ศูนย์สิ่งทอล้านนา

ศูนย์สิ่งทอล้านนา

LANNA TAI TEXTILES CENTER

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ถนนพหลโยธิน ต.บ้านคู่ อ.เมือง จ.เชียงราย 57100

โทรศัพท์ 0-5377-6068 โทรสาร 0-5377-6001

FACEBOOK : ศูนย์สิ่งทอล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ข้อมูลทั่วไปของศูนย์สิ่งทอล้านนา

ศูนย์สิ่งทอล้านนา (LANNA TAI TEXTILES CENTER) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ สำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นอกจากจะเป็นแหล่งความรู้ทางด้านสิ่งทอล้านนาแล้ว ยังทำหน้าที่เป็น "ห้องปฏิบัติการของสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์" อีกด้วย

วิดีโอจาก YouTube channel : Maxkeymouse Max

วิดีโอจาก YouTube channel : Maxkeymouse Max

ประวัติความเป็นมาของศูนย์สิ่งทอล้านนา

สิ่งทอ เป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านอันเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งในการตอบสนองความต้องการมนุษย์ด้านปัจจัยเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ผ้าทอในอดีตจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นแล้วผสมผสานศิลปะให้เกิดความงาม ดังนั้น ผ้าทอพื้นบ้านจึงเป็นที่ดึงดูดผู้รักศิลปะพื้นบ้านมาให้เกิดความประทับใจกับความงามในผืนผ้าทอ จนได้รับการยกระดับผ้าทอพื้นบ้านให้มีคุณภาพและเข้าสู่เชิงพาณิชย์ ไปจนสร้างความนิยมในการใช้ผ้าทอในวงกว้างออกไป ปัจจุบันนี้คนไทยและชาวต่างชาติได้หันมานิยมผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านกันมากขึ้น การหันมานิยมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายในฐานะที่เป็น มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและตอบสนองนโยบายรัฐบาลเป็นโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) หรือแม้กระทั่งโครงการ SMEs ต่างๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนได้รับผลสำเร็จเป็นที่ไว้วางใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

  • พ.ศ. 2545 สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

  • พ.ศ. 2546 สำนักงานสภาสถาบันราชภัฎร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

  • พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและกระทรวงอุตสาหกรรม

  • พ.ศ. 2548 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

  • พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้กรรมการพัฒนาชุมชน

จากความร่วมมือดังกล่าว รองศาสตราจารย์ทรงพันธ์ วรรณมาศ เป็นผู้ดำเนินการจนทำให้ได้ฐานข้อมูลและตัวอย่างผ้าทอพื้นเมืองจากชุมชนมากมาย ดังนั้นในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อให้บริการแก่ชุมชนและท้องถิ่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มานพ ภาษิตวิไลธรรม ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายในขณะนั้น เป็นผู้ดำริให้ก่อตั้ง "ศูนย์สิ่งทอล้านนา" เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสิ่งทอ ในเขตภาคเหนือและของประเทศเพื่อนบ้านพร้อมให้บริการแก่ชุมชนและท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจทั่วไป

ผ้าทอที่อยู่ในการดูแลของศูนย์สิ่งทอล้านนา

ศูนย์สิ่งทอล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้ถูกจัดตั้งเพื่อให้บริการข้อมูลด้านสิ่งทอล้านนาต่อชุมชนและท้องถิ่น โดยให้บริการในระบบกึ่งพิพิธภัณฑ์ กล่าวคือ ได้มีการรวบรวมข้อมูลสิ่งทอที่เป็นต้นแบบพร้อมคำอธิบายของกลุ่มชนแต่ละกลุ่มที่อยู่ในเขตของภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง รวมไปจนถึงชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเขตชายขอบของภาคเหนือตอนบน

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดแสดงเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อใช้ใกระบวนการทอผ้าต่างๆ ตั้งแต่การได้มาซึ่งเส้นใยจากตัวไหม หรือจากพืพันธ์ุที่ให้เส้นใยต่างๆ ตลอดจนวัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมสีเส้นใย เพื่อให้ผ้าทอเกิดสีสันที่สวยงาม ตลอดจนอุปกรณ์สำคัญอย่างกระสวย และกี่สำหรับทอผ้า

เนื่องจาก ศูนย์สิ่งทอล้านนา ได้มีการรวบรวมข้อมูลสิ่งทอที่เป็นต้นแบบที่อยู่ในเขตของภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง รวมไปจนถึงชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเขตชายขอบของภาคเหนือตอนบน ประกอบไปด้วย

  • ผ้าทอเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

  • ผ้าทอจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

  • ผ้าทอดอยเต่า อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

  • ผ้าทอฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

  • ผ้าทอแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

  • ผ้าทอลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

  • ผ้าทอลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

  • ผ้าทอพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

  • ผ้าทอน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

  • ผ้าทอคูบัว-ดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

  • ผ้าทอลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

  • ผ้าทอน้ำอ่าง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์

  • ผ้าทอลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่

นอกจากนี้ยังมีผ้าทอจากชนกลุ่มน้อย ได้แก่ ชุดแต่งงานของชาวปกากะญอ แต่หากจำกัดพื้นที่เฉพาะในเขตจังหวัดเชียงราย ข้อมูลผ้าทอที่ได้มีการจัดเก็บรวบรวมไว้ที่ศูนย์สิ่งทอล้านนาจะเป็นของชนชาติไทยวน และชนชาติไทลื้อ ที่มักมีพื้นที่อยู่อาศัยบริเวณอำเภอเชียงแสน

ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ถ่ายทอดความรู้

คุณศรี ธรรมวงค์

โดยผู้ที่ให้ข้อมูลในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ คือ คุณศรี ธรรมวงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน ชาวเชียงของ ผู้สั่งสมความรู้ด้านการทอผ้าและถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง แม้ว่าในปีนี้ พ.ศ. 2565 คุณศรี ธรรมวงค์ จะมีอายุ 63 ปีแล้วก็ตาม แต่ความสามารถในการทอผ้ายังคงมีอยู่เต็มเปี่ยมซึ่งพร้อมที่จะมอบ และถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา ตลอดจนผู้ที่สนใจในเรื่องผ้าทอล้านนา

รายการอ้างอิง

ทรงพันธ์ วรรณมาศ. (2549). ความรู้เกี่ยวกับสิ่งทอล้านนา. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย. ศูนย์สิ่งทอล้านนา.