วัดศรีบุญเรือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

วัดศรีบุญเรือง วัดมงคลนาม ประจำทิศอุดร (ทิศเหนือ)

ที่อยู่วัด : ถนนสิงหไคล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

นิกาย : มหานิกาย

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : พุทธศักราช 2489

ประวัติวัดศรีบุญเรือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

ตามบันทึกจดหมายเหตุเมืองเชียงราย ของพระครูปัญญาลังการ ได้กล่าวถึง ศรัทธาวัดคนหนึ่งชื่อว่า เรือง หรือปู่เรือง

"ปู่เรือง (เฮือง) นำต้นสรี (ตันโพธิ์) มาปลูกก่ำแปงวัดผากวันออก จึงชื่อว่า วัดสรีบุญเรือง หั้นแล..."

แสดงให้เห็นว่า แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้างมาก่อน มีผู้มาบุกเบิกบูรณปฏิสังขรณ์เป็นคนแรก ชื่อเรือง (เฮือง) จึงได้ตั้งชื่อวัดตามชื่อศรัทธาท่านนั้น

ในช่วงปี พ.ศ. 2476 หลังพระยารัตนาเขต เจ้าหลวงเมืองเชียงรายได้เสียชีวิตลง ในช่วงนั้น เป็นช่วงของมหาอำมาตย์ตรี พระยากัลยาวัฒนศิษฐ์ สมุหเทศาภิบาลเป็นผู้สำเร็จราชการมณทลพายัท ทางราชการได้ผลักดันให้เปิดโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์บริเวณคุ้มหลวงเจ้าหลวงเมืองเชียงรายและบริเวณวัดเชียงหมั้น

ดังนั้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูป พระประธาน ตลอดจนปั๊บสาและคัมภีร์ใบลานของวัดเชียงหมั้นมามอบให้วัดศรีบุญเรืองวัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอฉัน หอระฆัง ศาลาพักร้อน

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

พับสา หรือ ปั๊ปสา

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2558, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

พับสา หรือปั๊บสา เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ เช่นเดียวกับใบลาน พับสาบางคนเรียกว่า พับหนังสา ทำจากกระดาษสา นำมาตัดให้เท่ากันแล้วนำพับซ้อนกันเป็นเล่ม ส่วนปกบางครั้งทำด้วยกระดาษสา หรือแผ่นหนัง พับสาจะนิยมใช้เขียนเรื่องราว หรือบันทึกเรื่องทางโลก เช่น คำโคลงต่าง ๆ คาถา ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ ฯลฯ ในขณะที่ใบลานนิยมใช้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา หรือเรื่องทางธรรม การบันทึกพับสาจะใช้ปากกาและหมึกบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมืองบางครั้งพับสาอาจจะบันทึกด้วยอักษรฝักขามด้วย พับสาเป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่งของล้านนามีความสำคัญรองจากเอกสารประเภทใบลาน พับสาหรือสมุดข่อยในภาษากลาง พับสาทำจากกระดาษสาจึงเรียกว่า พับสา ส่วนสมุดข่อยนั้นทำจากต้นข่อย จึงเรียกว่า สมุดข่อย

การทำพับสานี้ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกของชาวบ้าน ชาวบ้านมักนิยมบันทึกคติ ความเชื่อ พวกยันต์ คาถาต่าง ๆ ตำราต่าง ๆ ไว้ในพับสา มีส่วนน้อยที่พบเรื่องของศาสนา เรื่องของศาสนาที่พบจะเป็นเรื่องของบทสูตรต่าง ๆ กรรมฐาน หรือคำสุมาครัวทาน คำถวายทานต่าง ๆ แต่ก็สัมพันธ์กับการใช้งานของชาวบ้าน นอกจากนี้ผู้ที่เป็นเจ้าของพับสาส่วนใหญ่จะเป็นพ่อน้อย พ่อหนาน เป็นชาวบ้านที่มีวิชาการองค์ความรู้ โดยบันทึกสืบเนื่องมาจากสมัยที่ได้บวชเรียน และไม่พบว่ามีผู้หญิงเป็นเจ้าของพับสาเลย

พับสาแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกันคือ พับสาลั่น พับสาก้อม พับหัว ซึ่งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันดังนี้

1. พับสาลั่น เป็นลักษณะพับสาที่พับซ้อนเรียงกันไปเป็นขั้น ๆ โดยการเชื่อมกระดาษยาวไปเรื่อย ๆ วิธีเปิดพับขึ้นไปทีละด้าน สามารถบันทึกได้ 2 ด้าน พับสาลั่นนี้ส่วนใหญ่จะนิยมทารักดำเคลือบปกหัวท้ายมีลักษณะความกว้างของพับไม่ต่ำกว่า 4 นิ้ว ยาวไม่ต่ำกว่า 8 นิ้ว บันทึกด้วยบรรทัดที่ไม่ต่ำกว่า 5 เส้น และมากกว่า 5 เส้นไปถึง 8 เส้นก็มี

2. พับสาก้อม เป็นลักษณะพับสาที่เรียงซ้อน ๆ กันเป็นชั้น ๆ เช่นเดียวกัน โดยการเชื่อมกันเป็นชั้น สามารถบันทึกได้ 2 ด้านเหมือนกัน พับสาก้อมก้อมนี้ไว้บันทึกเพื่อพกพาติดกับตัวเวลาไปไหนจะได้สะดวก พับสาก้อมส่วนใหญ่ที่พบจะมีขนาดความกว้างต่ำกว่า 3 นิ้ว ยาวไม่เกิน 6 นิ้ว บันทึกด้วยบรรทัด 5 เส้นเหมือนกัน

3. พับหัว เป็นลักษณะพับสาที่เย็บด้วยเชือกปอ หรือฝ้าย ที่มีความเหนียวตรงส่วนหัวของพับ ลักษณะเหมือนสมุดฉีกที่เย็บตรงหัว การเปิดอ่านจึงอ่านได้ 2 หน้าพร้อมกัน คือ เปิดขึ้นบนโดยตลอด พับหัวที่มีหลายขนาด ส่วนใหญ่จะมีความกว้างมากกว่า 5 นิ้ว ความยาวมากกว่า 5 นิ้วเช่นกัน พับหัวนี้จึงบันทึกได้หลายบรรทัดขึ้นอยู่กับช่วงความยาวของกระดาษ

คัมภีร์ใบลาน หรือ ปั๊ปธรรม

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2558, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

คัมภีร์ใบลาน คือ เอกสารบันทึกเรื่องราวต่างๆ แต่ในสมัยโบราณไม่มีกระดาษ จึงใช้การเขียนบันทึกลงในใบลาน ใบลาน คือ ใบของต้นลาน เป็นต้นไม้ป่าชนิดหนึ่ง คนไทยโบราณนำมาทำหนังสือ เป็นเอกสารบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ทั้งคดีโลกและคดีธรรม เช่น เรื่องราวและหลักฐานคำสั่งสอนทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ วรรณกรรม พงศาวดาร กฎหมายโบราณ ตำรายา และเวทมนตร์คาถา เป็นต้น แต่นิยมใช้บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนามากกว่าเรื่องอื่น จึงมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า "คัมภีร์ใบลาน" ซึ่งพระสงฆ์จะนำไปใช้เวลาเทศน์

คัมภีร์ใบลาน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ในอดีตที่มีมูลค่าทางทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษที่มีคุณค่าต่อชุมชน ต่อท้องถิ่น คัมภีร์ใบลานนั้นหากเก็บรักษาไว้อย่างไม่ถูกต้อง จะมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ผุพัง หรือถูแมลงกัดกินทำลายจนสิ้น

การเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานโดยวิธีจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

การเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานให้มีความทนทานอยู่ในสภาพที่ดีนั้น ต้องป้องกันคัมภีร์ใบลานไม่ให้ถูกความชื้น มิฉะนั้นคัมภีร์ที่มีอยู่อาจจะเปียกชื้นก่อให้เกิดเชื้อรา และไม้ที่นำมาทำเป็นที่เก็บคัมภีร์นั้นต้องไม่มีมอดและปลวก เพราะแมลงพวกนี้เป็นศัตรูที่สำคัญของคัมภีร์ใบลาน ปลวก มอด จะซอนไซกินใบลานตั้งแต่ริมขอบของคัมภีร์จนไปถึงด้านใน ส่วนหนอนหนังสือจะกินเข้าไปในใขกลางของหนังสือและกินลึกเข้าไปจนถึงข้างใน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกัดกินของแมลงเหล่านี้มีความเสียหายพอๆกัน ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้

วิธีการป้องกันอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คัมภีร์ใบลานไม่ถูกแมลงสัตว์กัดกิน หรือเข้ามารบกวน คือ การใช้เมล็ดพริกไทยประมาณ 20 - 30 เมล็ด ห่อผ้าขาวบางที่อากาศถ่ายเทได้ ไปใส่ไว้ตามมุมของตู้ที่เก็บคัมภีร์ใบลานและตรงกลาง เพราะว่าเมล็ดพริกไทยนั้นทั้งเผ็ดและร้อน เมื่อปลวก หนอนหนังสือได้กลิ่นหรือสัมผัสจะไม่เข้ามาใกล้ และในส่วนนี้ก็เป็นเคล็ดลับภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีวิธีเก็บรักษาสมบัติของชุมชนให้อยู่มานาน

อุโบสถวัดศรีบุญเรือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

อุโบสถวัดศรีบุญเรือง

เนื่องจากอุโบสถหลังเดิมเก่าแก่ทรุดโทรมไม่สามารถทำการบูรณะได้ คณะกรรมการวัดและคณะศรัทธาประชาชน จึงได้พิจารณาร่วมกันจัดสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเดิมที่ชำรุด และขยายพื้นที่อุโบสถให้กว้างมากขึ้น และได้ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองสมโภชเมืองเชียงราย ครบรอบ 750 ปี และถือโอกาสเฉลิมฉลองอาคารอเนกประสงค์ 750 ปี เมืองเชียงรายที่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวาระเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา

อุโบสถหลังใหม่เป็นศิลปะล้านนาประยุกต์ กล่าวคือ เป็นอาคารสูงแบบที่นิยมสร้างในภาคกลางต่างจากศิลปะล้านนาแบบดั้งเดิมที่นิยมสร้างอาคารแบบเตี้ยๆ แต่ยังคงประดับตกแต่งแบบล้านนาด้วยเครื่องไม้สลักลงรักปิดทอง ได้แก่ หน้าบัน และโก่งคิ้ว ป้านลมโค้งอ่อนแบบล้านนาเน้นระนาบเอนของตับหลังคาเพิ่มความโดดเด่นแก่บันไดทางเข้าด้วยรูปพญานาคที่ราวบันได ซึ่งล้านนานิยมสร้างหัวนาคที่ถูกคายออกมาจากปากมกร

งานสถาปัตยกรรมประเภทวิหารและอุโบสถมีปรากฎมาแล้วตั้งแต่ล้านนาระยะแรก ส่วนใหญ่เป็นอาคารเครื่องไม้มุงกระเบื้องซึ่งช่างล้านนาในอดีตมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเข้าไม้ด้วย “สลักร่องเดือย” เป็นอย่างดีแต่เนื่องจากอาคารไม้มีอายุการใช้งานจำกัด ต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์หรือสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิมที่หมดสภาพ ส่วนที่เหลืออยู่จึงเป็นงานในยุคหลังที่มีอายุไม่เก่าไปกว่า 100 ถึง 150 ปี

ลักษณะโดยรวมของวิหารและอุโบสถในล้านนาเป็นอาคารทรงเตี้ย ทรงคล้ายแม่ไก่กกไข่มีหลังคาชั้นซ้อน 2 หรือ 3 ชั้นมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังด้านข้างของวิหารมีช่องหน้าต่างน้อยและมีขนาดเล็ก ผนังด้านหน้ามักมีเพียงประตูเดียวสอดคล้องกับภูมิอากาศที่หนาวเย็นของภาคเหนือคงมีแนวคิดด้านการใช้งานหรือให้มีบรรยากาศทางศาสนา

หลังคาของอาคารมีที่เป็นชั้นซ้อน 2 หรือ 3 ชั้นสอดคล้องกับตัวอาคารที่ยกเก็จออกไปทางด้านหน้าการลดชั้นหลังคาออกมาด้านหน้านิยมมากกว่าที่ลดชั้นหลังคาไปด้านหลัง จั่วปิดด้วยแผงลูกฟักทางด้านสกัดหลัง นับเป็นงานประดับที่แสดงโครงสร้างของหลังคาด้วย สำหรับตัวด้านสกัดหน้า มักปิดด้วยแผงหน้าบันประดับปูนปั้นหรือสลักไม้ ป้านลมไม่นิยมทำนาคสะดุ้งอย่างภาคกลาง ป้านลมล้านนาจะโค้งอ่อนเน้นระนาบเอนของตับหลังคา ปลายป้านลม มีทั้งที่งอนเป็นหัวพญานาคและงอนเป็นตัวเหงา (หางวัน) งานประดับป้านลมนิยมใช้ชิ้นกระจกสีเคลือบตะกั่วอ่อนไว้ด้านหลัง

ความงามของอาคารอยู่ในความเรียบง่ายได้สัดส่วน และการประดับตกแต่งด้วยเครื่องไม้สลักลงรักปิดทอง ได้แก่ โก่งคิ้ว หรือรวงผึ้ง ที่เป็นแผงประดับด้านหน้าระหว่างเสา มีค้ำยัน หรือหูช้างรูปสามเหลี่ยมฉลุเป็นลวดลายรูปร่างต่างๆ มีอยู่มากมายหลายแบบ เช่น รูปพญานาค มังกร ประกอบกับ ลายดอกไม้ใบไม้ฉลุโปร่ง ลวดลายประกอบเหล่านี้มีส่วนสืบทอดมาจากศิลปะจีน สำหรับรูปพญานาคเรียกว่า “นาคคะตัน” คงมาจากคำว่า “นาคทัณฑ์”

หลวงพ่อศรีบุญเรือง หรือ พระเจ้าศรีบุญเรือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2558, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

วัดศรีบุญเรือง มีองค์พระพุทธรูปศรีบุญเรือง ที่มีอายุมากกว่า 100 ปีเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ศิลปะสกุลช่างพื้นถิ่น เชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้บูชาพระพุทธรูปองค์นี้แล้วจะทำให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เป็นสิริมงคล เจริญในหน้าที่การงานและยศศักดิ์

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

เจดีย์วัดศรีบุญเรือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2558, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

เจดีย์วัดศรีบุญเรืององค์นี้ พระครูปัญญาลังการ ได้บูรณะโดยสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เก่า เมื่อปี พ.ศ. 2487 ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ เจดีย์เป็นแบบร่วมสมัย คงประยุกต์มาจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียวแบบล้านนา เนื่องจากมีการทำจะนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน แต่ที่มีความโคดเด่นเป็นพิเศษคือ มีการประดับรูปสิงห์ที่มุมของเรือนธาตุทั้ง 4 ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขาม การประดับสัตว์หิมพานต์ที่มุมเจดียนี้ คงสร้างตามความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่ว่าป่าหิมพานต์อยู่ในชมพูทวีปอันเขาพระสุเมรุ (เขาสิเนรุราช) เป็นศูนย์กลางจักรวาล อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นทวารบาลพิทักษ์รักษาสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ด้วย

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2559, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

พิพิธภัณฑ์วัดศรีบุญเรือง

หมายเหตุ. ภาพจาก วัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย, โดย เทศบาลนครเชียงราย, 2558, เทศบาลนครเชียงราย. สงวนลิขสิทธิ์ 2558 โดย เทศบาลนครเชียงราย.

เนื่องจากวัดศรีบุญเรืองมีอายุเก่าแก่คู่เมืองเชียงราย ดังนั้นย่อมมีวัตถุโบราณ รวมไปถึงคัมภีร์ใบลานและปั๊ปา่อยู่มาก และในบางฉบับยังเป็นประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชียงรายอีกด้วย ดังนั้น ทางวัดจึงได้ริเริ่มที่จะทำห้องรักษาและจัดแสดงคัมภีร์ใบลานเหล่านี้ไว้ โดยมีวัตุประสงค์ ดังนี้

  • เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานและปั๊ปสา รวมไปถึงวัตถุโบราณอย่างถูกต้องตามวิธี

  • เพื่อเฉลิมฉลองสมโภชเมืองเชียงรายครบรอบ 750 ปี ใน พ.ศ. 2555

  • เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบไป

  • เพื่อให้ประชาชน และเยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับของเก่าแก่ล้านนา

  • เพื่อป้องกันการถูกทำลายหรือการโจรกรรม

  • เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม

รายการอ้างอิง

เทศบาลนครเชียงราย. (2558). วัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย. เทศบาลนครเชียงราย.

เทศบาลนครเชียงราย. (2559). วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย. เทศบาลนครเชียงราย.