ไทใหญ่

ไทใหญ่ :: มีรัฐปกครองกันเองเป็นแคว้นหนึ่งต่างหาก ขึ้นตรงต่อประเทศพม่า มีเจ้าฟ้าเป็นประมุข เดิมเราเรียกรัฐนี้ว่า "สหรัฐไทยเดิม"  ในสมัยที่ไทยได้เข้าทำการยึดครองระหว่างสงครามเอเชียบูรพา ในปี พ.ศ. 2485 มีอาณาเขตกว้างขวาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศไทย นับตั้งแต่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายเป็นต้นไป เป็นอาณาเขตของเงี้ยว ภูมิประเทศของสหรัฐไทยเดิมไม่สม่ำเสมอ บางแห่งเป็นภูเขาสูงชัน บางแห่งต่ำเป็นหนองน้ำ ป่าไปล้อมรอบ มีถนนติดต่อจากเขตไทยไปสู่เชียงตุง ซึ่งเป็นนครหลวงของชาวไทยใหญ่

ไทใหญ่ หรือ ไทยใหญ่ หรือ ฉาน (ไทใหญ่: တႆး ไต๊; พม่า: ရှမ်းလူမျိုး, ออกเสียง: [ʃán lùmjóʊ]; จีน: 掸族; พินอิน: Shàn zú) หรือ เงี้ยว (ซึ่งเป็นคำเรียกที่ไม่สุภาพ)

ชาวไทใหญ่ ได้อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดเชียงรายหลายอำเภอ เช่น ที่อำเภอเมือง บ้านสันป่าก่อ บ้านหัวฝาย อำเภอแม่จัน บ้านต้นฮ่าง บ้านเหมืองฮ่อ บ้านสลนวก และที่อำเภแม่สายมีมากกว่าอำเภออื่น ๆ เพราะเป็นชายแดนติดต่อกัน ชาวไทใหญ่ ได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ไทยร่วม 70 - 80 ปี และได้กลายมาเป็นชาวเหนือ ขนมธรรมเนียมเดิมก็เปลี่ยนแปลงไป

ชาวไทใหญ่เดิมนิยมสักหมึกตามตัวด้วยสีดำและแดง ถือว่าเป็นที่สวยงามและน่าเกรงขาม ลายสักเป็นตัวอักษรไทยใหญ่ ลงเลขยันต์และรูปลายสัตว์ต่าง ๆ เพราะ ชาวไทใหญ่มีความเลื่อมใสในลัทธิไสยศาสตร์ ดังนั้น การสักลายจึงไม่ใช่เรื่องความสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความเชื่อในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตอีกด้วย

ภาษาไทใหญ่

ภาษาไทใหญ่ หรือ ภาษาฉาน มีสำเนียงแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ฉานเหนือ ฉานใต้ เชียงตุง และพรมแดนติดกับจีนเรียกว่า ไทเหนือ โดยภาษาเมืองหนอง ถือเป็นภาษาไทหลวง สำเนียงของฉานเหนือ และฉานใต้จะแตกต่างโดยชัดเจน ส่วนที่เชียงตุงชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทเขิน โดยมีส่วนต่างกับภาษาไทใหญ่อื่น ๆ มาก และมีศัพท์เฉพาะค่อนข้างมาก และเสียง ร ไม่เป็น ฮ ไปทั้งหมด โดยเชียงตุงกับเมืองไหยจะมีสุภาษิตคล้ายคลึงกันมากเลยทีเดียว

การแต่งกาย 

ผู้ชาย ชอบไว้ผมมวยผมอย่างผู้หญิง เอาผ้าสีขาว ดำ หรือเขียวอ่อนปนเหลือง สีชมพู พันศีรษะ ถ้ามีงานพิธี หรือเดินทางเข้าเมือง จะใช้ผ้าโพกสีสด และสวมหมวกปีกใหญ่อย่างโคบาล ทับผ้าโพกศีรษะอีกชั้นหนึ่ง เสื้อกุยเฮงยาว แขนกว้าง มีผ้าทำเป็นเชื้อกไว้ผูกแทนกะดุม กางเกงขากว้างก้นหย่อนสีขาวหรือดำ ทุกคนสะพายดาบเวลาออกจากบ้าน

ผู้หญิง สวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาวรัดตัว ผ่าอกป้ายข้างมาทางใต้รักแร้ ใช้สีอ่อน ๆ ผ้านุ่งยาวถึงข้อเท้า เหตุที่สวมเสื้อแขนยาวและรัดตัว เพราะป้องกัน ริ้น ยุง แมลงต่าง ๆ ที่รบกวน ผู้หญิงไว้มวยผมโพกศีรษะ ออกจากบ้านมักมีร่มกระดาษติดมือไปด้วยเสมอ สวมรองเท้าแตะที่ทำขึ้นใช้เอง มีหัวหงอนและใหญ่

ขอขอบคุณภาพจาก paiboolwon

ขอขอบคุณภาพจาก Tai Community Online

ขอขอบคุณภาพจาก ผ้าและสิ่งถักทอไทย

การฟ้อนนกกิงกะหล่า

ขอขอบคุณภาพจาก Daryn Nakhuda

ศิลปะการแสดง :: ศิลปะการแสดงที่โดดเด่นของชาวไทใหญ่ คือ การฟ้อนนกกิงกะหล่า เป็นการแสดงประกอบการเฉลิมฉลองประเพณีออกหว่า หรือ งานออกพรรษา ซึ่งตรงกับประเพณีเดือน 11 โดยมีความเชื่อมโยงกับตำนานความเชื่อทางพุทธศาสนา เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดพระมารดาและเทวดายังชั้นสวรรค์ดาวดึงส์ และเมื่อเสด็จนิวัติยังโลกมนุษย์ ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาหรือวันเทโวโรหณะ

รายการอ้างอิง : 

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศยาม.
สมหวัง อินทร์ไชย. (2561). ไทใหญ่. ค้นจาก http://ctc.crru.ac.th/topic/2256
นายช่างปลูกเรือน. (ม.ป.ป.). ภาษาตระกูลไท. ค้นจาก https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=khurtai&date=21-04-2007&group=1&gblog=95
ผ้าและสิ่งถักทอไท. (2557, ตุลาคม 6). การแต่งกายของผู้หญิงชาวไทใหญ่. [Photograph]. จาก https://www.facebook.com/WasinThaiTextiles/photos/a.134208120073352/347611045399724
Daryn Nakhuda. (2007, January 11). Burmese Dancers. [Photograph]. จาก https://www.flickr.com/photos/ddaarryynn/354480614/
Ferrars, M. (1901). Burma. London: S. Low, Marston.
Tai Community Online. (2561, กุมภาพันธ์ 6). ความเป็นมาวันชาติรัฐฉาน ( ไทใหญ่ ) 7 กุมภาพันธ์ 2490. [Photograph]. จาก https://www.facebook.com/tainoom.org/photos/a.485374891543059/1606634809417056/