วัดเชตวัน

ชื่อวัด : วัดเชตวัน (วัดพระนอน)

นิกาย : มหานิกาย

ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

พิกัดทางภูมิศาสตร์ :

  • Location 47 Q 0588309

  • UTM 2201296

  • N 19ํ54.364 E 009ํ50.61

ประวัติความเป็นมา :

วัดเซตวันมีผู้สูงอายุหลายท่านเล่าถึงตำนวนหรือประวัติของวัดไว้ว่า มีครูบากา กาวิโล (หงส์) วัดท่าฟ้าฮ่าม ตำบลเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2423 ได้ธุดงค์มาพักวัดศรีเกิด ซึ่งตรงกับช่วงหลังปี พ.ศ. 2420 เจ้าแก้วนวรัตน์ ได้รับคำสั่งจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นผู้นำพาคนมาบูรณะเมืองเชียงรายให้เจริญยิ่งขึ้น โดย ครูบากา กับ ครูบาโพธิ์ ท่านทั้งสองได้นำผู้คนในละแวกนั้นทำการแผ้วถางบริเวณวัดร้างดังกล่าวซึ่งมีเจดีย์ตั้งตระหง่านอยู่ และซากอิฐล้มทับมากมาย เมื่อท่านครูบาได้มาสำรวจพื้นที่วัดร้างแห่งนี้ก็กลับไปที่เชียงใหม่ แล้วอพยพเอาฐาติโยมของท่านมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านร่องป่าค้าว ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของวัดเชตวันในปัจจุบัน ครูบากาได้ชักชวนญาติโยมช่วยกันบูรณะสร้างวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เมื่อปี พ.ศ. 2423 เป็นต้นมา ท่านได้สร้างกุฏิเป็นอันดับแรกเป็นกุฏิไม้สักทั้งหลัง หลังจากนั้นจึงได้สร้างวิหารขึ้นอีกหลังหนึ่งเป็นไม้สักทั้งหลังอีกเช่นกัน

ครูบากาได้นำตำนานวันเซตวันจากเชียงใหม่มาจารใส่ใบลานเอาไว้ แล้วนำตำนานฉบับเก่าคืน นอกจากนี้ท่านได้สร้างวิหารที่มีลวดลายและแกะสลักที่สวยงาม โดยระหว่างที่สร้างวิหารท่านได้ล้มป่วยและถึงแก่มรณภาพ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2425

ประวัติการสร้างพระนอน

เมื่อปี พ.ศ. 2491 ได้มีโยมท่านหนึ่งชื่อ สุธรรม นามสกุลทวีรัพย์ เป็นชาวอำเภอพยุหเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาติดต่อขอสร้างพระนอนยาว 20 วา ตรงกับวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2491 ได้มีการแจ้งประชุมชาวบ้านว่าจะมีคนมาสร้างพระในวัดแห่งนี้ยาว 20 วา ค่าแรงงานนายช่าง ท่านจะรับเหมาเอาทั้งหมด ส่วนอุปกรณ์ก่อสร้างทุกอย่างให้คณะศรัทธาเป็นผู้รับทั้งหมด ชาวบ้านในที่ประชุมนั้นเห็นชอบ ตามที่เสนอทุกประการ ครั้นพอถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2491 บรรดาชาวบ้านได้นำเอาจอบ เสียม บุ้งกี๋ ช่วยกันขุดเอาดินเพื่อปั้นเป็นก้อนอิฐโดยได้รับบริจาคดินจากเจ้าของที่นา ยอมยกให้่ด้วยศรัทธา ภายในเจ็ดวัดการก่อสร้างแท่นพระจึงแล้วเสร็จ ซึ่งในขณะนั้นมีศรัธทา 130 ครัวเรือน เท่านั้น สำหรับปูนขาวได้นำมาจากดอยกองข้าว นำมาเผาโดยของแรงคณะศรัทธาเป็นหมวดๆ

ต่อมา หมอประชัน สุธรรม ได้ฤกษ์ยามในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ตรงกับขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 เวลา 10.00 น. ซึ่งนำโดยครูบาธรรมจักการ วัดเจ็ดยอด พระครูปัญญาลังการ วัดศรีทรายมูล พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอเมือง วัดศรีบุญเรือง มาทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยครั้งนี้ได้ช่าง คือ สล่าแขกบ้านแม่คำสบเปิน อำเภอแม่จัน มาเป็นนายช่างใหญ่ และมีชาวบ้านเข้าช่วยวันละ 20 ถึง 30 คน การก่อสร้าง พระนอนใช้เวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จ นับตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดพระนอน" องค์พระมีความยาว 34 เมตร

ต่อมาปี พ.ศ. 2497 เริ่มขุดฐานวิหารรอบพระนอนแล้วหล่อเสาแปดเหลี่ยม

ในปี พ.ศ. 2502 ทำการฉลองวิหาร

ในปีพ.ศ. 2506 ฉลองดาดฟ้า

ในปี พ.ศ. 2510 รื้อวิหารหลังเก่าแล้วทำการสร้างวิหารหลังใหม่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ

ในปี พ.ศ. 2517 จึงก่อสร้างแล้วสำเร็จ

และในปี พ.ศ. 2518 จึงได้ฉลองวิหารใหม่

วิหารพระนอน

วิหารพระนอนเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะล้านนาและรัตนโกสินทร์ สอดคล้องกับประวัติการสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 - 2517 โดยมีโครงสร้างอาคารโดยรวมคล้ายกับอาคารล้านนนา คือ เป็นอาคารทรงเตี้ย หน้าจั่วประดับด้วยเครื่องไม่สลัก หลังคาชั้นซ้อนขึ้นมาเป็น 2 ชั้น แต่ที่แตกต่างออกไป คือ การทำป้านลมเป็นลักษณธเส้นตรง ต่างจากป้านลมล้านนาที่โค้งอ่อนเน้นระนาบเอนของตับหลังคาโดยเฉพาะอย่างยิ่งลวดลายของหน้าบัน โก่งคิ้ว และรวงผึ้ง ซึ่งเป็นแผงไม้ประดับด้านหน้าระหว่างเสาของวิหารพระนอนแห่งนี้ มีลักษณะเป็นลายก้านขดตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของไทยสยามภาคกลางที่มีการพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่างจากสถาปัตยกรรมอาคารประเภทวิหาร และอุโบสถของล้านนาแบบดั้งเดิมนั้น นิยมทำลวดลายดอกไม้ใบไม้ฉลุโปร่ง โดยลวดลายประกอบเหล่านี้มียางส่วนสืบทอดมาจากศิลปะจีน

วิหารหลวงพ่อทันใจ

อยู่ใกล้กับทางเข้าวัด คือ วิหารหลวงพ่อทันใจ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ให้ศรัธทาประชาชนได้เข้ามาสักการะบูชากราบไหว้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว รูปแบบทางสถาปัตยกรรมนั้นมีความใกล้เคียงศิลปะล้านนามากกว่าวิหารพระนอนแต่มีการปรับเปลี่ยนจากลักษณธดั้งเดิมอยู่บ้าง กล่าวคือ ผนังด้านหน้ามีทางเข้า 3 ประตู แต่ตัวอาคารไม่ได้ยกเก็จออกไปทางด้านหน้าดังเช่นรูปแบบดั้งเดิม

รูปแบบงานสถาปัตยกรรมอาคารประเภทวิหารและอุดบสถมีปรากฎความนิยมมาแล้วตั้งแต่ล้านนาระยะแรก ๆ ส่วนใหญ่เป็นอาคารเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ซึ่งช่างล้านนาในอดีตมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเข้าไม้ด้วยสลักร่องเดือยเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากอาคารไม้มีอายุการใช้งานขำกัด ต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือทำการสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิมที่หมดสภาพไป

พระปัญจมหาธาตุ

พระปัญจมหาธาตุ ตั้งอยู่หลังวิหารพระเจ้าทันใจ เป็นเจดีย์ห้าองค์บนฐานไพทีก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารชั้นเดียว ดูลักษณะคล้ายกับเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่จะย่อส่วนลงโดยตั้งข้อ สันนิษฐานว่า วิหารพระปัญจมหาธาตุ วัดเชตวัน เชียงราย คล้ายกับวิหารวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ แต่เจดีย์บริวารเป็นทรงระฆัง ไม่ใช่ทรงศิขร (สิ - ขะ -ระ) หรือทรงปราสาท แบบวัดเจ็ดยอด ดังนั้น หากเปรียบเทียบช่วงเวลาการก่อสร้างสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในช่วงยุคหลังที่ช่างล้านนานิยมรูปแบบทรงเจดีย์เช่นเดียว กับพระธาตุวัดเจ็ดยอดจังหวัดเชียงราย

ที่มา:: เทศบาลนครเชียงราย. (2559). วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงราย: เทคโนปริ้นติ้งเซ็นเตอร์.