ตุงชัย ผ้าทอ

ตุงชัยผ้าทอ บ้านป่าถ่อน ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ตุงชัยผ้าทอ เป็นตุงที่ทอด้วยกี่กระตุก โดยทอด้วยเส้นด้ายที่ทำจากฝ้ายหรือไหมพรมวิธีการทอตุงชัยจะทอคล้ายกับการทอผ้าทั่วไป แต่จะแตกต่างกันตรงที่การทอผ้าทั่วไปจะใช้เส้นด้ายหรือเส้นไหมทอสลับกับการกระตุกกี่ แต่การทอตุงชัยผ้าทอจะใช้ตอกไม้ที่ห่อด้วยกระดาษเงิน กระดาษทองคั่นกับการทอสลับ การกระตุกกี่ ตอกไม้ที่คั่นนั้นทำมาจากไม้ไผ่แล้วเหลาให้บางๆ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนความยาวของตอกไม้ขึ้นอยู่กับผู้ทอตุงที่ต้องการความกว้างของตุงเท่าไร แต่ส่วนใหญ่จะกว้างประมาณ 9 นิ้ว เมื่อเหลาตอกไม้เสร็จแล้วก็นำตอกไม้ไปพันด้วยกระดาษเงินหรือกระดาษทอง โดยวิธีการทอตุงชัยจะใช้หลักการแบบการแปรอักษรบนอัฒจันทร์ ซึ่งส่วนที่เราจะให้เห็นเป็นรูปภาพต่างๆ ก็จะไม่ทอไหมพรมทับ แต่จะทอไหมทับส่วนที่เราไม่ต้องการให้เป็นภาพ โดยจะทอสลับด้วยตอกไม้ที่พันด้วยกระดาษเงินหรือกระดาษทองจะแบ่งการทอรูปภาพเป็นช่องๆ ส่วนใหญ่จะทอเป็นช่องที่มีความยาวเป็นเลขคี่ คือ 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง และ 11 ช่อง ตามความต้องการของผู้ทอตุง ซึ่งการทอตุงชัยด้วยตอกไม้ไผ่ ส่วนใหญ่จะทอเป็นรูปต่าง ๆ เช่น รูปปราสาท รูปเจดีย์ รูปช้าง เป็นต้น โดยจะทอแต่ละช่องเป็นรูปเดียวกันทั้งผืน เมื่อทอเสร็จแล้วก็จะนำผ้ามาเย็บเป็นตะเข็บข้างเพื่อเก็บขอบของตอกไม้ไผ่ และนำลูกปัดมาร้อยเป็นตุ้งติ้งติดด้านข้างของตุง เพื่อความสวยงาม ความสวยงามของตุงชัยผ้าทอจะอยู่ที่การทอเป็นรูปต่างๆ ที่ทอเป็นสีทองหรือสีเงิน เมื่อเรามองดูจากที่ไกลๆ จะเห็นเด่นชัดมาก การทอตุงชัยที่สวยงามนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญ และการสะสมประสบการณ์ของผู้ทอตุงเอง แหล่งผลิตตุง คือ บ้านป่าถ่อน หมู่ที่ 9 ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และหมู่บ้านสันหลวงใต้ ตำบลจอมสวรรค์ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ตุงชัยผ้าทอ บ้านห้วยน้ำขุ่น อ.แม่จัน .เชียงราย

ยังมีตุงชัยผ้าทอของชาวไทใหญ่ บ้านห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยมีการทอตุงวิธีเดียวกัน แต่จะไม่ทอเป็นลวดลาย โดยจะใช้ไหมพรมสีต่าง ๆ เริ่มจากส่วนหัวตุงใช้เส้นไหมพรมที่ใช้ทอตุง มาถักให้เป็นผืน จากนั้นทอตุง โดยใช้ตอกไม้ไผ่คั่นทอสลับกับไหมพรม ส่วนใหญ่ตุงจะทอเป็นสีเดียวทั้งผืนหรือคละสี และมีความยาวประมาณ 2 เมตร เมื่อนำตุงไปถวายวัด จะใช้กระดาษแผ่นเล็กเขียนชื่อผู้ที่อุทิศตุงให้ จากนั้นนำไปติดที่ปลายตุง

ตุงชัยผ้าทอเป็นวิธีการทอตุงที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งผู้ที่ทอตุงยิ่งมีความชำนาญ และประสบการณ์มากเท่าไรก็จะคิดประดิษฐ์ตุงออกมาเป็นรูปภาพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะทอเป็นรูปสัตว์ต่างๆ รูปสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการ องค์กร หรือห้างร้านบริษัท เป็นต้น อีกทั้งยังทอตุงขนาดเล็กเป็นของที่ระลึกเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ โดยการย่อส่วนตุงจากของจริงที่มีขนาดใหญ่ให้เล็กลง เพื่อความสวยงามและพกพาสะดวก