แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์

แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์

ประวัติโดยย่อ แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์

แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2489 มีภูมิลำเนา อยู่ที่บ้านศรีทรายมูล ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัด เชียงราย โดยชื่อเดิมคือ "บัวเรียว สุภาวสิทธิ์"

พ.ศ. 2497 เด็กหญิงบัวเรียว สุภาวสิทธิ์ ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการฟ้อนมาจากบิดา คือ นายกุย สุภาวสิทธิ์ ตั้งแต่ อายุประมาณ 7-8 ขวบ ได้แก่ การฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง และการฟ้อนสาวไหม เป็นฟ้อนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอากัปกิริยาของการทอผ้าฝ้ายของคนในสมัยโบราณ ซึ่งกระบวนการทอผ้าฝ้ายนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ การเก็บดอกฝ้าย การตากดอกฝ้าย การอีดฝ้าย การดีดฝ้ายให้ฟู ปั่นออกมาจนเป็นเส้นจนกระทั่งนำไปทอเป็นผืนผ้า โดยท่ารำได้รับการปรับแต่งมาจากการฟ้อนเชิงของผู้ชาย จากแรงบันดาลใจดังกล่าว นายกุย สุภาวสิทธิ์ จึงนำมาประดิษฐ์เป็นท่ารำต่างๆ ขึ้นมาและได้ถ่ายทอดให้กับบุตรสาว

เด็กหญิงบัวเรียว จึงได้นำท่าฟ้อนสาวไหม เผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง จากการเผยแพร่การฟ้อนสาวไหมดังกล่าว จึงทำให้ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ชม ในความประทับใจอย่างไม่ขาดสาย พร้อมทั้งคำติชมในการแสดงในแต่ละครั้งจึงเป็นแรงผลักดันให้นางบัวเรียว ได้ทำการปรับปรุงท่าฟ้อนมาโดยตลอด เพื่อความเหมาะสมสวยงามตามแบบหญิงสาวชาวล้านนา

นายกุย สุภาวสิทธิ์ ผู้เป็นบิดาและครู
ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการฟ้อนรำ

ด.ญ. บัวเรียว สุภาวสิทธิ์ คนแรกนั่งด้านขวาสุดของรูปภาพ ขณะอายุ ๑๐ ขวบ ช่างฟ้อน ในงานกฐินพระราชทานวัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2499 นอกจากการฟ้อนสาวไหมแล้ว แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ยังมีความสามารถในการฟ้อนต่างๆ ได้อย่างงดงาม เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนศรีนวล ฟ้อนยวนรำพัด ฟ้อนสร้อยแสงแดง ฟ้อนเงี้ยว เป็นต้น ฟ้อนเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดจาก นายโม ใจสม ซึ่งเป็นนักดนตรีและนาฏกร ชั้นครูมาจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และเป็นอดีตทหารกองมหรสพ หลังจากปลดประจำการเสร็จสิ้นสงคราม นายโม ได้ไปพำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และย้ายมาอยู่เชียงราย คือ วัดศรีทรายมูล นายโมจึงได้ทำการฟื้นฟู วงปี่พาทย์พื้นเมือง (วงเต่งถิ้ง) ให้กับคณะศรัทธาวัดศรีทรายมูลและได้ถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทยประยุกต์ให้กับช่างฟ้อนในคณะด้วย จึงทำให้คณะดนตรีและช่างฟ้อนวัดศรีทรายมูลในยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วจังหวัดเชียงราย หมายรวมถึง จังหวัดพะเยาในปัจจุบันด้วย ทุกครั้งที่มีงานปอยหลวง (งานปอยหลวง คือ งานเฉลิมฉลองสิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัด) งานตานก๋วยสลาก ตามวัดต่างๆ ที่ได้เชิญให้เข้าร่วมงาน วงปี่พาทย์ศรีทรายมูล ควบคุมโดยนายโม ใจสม จะเป็นผู้บรรเลงเพลงลาวสมเด็จ ให้กับนางบัวเรียว ประกอบการฟ้อนสาวไหม (ซึ่งเดิมนายกุย สุภาวสิทธิ์ ได้ใช้ วงดนตรีสะล้อซอซึง บรรเลงเพลงปราสาทไหว ในการฟ้อน) ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ชมทุกครั้ง จนกระทั่งคณะดนตรีและช่างฟ้อนวัดอื่นๆได้ยินเพลงลาวสมเด็จ และเห็นการฟ้อนสาวไหมของนางบัวเรียวบ่อยขึ้น จึงนำเพลงลาวสมเด็จไปบรรเลงจนกลายเป็นทางเพลงสาวไหมเชียงราย ในปัจจุบัน

ในรายการเผยแพร่การแสดงฟ้อนพื้นเมืองล้านนา ที่สถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 ลำปาง (ด้านขวามือของภาพ)

ประมาณ ปี พ.ศ. 2510 - 2512 การฟ้อนสาวไหมได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางทั้งการแสดงในงานต่างๆ ของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพ และการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ลำปาง อย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับและขอบคุณจากหน่วยงานต่างๆ ผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งเสริมการฟ้อนสาวไหมของนางบัวเรียวให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอีกท่านคือ นายชาญ สิโรรส (นายกสมาคมยุวพุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งได้พบเห็นการฟ้อน สาวไหมของนางบัวเรียว ที่จังหวัดเชียงรายจึงได้เชิญให้นางบัวเรียวไปเผยแพร่การฟ้อนสาวไหม ณ จังหวัดเชียงใหม่และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ โดยเชิญให้นางบัวเรียวไปพักอยู่ ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะเวลา 2 ปี ในระหว่างปีพ.ศ. 2512 นางบัวเรียว จึงได้กลับมาอยู่ที่บ้านเดิมคือจังหวัดเชียงรายได้สมรสกับ นายโสภณ รัตนมณีภรณ์ และมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นางสาวสายไหม นางสาวสายชล และนางสาวสนธยา รัตนมณีภรณ์ ขณะการสร้างฐานะทางครอบครัว นางบัวเรียว ได้ประกอบสัมมาอาชีพด้วยการเป็นแม่ค้าขายไข่ในตลาดสดเมืองเชียงราย แต่ก็มิได้ละทิ้งการฟ้อนสาวไหมและฟ้อนพื้นบ้าน

ปี พ.ศ. 2537 นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้เข้าไปมีบทบาทในการถ่ายทอดการฟ้อน สาวไหม ให้กับสถาบันการศึกษาอีกครั้ง โดยการเป็นเป็นวิทยากรพิเศษของชมรมพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งชมรมพื้นบ้านล้านนา ได้ตั้งวัตถุประสงค์ในการค้นคว้าการฟ้อนพื้นบ้านทำให้การฟ้อนของนางบัวเรียว เข้าไปมีบทบาทอย่างมากในการฟ้อนพื้นบ้านล้านนา และนางบัวเรียวได้รับใบประกาศยกย่องให้เป็น แม่ครู ของชมรมพื้นบ้านล้านนา โดยการนำของ อาจารย์สนั่น ธรรมธิ นักวิชาการวัฒนธรรม ของสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทีมงาน ทำให้การฟ้อนสาวไหมได้ถูกรื้อประวัติ ที่มา ของการฟ้อนในเชิงวิชาการเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าการฟ้อนสาวไหมของนางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ที่เกิดจากการฟ้อนเชิงของล้านนา ผสมผสานจินตนาการในกระบวนการทอผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวล้านนาในสมัยโบราณ แฝงด้วยกระบวนการการฟ้อนเชิงที่เข้มแข็ง อ่อนช้อย ทำให้การฟ้อนสาวไหมเป็นที่รู้จักในวงการฟ้อนล้านนามาจนถึงปัจจุบัน จากการที่เป็นต้นแบบในการฟ้อนสาวไหม และได้ถ่ายทอดให้เยาวชนรุ่นหลังจนมีลูกศิษย์มากมาย ตลอดจนนำออกแสดงเผยแพร่ไปทั่วทั้งแผ่นดินล้านนา นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ จึงขอจดลิขสิทธิ์ประวัติความเป็นมาของการฟ้อนสาวไหม ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2542 ตามคำขอเลขที่ 7184 ชื่อผลงาน “ฟ้อนสาวไหม”

ปี พ.ศ. 2543 นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้คิดท่ารำวงพื้นบ้านล้านนา ท่ารำเพลงแม่หญิงล้านนา เข้ากับเพลงพื้นบ้านของจังหวัดเชียงราย ซึ่งขับร้องโดย ธัญญทิพย์ นครเชียงราย ทำนองโดย แมน สปริงเกอร์ ถ่ายทอดให้กับเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน และนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นแนวเพลงอนุรักษ์พื้นบ้าน ร่วมกับวงดนตรีสากล

ปี พ.ศ. 2544 นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้ทำการปรับปรุงท่าฟ้อนสาวไหมอีกครั้ง โดยเพิ่มท่าฟ้อนตากฝ้าย เพื่อความสวยงามและลงตัวในกระบวนการฟ้อน

ปี พ.ศ. 2549 นางบัวเรียวได้เป็นที่ปรึกษาในการเป็นคณะกรรมการในข่วงวัฒนธรรม ครั้งที่ 1 ในงานเชียงรายดอกไม้บาน ครั้งที่ 2 ขององค์การริหารจังหวัดเชียงราย จึงได้แนะนำในการจัดประกวดการฟ้อนเล็บเชียงราย ที่ใกล้สูญหาย โดยถูกวัฒนธรรมจากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาแทนที่ ปรากฏว่าการฟ้อนเล็บเชียงรายกลับฟื้นขึ้นมา และมีการประกวดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ นางบัวเรียว ต้องทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้กับกลุ่มสตรีตามเทศบาล อำเภอ และระดับเขตการศึกษาขั้นพื้นฐานของจังหวัดเชียงราย จวบจนถึงปัจจุบันอย่างไม่ย่อท้อ

ปี พ.ศ. 2549 นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้ทำการปรับปรุงการฟ้อนสาวไหม แบบที่ง่ายต่อการฟ้อนของผู้สูงอายุ เนื่องจากฟ้อนสาวไหมเป็นฟ้อนที่ใช้กำลังขา และแขนในการฟ้อนอย่างมากและรำยากในการลุกและนั่งของผู้ฟ้อนแต่ปัจจุบันผู้สูงอายุก็สามารถฟ้อนได้ง่ายขึ้นโดยท่าฟ้อนไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ถึง ปัจจุบัน นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ เห็นว่าการฟ้อนพื้นบ้านล้านนา แบบดั้งเดิมของจังหวัดเชียงราย เกือบสูญหายไปมากนอกจากการสอนให้กับเยาวชนแล้ว ยังเป็นผู้ระดมช่างฟ้อนระดับอาวุโสในการฟ้อนเล็บ ฟ้อนสร้อยแสงแดง ฟ้อนเทียน รวมถึงฟ้อนอื่นๆ ให้กลับฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง โดยเริ่มจากกลุ่ม สตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดเชียงราย และต่อด้วยกลุ่มสตรีเทศบาลเขต 2 จังหวัดเชียงราย ที่รวมตัวและฟ้อนในงานสำคัญๆ ของจังหวัดเชียงรายจำนวน 40 ชีวิต อย่างสวยงามและพร้อมเพียง ทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

นางบัวเรียวก็ทำหน้าที่เป็นวิทยากรสอนนาฏศิลป์พื้นบ้าน ทั้งการฟ้อนไทยประยุกต์ ฟ้อนสาวไหม จนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟ้อนสาวไหม กลายเป็นเอกลักษณ์การฟ้อนของชาวบ้านศรีทรายมูล และจังหวัดเชียงราย จวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามตลอดชีวิตครึ่งทางของนางบัวเรียว ตั้งแต่เติบโตจนถึงปัจจุบันมีความผูกพันมุ่งมั่นในการสอน ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา มุมานะพยายามปรับปรุงกระบวนท่าเหล่านี้จนเห็นว่าเหมาะสมและเป็นมาตรฐาน ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เผยแพร่ศิลปะการแสดงของชาติ ด้วยจิตสาธารณะ จวบจนปัจจุบันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี มีลูกศิษย์จากรุ่นสู่รุ่น ไม่น้อยกว่า 100 รุ่น ซึ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และต่างประเทศ ถ้านับเป็นรายคนแล้ว ไม่น้อยกว่า 10,000 คน ที่ตนเองได้เป็นผู้สอน

ปี พ.ศ. 2541 ชี้แนะและให้ศิษย์ รำถวายครูในพิธีไหว้ครูประจำปี ชมรมพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปี พ.ศ. 2550 ขณะสอนฟ้อน แม่หญิงล้านนา ชมรมดนตรีไทยพื้นเมือง และชมรมนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ปี พ.ศ. 2551 ภาพกิจกรรมการสอนฟ้อนเล็บแก่ลูกศิษย์ เมษายน ปี 2551 ณ บ้านสาวไหม

รางวัลและเกียรติยศ

รับพระราชทานปริญญาบัตร จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมารศิลปศาสตร์บัณฑิตย์กิตติมศักดิ์ นาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ปีการศึกษา 2547

เข้ารับพระราชทานรางวัล พระสิทธิธาดาทองคำ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (ฟ้อนสาวไหม) จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 27 กันยายน 2550 ณ พระตำหนัก สวนจิตรลดา จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เสนอผลงานโดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

  • พ.ศ. 2541 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม จังหวัดเชียงราย จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

  • พ.ศ. 2550 ได้รับพระราชทานโล่รางวัลพระสิทธิธาดาทองคํา สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีณ พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

  • พ.ศ. 2551 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้บําเพ็ญประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง จากการกระทรวงวัฒนธรรม

  • พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาศิลปะการแสดง ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรีจังหวัดปทุมธานี

  • พ.ศ. 2554 ได้รับพระราชทานโล่ผู้ทําคุณประโยชน์ด้านนันทนาการ ประเภทฟ้อนรําพื้นบ้านกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ พระตําหนักสวนกุหลาบ กรุงเทพมหานคร

  • พ.ศ. 2554 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 7 ด้านศิลปกรรม (การฟ้อนสาวไหมต้นแบบ) จากกระทรวงศึกษาธิการ

  • พ.ศ. 2558 ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้ทําคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเภทส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทยทางพระพุทธศาสนา ของกรมส่งเสริมศาสนา กระทรวง วัฒนธรรม เนื่องในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร

  • พ.ศ. 2559 ได้รับรางวัลเพชรราชภัฏ-เพชรล้านนา สาขาศิลปะการแสดง-นาฏศิลป์พื้นบ้านล้านนาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ณ โรงแรมเมอร์เคียว จังหวัดเชียงใหมฃ

  • พ.ศ. 2559 นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ได้รับยกย่องเชิดชเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) พุทธศักราช ๒๕๕๙

  • พ.ศ. 2564 วันที่ 21 มีนาคม 2564 เข้ารับการประทานรางวัลเพชรเชียงราย จากพระองค์หญิงสีสุวัตถิ์กุสุมานารีรัตน์ แห่งกัมพูชา โดยพระครูปิยวรรณพิพัฒน์ ดร. วัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้บําเพ็ญประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง จากการกระทรวงวัฒนธรรม ปี 2551

ได้รับรางวัลเพชรราชภัฏ-เพชรล้านนา สาขาศิลปะการแสดง-นาฏศิลป์พื้นบ้านล้านนาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ณ โรงแรมเมอร์เคียว จังหวัดเชียงใหม ปี 2559

- ตัวอย่างผลงาน -

ฟ้อนเล็บเชียงราย - แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์

โครงการส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

พิธีไหว้ครูดนตรีไทย-พื้นเมือง และ นาฏศิลป์ ครั้งที่ 15 ชมรมดนตรีไทย-พื้นเมือง และ ชมรมนาฏศิลป์

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2559

ฟ้อนสาวไหม โดยแม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ในคอนเสิร์ตม่านไหมใยหมอก
4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533

สารสนเทศที่เกี่ยวข้อง