ตุงข้าวเปลือก

ตุงข้าวเปลือก เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า

ตุงข้าวเปลือก ตัวตุงส่วนมากทำด้วยกระดาษแข็ง ไม้กระดาน หรือกาบโปก (เปลือกไม้ไผ่ขนาดใหญ่) การทำโดยนำกระดาษแข็ง ไม้กระดานหรือกาบโปกตัดให้เป็นรูปตุง กว้างประมาณ 4 นิ้ว ยาวประมาณ 15-20 นิ้ว เสร็จแล้วก็เอาข้าวเหนียว ยางมะปิน หรือกาวมาทาให้ทั่ว แล้วเอาข้าวเปลือกมาโรยให้ติดทั่วทั้งผืนตุง ทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นร้อยหัวตุงด้วยด้ายกับคันไม้ หรือก้านทางมะพร้าว ความยาวประมาณ 20 นิ้ว แล้วนำไปปักในภาชนะที่ใส่ทราย หรือทำหลักแท่นไม้เพื่อผูกห้อยตุงข้าวเปลือก ยังมีตุงข้าวเปลือกอีกลักษณะหนึ่งที่ทำโดยชาวไทใหญ่ เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า โดยนำเส้นด้ายมาร้อยข้าวเปลือกทีละสองเม็ดรวมกันเรียงเป็นแถว เมื่อร้อยข้าวเปลือกได้ความยาวประมาณ 5 นิ้ว จึงนำมาครอบที่ขอบเหรียญเงินของประเทศพม่าซึ่งเท่ากับเหรียญสิบบาทโดยให้ขอบเหรียญอยู่ระหว่างข้าวเปลือก แล้วนำเส้นด้ายที่ร้อยข้าวเปลือกทั้งสองด้านมาผูกกันเส้นด้ายที่เหลือยาวจากการผูกให้ทำเป็นพู่ เมื่อเสร็จแล้วให้นำไปผูกติดกับหลักแท่นไม้โดยห้อยเรียงกัน

จากนั้นจึงนำไปตั้งในบริเวณที่มีการเทศน์ทศชาติกัณฑ์ที่แปด ทั้งนี้คตินิยมของชาวล้านนาเชื่อกันว่าถ้ามีการเทศน์แล้วมีตุงชนิดนี้อยู่ด้วยจะได้กุศลผลบุญมากกว่าปกติทั้งพระสงฆ์ที่เทศน์และเจ้าศรัทธาที่เข้าร่วมฟังเทศน์