องการทั่วไป คือ หวังจะให้สิ่งที่เลวร้ายในปีที่ผ่านมาตกไปกับปีเก่า ขณะเดียวกันก็อยากให้สิ่งที่ดี ๆ บังเกิดขึ้นในปีใหม่ที่จะมาถึง กิจกรรมทางความเชื่อจึงถูกคิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว จนกลายเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบมา

ประวัติวันปีใหม่เมือง

ประเพณีสงกรานต์ คือ ปีใหม่ หรือ ปีใหม่เมืองของชาวเหนือ ซึ่งจะกำหนดเอาตามการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์โดยพระอาทิตย์จะย้ายจากราศีมีนไปสู่ราศีเมษในเวลาใด เดือนใด ก็ถือว่าวันนั้น เดือนนั้น เป็นปีใหม่ นับตั้งแต่ชาวล้านนา ได้ใช้การนับปี ตามจุลศักราชแบบพม่า  เมื่อครั้งจุลศักราช 1 นั้น ปีใหม่ตกอยู่ในเดือนมีนาคม แต่ในปัจจุบันนี้จะอยู่ในเดือนเมษายน จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นประเทศไทยก็ใช้ตามที่ทางการประกาศ ดังเช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้เปลี่ยนไปใช้วันขึ้นปีใหม่ ในวันที่ 1 เมษายน และเริ่มใช้ใน พ.ศ. 2432 เป็นต้นมาซึ่งแต่ก่อนนั้นประเทศไทยจะใช้การนับขึ้นปีใหม่ในวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย

จนกระทั่งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้พิจารณาเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่ของไทยไม่ถูกต้องตามหลักสากลนิยมจึงได้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2484 เป็นต้นมาด้วยเห็นว่าวันที่ 1 มกราคมใกล้เคียงกับเดือนอ้ายของเดิมส่วนประเพณีสงกรานต์ก็ยังคงไว้ตามเวลาเดิม

ชาวล้านนาแม้จะเปลี่ยนแปลงปีใหม่เป็นวันใด ก็ยังยึดมั่นเอาวันที่พระอาทิตย์ย้ายราศีเป็นวันปีใหม่โดยตลอดและปีใหม่ของล้านนาจะมีวันใหญ่ๆอยู่ 5 วันคือ

แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการประกาศหยุดราชการเพียง 3 วัน โดยเหตุนี้ วันปากปี และวันปากเดือนจึงไม่ค่อยมีใครทำกิจกรรม จึงเหลือวันใหญ่ๆเพียง 3 วัน คือ วันสังขานต์ล่อง วันเนา และวันพระยาวัน

คำสำคัญของวันปีใหม่เมือง

ด้านครอบครัว ทำให้สมาชิกครอบครัวได้มีโอกาสมาพบกัน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที ลูกหลานมารดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่มอบของขวัญรวมทั้งทำบุญอุทิศส่วนกุศลแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับไปแล้ว

ด้านชุมชน ก่อให้เกิดความสามัดคีในชุมชนมีการร่วมกันทำบุญให้ทานพบปะสังสรรค์ สนุกสนานรื่นเริง

ด้านสังคม ทำให้รู้จักสิ่งแวดล้อมเอื้อเฟื้ออาทรระหว่างกันช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ที่สาธารณะและอาคารสถานที่หน่วยงานต่าง ๆ

ด้านศาสนา ช่วยกันทะนุบำรุงพระศาสนา มีการทำบุญ ตักบาตร เลี้ยงพระปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระ เป็นต้น

วันที่ 13 เมษายน : วันสังขานต์ล่อง

วันสังขานต์ล่อง หมายถึง วันที่ปีเก่าจะผ่านพ้นไป หากจะกล่าวในแง่ของดาราศาสตร์ คือ วันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปีเก่าที่กำลังจะผ่านพ้นไปคำว่า "ล่อง" ในภาษาล้านนา หมายถึง ล่วงไป หรือ ผ่านไปนั่นเอง มีการคำนวณตามหลักของคัมภีร์สุริยยาตร์ และตำราเพทางคศาสตร์มักตรงกับวันที่ 13 เมษายน เป็นส่วนใหญ่วันสังขานต์ล่องของชาวล้านนา

ความหมายของคำนี้มีผู้อธิบายไว้หลายอย่าง เช่น

1. หมายถึง สังขาร คือร่างกายของคนเรา

2. หมายถึง บุคคลผู้จะนำพาความชั่วร้ายความไม่ดีไม่งาม เคราะห์ร้ายต่าง ๆ ออกไปจากตัวเรา ในรอบ 1 ปี จึงเรียกว่าปู่สังขานต์ย่าสังขานต์ วันสังขานต์ล่องจึงเป็นวันที่ทุกคนจะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อรอดู ปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ที่เล่ากันว่าจะหาบข้าวของพะรุงพะรังมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ หรือบางทีก็ล่องเรือไปตามลำน้ำ

ปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์

ชาวล้านนาสร้างบุคลาธิษฐานของวันสังขานต์ล่องในรูปแบบของตัวสังขานต์ คือ "ปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์" มีลักษณะเป็นคนแก่ผมเผ้ารุงรัง นุ่งห่มสีแดง ถือตะกร้ามาทางเรือ หรือหาบกระบุงมาตามทาง ตัวสังขานต์ทั้งสองทำหน้าที่เก็บกวาดขยะมูลฝอยตามที่ต่างๆ ดังนั้นพวกผู้ใหญ่จึงมีกุศโลบายให้เด็กๆ รีบตื่นแต่เช้ามาช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน และให้คอยเฝ้าดูตัวสังขานต์ และเมื่อเสร็จจากการทำความสะอาดจึงมีการยิงปืน จุดพลุ เพื่อขับไล่ตัวสังขานต์ อย่างไรก็ตามเรื่องของตัวสังขานต์นี้ไม่ปรากฎว่ามีผู้พบเห็นแต่อย่างใด แท้จริงแล้วตัวสังขานต์ คือ สัญลักษณ์ของวันเวลาที่ผ่านเลยไป ขยะมูลฝอยคือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา หรือสิ่งอัปมงคล และการจุดประทัดนั้นเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการขับไล่สิ่งไม่ดีทั้งปวงให้ผ่านพ้นไปกับปีเก่า และในขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณเตือนถึงเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกปีหนึ่ง จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาทนั่นเอง

กิจกรรมสำคัญที่ขาวล้านนานิยมปฏิบัติกันในวันสังขานต์ล่องนี้ คือ การปัดกวาดทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะหยากไย่ใยแมงมุม และฝุ่นตามซอกมุมบ้าน ตลอดจนทำการซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่ม และนำเครื่องนอนออกมาตาก ตบฝุ่นให้สะอาดไม่เหม็นอับ เพราะปีหนึ่งจะมีการทำความสะอาดใหญ่สักครั้งหนึ่ง การซักผ้าเครื่องนอนจำนวนมากเช่นนี้ บางทีจะหาบใส่ตะกร้าไปซักตามแม่น้ำใหญ่ถือเป็นการชำระสิ่งสกปรก เสนียดจัญไรให้ไหลล่องไปตามลำน้ำตลอดจนชำระกายใจให้สะอาดและนุ่งผ้าใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลเตรียมต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

วันสังขานต์ล่อง ถือเป็นวันที่ทำความสะอาดครั้งใหญ่ของบ้าน ซักผ้า ปัดกวาดสิ่งสกปรก ชำระล้างรูปเคารพ โดยเฉพาะการดำหัวตนเองดังใน ประกาศสงกรานต์ที่ระบุไว้ว่าต้องเป็นวันสังขานต์ส่องไว้ว่า

"ในวันสังขานต์ไพนั้นจุ่งหื้อครูบาอาจารย์ เจ้านายท้าวพระญา เสนาอามาตย์ ข้าราชการ ไพร่ ราษฎรทั้งมวล เอากันไพสูโปกชรณี แม่น้ำ เค้าไม้ใหญ่ จอมปลวกใหญ่ หนทางไฅว่สี่เส้นสุมกัน อว่ายหน้าสู่ทิศสะหนใต้ อาบองค์สรงเกศเกล้าเกสี ปลีนี้สรีอยู่ที่ปาก หื้อเอาน้ำอบน้ำหอมเช็ดปาก กาลกิณีอยู่ดัง จังไรอยู่หลัง หื้อเอาน้ำหมิ้นส้มป่อยเช็ดฅว่างไพเสีย" แล้วกล่าวคาถาว่า 

"อม สิริมา มหาสิริ มา เตช ยส ลาภา อายุ วณฺณา ภวนฺตุเม" ดังนี้ แล้วลอยจังไรในที่ทังหลายฝูงนั้น แล้วซึ่งมานุ่งผ้าครัวผืนใหม่ แล้วทัดทรงเชิ่งดอกกาแกด อันเปนดอกไม้นามปลี ค็หากจักมีอายุทีฆายื่นยาวไพชะแล" และทำความสะอาดรอบวัดและหมู่บ้าน

หมายเหตุ. ภาพจาก สืบสารประเพณีปีใหม่เมือง, โดยศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, 2559, จาก https://issuu.com/rmutlculture/docs/____________________________________2e4c80c204ee2d

การดำหัว ตนเอง

หมายเหตุ. ภาพจาก ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง, โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , 2555, จาก https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/newsyear-sangkan.php

ชาวล้านนามีความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน คือ "การดำหัว" หรือสระผมของตนเองด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งถือเป็นน้ำบริสุทธิ์สะอาดและเป็นมงคลเพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลให้ออกจากชีวิตรายละเอียดเฉพาะพิธีกรรมสระเกล้าดำหัวนั้น ถ้าจะให้ศักดิ์สิทธิ์ โบราณท่านให้หาน้ำจากแม่น้ำเจ็ดสาย จากบ่อน้ำเจ็ดบ่อและน้ำจากวัดสำคัญอีกเจ็ดแห่ง มาใส่ไว้ในภาชนะประเภทขันน้ำซึ่งหากจะให้เข้มขลังมีพลัง ต้องเป็นขันที่ลงอักขระเป็นรูปยันต์บริเวณกันขันด้านใน จากนั้นให้หาฝักแห้งของส้มป่อยที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ขึ้นในป่าช้า หรือเป็น "ส้มป่อยงำเงา" คือ ขึ้นริมน้ำและมีเงาพาดบนผิวน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำ สระน้ำ หรือแม่น้ำก็ตาม ที่สำคัญต้องเป็น ฝักส้มป่อยที่มีจำนวนเจ็ดข้อ ให้ได้จำนวนเจ็ดฝักแต่ละฝักให้นำไปปิ้งไฟจากกองไฟที่ก่อขึ้นนอกชายคาบ้าน และกองไฟนั้นต้องก่อจากฝืนเจ็ดดุ้นเท่านั้น เมื่อปิ้งฝักส้มป่อยพอให้มีกลิ่นหอมแล้วให้นำไปแช่ไว้ในน้ำที่เตรียมไว้ ซึ่งอาจมีการเพิ่มเติมผงขมิ้น น้ำอบ น้ำหอม ดอกแห้งของสารฎี คำฝอยหรือดอกประโยงด้วยก็ได้

โดยนิยมใส่ขมิ้น เป็นน้ำขมิ้นส้มป่อยมีสีเหลืองและกลิ่นหอม ซึ่งมี ดอกคำฝอย ดอกสารภีและส้มป่อย เป็นส่วนประกอบสำคัญ

สีเหลือง มาจากสีของดอกคำฝอย ซึ่งจะเป็นเส้นเล็กๆ ที่ใครต่อใครเข้าใจว่าเป็นส่วนของเกสร แต่ที่แท้ กลับเป็นส่วนดอกของคำฝอย ซึ่งมีสรรพคุณในการเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู และลดไขมันในเส้นเลือด จึงมีการนำคำฝอยมาใช้เป็นเครื่องดื่มสุขภาพชาชงดอกคำฝอย แต่ควรระวังในสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ เนื่องจากมีสรรพคุณในการขับระดู

กลิ่นหอมมาจาก ดอกสารภีหรือสารภีแนน และส้มป่อย ซึ่งออกดอกออกผลในหน้าร้อนประจวบกับช่วงปี๋ใหม่พอดี

สารภี ถือเป็นไม้มงคล ดอกสารภี มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นเครื่องยาบำรุงหัวใจชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายเกิดอารมณ์เยือกเย็นอ่อนหวาน

ต้นส้มป่อย ถือว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ให้พละกำลังแก่ควายทรพีจนสามารถเอาชนะควายทรพาผู้พ่อได้ตามนิทานชาวบ้านพรมจักรชาดกของล้านนาที่ดัดแปลงมาจากรามเกียรติ์

ฝักส้มป่อย เมื่อปิ้งไฟจะกระตุ้นน้ำมันหอม ออกมา คนโบราณนำมาใช้สระผมจากสารซาโปนินซึ่งจะทำให้เป็นฟองคล้ายสบู่ และชะล้างสิ่งสกปรกได้ บางครั้งนิยมใส่น้ำอบลงไปในน้ำส้มป่อยด้วยในประเพณีการสรงน้ำพระพุทธรูป หรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 เมื่อเตรียมขันน้ำส้มป่อยเสร็จแล้วเสกน้ำด้วยมนต์คาถาว่า

โอม สิทธิก๋าร ครูบาอาจ๋ารย์หื้อแก่กู โอมประสิทธิ พระฤาษีเจ้าทั้ง 5 ต้น โอม ทิพพมนต์ อันท่านประสิทธิหื้อแก่กู กูจักมนต์ปู่ส้มป่อย ย่าส้มป่อย อันสูเจ้าเกิดมาฝ่ายหน้าขอกฟ้าจักรวาล สูเจ้าเกิดมาเป๋นต้นตะตุ้ม เป๋นตุ่มแต่เก๊า ต้นมึงจ้ำเมืองนาค ฮากมึงจ้ำดินดำ ลำมึงจ้ำดินแก่น คนทั้งหลายแล่นหามึง มาสระเกล้าดำหัว แม่นว่า


กูไปลอดฮาวขัวแสนท่า แก้เนอปล่อยเนอ

กูไปลอดขี้หม่าน้ำขำ แก้เนอปล่อยเนอ

กูไปถูกดินดำแกบก้อง แก้เนอปล่อยเนอ

กูไปต้องหลังเฮือนแห่งท่าน แก้เนอปล่อยเนอ

กูไปถูกยาแฝดแห่งท่านมาทา แก้เนอปล่อยเนอ

กูไปถูกอ้ายลาน้อยตาเหลือง แก้เนอปล่อยเนอ

กูไปถูกผีแดนเมืองแลท่งนา แก้เนอปล่อยเนอ

กูได้ขำคาแต่ปีก่อน แก้เนอปล่อยเนอ

กูได้เดือดร้อนบ่ห่อนหาย แก้เนอปล่อยเนอ

กูได้ขงขวายอิบ่มา แก้เนอปล่อยเนอ

กูได้ท่องค้าก็ค้าบ่ขึ้น แก้เนอปล่อยเนอ

โอม ทูรา ทุรา เพทรา สว่าหาย ฯ โอม พุทโธ พุทธัง รักษา ธัมโม ธัมมัง รักษา สังโฆ สังฆัง รักษา พุทโธ พุทธัง กั๋ณหะ ธัมโม ธัมมัง กัณหะ สังโฆ สังฆัง กั๋ณหะ

โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยัสสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุ เม ฯ

หมายเหตุ. ภาพจาก จากน้ำขมิ้นส้มป่อยถึงแกงบ่าหนุน, โดย สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์ และวรรณนรี เจริญทรัพย์ , 2555, จาก https://www.smileconsumer.com/2012/04/น้ำขมิ้นส้มป่อย-แกงขนุน/

อาคมดังกล่าว ท่านให้เสกส้มป่อยจำนวน 7 คาบ และเสกน้ำส้มป่อยอีก 7 คาบ จากพลังอันศักดิ์สิทธิ์โดยธรรมชาติของฝักส้มป่อย ผนวกกับฤทธานุภาพที่กระตุ้นด้วยการปิ้งไฟ สำทับด้วยการเสกเป่าอาคมขลัง จึงเกิดพลังที่ เชื่อกันว่าจะขจัดเสียซึ่งเสนียดจัญไรและโพยภัยนานัปการ

หลังจากเสกน้ำแล้วให้ทำสะตวง (กระทงกาบกล้วย) บัดพลีด้วยดอกไม้ธูปเทียน อาหาร ขนม หมากพลู บุหรี่ อย่างละ 4 ชิ้น โดยให้มีส่วนประกอบสำคัญเป็นเศษไม้ รูปปั้นอมนุษย์ รูปปั้นสัตว์ ตามปีเกิดของตน

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

เมื่อเตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว ก็เริ่มประกอบพิธีโดยหันหน้าเฉพาะทิศทางที่กำหนด เรื่องทิศนี้ โบราณกล่าวไว้ว่า สังขานต์ล่อง วันไหน ก็ให้บ่ายหน้าสู่ทิศนั้นๆ ดังนี้

สังขานต์ล่องวันอาทิตย์ หันหน้าไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

สังขานต์ล่องวันจันทร์ หันหน้าไปทิศตะวันตก

สังขานต์ล่องวันอังคาร หันหน้าไปทิศใต้

สังขานต์ล่องวันพุธ หันหน้าไปทิศใต้

สังขานต์ล่องวันพฤหัสบดี หันหน้าไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

สังขานต์ล่องวันศุกร์ หันหน้าไปทิศตะวันออก

สังขานต์ล่องวันเสาร์ หันหน้าไปทิศตะวันตกเฉียงใต้

จากนั้นจึงกล่าวคำโองการ ว่า

"ดูราเจ้ากู เราอยู่จิ่มกันบได้ ภัยยะอันใหญ่ จักเกิดมีมาชะแล ขอเจ้ากูจุ่งมารับเอาเครื่องสักการะปูชามวลฝูงนี้ แล้วจุ่งมาพิทักษ์รักษาผู้ข้าหื้ออยู่สุขสวัสดี นั้นจุ่งจักมี เที่ยงแท้ดีหลีเต๊อะ"

ว่าจบให้ตัดเล็บ ตัดเศษผมใส่ในสะตวง แล้วสระเกล้าดำหัวด้วยน้ำขมิ้นสัมป่อยให้น้ำตกลงในสะตวง จากนั้นจึงผลัดผ้าเก่า นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ พร้อมทัดทรงด้วยดอกไม้อันเป็นนามปี ที่ถือว่าเป็นพญาดอกไม้ประจำปีนั้นๆ เรื่องนี้ก็มีตำราไว้ว่าให้เอาตัวเลขจุลศักราชปีใหม่นั้นตั้ง หารด้วย 8 เศษเท่าไหร่ ดูตามนี้

เศษ 1 ดอกเอื้อง หรือ ดอกอูน

เศษ 2 ดอกแก้ว (พิกุล)

เศษ 3 ดอกเก็ดถะหวา (มะลิซ้อน) 

เศษ 4 ดอกประดู่

เศษ 5 ดอกเปา (รัง) ดอกมะลิ

เศษ 6 ดอกส้มสุก (อโศก)

เศษ 7 ดอกบุนนาค ดอกลิลา (ซ่อนกลิ่น)

เศษ 0 ดอกกะสะลอง (ปีบ)

หมายเหตุ. ภาพจากสาระล้านนาคดี, โดย อดุลสีลกิตติ์พระครู, 2551, บีเอสดี การพิมพ์.

หมายเหตุ. ภาพจากสาระล้านนาคดี, โดย อดุลสีลกิตติ์พระครู, 2551, บีเอสดี การพิมพ์.

หลังจากทัดดอกไม้มงคลประจำปีแล้ว ให้ยกสะตวงขึ้นเวียน รอบศีรษะ 3 รอบ สุดท้ายนำสะตวงไปลอยน้ำหรือวางในที่อันควรแล้วหันหลังกลับบ้านทันที โดยไม่ให้เหลียวหลังไปมองสะตวงนั้นอีก

พิธีกรรมที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งยังมิได้กล่าว รวมไปถึงพิธีที่อิงศาสนาอาศัยกุสโลบายทางเมตตา คือพึ่งพาสัตว์เป็นพาหนะ นำสิ่งอัปมงคลออกจากร่างกาย โดยหมายฝากกับสัตว์ผ่านการปลดปล่อย ลอยไปกับน้ำ ย่ำไปกับดินหรือบินไปสู่อากาศที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบันคือ นำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาเสกด้วยคาถาว่า "สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะรคา วินาสันตุ อะเสสะโต" แล้วเอาน้ำนั้นลูบศีรษะ สลัดใส่สัตว์ อาทิ ปลา เต่า และนก เป็นต้น แล้วปล่อยไป

อนึ่ง สิ่งที่นิยมปฏิบัติคือการปลูกพืชไม้เถาประเภท พัก แฟง แตงร้าน โดยนิยมเตรียมหลุมดินตื้นๆ ที่มีการเผามูลสัตว์แห้ง เช่น มูลวัว มูลควาย บนหลุมแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้หนึ่งคืน พอถึงวันสังขานต์ล่องจะนำเมล็ดพันธุ์ลงปลูก ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองมีอายุยืนยาว และสิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ โบราณท่านห้ามเสพเมถุนในวันสังขานต์ล่องโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะมีผลทำให้ชีวิตมีแต่ความมัวหมอง ตกต่ำไปตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

กิจกรรมที่กล่าวมาโดยลำดับนับเป็นพิธีกรรมเพื่อดำหัวตนเองเมื่อเสร็จภาระในส่วนนี้ การดำหัวภายในบ้านยังต้องมีต่อ คือต้องมาจัดน้ำขมิ้นส้มป่อยอีกอย่างน้อยสองส่วน ส่วนหนึ่งเสกเป่าด้วยมงคลคาถา แล้วเรียกภรรยาหรือบุตรธิดาสมาชิกในครอบครัวมาดำหัวโดยที่หัวหน้าครอบครัวอาจใช้น้ำขมิ้นสัมป่อยประพรมหรือลูบศีรษะทุกคนพร้อมกล่าวคำอวยชัยให้พร และอีกส่วนหนึ่งจะเอาสระสรงวัตถุมงคล เช่น พระพุทธรูป รูปเคารพ พระเครื่อง ตลอดจนเครื่องรางต่างๆ เป็นการชำระล้างจัญไรและคงไว้แต่สิ่งที่ดีงามอีกประการหนึ่ง กรณีที่มีผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น บิดา มารดา ปู ย่า ตา ยาย อาศัยอยู่ในบ้าน ต้องเตรียมน้ำส้มป่อยอีกส่วนหนึ่งให้ท่านได้อาบองค์ สรงเกศ พร้อมผลัดผ้านุ่งผืนใหม่ให้ท่านด้วย สิ่งนี้ล้วนเป็นกิจกรรมเฉพาะที่เป็นการปฏิบัติกับสิ่งที่ใกล้ตัวและกระทำในช่วงเวลาเริ่มต้นของเทศกาลคือวันสังขานต์ล่อง

ในวันสังขานต์ล่องนี้ ตามประเพณี โบราณแล้ว กษัตริย์แห่งล้านนาจะต้องทำพิธีสรงน้ำตามทิศที่โหรหลวงคำนวณไว้และจะลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำ เช่น ในแม่น้ำปิง แม่น้ำโขง เป็นต้นในพิธีนั้นกษัตริย์จะเสด็จไปตามสะพานที่ทอดจากฝั่งลงไปยังร้านที่อยู่กลางแม่น้ำแล้วทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือลอยเคราะห์ โดยมีเครื่องสักการะและน้ำขมิ้นส้มปอย ใส่สลุงคำสลุงเงิน (ขันทองและขันเงิน) เตรียมไว้ก่อน เมื่อกษัตริย์หรือเจ้าเมืองเสด็จลงมณฑลพิธีแล้ว ก็จะทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือลอยเคราะห์ให้ไหลไปตามน้ำในวันสังขานต์ล่องนี้

ในวันนี้เช่นกันที่ผู้ใหญ่บางท่านจะเรียกลูกหลานมาพร้อมกันแล้วให้หันหน้าไปตามทิศที่โหรกำหนดไว้ในหนังสือปีใหม่เมือง เพื่อความสวัสดี แล้วกล่าวคาถาว่า

"สัพพะเคราะห์ สัพพะอุบาทว์ สัพพะพยาธิโรคา ทังมวลจุ่งตกไปกับสังขานต์ในวันนี้ยามนี้เน่อ" แล้วใช้น้ำส้มป้อยลูบศีรษะตัวเองหรือลูกหลานทุกคนและบางท่านจะให้ลูกหลานเอาฟักเขียวหรือฟักทองไปปลูกและใช้มูลควายตากแห้งเป็นปุ๋ยไปใส่โคนต้นหมากต้นพลูเพราะว่าโบราณล้านนาถือว่าหมากพลูเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ และแสดงถึงความบูชาและความนอบน้อมอย่างสูงสุด โดยบอกเค็กว่าปู่ย่าสังขานต์พอใจที่ได้เห็นลูกหลานปลูกหมากปลูกพลู และทั้งนี้กล่าวว่าผู้ที่ปลูกหมากพลูนั้นก็จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและจะได้เป็นใหญ่เป็นโตอีกด้วย

ความเชื่อเรื่องขุนสังขานต์

ในแง่ความเชื่อเกี่ยวกับตำนานสงกรานต์ของล้านนาก็ไม่ปรากฏความเชื่ออื่นใดนอกจากการกล่าวถึง "ขุนสังขานต์" ที่เป็นสุริยเทพแห่งสงกรานต์ของล้านนากล่าวไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น เทพางคศาสตร์ สุริยาตรา (สุริยยาตร์) ฎีกาสุริยตรา ราชมตัณตยะพยากรณ์ ฎีกาสมันตพยากรณ์ ฎีกาสุริยอุณทิสาย สิทธานตปกรณ์ และฎีกวิมัตติวิในทนี

แม้เรื่องขุนสังขานต์จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ก็ยังมีเค้าความเชื่อเดิมอยู่ คือมีการกล่าวถึง วันสังขานต์ไป สีของเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ อาวุธที่ถือ ลักษณะหรืออากัปกิริยาการไป พาหนะ ทิศที่ไป รวมทั้งชื่อของเทวดาและกิริยาการรับ

สำหรับขุนสังขานต์นั้น ล้านนาให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะด้านบุคลิกลักษณะ กล่าวคือ มีความองอาจ และสง่างามด้วยเครื่องประดับที่ระยิบระยับด้วยรัตนชาติ มีสัตว์พาหนะและลักษณะเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่ จากลักษณะการไปของขุนสังขานต์ในวันอาทิตย์จากตำราเพทางค์ศาตร์ ฉบับวัดศรีมงคล อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านซึ่งอาจมีรายละเอียดบางประการแตกต่างไปจากตำราอื่นๆ ว่า

"ทรงเครื่องอันแดง สุบกระโจมต่างกระจอนหู ประดับแก้ว ปวาระ แก้วปทัมราค มือสามมือ เบื้องขวาเบื้องนึ่งถือดอกบัว เบื้องนึ่งถือดาบ เบื้องข้ายเบื้องนึ่งถือผาลา ยืนอยู่เหนือหลังม้าขาว อว่ายหน้าไปสู่หนบุพพะย้ายจากมีนประเทศไปสู่เมษรวายสี นางเทวดาตนชื่อ แพงสี ชาติก่อนเป็นลูกผู้ถ่อย ถือดอกไม้นามปี มายืนอยู่ถ้ารับเอา..."

จากข้อความที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าขุนสังขานต์ ปกติสวมชฎาและมีเครื่องประดับหู ส่วนลักษณาการอื่นๆ อาทิ สีเครื่องนุ่งห่มรัตนชาติที่เป็นเครื่องประดับ สิ่งที่ถือมา อิริยาบถ พาหนะ รวมทั้งนางเทวดาผู้มาคอยท่ารับเสด็จ จะเปลี่ยนไปตามวันสังขานต์ล่อง (วันมหาสงกรานต์ ปีใดสังขานต์ล่องวันไหน บุคลิกของขุนสังขานต์จะแตกต่างกันตามที่โบราณกำหนดไว้ ดังปรากฏในตำราส่วนใหญ่ว่า

สังขานต์ล่องวันอาทิตย์

ขุนสังขานต์ทรงเครื่องนุ่งห่มสีแดง มีทับทิมเป็นเครื่องประดับ มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายถือโล่ เสด็จยืนมาเหนือหลังม้าขาว มีนางเทวดาชื่อ "ฮังสี" (แพงสี) มายืนคอยท่ารับเสด็จ

สังขานต์ล่องวันจันทร์

ขุนสังยานต์ทรงเครื่องนุ่งห่มสีขาวมีไพฑูรย์เป็นเครื่องประดับ ทัดดอกอุบลขาว มือทั้งสองถือดอกอุบลขาว เสด็จนอนตะแคงมาบนหลังช้างเผือก มีนางเทวดาชื่อ "มโนรา" มารับเสด็จโดยลักษณะอาการนอนรับ

สังขานต์ล่องวันอังคาร

ขุนสังขานต์ทรงเครื่องนุ่งห่มสีแก้วประพาฬ (สีแดงอ่อน)มีแก้วประพาพเป็นเครื่องประดับ มือขวาถือจักร มือซ้ายถือลูกประคำ เสด็จยืนก้มพระพักตร์มาบนหลังราชสีห์ มีนางเทวดาชื่อ "มัณฑะ"มาคอยท่ารับเสด็จ

สังขานต์ล่องวันพุธ

ขุนสังขานต์ทรงเครื่องนุ่งห่มสีดำ มีแก้วอินทนิล (สีน้ำเงิน) เป็นเครื่องประดับ มือขวาถือลูกศร มือซ้ายถือคนโท เสด็จนั่งขัดสมาธิ มาบนหลังนกยูงทอง มีนางเทวดาชื่อ "สุรินทะ" มายืนคอยท่ารับเสด็จ

สังขานต์ล่องวันพฤหัสบดี

ขุนสังขานต์ทรงเครื่องนุ่งห่มสีเหลือง มีไพฑูรย์น้ำทองเป็นเครื่องประดับ มือขวาถือลูกประคำ มือซ้ายวางพาดตัก ประทับยืนมาบนหลังม้าสีเหลือง มีนางเทวดาชื่อ "กัญญา" มานั่งคุกเข่ารับเสด็จ

สังขานต์ล่องวันศุกร์

ขุนสังขานต์ทรงเครื่องนุ่งห่มสีขาว มีไพฑูรย์เป็นเครื่องประดับมือขวาถือแว่น (กระจก) มือซ้ายถือโล่ เสด็จนั่งยองๆ มาบนหลังกระบือ มีนางเทวดาชื่อ "ลิตา" (รินทะ) มานั่งคอยท่ารับเสด็จ

สังขานต์ล่องวันเสาร์

ขุนสังขานต์ทรงเครื่องนุ่งห่มสีเขียว มีมรกตเป็นเครื่องประดับมือขวาถือลูกศร มือซ้ายถือธนู เสด็จนอนตะแคงมาบนหลังแรดมีนางเทวดาชื่อ "ยามา" มายืนคอยท่ารับเสด็จ


เรื่องราวหรือตำนานในลักษณะนี้ได้มีคนนำเสนอเป็นภาพปฏิทินบัตรประกอบการประกาศสงกรานต์ ดังปรากฎขึ้นในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งในที่สุดภาพดังกล่าวได้กลายเป็นต้นแบบของการแห่นางสงกรานต์ในเวลาต่อมา

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

วันที่ 14 เมษายน : วันเนา / วันเนาว์ / วันเน่า

วันเนา ตรงกับวันที่ 14 เมษายน ชาวล้านนาเรียกวันนี้ว่า "วันเน่า" ถือเป็นวันที่ไม่เป็นมงคล ชาวเหนือมีความเชื่อและข้อห้ามในวันเน่าว่า ห้ามพูดคำหยาบ หรือด่าทอกัน ใครด่ากันในวันนี้ ถือว่าปากจะเน่าไปตลอดทั้งปี ผู้ที่ถูกด่าจะได้รับความอัปมงคลไปตลอดทั้งปี

  เหตุที่ทางล้านนาเรียกวันนี้ว่าวันเน่า เพราะเชื่อตามวรรณกรรมที่มีการกล่าวขานกันมาว่า นานมาแล้วยังมีพญาตนหนึ่งได้ตายจากไปในวันหลังวันสังขารล่อง แล้วกลายไปเป็นเปรตหัวเน่า คนจึงเรียกวันนี้ว่าวันเน่า วรรณกรรมดังกล่าวได้แก่ธัมม์ หรือธรรมเรื่องอานิสงส์ปีใหม่ กล่าวว่า

          "พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระยาสุริยะครองเมืองกลิงคราษฏร์ เลี้ยงผีปีศาจไว้มากมาย ตายไปในวันหลังสังขารล่องหนึ่งวัน ไปเกิดเป็นเปรตหัวเน่าอยู่นอกฟ้าจักรวาล ครั้นภายหลังภริยาสองนางตายไปเกิดเป็นเปรตอยู่ด้วยกัน เปรตทั้งสองนางจึงช่วยกันล้างหัวเน่าของพญา จึงเรียกว่าวันนี้ว่า วันเน่า"

กิจกรรมในวันเนาหรือวันเน่า ถือเป็นวันห่อวันดา (วันสุกดิบ) ที่ผู้คนพากันไปจ่ายตลาด และประกอบอาหารไปถวายพระสงฆ์และเลี้ยงบรรดาญาติพี่น้อง เช่น แกงฮังเล ห่อนึ่ง (ห่อหมก) ข้าวหนมจ็อกเทียน (คำว่าจ็อก แปลว่าแหลม) ข้าวหนมเหนียบ (เหนียบคือการห่อโดยเหน็บปลายใบตอง) ในเวลาบ่ายชาวบ้านจะถือขันหรือสลุงไปเอาทรายที่เกาะทรายตามแม่น้ำมาก่อรวมไว้ในวัด ระหว่างที่ไปเอาทรายนั้นก็จะใช้น้ำในขันรดกันอย่างสนุกสนาน ขณะขนทรายเข้าวัดจะมีคาถาว่า 

"อะโห วะตะ เม วาลุกัง ติระตะนานัง สัพพะปาปังวินัสสะตุ"

ให้ภาวนาไปกว่าจะขนทรายแล้วเสร็จ และในวันนี้จะมีการทำธง หรือจ้อตุง (ช่อธง) เตรียมไว้สำหรับนำไป "ทานตุง" ประดับเจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้น โดยใช้กระดาษสีตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปยาวมาทำผืนธง นำไม้ไผ่มาทำเป็นคันธง การทานตุงในคติของล้านนามีความเชื่อว่าสามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้น พันจากขุมนรกขึ้นมาได้ด้วยชายตุงที่เกี่ยวพันตัวให้พ้นจากขุมนรก

 คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ไผ่ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

หมายเหตุ. ภาพจากสาระล้านนาคดี, โดย อดุลสีลกิตติ์พระครู, 2551, บีเอสดี การพิมพ์.

ในตำราโบราณของล้านนาบางแห่งกล่าวถึงความเชื่อเรื่องการลอยเคราะห์ในวันเน่า เพื่อเป็นการส่งเคราะห์ลอยเคราะห์ให้หมดไป พิธีการลอยเคราะห์เริ่มจากการจัดเตรียมสะตวง คือกระบะสำหรับใส่เครื่องเช่นทำจากกาบกล้วยเป็นขอบสี่เหลี่ยม กว้างยาว 1 ศอก ด้านล่างใช้ไม้ไผ่เสียบพาดขนานพอให้วางเครื่องสังเวยได้ แล้วให้เอาดินมาปั้นเป็นรูปต้นไม้และตรงกับปีนักษัตรเกิดของผู้ทำพิธีใส่ไว้กลางสะตวง ได้แก่

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

หมายเหตุ. ภาพจาก ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง, โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , 2555, จาก http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/newsyear-sangkan.php

หมายเหตุ. ภาพจาก ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง, โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , 2555, จาก http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/newsyear-sangkan.php

เมื่อเตรียมรูปต้นไม้และรูปปั้นแล้วเสร็จ ให้จัดหาเครื่องครัว ข้าวปลาอาหาร ผลไม้ของหวาน ข้าวตอกดอกไม้ปักไว้ 4 มุมสะตวง พร้อมเทียน 4 เล่ม ปักไว้ 4 ทิศของสะตวง เมื่อถึงวันเน่าในเวลาเย็น ให้เตรียมเครื่องบูชาไปยังแม่น้ำใหญ่แล้วอ่านโองการ 3 รอบ ดังนี้

ตูกะรา (ดูกร) เจ้ากูข้าเกิดมาเพื่อเจ้ากูและเต้าว่า(เท่าว่า)เราอยู่นิ่มกั๋นภัยก็เกิดมีมาจะและเจ้ากูจุ่งรับเอาเคราะห์ วัน เคราะห์ยาม เคราะห์ปี๋ เคราะห์เดือน เคราะห์กำเนิดเกิดมา สัพพะเคราะห์ทั้งหมด อันมีในตนตั๋วแห่งข้านี้ ไปกับ ต๋นเจ้ากู แล้วจุ่งกระทำนำมา ยังวุฑฒิสวัสดี ลาภะยัสละสัมปัตติ อันมากแล้วจุ่งหื้อเปนที่ไหว้และปูชาระหะ วันทาระหะ แก่คนและเทวดาทั้งหลาย ขอหื้อผู้ข้ามีศรีที่ฆ่าอายุมั่นยืนยาว มั่งมูลทุ่นเท้า เปนตั่งจักรวรรดิคหบดี และสิมพลีเถรเจ้านั้นเสี้ยงปีนี้ทั้งมวล แก่ผู้ข้าเต๊อะๆ

หลังจากกล่าวโองการครบ รอบแล้ว ให้นำสะตวงมาเวียนรอบศีรษะ ๓ รอบ แล้วปล่อยลอยลงในแม่น้ำ และให้เอน้ำส้มป่อยสระหัวลงในสะตวงนั้นด้วย จากนั้นให้เดินกลับบ้านเรือนโดยห้ามมิให้หันหลังกลับมามองสะตวงที่ปล่อยจนกว่าจะถึงบ้าน

การขนทรายเข้าวัด

ประเพณีการขนทรายเข้าวัดนี้ยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวที่ชอบพอกันได้พบปะกันอย่างใกล้ชิด และได้ทำกุศลร่วมกันอีกทางหนึ่งด้วย บรรยากาศในช่วงเย็นของวันเน่าในสมัยก่อนจึงคึกคัก สนุกสนานรื่นเริง โดยผู้ที่ขนทราย แม้จะต้องเดินหิ้วภาชนะที่ใส่ทรายจากท่าน้ำถึงวัดในระยะทางไกลเพียงใดก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย สมัยปัจจุบันอาจใช้ยานพาหนะมาช่วยขนทรายแต่เชื่อกันว่า อานิสงส์น้อยกว่าการขนทรายด้วยวิธีเดิน

การขนทรายเข้าวัดพร้อมตกแต่ง เพื่อที่จะถวายในวันพระญาวัน การขนทรายเข้าเพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย นอกจากความเชื่อในอานิสงส์ที่มีมากแล้วยังมีความเชื่ออื่นแฝงอยู่นั่นคือ การเกรงต่อปาป และทรายที่อยู่รอบวิหารนั้นก็เปรียบเสมือนทะเลสีทันดร ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ การเข้าวัดไปแต่ละครั้งชาวบ้านก็จะถอดรองเท้าไว้ที่หน้าประตูวัด และเดินท้าวเปล่าเข้าไป และทรายนั้นอาจจะติดเท้าออกมา การที่เอาของวัดออกไปก็จะเป็นบาปติดตัวแบบที่ตั้งใจก็ดีหรือไม่ตั้งใจก็ดี ทำให้ชาวล้านนาเกรงกลัว ด้วยอาจจะไปเกิดเป็นเปรต เมื่อปีหนึ่งจึงทำการเอาทรายมาคืนให้กับข่วงแก้วทั้งสามหรือลานวัด ในรูปแบบของการก่อเจดีย์ทราย และทรายนี้นอกจากจะปูรอบวัด รอบวิหารในตัวแทนของทะเลสีทันดรแล้วหากมีมาก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นได้อีก กอปรกับลานทรายที่อยู่รายรอบนั้นช่วยระบายความชื้นได้เป็นอย่างดี ช่วยรักษาเจดีย์หรือองค์พระธาตุไม่ให้ผุพังด้วยความชื้นได้

หมายเหตุ. ภาพจาก สืบสารประเพณีปีใหม่เมือง, โดยศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, 2559, จาก https://issuu.com/rmutlculture/docs/____________________________________2e4c80c204ee2d

ตามความเชื่อของคนล้านนา การขนทรายเข้าวัดเกิดขึ้นจากแนวคิด 3 ประการ คือ 

1. ได้อานิสงส์จากการถวายทานเจดีย์ทราย ทำให้ได้ไปเกิดร่วมกับพระศรีอาริย์ ซึ่งจะมาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 หลังเกิดกลียุคแล้ว ซึ่งอานิสงส์ของการทานเจดีย์ทรายยังมีอานุภาพส่งผลให้ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าได้ เมื่อสั่งสมบารมีมากพอ ดังปรากฎในธรรมเรื่อง "อานิสงส์เจดีย์ซาย"มีใจความโดยย่อว่าในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นชายยากไร้ผู้หนึ่งมีนามว่าติสสะ มีอาชีพตัดฟืนขาย เขาเป็นผู้มีจิตใจดีงาม เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป วันหนึ่งเขาเดินทางเข้าป่า และได้พบลำธารที่มีหาดทรายงามสะอาด เขาจึงคิดอยากทำบุญ จึงได้กวาดทรายมากองแล้วก่อเป็นรูปเจดีย์ และฉีกเสื้อที่ตนสวมอยู่มาผูกกับไม้แล้วปักที่ยอดกองทรายเพื่อเป็นธงแล้วอธิษฐานว่า "ด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรมที่ได้ก่อเจดีย์ทราย ขอให้ข้าพเจ้าได้มีความสุขและเป็นปัจจัยไปสู่นิพพานและขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อโปรดสัตว์ด้วยเถิด" เมื่อเขาได้เกิดมาอีกหลายชาติและบำเพ็ญบารมีเต็มที่แล้วก็ได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย

2. ความเชื่อตามระบบจักรวาลวิทยา ว่าด้วยจักรวาล อันประกอบด้วย เขาพระสุเมรุ คือ ตัวโบสถ์ หรือวิหาร และมหาสมุทรที่ล้อมรอบ หรือที่เรียกว่า ทะเลสีทันดร โดยใช้ทรายถมเป็นทะเลแทน

3. การขนทรายเข้าวัดเป็นการทดแทนทรายที่เราเหยียบย่ำติดเท้าออกไป การนำเอาของวัดออกไปทำให้เป็นบาปต้องทดแทนด้วยการขนทรายเข้าวัด เพราะเมื่อก่อเจดีย์เสร็จแล้ว หลังจากนั้นจะมีการนำทรายออกมาเกลี่ยลงบนลานวัดต่อไป

 ตุงล้านนา ตุงปีใหม่

คำว่า "ตุง" ในล้านนามีความหมายเช่นเดียวกับ "ธง" ในภาษาไทยกลาง และมีลักษณะตรงกับ "ปฎากะ" ของอินเตีย คือเป็นแผ่นวัสดุส่วนบนแขวนติดกับเสา ห้อยชายเป็นแผ่นยาวลงมา ตุง ในภาษาไทยใหญ่เรียก "ตำข่อน" ภาษาพม่าเรียก "ตะขุ่น"

ตุง หมายถึงเครื่องประดับตกแต่งใช้ประกอบพิธีกรรมชนิดหนึ่ง ที่มีบทบาทและความเป็นมาที่ยาวนาน ตุง เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล โดยมีขนาดรูปร่าง และรายละเอียดด้านวัสตุแตกต่างกันไปตามความเชื่อในพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

วัสดุที่ใช้ทำตุง มีดังนี้

1. ผ้าหรือฝ้าย เช่น ตุงไซย ตุงใย เป็นต้น

2. ไม้ เช่น ตุงกระด้าง ตุงไม้ เป็นต้น

3. กระดาษหรือพลาสติก เช่น ตุงพระญายอ ตุงใส้หมู ตุงสิบสอง

4. โลหะ เช่น ตุงเหล็ก ตุงตอง ตุงทองคำ ตุงขืน เป็นตัน

5. วัสดุอื่นๆ เช่น ตุงข้าวเปลือกข้าวสาร ตุงติน ตุงทราย เป็นต้น

สำหรับตุงที่ใช้ปักเจดีย์ทรายในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ของล้านนา ประกอบด้วย

ช่อ เป็นธงรูปสามเหลี่ยม พันด้วยไม้ไผ่ก้านเล็กๆ ใช้ปักที่กองเจดีย์ทรายเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในชีวิต

ตุงไส้หมู เป็นธงที่ตัดด้วยกระดาษพับทบหลายชั้นแล้วตัดให้มีลักษณะเป็นพวงเหมือนไส้หมู อาจใช้กระดาษสีสันต่าง ๆ ซ้อนกันแล้วแต่ชอบ เพื่อให้ชีวิตมีความเจริญงอกงามและมั่นคง

ตุงตัวเพิ่ง/ตุงตัวเปิ้ง คือ ตุง 12 ราศี ที่มีรูปสัตว์ประจำปีเกิด นิยมนำไปปักบนเจดีย์ทรายด้วย เพื่อเป็นการต่ออายุให้กับตนเอง

ทั้งนี้ ตุงดังกล่าวถือเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยทั้งมวล

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

ในการทำตุง ส่วนมากนิยมใช้ผ้าหรือกระดาษที่มีสีขาวและบางครั้งก็พบเห็นสล่า (ช่าง) นำรูปสิบสองราศี (ตัวเปิ้ง) ไปแกะสลักลงในตุงกระค้างด้วยการทำตุงตัวเปิ้ง ไปถวายทานนั้น เท่ากับทุกคนในครอบครัวได้รับผลอานิสงส์ในการทานตุงด้วย เพราะจะมีรูปราศีนักษัตรตัวเปิ้งครบทุกคนในครอบครัว ส่วนหัวและหางจะตัดเป็นรูปคล้ายคนหรือเทวดา ตุงชนิดนี้ โดยมากไม่นิยมมีไม้คั่นเป็นห้อง (ช่อง) หรือ คั่นเป็นท่อน ๆ มีความกว้างประมาณ 4-6 นิ้วยาวประมาณ 1 เมตร ส่วนหัวถึงท้ายจะประดับรูปตัวเปิ้ง 12 ตัวเรียงลำดับดังนี้คือ

ปีชวด ล้านนาเรียก ปีไจ้ ► ทำเป็นรูปหนู

ปีฉลู ล้านนาเรียก ปีเป้า ► ทำเป็นรูปวัว

ปีขาล ล้านนาเรียก ปียี ► ทำเป็นรูปเสือ

ปีเถาะ ล้านนาเรียก ปีเหม้า ► ทำเป็นรูปกระต่าย

ปีมะโรง ล้านนาเรียก ปีสี ► ทำเป็นรูปงูใหญ่ (พญานาค)

ปีมะเส็ง ล้านนาเรียก ปีไส้ ► ทำเป็นรูปงูเล็ก

ปีมะเมีย ล้านนาเรียก ปีสง้า  ► ทำเป็นรูปม้า

ปีมะแม ล้านนาเรียก ปีเม็ด ► ทำเป็นรูปแพะ

ปีวอก ล้านนาเรียก ปีสัน ► ทำเป็นรูปลิง

ปีระกา ล้านนาเรียก ปีเล้า ► ทำเป็นรูปไก่

ปีจอ ล้านนาเรียก ปีเส็ด ► ทำเป็นรูปสุนัข

ปีกุน ล้านนาเรียก ปีไก๊ ► ทำเป็นรูปช้าง 

หมายเหตุ. ภาพจาก ชุมชนคนล้านนา. (2559, 11 เมษายน). ตุงตั๋วเปิ้ง. [Image attached] [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/fifaclinicTH/photos/a.460823957281859/1140015462696035/

การใช้ตุงของอาณาจักรล้านนา ปรากฎหลักฐานขึ้นครั้งแรกในตำนานของพระธาตุดอยตุงที่อยู่บนดอยนางนอนในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงรายซึ่งกล่าวการสร้างพระธาตุไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระมหากัสสปะเถระเจ้าได้นำเอาพระบรมอัฐิธาตุรากขวัญเบื้องซ้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถวายแค่พระยาอชุตราช กษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวัตพระองค์ขอเอาที่แดนของพญาลาวจกในหมู่เขตสามเส้าเป็นที่ก่อสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุ เมื่อจะมาสร้างมหาสถูปนั้นให้ทำ "ตุงตะขาบใหญ่" ยาวถึงพันวาปักไว้บนดอยปู่เจ้า หางคุงปลิวไปไกลเพียงใด กำหนดไว้เป็นฐานพระสถูปเพียงนั้นนอกจากนี้ในตำนานเชียงแสนมีสิงห์กุฎฎะ อำมาตย์ได้ถวายตุงเป็นพุทธบูชาเมื่อสิ้นชีวิตเสวยวิบากกรรมตกนรกก็ได้อาศัยเกาะชายคุงขึ้นพ้นจากขุมนรกได้

วันที่ 15 เมษายน : วันพระยาวัน / วันพระญาวัน / วันพญาวัน / วันเถลิงศก

วันพระยาวันตรงกับวันที่ 15 เมษายน ถือว่าเป็นวันมงคล เหมาะแก่การเริ่มเรียนเวทมนตร์คาถายกครูครอบครู หรือสักเลขยันต์ต่างๆ ในวันนี้ตลาดสดหยุดขายของ ผู้คนต่างพากันไปถวายภัตตาหารพระ ทำบุญตักบาตร เรียกว่า "ทานขันข้าว" และนำดอกไม้ธูปเทียนมาใส่ข้นแก้วทั้งสามในวิหาร ลักษณะของขันแก้วทั้งสามเป็นพานใหญ่สูงประมาณ 1 ศอกครึ่งทำเป็นมุม 3 มุม แต่ละมุมมีความหมายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะวางใส่มุมที่ 1 ให้ภาวนาว่า "พุทโธ อรหัง" วางมุมที่ 2 ภาวนาว่า "ธัมโม ปัจจัตตัง" และมุมที่ 3 ภาวนาว่า "สังโฆยะทิทัง" และนำดอกไม้ธูปเทียนอีกชุดมาใส่ในขันศีล ภาวนาว่า "ปะ อะ กา มุ สุ"

จากนั้นจะเป็นการใส่บาตรพระ แล้วร่วมกันประเคนบาตรกับข้าวแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์จะกล่าวคำอุทิศส่วนกุศลและให้พรผู้มาทำบุญเรียกว่า "ปันพร" (ปั่นปอน) เป็นอันเสร็จพิธีในช่วงเช้า จากนั้นในช่วงสายเป็นพิธีถวายทานเจดีย์ทราย ชาวบ้านนิยมนำจ้อตุง (ช่อธง ไปปักไว้บนเจดีย์ทราย และถวายไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่า "ไม้ค้ำศรี" (ออกเสียงว่า ไม้ก๊ำสะหลี สะหลีหรือศรี แปลว่าต้นศรีมหาโพธิ์)

การถวายไม้ค้ำศรีนี้มีคติสื่อถึงการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวต่อไป เพราะต้นโพธิ์นั้นคือสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นการต่ออายุของผู้ถวายไม้ค้ำศรี และในวันพระยาวัน ตามวัดต่างๆ นิยมแสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง อานิสงส์ปีใหม่ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการเดินทางของสังขานต์ และคำทำนายประจำปีนั่นเอง

หมายเหตุ. ภาพจาก สืบสารประเพณีปีใหม่เมือง, โดยศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, 2559, จาก https://issuu.com/rmutlculture/docs/____________________________________2e4c80c204ee2d

หมายเหตุ. ภาพจาก ประเพณีสงกรานต์ = Songkran tradition, โดย ธนโชติ เกียรติณภัทรและ บุญเตือน ศรีวรพจน์, 2564,กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

หมายเหตุ. ภาพจาก สืบสารประเพณีปีใหม่เมือง, โดยศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, 2559, จาก https://issuu.com/rmutlculture/docs/____________________________________2e4c80c204ee2d

การดำหัว

ช่วงบ่ายของวันพญาวันเป็นต้นไป การดำหัวจะขยายไปสู่ผู้มีพระคุณต่อคนในวงกว้างหรือผู้มีอำนาจในการบังคับบัญชาอาทิ พระสงฆ์ผู้ทรงคุณเป็นอเนก กษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูง ขุนนาง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ เช่น อธิการบดี ผู้อำนวยการ เป็นต้น การดำหัวระดับนี้เป็นเรื่องของ คนจำนวนมาก เครื่องสักการะจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น

หมายเหตุ. ภาพจาก ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง, โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , 2555, จาก https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/newsyear-wanpaya.php

หมายเหตุ. ภาพจาก ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง, โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , 2555, จาก https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/newsyear-wanpaya.php

หมายเหตุ. ภาพจากสาระล้านนาคดี, โดย อดุลสีลกิตติ์พระครู, 2551, บีเอสดี การพิมพ์.

ในวันพระยาวันมีการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์ คำว่า สรงน้ำ ภาษาไทยถิ่นเหนือใช้ว่า สระสรง ส่วนคำว่ารดน้ำ ภาษาไทยถิ่นเหนือออกเสียงว่า "ห๋ดน้ำ" เช่นรดน้ำพระเจ้า คือ การรดน้ำพระพุทธรูป รดน้ำธาตุ คือการรดน้ำพระเจดีย์ การรดน้ำในช่วงสงกรานต์ภาษาไทยถิ่นเหนือเรียกว่า "รดน้ำปีใหม่" ชาวล้านนามีธรรมเนียมดำหัวผู้อาวุโสในวันพระยาวัน เพื่อขอ "สูมาคารวะ" การดำหัวแบบล้านนาจะมีการจัดเตรียมเครื่องสำหรับดำหัว ได้แก่

1. พานดอกไม้ และขันดอก ได้แก่ เทียน 1 คู่ ธูป 1 คู่ และข้าวตอก

2. ต้นดอก คือดอกไม้ที่จัดลงในโครงไม้ที่เป็นรูปสามเหลี่ยมมีโพรงอยู่ตรงกลาง

3. หมากสุ่ม คือ พุ่มที่นำหมากไหม (หมากตากแห้ง) ผ่าเป็นซีกมาร้อยเป็นพวง แล้วนำมาคลุมบนโครงไม้หรือโครงเหล็กที่เตรียมไว้

4. หมากเบ็ง คือ พุ่มที่ทำจากผลหมากดิบหรือหมากสุกจำนวน 24 ผลมาผูกติดไว้กับโครงไม้หรือโครงเหล็ก

5. สวยหมากสวยพลู คือการนำหมากพลู ยาสูบ หนังก่อ (เปลือกไม้) มาห่อรวมกันด้วยใบตอง (ใบพลวง) เป็นรูปกรวยแหลมตั้งไว้ในถาดหรือสลุง

6. เครื่องบริโภค เช่น มะม่วง มะปราง แตงกวา มะพร้าวอ่อน ขนม ข้าวต้ม หมากพลู เมี่ยง บุหรี่

7. เครื่องอุปโภค เช่น เงินทอง เสื้อผ้าต่างๆ ใส่ไปในพานหรือภาชนะที่ตกแต่งอย่างสวยงาม

8. สลุงน้ำขมิ้นส้มป่อย ใส่น้ำลอยดอกไม้แห้ง เช่น สารภี ดอกคำฝอยและฝักส้มป่อย

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

ของมงคลทั้ง 8 อย่าง เมื่อจัดเตรียมเครื่องดำหัวแล้วเสร็จ จะมีการแห่เข้าขบวนไปยังบ้านเรือนของผู้อาวุโสผู้ที่จะไปดำหัวนั้นจะจัดเตรียมสถานที่ไว้ต้อนรับอย่างเต็มที่หรือในบางแห่งจะนิยมแห่ไปดำหัวตุ๊หลวง (เจ้าอาวาส) ในวัดของตนก่อนที่จะไปดำหัวผู้อื่น เมื่อไปถึงยังบ้านของผู้อาวุโสนั้นแล้ว ผู้นำขบวนจะนำพานดอกไม้พร้อมกับสลุงน้ำขมิ้นส้มปอย และเครื่องดำหัวอื่น ๆ ไปประเคนแด่ผู้อาวุโส และบางแห่งจะมีการกล่าวคำขอขมาดังนี้

"บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้พร้อมกันนำเครื่องสักการะสระเกล้าดำหัมาพร้อมนี้เพื่อจะมาขอสูมาคารวะเกล้าดำหัว และขอศีลขอพรกับท่าน ขอท่านได้เมตตาขุณณา (กรุณา) ลดโทษหื้อจิ่มน้อ กายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมบัง สัพพังโทสัง ขมันตุ โน"

จากนั้นผู้อาวุโสกล่าวคำให้พร ซึ่งจะมีสำนวนแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น หลังจากกล่าวคำให้พร ผู้ถูกดำหัวจะเอาปลายนิ้วจุ่มในสลุงน้ำขมิ้นสัมปอยลูบศีรษะพอเป็นพิธีเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าได้ สระผมแล้วธรรมเนียมดังกล่าวแตกต่างจากภาคกลางที่นิยมรดน้ำที่มือ จากนั้นผู้ที่มาดำหัวเล่นรดน้ำตามประเพณี ซึ่งเป็นการรดอย่างสุภาพและขออนุญาตซึ่งกันและกัน เมื่อรดน้ำจะมีการกล่าวอวยพรให้แก่กันว่า "หื้ออยู่ดีมีสุขเน้อ" และโดยมากมักจะมีการกล่าวคำพรในลักษณะเกี้ยวพาราสีระหว่างรดน้ำ เช่น "พลันได้พลันมี สารซ้อนกาบ พลันได้หาบได้คอน พลันได้นอนหมอนคู่พลันเอาสวรรค์เป็นบ้านเทอะเน้อ" หรือ "น้ำเย็นใส่ไหลลงสู่เนื้อ เปียะชุ่มเสื้อเพราะหลั่งจากใจ น้ำหยดนี้อย่าแห้งหายไหน ขอฝากทวยไปรอดเทิงเทิงบ้าน"

กล่าวถึงการดำหัวตั้งแต่วันสังขานต์ล่องเป็นต้นมา ถือได้ว่าการดำหัวเป็นพิธีกรรมที่ เป็นเรื่องเฉพาะของสูง เริ่มตั้งแต่ศีรษะของตนเอง ศีรษะของบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งที่อยู่ในระดับเสมอตนหรือด้อยอาวุโส ศีรษะของผู้อยู่ระดับอันควรสักการะ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่มีวิธีปฏิบัติโดยตรงหรือโดยอ้อมคือผ่านกุศลกรรมได้แก่การทำบุญอุทิศ หรือแม้กระทั่ง
การราดรด สระสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อยกับสิ่งควรเคารพ วัตถุ สถานที่ รูปเคารพ อาทิ วัตถุมงคล อัฐบรรพบุรุษอนุสรณ์สถาน เทวรูป พุทธรูป ซึ่งพิธีกรรมอาจมีความซับซ้อนในเชิงปฏิบัติตามสภาวะอันควร นั่นเป็นพิธีกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อรับใช้สังคม และเป็นที่สังเกตว่าการรดน้ำสาดน้ำซึ่งกันและกันด้วยน้ำธรรมดา

ในช่วงกาลเวลาเดียว ซึ่งแม้จะมีสถานะเป็นเพียงกิจกรรม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำในระบบคิดเดียวกัน แตกต่างกันเฉพาะกระบวนการและวิธีการเท่านั้น การกระทำกับของสูงเป็นการแสดงความเคารพมนุษย์หากรู้จักเคารพตนเอง เคารพผู้อื่นหรือสิ่งอื่นที่ควรเคารพย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรมระดับสูงทั้งคารวธรรม กตเวทิตาธรรมและเมตตาธรรม
การดำหัวจึงถือเป็นพิธีกรรมและกิจกรรมที่ผ่านการรินหลั่งน้ำที่ฉ่ำเย็น เป็นความหมายของชาวล้านนา อันจะนำพามาซึ่งความผาสุกร่วมกันตลอดไป

แห่ไม้ค้ำศรี ไม้ค้ำโพธิ์  (ออกเสียงว่า ไม้ก๊ำสะหลี สะหลีหรือศรี แปลว่าต้นศรีมหาโพธิ์)

ไม้ค้ำ หมายถึง ไม้ที่มีง่าม หรือมีสองแฉกในส่วนปลาย ใช้สำหรับการค้ำยันสิ่งต่างๆ ที่อยู่เบื้องสูงให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงประคองตัวอยู่ได้ โดยเฉพาะ ไม้ค้ำสะหรี หมายถึง ไม้ค้ำส่วนของต้นศรีมหาโพธิ์ตามวัดต่าง ๆ ซึ่งไม้ค้ำดังกล่าวได้จากการนำมาถวายของพุทธศาสนิกชนตามความศรัทธาและความเชื่อที่แตกต่างกันไป ซึ่งสรุปได้เป็นสามประการหลักๆ ได้แก่ 

ประการแรก เพื่ออธิษฐานขอพรตามที่ปรารถนา ประการต่อมาเพื่อค้ำหนุนให้ชีวิตประสบความเจริญ ไม่ตกต่ำ และประการสุดท้ายถือเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้อยู่ยืนนาน

ความเชื่อประการแรก มีปรากฏในตำนานพระธาตุดอยตุงว่าหากผู้ใดนำไม้ไปค้ำกิ่งต้นศรีมหาโพธิ์แล้วอธิษฐาน จะได้รับสิ่งที่ตนปรารถนา แต่ต้องค้ำให้ถูกทิศทาง กล่าวคือ หากต้องการมีบุตรให้ค้ำกิ่งด้านทิศตะวันออก ต้องการทรัพย์สฤงคารให้ค้ำด้านทิศเหนือ ถ้าต้องการให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวงให้ค้ำทิศตะวันตก หากปรารถนาโลกุตตรธรรม มรรคผลและพระนิพพานให้ค้ำด้านทิศใต้ และหากผู้ใดประสงค์จะได้ทั้งโลกิยสมบัติและโลกุตตรสมบัติให้นำไม้ไปค้ำต้นศรีมหาโพธิ์ให้ครบทั้งสี่ด้าน

ประการต่อมาปรากฎอยู่ควบคู่กับพิธีกรรมอันเนื่องมาจากการสืบชาตา คือ ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมสืบชะตาแล้ว ไม้ค้ำในพิธีกรรมจะถูกนำไปพิงหรือค้ำต้นศรีมหาโพธิ์อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นการนำไม้ค้ำไปถวายในช่วงสงกรานต์โดยมีวัตถุประสงค์หรือมุ่งหวังในความเป็นศิริมงคล และการสืบต่ออายุ

ประการสุดท้าย เป็นความหมายที่ซ้อนทับกับความเชื่อทั้งสองประการข้างต้น คือ มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะค้ำจุนพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นความคิดแฝงในพิธีกรรมอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงมีการจัดขบวนแห่กันเอิกเกริก โดยจัดให้มีในช่วงสงกรานต์ตั้งแต่หลังวันพญาวันของทุก ๆ ปี

สำหรับลักษณะทั่วไปของไม้ค้ำ ประเภทแรกเป็นไม้ค้ำขนาดเล็กหรือใหญ่ตามกำลังศรัทธา ที่พบเห็นโดยทั่วไปมักใช้ไม้เนื้อแข็งมีลำตรง นำมาปอกเปลือกแล้วทาสีขาว อาจตกแต่งประดับประดาด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง จากนั้นผูกมัดด้วยกรวยดอกไม้ธูปเทียน ส่วนการถวายบูชาผู้ประสงค์จะถวายมักนำไปถวายด้วยตนเอง ประเภทที่สองเป็นไม้ค้ำขนาดยาวเท่าความสูงหรือยาวเท่ากับหนึ่งวาของเจ้าชะตา ตกแต่งให้สวยงามจำนวนหนึ่งอัน ส่วนไม้ค้ำขนาดเล็ก มีความยาวเท่ากับหนึ่งศอกของเจ้าชาตา ทำขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าอายุของเจ้าชะตาหนึ่งอัน ไม้ค้ำนี้ผ่านพิธีกรรมการสืบชาตา ส่วนไม้ค้ำที่ถวายในช่วงสงกรานต์มิได้กำหนดขนาด ประดับตกแต่งให้สวยงาม ผูกมัดด้วยกรวยดอกไม้ ผ่านพิธีกรรมการถวายรวมกันโดยมัคนายกของวัดและเฉพาะประเภทสุดท้ายที่จะนำมาเป็นไม้ค้ำนำขบวนแห่ มักเป็นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ ปอกเปลือกทาสีขาว ประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีสันต่าง ๆ บางแห่งมีการสลักเสลางดงาม ผูกมัดด้วยกรวยดอกไม้และแพรพรรณหลากสี ไม้ค้ำใหญ่ดังกล่าวจะถูกนำมาจัดวางในแนวเอนลงกับรถในขบวนแห่ โดยยกส่วนปลายของไม้ค้ำขึ้นให้เห็นเป็นสง่า

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

หมายเหตุ. ภาพจาก ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง, โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , 2555, จาก https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/newsyear-wanpaya.php

หมายเหตุ. ภาพจาก ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง, โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , 2555, จาก https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/newsyear-wanpaya.php

หมายเหตุ. ภาพจากสาระล้านนาคดี, โดย อดุลสีลกิตติ์พระครู, 2551, บีเอสดี การพิมพ์.

หมายเหตุ. ภาพจากสาระล้านนาคดี, โดย อดุลสีลกิตติ์พระครู, 2551, บีเอสดี การพิมพ์.

วันที่ 16 เมษายน : วันปากปี

วันปากปีตรงกับวันที่ 16 เมษายน มีการทำพิธีลดเคราะห์หรือบูชานพเคราะห์ทั้งเก้า ชาวบ้านจะจัดเตรียม "เข้าเก้าพุ่น"หรือ "เข้าลดเคราะห์" ที่ทำจากสะตวงใส่เครื่องบูชาพระเคราะห์ พร้อมกับเสื้อผ้าไปไว้หน้าพระประธานในวิหาร โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี ในวันนี้ในแต่ละหมู่บ้านทำพิสืบชะตาหมู่ข้าน ทำความสะอาดหอเสื้อบ้าน บางแห่งทำบุญบ้าน (เสาหลักบ้าน) หรือ ในบางแห่งเช่นที่จังหวัดน่านมีการจุดบอกไฟ (บั้งไฟ) และถ้าหากผู้ใดยังดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือในวันพระยาวันไม่หมด ก็ต้องไปดำหัวในวันปากปี

วันปากปี เป็นวันถัดจากวันพญาวัน ถือเป็นวันเริ่มต้นชีวิตที่ดีหลายท้องที่จะประกอบพิธีสืบชาตาหมู่บ้าน ที่ ผู้คนไปร่วมงานกันพร้อมหน้า ตกเย็นจะมีการประกอบอาหารอันมีขนุนเป็นหลัก เช่น แกงขนุน ตำขนุน เป็นต้น เพราะเชื่อว่าจะเกิดการหนุนส่งให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งที่ดีงาม บ้างก็ทำอาหารประเภทลาบเอาเคล็ดทางโชคลาภเป็นประเดิม บ้างเสริมบารมีด้วยการจุดเทียนมงคลบูชาพระ ซึ่งมักประกอบด้วยเทียนยันต์สืบชาตา หลีกเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์และรับโชค เป็นต้น และมีการดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ และบุคคลที่เคารพต่อยาวไปจนหมดทุกคน หรือตลอดสิ้นเดือนเมษายนก็มี

หมายเหตุ. ภาพจาก สืบสารประเพณีปีใหม่เมือง, โดยศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, 2559, จาก https://issuu.com/rmutlculture/docs/____________________________________2e4c80c204ee2d

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

หมายเหตุ. ภาพจาก ปีใหม่ล้านนา, โดย สนั่น ธรรมธิ, 2553, สุเทพการพิมพ์.

วันปากเดือนปากวันปากยาม เรียงถัดกันไปนั้นก็จะเป็นการดำหัวเป็นสำคัญ

ถือเป็นวันเริ่มเดือนใหม่ ในวันนี้ยังคงมีการรดน้ำดำหัว และการเล่นสาดน้ำ

รายการอ้างอิง

ธนโชติ เกียรติณภัทรและ บุญเตือน ศรีวรพจน์. (2564). ประเพณีสงกรานต์ = Songkran tradition. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

วรนุช อุษณกร. (2538). ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. โอเดียนสโตร์.

ศักดิ์นรินทร์ ชาวงิ้ว. (2563). สืบสานประเพณีปีใหม่เมือง = Preserve traditional Lanna celebrate. ศิริวัฒนา กราฟฟิค.

ศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา. (2559). สืบสารประเพณีปีใหม่เมือง. ค้นจาก https://issuu.com/rmutlculture/docs/____________________________________2e4c80c204ee2d

สนั่น ธรรมธิ. (2553). ปีใหม่ล้านนา. สุเทพการพิมพ์.

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์ และวรรณนรี เจริญทรัพย์. (2555). จากน้ำขมิ้นส้มป่อยถึงแกงบ่าหนุน.  ค้นจาก https://www.smileconsumer.com/2012/04/น้ำขมิ้นส้มป่อย-แกงขนุน/

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2555). ประเพณีล้านนา : ประเพณีปีใหม่เมือง. ค้นจาก http://https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/newsyear-sangkan.php

หน่อหนานฝน [นามแฝง]. (2556). ประเพณีเมืองเหนือ จากปั๊บสาล้านนา. ณัฐพลการพิมพ์.

อดุลสีลกิตติ์พระครู. (2551). สาระล้านนาคดี : ภาคประเพณีวัฒนธรรมปีใหม่เมือง. บีเอสดี การพิมพ์.