ตุงเจดีย์ทราย

ตุงเจดีย์ทราย

เมื่อถึงเทศกาลวันสงกรานต์ (วันปีใหม่ของชาวล้านนา) เราจะพบเห็นชาวล้านนาร่วมมือกันขนทรายเข้าวัด เพื่อก่อเจดีย์ทราย ตามความเชื่อที่ว่าเมื่อคนเราเข้าวัดไปทำบุญเมื่อเวลากลับออกมามักจะเอาทรายที่วัดติดรองเท้าออกมาด้วยทำให้เป็นบาป เมื่อถึงวันปีใหม่ของชาวล้านนา ชาวล้านนาก็จะขนทรายเข้าวัด เพื่อร่วมกันก่อเจดีย์ทรายแล้วตัดต้นไผ่และริบใบออกให้หมดเหลือแต่กิ่งเตรียมไว้ พอถึงวันพญาวัน (วันที่ 14 เมษายน) ชาวบ้านก็จะนำเอาต้นไผ่ที่ริบใบที่เตรียมไว้แล้วนำตุงเจดีย์ทรายมาผูกกับกิ่งไผ่ เมื่อผูกแล้วก็จะนำมาปักตรงกลางเจดีย์ทราย

ตุงเจดีย์ทรายที่นำมาผูกติดกับกิ่งไม้ไผ่นั้นจะทำด้วยกระดาษสีต่างๆ หลายสี ส่วนมากทำจากกระดาษว่าว โดยตัดเป็นรูปร่างต่างๆ บ้างก็ทำเป็นรูปคนคือ มีหัว ลำตัว แขน ขา หรือบางคนก็ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงามที่ลำตัวของตุงนั้น บ้างก็ประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีสันต่างๆ หรือบ้างก็ฉลุลายโดยใช้กรรไกรตัดก็มี โดยส่วนใหญ่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3 – 4 นิ้ว ยาวประมาณ 12 – 13 นิ้ว

เมื่อทำตัวตุงเจดีย์ทรายเสร็จแล้วก็จะนำด้ายมาร้อยตรงหัวเพื่อนำไปผูกกับกิ่งไผ่ การปักตุงชนิดนี้นิยมปักร่วมกับจ้อน้อยด้วย บางคนก็มีดอกไม้ ธูปเทียนรวมอยู่ด้วย โดยจำนวนของตุงเจดีย์ทรายที่แขวนกับต้นไม้นั้นส่วนมากจะมีจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัว