วัดพระสิงห์

ที่อยู่วัด : หมู่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57000

นิกาย : มหานิกาย

ประเภทวัด : พระอารามหลวง

ได้รับอนุญาติตั้งเป็นวัด : พุทธศักราช 1928

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : -

ประวัติวัด

วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ มีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1928 ในรัชสมัยของพระเจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งมาครองเมืองเชียงรายระหว่างพุทธศักราช 1888-1943

สาเหตุที่วัดนี้มีชื่อว่า วัดพระสิงห์ นั้น น่าจะเป็นเพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย คือพระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า พระสิงห์ ปัจจุบันวัดพระสิงห์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ (หรือพระสิงห์) จำลองศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัยชนิดสำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 66 เซนติเมตร

ตำนานพระสิงห์

พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานปรากฏในสิหิงคนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช 700 ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา 1150 ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 1850 ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย 70 ปี

พ.ศ. 1920 ประดิษฐานที่พิษณุโลก 5 ปี

พ.ศ. 1925 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 5 ปี

พ.ศ. 1930 ประดิษฐานที่กำแพงเพชร 1 ปี

พ.ศ. 1931 ประดิษฐานที่เชียงราย 20 ปี

พ.ศ. 1950 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 255 ปี

พ.ศ. 2250 ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 105 ปี

พ.ศ. 2310 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ 28 ปี

พ.ศ. 2338 ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ - ปัจจุบัน

พระประธาน

พระประธานในพระอุโบสถวัดพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน สิงห์หนึ่งเนื้อสำริดปิดทอง ปางมารวิชัย สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ มีหน้าตักกว้าง 204 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 284 เซนติเมตร ที่ฐานมีอักษรล้านนาจารึกว่า “กุสลาธฺมา อกุสลา ธฺมา อพฺยากตา ธฺมา”

พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างทำด้วยเนื้อไม้แข็ง สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นเมื่อราวจุลศักราช 1251-1252 (พ.ศ. 2432-2433) ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกสองครั้งคือ พ.ศ. 2504 โดยพระครูสิกขาลังการ และ พ.ศ. 2533 โดยพระสุนทรปริยัติวิธาน เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์

พระเจดีย์

พระเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถมีการบูรณะอีกครั้งหนึ่งในปี 2533 แต่เดิมทาสีขาว ปัจจุบันทาสีทองเด่นเป็นสง่า ประดิษฐานอยู่ทิศตะวันตกชิดด้านหลังพระอุโบสถ

พระพุทธบาทจำลอง

พระพุทธบาทจำลองจำหลักบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณ “กุสลาธฺมา อกุสลา ธฺมา อพฺยากตา ธฺมา” ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาแต่สมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทย

บานประตูหลวง

บานประตูหลวง ทำด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างประณีตวิจิตรบรรจง เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดยศิลปินเอก ผู้มี ผลงานเป็นที่กล่าวขานในระดับโลก นามว่า อ.ถวัลย์ ดัชนีเป็นเรื่องราวของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันหมายถึง ธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในร่างกาย คนเราทุกคน

ดิน คือ เนื้อ หนัง กระดูก

น้ำ คือ ของเหลวต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต ปัสสาวะ

ลม คือ อากาศที่เราหายใจเข้าออก ลมปราณที่ก่อเกื้อให้ชีวิตเป็นไป

ไฟ คือ ความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารเกิด พลังงาน

แนวคิดของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ถ่ายทอดธาตุทั้ง 4 ออกเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ 4 ชนิด เพื่อการสื่อความหมายโดยให้

ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของ ดิน

นาค เป็นสัญลักษณ์ของ น้ำ

ครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของ ลม

สิงห์โต เป็นสัญลักษณ์ของ ไฟ

ผสมผสานกันโดยมีลวดลายไทยเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีลีลาเฉพาะแบบของ อ.ถวัลย์ ดัชนี งานแกะสลักบานประตูวิหารนี้ พระราชสิทธินายก เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้มอบความไว้วางใจให้ สล่าอำนวย บัวงามหรือ สล่านวย และลูกมืออีก หลายท่านเป็น ผู้แกะสลัก ใช้เวลาในการแกะสลักเกือบหนึ่งปี ได้บานประตูมีขนาด กว้าง 2.40 เมตร ยาว 3.50 เมตร และหนา 0.2 เมตร ด้วย ลวดลายและลีลาการออกแบบ และฝีมือการแกะสลักเสลาอย่างประณีตบรรจง นับว่า บานประตูนี้ได้ช่วยส่งเสริมความงดงาม ของพระวิหารได้โดดเด่นมากขึ้น

เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์

1 ครูบาปวร พ.ศ. 1943-1962

2. ครูบาอินทจักรรังษี พ.ศ. 1962-1985

3. พระอธิการอินตา พ.ศ. 1985-

4. พระมหายศ

5. พระธรรมปัญญา (ป๊อก) พ.ศ. 2413-2440

6. พระครูเมธังกรญาณ (ป๊อก) พ.ศ. 2440-2473

7. พระครูเมธังกรญาณ (ดวงต๋า) พ.ศ. 2473-2488

8. พระครูสิกขาลังการ พ.ศ. 2489-2522

9. พระสุนทรปริยัติวิธาน พ.ศ. 2523 –ปัจจุบัน

ภาพบรรยากาศภายในวัด

รายการอ้างอิง

ข้อมูลและรายละเอียดของวัดกลางเวียง. (มปป.). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2558, จาก http://www.paiduaykan.com/province/north/chiangrai/watprasing.html