แกงแค (Gang Khae)

Katurai Chilli Soup

อัตลักษณ์

"แกงแค"

“แกงแค” กับข้าวขึ้นชื่อของคนเหนือที่ไม่ใช่แกง “ดอกแค”

"แกงแค" เป็นแกงที่ประกอบด้วยผักหลายชนิด โดยใช้ผักแค หรือใบชะพลู เป็นตัวชูกลิ่น แกงชนิดนี้เลยได้ชื่อว่าแกงแค ตามชื่อผักที่ใช้ชูกลิ่นนี้ (หากเป็นภาษาไทลื้อ คำว่า "แค" จะมีความหมายว่า "แกง")

"แกงแค" เป็นอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือ เป็นแกงที่ประกอบไปด้วยผักหลายชนิด โดยใส่เนื้อสัตว์เข้าไปด้วยหนึ่งอย่าง แต่ที่นิยมจะเป็นแกงใส่เนื้อไก่ และจะเรียกชื่อแกงแคตามชนิดของเนื้อสัตว์ที่ใส่นั้น เช่น แกงแค่ไก่ แกงแคชิ้นงัว (อ่าน "แก๋งแคจิ้นงัว") แกงแคปลาแห้ง (อ่าน "แก๋งแคป้าแห้ง") แกงแคนก แกงแคกบแห้ง (อ่าน "แก๋งแคนแห้ง") เป็นต้น

แกงแคจะใช้ถั่วเน่าแทนกะปิ จะทำให้มีกลิ่นหอม ผักที่ใช้ที่ คือ ผักเผ็ด ตำลึง ชะอม เห็ดหูหนูดำ จะค่าน (เครื่องเทศพื้นบ้าน) หวายอ่อน ถ้าแกงในฤดูหนาวจะมีผักแปลกๆ คือ ขี้หูด ถั่วแปบ ความหลากหลายของผักทำให้แกงมีรสชาติหลายรสรวมกันทั้งผักเย็น เช่น บวบ ตำลึง ผักร้อน ใบกะเพรา ใบพริก ความเหนียวนุ่มของผักแต่ละชนิด ทำให้แกงแคเกิดความอร่อย น้ำแกงจะเผ็ด เพราะผักบางอย่าง มีรสเผ็ด แกงแคเป็นทั้งอาหารเป็นทั้งยาเหมาะสำหรับคนที่เป็นเบาหวาน

เรื่องราวของแกงแค

"แกงแค" มักจะมีเนื้อสัตว์ใส่ด้วยหนึ่งอย่าง และจะเรียกชื่อแกงแค ตามชนิดของเนื้อสัตว์ที่ใส่นั้น เช่น แกงแคไก่ แกงแคเนื้อ แกงแคปลา แกงแคกบ เป็นต้น ส่วนประกอบของแกงแคแบ่งออกเป็น เครื่องปรุงหรือเครื่องแกง และเครื่องผัก และเมื่อผักทุกอย่างสุกนุ่ม น้ำแกงจะหวานจากผัก รสชาติไม่เผ็ดจัด หอมมะแขว่น

แกงแค อาจจะแกงในลักษณะแห้งได้ โดยจะเรียกว่า คั่วแค หรือนำไปเติมข้าวคั่ว และ ห่อใบตองแล้วนำไปนึ่ง ก็จะเรียกว่า ห่อนึ่งแค ส่วนหากมีมากจนเหลือ ก็สามารถนำไปรวมกับแกงอื่น ๆ เช่น แกงฮังเล แกงอ่อม เติมหน่อไม้ดอง วุ้นเส้น และผักอื่นอีก ก็สามารถกลายเป็นแกงโฮะได้อีกอย่างหนึ่ง

ด้วยแกงแค เป็นแกงที่รวมเอาผักหลายๆ อย่างไว้ด้วยกัน ผักนั่นนิด ผักนี้หน่อย เก็บตามสวนครัวและรั้วบ้าน บางทีก็ไปขอผักจากบ้านใกล้เรือนเคียง เข้ามาประสมเป็นชุดผัก แกงแคลักษณาการนี้ ทำให้คนรุ่นก่อน นำมาถักทอเป็นคำคร่าวคำเครือ หรือคำปริศนา เช่น

หนุ่มจะไปแอ่วสาว บ่าวถามสาวว่า "น้องสาว น้องกิ๋นเข้ากับหยัง?" หมายถึง น้องสาวกินข้าวกับอะไร

สาวก็ตอบไปว่า "แก๋งผักแก๋งไม้ แก๋งใต้แก๋งเหนือ แก๋งผักแก๋งเครือ แก๋งเหนือแก๋งใต้" การที่บอกว่า แกงผักแกงไม้ แกงใต้แกงเหนือ หมายถึงการที่เก็บผักตามบ้านเหนือบ้านใต้ หรือผักที่อยู่ใกล้เคียงมาแกง

ประโยคคำคร่าวคำเครือนี้จึงหมายถึง "แกงแค" ตามที่ไปเก็บผักต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เคียงๆ นั้นเอง นอกจากนี้ คำว่าแกงแค ยังมีความหมายกว้างไปกว่านี้ โดยนำเอาลักษณะของแกงที่รวมเอาพืชผักหลายชนิดไว้ด้วยกัน มาเรียกสิ่งที่รวมหลายอย่างอยู่ด้วยกัน เช่น 

"บ้านแกงแค" ก็เรียกหมู่บ้านที่รวมเอาคนหลากหลายชาติพันธุ์มาอาศัยในหมู่บ้านเดียวกัน หรือ "ธัมม์แกงแค" ก็หมายถึงคัมภีร์ที่มีการรวมเอาธัมม์หลากหลายเรื่องเข้ามาอยู่ในไม้ประกับธัมม์เดียวกัน ด้วยปกติมักจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่หลายผูก แต่หากเป็นธัมม์แกงแค ก็มักจะเป็นธัมม์ชะตา เช่น ธัมม์ประจำวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องมารวมกัน ถวายพระ เป็นต้น

แกงแค มีความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างมาก นอกจากนี้บางท่านก็ถือว่า แกงแค เป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ และให้คุณค่าทางยาไปด้วย การกินแกงแค เราได้รับสารอาหารจากพืชผักหลายชนิด และเป็นตัวเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง โดยถือว่ากินอาหารให้เป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร

เมื่อลองเปรียบเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียงที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น ล้านช้าง หรืออีสาน อาจไม่พบสำรับอาหารที่มีลักษณะ ส่วนประกอบทั้งหมดที่เหมือนแกงแค มีแต่ที่คล้ายๆ กัน เช่น “เอาะหลามแบบหลวงพระบาง” ที่ใส่จะค่านและผัก แต่ไม่ใช้เครื่องแกงพริกแห้ง “เอาะซดไก่” ในหนังสือตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง ของ เพียสิง ซึ่งใส่ใบแมงลักปรุงกลิ่น ซึ่งคล้าย "แกงเลียง" แบบมาตรฐานภาคกลาง “แกงอ่อม” ของคนอีสาน ที่ใส่ข้าวเบือคล้ายเอาะหลาม แต่ก็ไม่ใช้จะค่าน ฯลฯ

แนะนำเพิ่มเติม
“จะค่าน” หรือ “จักค่าน” ไทยว่า “สะค้าน” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Piper interruptum Opiz ในวงศ์ PIPERACEAE จัดอยู่ในเครื่องปรุงประเภทเครื่องเทศใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ปรุงรสให้อาหารมีรสเข้มข้นและใช้เครื่องเคียงรับประทานกับอาหารประเภทลาบ นอกจากนี้ยังเป็นยาแก้ไข้ แก้โรคหืดหอบ ขับเสมหะ ขับลม แก้จุดเสียด บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ เป็นยาเจริญอาหาร เป็นหนึ่งของยาดองเหล้าประเภทชูกำลังอีกด้วย

สูตรสำหรับ แกงแคไก่

ส่วนประกอบ (สำหรับ 6 ที่)

เครื่องปรุง

อกไก่หั่นบาง 1 ถ้วย (200 กรัม)

หน่อไม้หั่นพอคำ 1/2 ถ้วย (50 กรัม)

ผักเผ็ด (ผักหัวแหวน) เด็ดสั้นๆ 1/2 ถ้วย (30 กรัม)

ถั่วฝึกยาวหั่นท่อนยาว 5 ฝัก (50 กรัม)

มะเขือพวงเด็ดเป็นลูก 1/4 ถ้วย (40 กรัม)

ดอกงิ้วแช่น้ำพอนุ่มฉีกครึ่งดอก 5-6 ดอก

มะเขือเปราะผ่าสี่ 6 ลูก (100 กรัม)

หน่อหวายอ่อนหันท่อนขนาดคำ 50 กรัม

บวบปอกเปลือกหั่นชิ้นพอคำ 1 ลูก (80 กรัม)

ตำลึงเด็ดเป็นใบ 1 ถ้วย (100 กรัม)

เขือยาวหั่นชิ้นขนาดคำ 80 กรัม

ใบชะพลู (ผักแค) หั่นหยาบ 1 ถ้วย (100 กรัม)

เห็ดหูหนูดำหั่นบาง 4-5 ดอก

เห็ดลมฉีกหยาบ 20 กรัม

ดอกแคเด็ดเกสรออก 10 ดอก (20 กรัม)

ใบพริกเด็ดเป็นใบ 1/2 ถ้วย (25 กรัม)

ยอดฟักทองเด็ดสั้น 30 กรัม

กระเพราขาวเด็ดเป็นใบๆ 1/2 ถ้วย (50 กรัม)

จะค่านหั่นบางๆ 25 กรัม

ชะอมเด็ดสั้น ๆ 1 ถ้วย (100 กรัม)

น้ำมันพืช 3 ช้อนโต๊ะ (45 กรัม)

น้ำ 3 ถ้วย (350 กรัม)

เครื่องแกง

พริกแห้งเม็ดใหญ่แช่น้ำพอนุ่มหั่นละเอียด 7 เม็ด (30 กรัม)

ตะไคร้ซอย 1 ต้น (15 กรัม)

กระเทียมซอย 1 หัว (15 กรัม)

หอมแดงซอย 3 หัว (15 กรัม)

ถั่วเน่าแผ่นคั่วบ่น 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)

เกลือ 1 ช้อนชา (5 กรัม)

วิธีทำ

ข้อควรรู้

การกินแค อาหารทางเหนือ สามารถหาผักได้ในท้องถิ่นหรือตามฤดูกาล แต่ไม่นิยมผักพวกที่มีเมือกลื่น หรือที่เปื่อย และเละง่าย ใส่ในแกงแค แกงแคสามารถใส่ผักได้ถึง 108 ชนิด

นอกจากนี้แกงแค มีผักจำนวนมาก จึงควรเติมน้ำเล็กน้อย ด้วยจะมีน้ำจากผักออกมาอีก ดังมีคำกล่าวที่ว่า "แกงจิ้นใส่น้ำนัก แกงผักใส่น้ำหน้อย" หมายถึง แกงเนื้อให้เติมน้ำมาก ๆ หากแกงผักควรใส่น้ำน้อย ๆ

แกงแคมีคุณค่าทางยา เนื่องจากผักพื้นบ้านที่นำมาปรุงเป็นสมุนไพรที่มีทั้งรสเย็น รสเผ็ด รสร้อน รสมัน คนโบราณมักรับประทานแกงแคในช่วงเปลี่ยนฤดู เพราะเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนร่างกายต้องปรับตัว บางคนมักเป็นหวัดเจ็บไข้ไม่สบาย ได้ง่าย แกงแคจะเป็นอาหารปรับธาตุในร่างกายให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2558). อัตลักษณ์อาหารไทย 4 ภาค (พิมพ์ครั้งที่ 2). โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

กฤช เหลือลมัย. (2559). แกงแค ไม่ใช่แกง "ดอกแค". [รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์]. ศิลปวัฒนธรรม, 37(4).

คชานนท์ จินดาแก้ว. (2559). แกงแคไก่. [รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์]. เวียงเจ็ดลิน, 6(2), 51–54. 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา. (ม.ป.ป.). จะค่าน. https://art-culture.cmu.ac.th/Museum/treedetail/10