ลื้อเชียงรุ้ง

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551)

ลื้อเชียงรุ้ง :: ลื้อเชียงรุ้ง คือ คนไทที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเขตเมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองพันนา ( ปันนา ) ในอาณาเขตมณฑลยูนนานตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อกลางปี พ . ศ .2492 พากันอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านริมฝั่งแม่น้ำแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 20 หลังคาเรือน

เชียงรุ่งเป็นเมืองหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงชาวเมืองเรียกว่า “ เจียงฮุ่ง ” จีนเรียกว่า “ กิ่วลุงเกียง ” ทั้งแคว้นเรียก “ สิบสองพันนา ” มีที่ราบเพียงเล็กน้อยล้อมรอบไปด้วยป่าไม้และภูเขาหลายสิบลูก จึงต้องแบ่งเอาที่ดินพื้นที่ราบไว้ ทำไร่ ทำนา ทำสวน ชาวเมืองเชียงรุ่งปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่ตามบนเนินเขาที่ลาดไปทางทิศตะวันตก ซึ่งพอที่จะสร้างบ้านเรือนได้จึงรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งมีจำนวนราว 20-60 หลังคาเรือน

การแต่งกาย ::

ขนบธรรมเนียมการแต่งกาย หญิง เด็กสาวจะแต่งกายเหมือนกับคนแก่และแม่เรือน คือมีผ้าโพกศีรษะ ใช้ผ้าขนหนูสีฟ้า สีชมพู สีขาว ใส่เสื้อขาวหรือสีต่าง ๆ ที่ชอบที่สุดคือสีน้ำเงิน ขาว สวมเสื้อสองชั้นซ้อนกัน เสื้อชั้นในแขนสั้นคว้านคอไม่ค่อยลึก มีลูกไม้ติดกระดุมเป็นแถวถี่ ๆ บางทีไม่ต้องเจาะรังดุม ใส่กระดุมทั้งสองข้างเอาด้ายผูกติดกันให้มิดชิด เสื้อชั้นนอกผ่าอกมีสาบคอ และตลอดที่ผ่าอกใช้ผ้าชื้นเดียวกันคล้ายเสื้อยะวาของไทยเรา แต่เมื่อสวมแล้วต้องถึงสาบที่อกไปผูกติดกับด้าย ซึ่งเย็บติดไว้ที่ตะเข็บข้าง ๆ ห่างจากรักแร้ประมาณ 1 คืบ เมื่อใส่แล้วแนบติดตัวกะทัดรัดดี เสื้อยาวแค่เอวพอดี นุ่งผ่าซิ่นสองชั้น ชั้นนอกเป็นตา ๆ คล้ายซิ่นลื้อเชียงคำหรือบางทีก็นิ่งซิ่นเป็นตา ๆ เหมือนของเชียงใหม่ต่อหัวต่อท้ายใช้สีดำหรือเขียว ซิ่นชั้นในเวลาสวมยาวแลบออกมาให้เห็นประมาณ 4 นิ้ว เย็บเป็นเกล็ด ๆ ไปตามยาว ส่วนล่างจะติดแถบริบบิ้นสีต่าง ๆ เช่น สีน้ำเงิน สีชมพู ริบบิ้นนี้มีลวดลายที่ส่งมาจากเมืองยูนนาน ผู้หญิงสูงอายุแต่งกายแปลกไปบ้าง ก็เพียงผ้าโพกศีรษะดำทอด้วยไหมเงินเป็นริ้ว ผืนหนึ่งยาวประมาณ 6 นิ้ว ผู้ชายโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวไม่สู้ใหญ่และยาวนัก

เครื่องแต่งกายของ ชายหนุ่ม สวมเสื้อกุยเฮงสีต่าง ๆ กางเกงจีน สีกรมท่าและสีขาว ตัดผมสั้น ไม่ไว้ผมยาวเหมือนสมัยก่อน ซึ่งเดิมไว้ยาวม้วนเป็นมวยผมอย่างผู้หญิง บางคนชอบสวมกำไลข้อมือทำด้วยเงินทองหรือหยก เครื่องประดับกายสำหรับผู้หญิงนั้น ผู้หญิงไทลื้อเชียงรุ่งแทบทุกคนจะเจาะหูใส่ต่างหู ซึ่งเขาเรียกว่า “ ลาน ” ที่มวยผมมีดอกไม้ทำด้วยเงินปักไว้อย่างเดียวกับปักปิ่น มีกำไลข้อมือทำด้วยเงินหรือทองคำ รองเท้าของผู้ชายทำใช้กันเอง โดยเอาหนังสัตว์มาแช่น้ำปูนและน้ำฝาดของต้นไม้บางชนิด นำเอามาผึ่งใช้ทำเป็นรองเท้าบางทีก็ใช้ผ้าเย็บทำกันเอง รูปร่างรองเท้าไม่สู้สวยงาม นอกจากนั้นมักจะซื้อจากที่อื่น

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551)

บ้านเรือนชาวไทลื้อเชียงรุ่ง ทำแบบเดียวกันหมด เว้นแต่ขนาดใหญ่หรือเล็กเท่านั้น คือยกพื้นสูงพอท่วมศีรษะมีหลังคาลาดลงมาแต่ชายคาต่ำ จากพื้นสูงประมาณหนึ่งเมตรหรือเมตรครึ่ง มีชานเล็ก ๆ ครัวไฟทำที่เดียวกันกับห้องรับแขกมีห้องนอนกั้นฝาระหว่างห้องนอนกับห้องรับแขก

รายการอ้างอิง :

1. บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศยาม.