ตุงเข็ม

ตุงเข็ม บ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง
อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

การถวายตุงนั้นเมื่อชาวล้านนาถวายตุงแก่วัดแล้วส่วนใหญ่ตุงที่ถวายทางวัดจะนำมาใช้ประโยชน์ โดยนำเอาตุงที่ถวายนำกลับมาใช้ใหม่โดยการนำเอามาประดับวัดเมื่อมีงานเทศกาลต่างๆ และตุงบางส่วนก็จะนำไปเผาทำลาย มีตุงชนิดหนึ่งที่ถวายเพื่อเป็นพุทธปัจจัยแด่พระสงฆ์ โดยถวายเพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ชาวบ้านเรียกตุงชนิดนี้ว่า “ตุงเข็ม” จากชื่อของตุงทำให้เรารู้ว่าองค์ประกอบของตุงจะต้องมีเข็มเป็นส่วนประกอบ เอกลักษณ์ในการทำตุงเข็มก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปต่างพื้นที่และชนเผ่า ชาวไทลื้อเป็นชนเผ่าที่มีการทำตุงชนิดนี้ เพื่อถวายวัดมีลักษณะยาวประมาณ 2.5 เมตร กว้างประมาณ 8 นิ้ว จะแบ่งช่อง 11 ช่อง โดยวิธีการทำจะเริ่มด้วยการเย็บผ้าทำเป็นกรอบแบ่งเป็นช่องจำนวน 11 ช่อง โดยใช้ตอกไม้ไผ่คั่นแต่ละช่องเพื่อไม่ให้ตุงห่อตัวจากนั้นก็นำตุ้งติ้งที่ร้อยด้ายลูกปัดพร้อมเข็มปักในช่องๆ ละ 9 เล่ม

ส่วนชาวไทใหญ่ที่มีการทำตุงเข็มเพื่อถวายวัดเหมือนกัน โดยเอกลักษณ์การทำตุงเข็ม ก็จะแตกต่างจากของชาวไทลื้อ โดยจะใช้เชือกขึงเป็นช่องๆ จำนวน 9 ช่อง โดยใช้ไม้ไผ่คั่นแต่ละช่องเพื่อรับน้ำหนักตัวตุง โดยช่องแรกจะผูกด้วยตุ้งติ้งที่ร้อยด้วยลูกปัดและดอกไม้พลาสติก ช่องที่สองก็จะขึงเชือกทแยงมุม แล้วร้อยลูกปัดโดยตรงกลางจะผูกด้วยกระจกมองดูคล้ายกับใยแมงมุม ช่องที่สามก็จะผูกด้วยตุ้งติ้งที่ร้อยลูกปัดพร้อมกับเข็มโดยจะทำสลับอย่างนี้จนครบ 9 ช่อง ซึ่งตุงเข็มของชาวไทใหญ่จะมีลักษณะเด่น คือ การผูกอุบะที่ทำด้วยช่อดอกไม้และพู่เพื่อความสวยงาม

โดยทั้งชาวไทลื้อและชาวไทใหญ่นั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับการถวายตุงเข็มว่าการถวายตุงเข็มนั้นเพื่อช่วยต่อชีวิตให้มีอายุยืนยาว หรือเป็นการต่อชะตาชีวิตของผู้ถวายตุงนั่นเอง

ตุงเข็ม บ้านป่ายางใหม่ ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย