ผ้าและเครื่องแต่งกาย
ของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทใหญ่

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทใหญ่

ไทใหญ่ หรือ ไทยใหญ่ หรือ ฉาน (ไทใหญ่: တႆး ไต๊; พม่า: ရှမ်းလူမျိုး, ออกเสียง: [ʃán lùmjóʊ]; จีน: 掸族; พินอิน: Shàn zú)

กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้บางครั้งเรียก "ไทหลวง" หรือ "ไตโหลง" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่อันดับ 2 ของพม่า ส่วนมากอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองตองจี รัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นหลัก รองลงมา คือ เมืองสีป้อ ล่าเสี้ยว เชียงตุง และท่าขี้เหล็ก บางส่วนอยู่บริเวณดอยไตแลงซึ่งเป็นชายแดนระหว่างไทยกับพม่า มีการแต่งงานและอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย รวมถึงเชียงใหม่เป็นจำนวนหลายแสนคน เพื่อหลบหนีปัญหาทางการเมือง และหางานทำ

ไทใหญ่ มีรัฐปกครองกันเองเป็นแคว้นหนึ่งต่างหาก ขึ้นตรงต่อประเทศพม่า มีเจ้าฟ้าเป็นประมุข เดิมเราเรียกรัฐนี้ว่า "สหรัฐไทยเดิม"  ในสมัยที่ไทยได้เข้าทำการยึดครองระหว่างสงครามเอเชียบูรพา ในปี พ.ศ. 2485 มีอาณาเขตกว้างขวาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศไทย นับตั้งแต่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายเป็นต้นไป เป็นอาณาเขตของเงี้ยว ภูมิประเทศของสหรัฐไทยเดิมไม่สม่ำเสมอ บางแห่งเป็นภูเขาสูงชัน บางแห่งต่ำเป็นหนองน้ำ ป่าไปล้อมรอบ มีถนนติดต่อจากเขตไทยไปสู่เชียงตุง ซึ่งเป็นนครหลวงของชาวไทยใหญ่

ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานมีความใกล้ชิดกับชาวพม่ามากกว่าชาวไทเขินที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกัน เพราะในช่วงที่อังกฤษมีอำนาจปกครองพม่านั้นได้จัดให้มีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์พม่าแทนที่ประวัติศาสตร์ไทใหญ่ และเมื่อใดก็ตามที่พม่ามีอิทธิพลทางการปกครองก็จะเกณฑ์ให้ เจ้าฟ้าไทใหญ่ ส่งเจ้าชายและเจ้าหญิงไปยังเมืองหลวงพม่าทำให้เกิดการยอมรับนับถือในวัฒนธรรมพม่าและนำกลับมาเผยแพร่แก่ประชาชนไทใหญ่อีกต่อหนึ่งในรูปแบบของภาษา ดนตรี นาฏศิลป์ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เช่น เกิดค่านิยมว่าวรรณคดีที่ไพเราะซาบซึ้งควรมีคำภาษาพม่าผูกผสมผสานกับคำภาษาไทใหญ่ เป็นต้น

ชาวไทใหญ่เดิมนิยมสักหมึกตามตัวด้วยสีดำและแดง ถือว่าเป็นที่สวยงามและน่าเกรงขาม ลายสักเป็นตัวอักษรไทยใหญ่ ลงเลขยันต์และรูปลายสัตว์ต่าง ๆ เพราะ ชาวไทใหญ่มีความเลื่อมใสในลัทธิไสยศาสตร์ ดังนั้น การสักลายจึงไม่ใช่เรื่องความสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความเชื่อในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตอีกด้วย

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

หมายเหตุ. ภาพจาก Ferrars, M. (1901). Burma. S. Low, Marston.

หมายเหตุ. ภาพจาก Ferrars, M. (1901). Burma. S. Low, Marston.

ถิ่นที่อยู่ปัจจุบันของชาวไทใหญ่

ในปัจจุบันชาวไทใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ โดยมักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำตามหุบเขา แต่ละหุบเขามักตั้งชื่อเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน หากเป็นที่ราบในหุบเขาที่กว้างใหญ่ ก็อาจจะมีชุมชนขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งเป็นเมือง หมู่บ้านหรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่า ม่าน หรือ ว่าน จะมีขนาดตั้งแต่ 20 หลังคาเรือนขึ้นไปจนถึงขนาด 700-1,000 หลังคาเรือน โดยเมืองมักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่มีหมู่บ้านหลาย ๆ หมู่บ้านอยู่ใกล้เคียงกัน และด้านหลังของเมืองมักจะเป็นเชิงเขาหันหน้าเข้าสู่ทุ่งนา

ถิ่นที่อยู่ปัจจุบันของชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงราย

ชาวไทใหญ่ ได้อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดเชียงรายหลายอำเภอ เช่น ที่อำเภอเมือง บ้านสันป่าก่อ บ้านหัวฝาย อำเภอแม่จัน บ้านต้นฮ่าง บ้านเหมืองฮ่อ
บ้านสบรวก อำเชียงแสน และที่อำเภอแม่สายมีมากกว่าอำเภออื่น ๆ เพราะเป็นชายแดนติดต่อกัน ชาวไทใหญ่ ได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ไทยร่วม 70 - 80 ปี และได้กลายมาเป็นชาวเหนือ ขนธรรมเนียมเดิมก็เปลี่ยนแปลงไป

ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวไทใหญ่

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

หัตถกรรมการทอผ้าของชาวไทใหญ่มีรูปแบบการทอเหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่น ๆ โดยผู้หญิงจะเป็นคนทอผ้าและตัดเย็บ หรือถักร้อยเป็นเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้สอยภายในครัวเรือน และถวายเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา แต่เทียบกับกลุ่มไทอื่นๆ กลุ่มไทใหญ่จะทอผ้าน้อยกว่ามาก ผ้าทอส่วนใหญ่เป็นการทอผ้าเรียบๆ ไม่มีลวดลายซับซ้อน ผ้าส่วนใหญ่จึงนำเข้ามาจากแหล่งอื่น เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของรัฐฉานเป็นหุบเขาสลับซับซ้อน อยู่ระหว่างอาณาจักรสำคัญคือพม่า ล้านนา สิบสองปันนา และติดต่อกับชายแดนจีน เป็นเส้นทางของการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ทำให้ชาวไทใหญ่มีนิสัยชอบการเดินทางและค้าขาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องทอผ้ามากนัก ถึงแม้ว่ากลุ่มคนไทใหญ่จะไม่มีการทอผ้าที่มีลวดลายโดดเด่นเหมือนกลุ่มไทกลุ่มอื่นๆ แต่ก็มีการตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างน่าสนใจ

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวไทใหญ่คล้ายคลึงกันกับของพม่า เพราะมีความใกล้ชิดตามประวัติศาสตร์ มีการแลกเปลี่ยนและรับอิทธิพลจากพม่าไปหลายอย่าง เช่น เสื้อผ้าเครื่องทรงของเจ้านายในราชสำนักพม่าจะเป็นเสื้อแตกปุ๋ม เสื้อป้าย หรือเสื้อผ่าหน้า แขนกว้าง กระดุมเป็นผ้าขมวดปมเป็นเม็ด หากเป็นเจ้านาย อาจจะใช้เม็ดเงิน แต่สิ่งที่แตกต่างจากพม่าคือการโพกหัวหรือเคียนโห เป็นวัฒนธรรมของไทใหญ่ พม่าจะไม่พันหัว

สตรีไทใหญ่ •

เสื้อ

ผู้หญิงชาวไทใหญ่จะแต่งกายเป็นแบบแผน ประกอบด้วยเสื้อและผ้าซิ่น เสื้อเป็นเสื้อคอกลมแขนยาวขนาดพอดีตัว ตัวสั้น เอวลอย มีส่วนทบตรงอกเสื้อด้านหน้าเรียก เสื้อปั๊ต กระดุมทำจากผ้าขมวดเป็นปมขัดกันเหมือน กระดุมจีนเรียก กระดุมขอด อาจมีการขดเป็นลวดลายเพื่อความสวยงามมากขึ้น เสื้อตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์, 2551, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เครื่องแต่งกายของเจ้าหญิง สตรีบรรดาศักดิ์และสตรีในราชสำนักไทใหญ่จะสวมเสื้อไต มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลม ตัวสั้น เอวลอย ป้ายอกไปขัดดุมตรงจุดไหปลาร้า ตัดเย็บจากผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายเนื้อดี มีความโปร่งบางจึงต้องสวมเสื้อช้อนไว้ด้านในอีกตัวหนึ่งเรียกว่า เสื้อบ่าห้อย มีลักษณะคล้ายเสื้อชั้นในหรือยกทรงของสตรีปัจจุบัน ตัดเย็บจากผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่มีเนื้อหนากว่าตัวนอก ส่วนสตรีสามัญชนทั่วไปจะสวม "เสื้อไต" และเสื้อซ้อนที่เรียกว่า "เสื้อบ่าห้อย" เช่นกัน แตกต่างกันตรงเนื้อผ้าที่นิยมเป็นผ้าฝ้ายเนื้อดีหรือผ้าพิมพ์ลาย

นอกจากนี้สตรีในราชสำนักไทใหญ่ยังนิยมนำผ้าแถบผืนสวยงามมาพาดไหล่ด้วย โดยเป็นผ้าแพรไหมหรือผ้าต่วน นำมาปักด้วยเส้นไหมเงิน เส้นไหมคำหรือทอง และอัญมณีมีค่าต่างๆ ตามฐานะของแต่ละคน

ผ้าซิ่น

หญิงชาวไทใหญ่จะสวมผ้าซิ่นที่ตัดเย็บจากผ้าจากหลายชนิด ทั้งที่ทอขึ้นเองและทำจากผ้าจากแหล่งอื่น ผ้าซิ่นไทใหญ่จะมีโครงสร้าง 2 ส่วนคือ หัวซิ่น ทำจากผ้าฝ้ายเนื้อบาง นิยมใช้ผ้าสีดำ และส่วนตัวซิ่นเป็นผืนผ้ายาวกรอมเท้า มีตะเข็บเดียว

ผ้าซิ่นลายลุนตยาอฉิก

ส่วนเรื่องของผ้าซิ่นนั้นของเจ้าหญิง สตรีบรรดาศักดิ์และสตรีในราชสำนักนิยมนุ่งผ้าซิ่นของพม่า ซึ่งเป็นผ้าซิ่นเอกลักษณ์แบบราชสำนักของราชวงศ์คองบองจากเมืองอมรปุระและมัณฑะเลย์ เรียกว่า ผ้าซิ่นลายลุนตยาอฉิก ซึ่งเป็นผ้านำเข้าจากต่างถิ่น การนุ่งผ้าซิ่นดังกล่าวมี 2 แบบ คือแบบที่เย็บเป็นผ้าถุงสำเร็จมีตะเข็บเดียว จะนุ่งให้ยาวถึงประมาณตาตุ่ม

ส่วนอีกแบบเป็นการนำ ผ้าลายลุนตยาอฉิก ทั้งผืนมานุ่งอ้อมลำตัวจากด้านหลังมาป้ายเกยกันด้านหน้า บางครั้งเรียกว่าการนุ่งแหวก ถ้านุ่งแบบนี้จะใช้ผ้าไหมพื้นสีอ่อนต่อเป็นตีนซิ่นให้มีความยาวลากดินลงไปรอบตัวประมาณศอกเศษ โดยการนุ่งแบบนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของราชสำนักมัณฑะเลย์อย่างชัดเจน เนื่องจากสตรีในราชสำนักดังกล่าวถือว่าเท้าเป็นของต่ำและจะต้องปิดบังเอาไว้ตลอดเวลา อีกทั้งสตรีในราชสำนักยังนิยมนุ่งผ้าปักไหมคำ โดยใช้ผ้าแพร่ไหม ผ้าด่วน และผ้าลูกไม้มาปักด้วยเส้นไหมทองแซมกับอัญมณีต่างๆ ใช้นุ่งในงานพิธีและโอกาสพิเศษต่างๆ มีทั้งนุ่งให้ยาวเสมอตาตุ่มและนุ่งแบบแหวกหน้าลากหางยาว

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์, 2551, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ผ้าซิ่นมัดหมี่

กองทัพพม่าได้กวาดต้อนผู้คนกลับมาไว้ที่บริเวณรัฐฉานแถบรอบๆ ทะเลสาบอินเล นับจากนั้นมาก็มีการแต่งงาน สืบทอดต่อกันมาเป็น ชาวอินทา ผ้าไหมมัดหมี่ของที่นี่จึงความคล้ายคลึงกับผ้าไหมมัดหมี่ของกัมพูชาเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อนำมาเป็นผ้าซิ่นของสตรีไทใหญ่จะมีการต่อหัวซิ่นด้วยผ้าฝ้ายสีดำหรือสีกรมท่าเข้ม  ผ้าซิ่นมัดหมี่ประเภทนี้เป็นมัดหมี่เส้นยืนซึ่งไม่นิยม ทำกันในประเทศไทยเลย ผ้าซิ่นมัดหมี่แบบชาวอินทาในยุคแรกๆ  มีลวดลายและสีสันใกล้เคียงกับผ้าสมปักปูมของกัมพูชามาก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรมากนัก เพราะถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์ ในอดีตพม่าเคยยกกองทัพไปตีเชียงใหม่ จากนั้นจึงเคลื่อนทัพต่อไปตีเมืองเวียงจันทน์และกัมพูชา ครั้งนั้น

ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบอินเล ซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่กลางรัฐฉาน หญิงชาวไทใหญ่บริเวณนี้จะทอผ้าไหมมัดหมี่ (Ikat) มีลวดลายและสีสันสดใส เรียกว่า ซึ่นซินเหม่ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นผ้าซิ่นแบบเมืองเชียงใหม่ ซิ่นแบบนี้ผู้หญิงไทใหญ่นิยมสวมใส่กันทั่วไปในเขตรัฐฉานและถูกส่งเข้ามาจำหน่ายสำหรับชาวไทใหญ่ในเขตภาคเหนือด้วย โดยเฉพาะในเขตแม่ฮ่องสอน ซึ่นซินเหม่แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามเทคนิคการทอผ้าคือ ซิ่นมัดหมี่เส้นยืน และซิ่นมัดหมี่เส้นพุ่ง

ซิ่นมัดหมี่เส้นยืน (Warp Ikat)

เป็นการมัดเส้นไหมเป็นลวดลายบนเส้นยืน แล้วเรียงเป็นระยะห่างเท่ากัน เทคนิคการทอเป็นแบบทอขัดสานธรรมดา (Plain Weaving) เมื่อทอเสร็จแล้วนำมาเย็บเป็นผ้าถุง ลวดลายเป็นลายเรขาคณิด ลายเป็นริ้วขวางลำตัวเสมอกัน คล้ายกับผ้าซิ่นของชาวไทยวนเมืองเชียงใหม่ที่มีริ้วขวางลำตัวเท่ากัน

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์, 2551, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ซิ่นมัดหมี่เส้นพุ่ง (Wef Ikar)

เป็นการมัดหมี่ให้เกิดลายจากเส้นพุ่ง ส่วนมากเป็นลวดลายดอกไม้ พันธุ์พฤกษา ลวดลายที่ทอจะแทรกคั่นด้วยเป็นแนวสลับกับลวดลายคล้ายกับการทอหมี่คั่นของซิ่นไทลาว เมื่อนำมาเย็บลวดลายจะเป็นแนวตั้ง เทดนิคการทอเป็นแบบ 3 ตะกอ  (Twill Weaving) คล้ายกับผ้ามัดหมี่ของกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมร

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์, 2551, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นอกจากนี้ยังมีผ้าซิ่นอีกหลายประเภทที่สวมใส่ได้ ทั้งสตรีในราชสำนักและสตรีสามัญชนทั่วไปซึ่งจะแตกต่างกันที่คุณภาพของเนื้อผ้า เช่น สตรีในราชสำนักอาจใช้ผ้าไหมเป็นหลัก สตรีสามัญทั่วไปอาจใช้ผ้าฝ้ายเป็นหลัก ได้แก่ ผ้าซิ่นตำลื้อ ตัวซิ่นมีลักษณะเป็นลายริ้วขวางลำตัว ซึ่งลายริ้วเหล่านี้จะเรียงสลับขนาดของริ้วและช่องไฟไม่เท่ากัน และจะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ริ้วเล็กๆ ใหญ่ๆ สลับกันไป นิยมต่อตีนขิ่นด้วยผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายสีพื้น สีดำ หรือสีครามเข้ม หรือจะต่อตีนซิ่นด้วยผ้าแพร่ไหมสีอะไรก็ได้ ผ้าซิ่นอีกประเภทที่ใช้ในราชสำนักสำหรับผู้มีอันจะกินเท่านั้นเป็นผ้านำเข้าจากประเทศอินเดีย ถือเป็นสินค้าอิมพอร์ตที่มีคุณค่าและราคาสูง ได้แก่ ผ้าซิ่นพิมพ์ลายอย่างจากอินเดีย ส่วนใหญ่จะนำมาเย็บเป็นผ้าถุงตะเข็บเดียวและนุ่งให้มีความยาวระดับตาตุ่ม

หญิงชาวไทใหญ่มักจะโพกศีรษะหรือเคียนหัว เมื่อมีงานบุญ งานเทศกาลต่าง ๆ หรือสวมกุบที่เรียกว่า "กุบไต" หากเป็นหมวกที่สานออกมาเป็นสามมุม มีขนาดใหญ่ปีกหมวกยาวคลุมถึงไหล่ เรียกว่า "กุบหักสามสัน" สตรีไทใหญ่ยังนิยมนำผ้าแพรจีนหรือผ้าฝ้ายเนื้อบางโทนสีชมพูอ่อนสีเหลืองอ่อน หรือสีขาวนวลมาโพกพันรอบศีรษะ เรียกว่าผ้าหัว หรือผ้าโห และสวมใส่รองเท้าคีบ

ทรงผม

หญิงไทใหญ่จะได้ผมยาวเกล้ามวยไว้เหนือท้ายทอยอย่างเรียบร้อยสวยงาม ในโอกาสสำคัญมักจะนำดอกไม้สด ปิ่นปักผม หรือหวี มาปักประดับแซมมวยผมเพื่อความสวยงาม

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์, 2551, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

บุรุษไทใหญ่ •

จากภาพจิตรกรรมฝาผนังในล้านนาหลายแห่งในภาคเหนือ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง สังข์ทอง ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ มีกลุ่มภาพเจ้าชายชาวไทใหญ่ ลักษณะไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยกลางศีรษะเคียนหัวด้วยผ้าสีอ่อน สวมเสื้อคอกลม แขนยาว ผ่าหน้า ตัวยาวคลุมสะโพก นุ่งผ้าลุนตยาอาฉิกแบบพม่า ผืนยาวรอบเอว ขมวดปมไว้ด้านหน้าแล้วพาดคลุมบนบ่าทั้ง 2 ข้าง ถลกผ้าขึ้นให้เห็นลายสักบริเวณต้นขาทั้ง 2 ข้างเป็นภาพสะท้อนการแต่งกายของชนชั้นสูงของชาวไทใหญ่ในสมัยก่อนซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพม่า

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์, 2551, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชายชาวไทใหญ่ในปัจจุบันจะสวมเสื้อแขนยาว ผ่าหน้า ติดกระดุมขอดเป็นผ้าเย็บขมวด  คอเสื้อเป็นคอกลมหรือคอตั้งแบบคอจีน มีกระเป๋าเสื้อตรงอกด้านซ้าย และด้านชายเสื้อทั้ง 2 ข้าง เรียกเสื้อแบบนี้ว่า เสื้อไต  สวมกางเกงขาวยาวทรงหลวมคล้ายกางเกงขาก๊วยแบบจีน หรือทรงเตี๋ยวสะดอ ชาวไทใหญ่เรียกกางเกงว่า ก๋น หรือ ก๋นไต ทั้งเสื้อและกางเกงของชายไทใหญ่มักจะตัดเย็บด้วยผ้าชนิดเดียวกัน สีเดียวกัน  ส่วนมากจะเป็นผ้าฝ้าย ปัจจุบันนิยมผ้าทอใยสังเคราะห์จากโรงงาน และจะสวมชุดไทใหญ่ในงานโอกาสสำคัญเท่านั้น

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์, 2551, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เอกลักษณ์สำคัญอีกประการของชายชาวไทใหญ่ คือ การเคียนหัว โดยใช้ผ้าสีอ่อน เช่นสีขาว หรือสีชมพูอ่อน มาโพกรอบศีรษะ ถือเป็นการแต่งกายเต็มยศซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณแสดงออกถึงความเป็นไทใหญ่ได้อย่างชัดเจน

ส่วนรองเท้า จะสวมรองเท้าหนังควายเป็นแบบคีบ และหากหุ้มส้นจะเป็นรองเท้าผ้า ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากจีน เพราะอยู่ใกล้ชิดกับจีนมาตั้งแต่อดีต ทั้งการค้าขายระบบพ่อค้าวัวต่างกดี และภูมิประเทศที่อยู่ใกล้กัน (รัฐฉานและประเทศจีน) ผู้ชายชาวไทใหญ่จะเจาะหูใส่ต่างหูด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ. ภาพจาก ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น, โดย เผ่าทอง ทองเจือ, 2561, สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

การสัก

ไทใหญ่แต่โบราณนิยมสักตามร่างกาย โดยจะสักบริเวณต้นขาด้วยหมึกสีดำเรียกว่า สักขาก้อม หรือ สักขาเตี๋ยวก้อม บางทีสักลามขึ้นไปถึงบั้นเอว ลายสักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ก็มีเช่นสิงห์ มอม หรือเป็นเกล็ดนาค การสักขาถือเป็นการสักเพื่อแสดงออกความเป็นชายชาตรี ใครไม่สักขาถือว่าเป็นชายไม่เต็มตัว ผู้หญิงจะไม่เลือกคนที่ไม่สักเป็นคู่ครอง

นอกจากการสักขาแล้ว ชาวไทใหญ่ยังนิยมสักตามร่างกาย บริเวณแขนและลำตัว การสักบริเวณนี้ มักจะสักเป็นลายอักขระ คาถาอาคมต่าง ๆ ถือเป็นการข่าม หรือการสักยันต์ หรือสักกายะ เพื่อจุดมุ่งหมายทางความเชื่อทางไสยศาสตร์ มีความหมายว่าเพื่ออยู่ยงคงกระพัน ป้องกันภัยจากศาสตราวุธทั้งหลาย พิเศษกว่านั้นคือยังพบการสักด้วยหมึกสีแดงเรียกว่า สักหางแดง  โดยหมึกที่ทำจากชาด (Mercuric Sulphite) ทำให้เกิดสีแดง แต่เป็นพิษ การสักหางมักสักแต่น้อยแต่สักเป็นคาถาสำคัญ ปัจจุบันชายไทใหญ่ไม่ได้สักเหมือนในอดีต แต่ยังพอหลงเหลือพอให้เห็นอยู่ข้างในผู้เฒ่าชาวไทใหญ่ สำหรับผู้หญิงก็เคยพบว่ามีการสักแขนเพื่อเป็นการป้องกันภัยต่างๆ  อีกด้วย

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์, 2551, โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

รายการอ้างอิง

Ferrars, M. (1901). Burma. S. Low, Marston.

นราธิปประพันธ์พงศ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ, กรมพระ. (2561). พงศาวดารไทใหญ่. ศรีปัญญา.

ธิตินัดดา มณีวรรณ์ และ ยุทธการ ขันชัย. (2552). ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สัมมนาทางวิชาการไตศึกษา ครั้งที่ 1 อดีตถึงปัจจุบันการศึกษาศิลปวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไต. (2561). โครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา.

เผ่าทอง ทองเจือ. (2561). ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น. สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.

ไทใหญ่ ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์. (2551). โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.