ประวัติโดยย่อ พระเมธีวชิโรดม - ท่าน ว.วชิรเมธี

พระเมธีวชิโรดม หรือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือที่เรารู้จักกันในนาม ท่าน ว.วชิรเมธี เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2516 ณ บ้านครึ่งใต้ ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในครอบครัวอาชีพกสิกรรม มารดาและบิดาเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่วัยเด็ก ท่านจึงได้มีโอกาสติดตามบิดามารดาไปที่วัดอยู่เสมอ ผลจากการติดตามบิดามารดา ไปวัดนี่เอง ทำให้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ถึงขนาดที่ตั้งปณิธานกับตนเองว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องบวชให้ได้ ตั้งแต่ยังไม่จบชั้นประถมศึกษา

เมื่อท่านได้เรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ท่านจึงได้ทำตามปณิธานของตนเองที่ต้องการบวช โดยได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านเกิด คือ วัดครึ่งใต้ เมื่อมีอายุได้ 14 ปี หลังจากนั้นเมื่อท่านมีอายุได้ 21 ปี ก้ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเดิม

ตลอดระยะเวลาในการบวชนั้น ท่านได้อุทิศตนศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความทุ่มเทแลละมุ่งมั่น จนส่งผลให้ท่านสำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค (จากสำนักวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร) ในปี พ.ศ. 2543 อันถือว่าเป็น การศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย พร้อมๆ กันนั้น ในปีเดียวกันนี้เอง ท่านก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช และอีกสองปีถัดมา (พ.ศ.2545) ก็ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ทางพุทธศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ด้วยผลการเรียนอันยอดเยี่ยม ทำให้หลังจากที่ท่านจบการศึกษาเพียงเวลาหนึ่งเดือน ท่านจึงได้รับอาราธนาให้เป็นอาจารย์สอนระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยที่ท่านเพิ่งสำเร็จการศึกษามานั่นเอง

หลังสำเร็จการศึกษาทั้งทางพระปริยัติธรรมและสามัญศึกษาแล้ว ท่านยังคงมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นไปยังการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาเชิงลึกที่เรียกว่า "พระไตรปิฏกศึกษา" และ "วิปัสสนากรรมฐาน" อย่างจริงจัง และท่านถือว่าการศึกษาที่ผ่านมานั้นเป็นการศึกษาในเชิงวิชาการตามระบบเท่านั้น ดังคำกล่าวของท่านเองที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

"...สำหรับคนอื่น การสำเร็จเป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค ควรจะถือว่า เป็นจุดสิ้นสุดของการศึกษาครั้งสำคัญในชีวิต แต่สำหรับอาตมาแล้ว นั่นกลับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการศึกษาที่แท้อย่างที่ตนเองต้องการจริงๆ ต่างหาก..."

ท่านได้เริ่มต้น "พระไตรปิฏกศึกษา" อันเป็นประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์ที่สุด ตลอดจนคัมภีร์สำคัญๆ ในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปทดลองปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อชา สุภัทโท พระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดรูปหนึ่งของประเทศไทย และตามแนวทางของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) โดยใช้ป่าเขาลำเนาไพร ธรรมชาติอันสวยงามของจังหวัดเชียงราย เป็นเสมือนดั่งห้องทดลองวิชาธรรมะภาคปฏิบัติด้วยตนเอง

เมื่อท่านศึกษาและปฏิบัติจนเป็นที่พอใจของตัวเองแล้ว ท่านจึงตัดสินใจเริ่มต้นเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการเมื่ออายุ 29 ปี และเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในฐานะ "พระภิกษุผู้สร้างธรรมนวัตกรรม" สำหรับสังคมไทย อันเป็นผลมาจากการทำงานของท่านเอง ทั้งการเขียน การเทศน์ การสอนพุทธศาสนาเชิงประยุกต์อย่างมีชีวิตชีวา และใช้ภาษาร่วมสมัยที่ทำให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น ก่อให้เกิดคลื่นแห่งความสนใจในพระพุทธศาสนาในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็นกระแส "ธรรมะอินเทรนด์" ปรากฏการณ์นี้เอง ส่งผลให้การศึกษาและการเผบแพร่พระพุทธศาสนาของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ดูเข้าใจยาก ให้เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว

ต่อมาท่านได้พิจารณาเห็นว่า การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยยังดำเนินไปอย่างไม่เป็นระบบ ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ท่านจึงตัดสินใจก่อตั้ง "สถาบันวิมุตตยาลัย" ซึ่งเป็น "สถาบันการศึกษาทางเลือกเพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและพัฒนาสันติภาพโลก" เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 โดยสถาบันดังกล่าวมีพันธกิจ 4 ประการ คือ

(1) การศึกษา (2) การเผยแพร่พระพุทธศาสนา (3) การพัฒนาสังคม (4) การสร้างสันติภาพโลก

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

  • พ.ศ. 2552 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.ด.) มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

  • พ.ศ. 2554 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.) สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (อ่านเพิ่มเติม)

  • พ.ศ. 2554 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.) สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

  • พ.ศ. 2555 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.) สาขาการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

  • พ.ศ. 2558 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.) สาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

  • พ.ศ. 2561 ปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (กศ.ด.) สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

  • พ.ศ. 2561 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(ศศ.ด.) สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

เกียรติคุณและรางวัล

  • พ.ศ. 2547 ผลงาน “ธรรมะติดปีก” ได้รับการนำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆกว่าสิบรางวัล

  • พ.ศ. 2548 รางวัล “ผู้มีผลงานด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนาดีเด่น” (จากผลงานนิพนธ์ 4 เรื่อง คือ ธรรมะติดปีก ธรรมะหลับสบาย ธรรมะดับร้อน ธรรมะบันดาล) จากมูลนิธิศาสตราจารย์พิเศษจำนง ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต

  • พ.ศ. 2548 สภาศาสนาเพื่อสันติภาพโลก ยกย่องเป็น “ทูตสันติภาพโลก”

  • พ.ศ. 2549 นิตยสาร Positioning ยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 50 ผู้ทรงอิทธิพลของสังคมไทย

  • พ.ศ. 2549 รางวัล “The Great Dharma Putta Award” (พระธรรมทูตผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก) จากรัฐบาลและคณะสงฆ์แห่งประเทศศรีลังกา และองค์กร WBSY (Word Buddhist Sangha Youth) ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน “สมโภช 2550 ปี แห่งพระพุทธศาสนายุกาล” (The Celebration of 2550th Buddha Jayanit)

  • พ.ศ. 2550 รางวัล BUCA HONORARY AWARDS ในฐานะผู้มีผลงานโดดเด่นในการนำเสนอธรรมะแบบอินเทรนด์ และมีคุณูปการต่อวงการวิชาชีพนิเทศศาสตร์ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

  • พ.ศ. 2550 รางวัล “รตนปัญญา” (Gem of Wisdom Award) ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสำหรับพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิปัญญาเป็นเอก จากคณะสงฆ์และประชาชนจากจังหวัดเชียงราย

  • พ.ศ. 2550 รับพระราชทานรางวัล “เสาเสมาธรรมจักรทองคำ” ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์วิสาขบูชาโลก ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

  • พ.ศ. 2550 รับพระราชทานรางวัล “บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน” สาขาการศึกษาและวิชาการ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น)

  • พ.ศ. 2550 รางวัล “Young & Smart VOTE 2007 สาขา คนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทต่อสังคม”จากนิตยสารสุดสัปดาห์ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พลับลิชชิ่ง

  • พ.ศ. 2550 รางวัล “ผู้มีอุปการคุณต่อวงการห้องสมุด และการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์” จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

  • พ.ศ. 2551 รางวัล “นักเขียนบทความดีเด่นประจำปี 2551” จากมูลนิธิ ม.ร.ว. อายุมงคล โสณกุล

  • พ.ศ. 2551 รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” ในฐานะผู้ที่มีผลงานการประชาสัมพันธ์ดีเด่น จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

  • พ.ศ. 2551 รางวัล “ผู้มีอุปการคุณต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” ของมูลนิธิรวมใจเผยแผ่ธรรมะ จากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

  • พ.ศ. 2551 รางวัล “ผู้บำเพ็ญประโยชน์ในการพัฒนาจิต ประจำปี 2551” จากสภาชาวพุทธ ร่วมกับมูลนิธิโลกทิพย์

  • พ.ศ. 2551 รางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้แก่บัณฑิตวิทยาลัย” จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

  • พ.ศ. 2551 รางวัล “ลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ ประจำปี 2551” จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

  • พ.ศ. 2551 ได้รับคัดเลือกเป็น “1 ใน 100 บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจ” (100 idols) จากนิตยสาร a day

  • พ.ศ. 2551 ได้รับยกย่องจากกรุงเทพธุรกิจและกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เป็น นักคิดนักเขียนแห่งปี

  • พ.ศ. 2551 ได้รับยกย่องจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ให้เป็น “คนรุ่นใหม่ผู้เป็นความหวัง”

  • พ.ศ. 2552 ได้รับโหวตให้เป็นสุดยอดนักคิด ปี 2551 จากสถานีวิทยุ อสมท. F.M.96.5 MHz คลื่นความคิด

  • พ.ศ. 2552 รางวัล “บุคคลคุณภาพผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม” จากโรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา

  • พ.ศ. 2552 รางวัล “บุคคลต้นแบบคนดีศรีแผ่นดิน ปี 2551” จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

  • พ.ศ. 2552 รางวัล “พุทธคุณูปการ รัชตเกียรติคุณ” ผู้มีพุทธคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร

  • พ.ศ. 2552 ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 20 คนกรุงที่น่าจับตามอง (The Bangkok Hot List : 20 People to Watch)จาก ซีเอ็นเอ็นจีโอเอเชีย

  • พ.ศ. 2553 รางวัล “ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2553” จากกระทรวงวัฒนธรรม

  • พ.ศ. 2553 รางวัล “ผู้ทำคุณประโยชน์ด้านนันทนาการ สาขาการอ่าน การพูด การเขียน”จากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

  • พ.ศ. 2553 รางวัล “พุทธคุณูปการ กาญจนเกียรติคุณ” ผู้มีพุทธคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร

  • พ.ศ. 2553 ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคล “ที่สุดแห่งปี 53 ประเภทนักการศึกษาที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด” จากสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต

  • พ.ศ. 2553 ได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลที่น่ายกย่องที่สุดแห่งปี 2553” ด้านการให้ข้อคิดเตือนสติแก่คนในสังคม จากศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล)

  • พ.ศ. 2554 รางวัล “บัวทิพย์ ประจำปี 2553 จากกองทุน 100 ปี พระพุทธวรญาณ (กิตติ กิตติทินนมหาเถระ)

  • พ.ศ. 2554 รางวัลเกียรติยศบัลลังก์คนดี “บัลลังก์คนดีแห่งปี 2553” จัดโดย ททบ.5 ร่วมกับบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

  • พ.ศ. 2554 ได้รับโล่เกียรติคุณ “ทูตคิดใส ใจสะอาด เพื่อชาติ เพื่อในหลวง” จากโครงการ“คิดใส ใจสะอาด เพื่อชาติ เพื่อในหลวง”

ตัวอย่าง ภาพเกียรติคุณและรางวัล

รางวัลพระราชทาน "เสาเสมาธรรมจักรทองคำ"

สาขาการประพันธ์หนังสือ จาก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พ.ศ. 2550

ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.)

สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

พ.ศ. 2554

รางวัล "การศึกษาเพื่อสันติภาพ"

มูลนิธิรางวัลสันติภาพกูสซี่

(GUSI Peace Prize Foundation)

ประเทศฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2554

รางวัลเกียรติยศ "บัลลังก์คนดีแห่งปี 2553"

จากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และบริษัท Kantana

พ.ศ. 2554

นิตยสาร a day ยกย่องให้เป็นหนึ่งใน

"100 บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใน" (100 Idols)

พ.ศ. 2551

ตัวอย่าง ผลงานธรรมนิพนธ์

สารสนเทศที่เกี่ยวข้อง

เอกสารอ้างอิง

มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์. (2555). ดุษฎีบัณฑิต. มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์.

เชียงรัฐ. (2555). คน-คุณ-ค่า "เชียงราย 750 ปี" 2555. เชียงรัฐ.