ไตหย่า

หญิงชาวไตหย่า บ้านป่าสักห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551)

ไตหย่า :: ชาติพันธุ์ไตหย่า คือ ชาวไตกลุ่มหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มของชาติพันธุ์ไตในประเทศจีน ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมคือ ตำบลโมซาเจียง อำเภอซินผิง จังหวัดยี่ซี มณฑลยูนาน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแดง ชาวจีนเรียกว่าขานว่า ฮวาเย่าไต (Huayao Dai) แปลว่า ไตเอวลาย (Flowery Belted) เหตุที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากการแต่งกายของสตรีที่มีลักษณะโดดเด่นของผ้าคาดเอวที่ปักลวดลายและตกแต่งด้วยแถบผ้าหลากสีสันสวยงามบริเวณรอบเอว

ชาวไตหย่าบางส่วนได้อพยพมายังสิบสองปันนา บางส่วนเข้าสู่พม่าและไทย มีประชากร 60,000 คน พูดภาษาไต ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มภาษาคำ-ไต ตระกูลภาษาไท-กะได

ชาวไตหย่า อพยพเข้าสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2470 สิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวไตหย่าย้ายถิ่นฐานเข้ามาสู่ประเทศไทยครั้งแรกคือ จากการที่คระมิชชั่นนารีที่ไปประกาศศาสนาศริสต์ที่เมืองหย่าได้เสร็จสิ้นภารกิจ เมื่อถึงเวลากลับประเทศไทยชาวไตหย่าจึงได้อาสาสมัครหาบของมาส่งให้เพราะต้องการมาเห็นประเทศไทยด้วยเมื่อได้มาเห็นประเทศไทยบางคนก็ไม่กลับไปอีก แต่มีบางคนได้กลับไปแล้วไปบอกเล่าให้พี่น้องไตหย่าในโมวาเจียงฟังถึงความสะดวกสบาย ความมีอิสรภาพในทุกด้านรวมถึงการนับถือศาสนาทำให้หลายคนเกิดความสนใจและตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร

จนถึงเวลานี้ ชาวไตหย่าชุดแรกเดินทางมาด้วยกัน 10 ครอบครัว เป็นการเดินเท้าจากเมื่อหย่าผ่านเมืองซือเหมา สิบสองปันนา เมืองยอง และแม่สาย ได้หยุดพักรวมกันที่หมู่บ้านหนองกลม (บ้านสันธาตุ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) ใช้เวลาเดินทางกว่า 40 วัน ไปตั้งหลักแหล่งแผ้วถางที่ดินที่หมู่บ้านสันขวาง ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นชาวไตหย่ากลุ่มหนึ่งได้แยกตัวออกมาหาที่อยู่ใหม่ คือ หมู่บ้านบ่อน้ำขาว ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านอยู่ไม่ห่างไกลกันมากนัก สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวก

การแต่งกาย ::

ผู้ชาย ผู้ชายไตหย่าจะสวมกางเกงสีดำหรือสีครามคล้ายกางเกงขาก๊วย เสื้อสีเดียวกับกางเกง เรียกว่า เสื้อฮี ลักษณะเป็นเสื้อคอจีนแขนยาว ผ่าหน้าติดกระดุมผ้า ปลายแขนแต่งด้วยแถบผ้าสีแดงหรือสีฟ้า สวมหมวกผ้าทรงกลมกลางศีรษะโล่ง ติดภู่ห้อยด้านข้างซ้าย ในปัจจุบันมีการปรับรูปแบบของเสื้อเพื่อใส่ในช่วยอากาศร้อนเป็นแบบเสื้อแขนกุดตกแต่งด้วยเม็ดเงิน

ผู้หญิง เครื่องแต่งกายของสตรีที่จะสวมผ้าซิ่น 2 ผืนซ้อนกันเป็นผ้าพื้นมีดำ ประดับด้วยผ้าริ้วสีต่าง ๆ เย็บเป็นแถบรอบชายซิ่น ขณะสวมใส่จะรั้งผ้าซิ่นด้านซ้ายขึ้น ปล่อยชายด้านขาวห้อยต่ำลงมา นอกจาชายเสื้อและผ้าซิ่นจะประดับด้วยริ้วผ้าสีต่าง ๆ แล้วยังใช้เม็ดเงินสอยเย็บติดกับชายเสื้อ สาบเสื้อ และขอบแขนเป็นลวดลายต่าง ๆ

รายการอ้างอิง :

1. บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศยาม.

2. ศูนย์เรียนรู้ชาติพันธุ์ไทในล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2558). ไทหย่า. ค้นจาก http://site.sri.cmu.ac.th/~lelc/index.php/2015-11-18-16-02-24

3. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2553). รู้จักไตหย่า บ้านน้ำบ่อขาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย. ค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/blog_inside.php?id=1479