เขิน

เขิน หรือ ไตเขิน หรือ ไทเขิน หรือ ไทขึน

มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตสหรัฐไทยใหญ่ หรือแคว้นเชียงตุง รูปร่างของพวกเขินสูงใหญ่ ท่าทางองอาจ กล้าหาญ พร้อมทั้งมีใบหน้าสวยงาม จมูกโด่งเป็นสัน กิริยาวาจาเรียบร้อย สงบเสงี่ยม มีขนบธรรมเนียบมความเป็นอยู่ ตลอดจนเครื่องแต่งกาย คล้ายคลึงกับชาวไทยใหญ่ และอยู่ปะปนกับไทยใหญ่

คำว่า “ขึน” มีความหมายว่า "ฝืน" หรือ "คืนกลับ" ที่เป็นเช่นนี้ เพราะแม่น้ำขึน ที่ชาวไทอาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำนั้น จะไหลขึ้นไปทางเหนือ ไม่ได้ไหลลงไปทางทิศใต้เช่นเดียวกับแม่น้ำเมย ชาวไทที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำขึน จึงถูกเรียกว่า “ไทขึน” ซึ่งน่าจะมีความหมายว่า “คนไทที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำขึน”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ไตเขิน”

ในล้านนา ชาวไทเขิน ถูกกวาดต้อนมาจากเชียงตุง ตั้งแต่ พ.ศ.2347 เชียงตุงมีลักษณะแคว้นคล้านก้นกระทะ มีอาณาเขตที่ติดต่อ ดังนี้ ทางตอนใต้ติดกับประเทศไทย ทิศเหนือจดจีน ตะวันออกติดยูนานจีนและอินโดจีน และตะวันตกจดอาณาเขตพม่า เชียงตุงจึงเป็นจุดสำคัญในการค้าขายติดต่อกับประเทศใกล้เคียง ชาวไตเขินนี้อยู่ปะปนกับชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีอยู่เปนจำนวนไม่น้อย

หัตถกรรม

ในสมัยพระยากาวิละ ชาวไทเขิน ถูกกวาดต้อนมาจากเชียงตุงเพื่อให้มาช่วยกันสร้างบ้านเมือง คือ บูรณะเมืองเชียงใหม่ ขึ้นใหม่ เรียกว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”
โดยไทยเขินกลุ่มใหญ่มีเจ้านายมาด้วยหลายองค์ คือ เจ้ากระหม่อม (ต้นสกุลพรหมศรี) เจ้าแสนเมือง เจ้าฟ้าสารัมพะยะ หรือเจ้ากองไต อดีตเจ้าหอคำเชียงตุง เจ้าเมืองเหล็ก เจ้ามหาพรหม เป็นต้น โดยมาตั้งคุ้มหลวงอยู่บ้านนันทาราม อยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในและกำแพงเมืองชั้นนอกด้านใต้ของเมืองเชียงใหม่ กลุ่มนี้เป็นช่างฝีมือเชี่ยวชาญในการทำ "เครื่องเขิน"

เครื่องเขินภาชนะของใช้ที่ทำโดยชาวไทเขินที่มีโครงเป็นเครื่องจักสานหรือไม้ เคลือบทาด้วยยางรักเพื่อความคงทน กันน้ำและความชื้น ทั้งเป็นการเพิ่มความสวยงามวิจิตรแก่พื้นผิวของภาชนะ โดยส่วนใหญ่โครงของเครื่องเขินจะเป็นเครื่องไม้ไผ่สาน ทาด้วยยางรักหลายๆชั้น โดยการทารักในชั้นแรกจะเป็นการยึดโครงของภาชนะให้เกิดความมั่นคง ส่วนการทารักในชั้นต่อๆไปเป็นการตกแต่งพื้นผิวภาชนะให้เรียบ และการทารักชั้นสุดท้ายจะเป็นการตกแต่งให้เกิดความสวยงาม เช่น การเขียนลวดลาย การปิดทอง หรือการขุดผิวให้เป็นร่องลึก แล้วฝังรักสีที่ต่างกันเป็นลวดลายสวยงาม หากเป็นภาชนะของใช้ทั่วไปจะมีน้ำหนักเบาจะนิยมใช้รักสีดำและตากแต่งด้วยสีแดงของชาด และกรณีภาชนะที่ใช้ในพิธี จะทำการตกแต่งเชิงศิลปะ เช่น ใช้ทองคำเปลวประดับ บางชิ้นอาจมีการปั้น กดรัก พิมพ์รักให้เป็นลวดลาย เพื่อเพิ่มความงดงามให้แก่ภาชนะ

การแต่งกาย

เจ้าห่มฟ้าแห่งแสนหวี เจ้านางแว่นทิพย์แห่งเชียงตุง และเหล่านางกำนัล

Photo :: จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ผู้ชาย สวมเสื้อผ้าฝ้ายทอมือแขนสามส่วน คอกลม ผ่าหน้า ติดกระดุม นิยมสวมเสื้อทับข้างนอก ส่วนเสื้อข้างในมักจะเป็นเสื้อยืดหรือเสื้อสีขาวมีปก นิยมผ้าโพกหัวใช้สีครีมหรือสีขาว และมัดเอวด้วยผ้าสีอ่อน สวมกางเกงสะดอ หรือ อาจจะนุ่งเตี่ยวโย้เหมือนกางเกงแบบจีน ใช้ได้ทุกสี

ผู้หญิง สวมเสื้อที่มีลักษณะเดียวกับเสื้อปั๊ด ไม่มีปก เสื้อมีตัวสั้น ชายเสื้อตรงเอวจะงอนขึ้นหรือกางออกเล็กน้อย ใช้ผ้าสีชมพูหรือสีอ่อนโพกหัว และผ้าซิ่น ส่วนบนเป็นลายริ้วหรือที่เรียกกันว่า “ซิ่นก่าน” ส่วนตีนจะต่อด้วยผ้าสีเขียวเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทเขิน เครื่องประดับจะนิยมเครื่องประดับที่ทำมาจากเครื่องเงิน


สารสนเทศที่เกี่ยวข้อง

รายการอ้างอิง :

1. จักรพงษ์ คำบุญเรือง. (2562). ไปดูคนไทเขิน “เชียงตุง” นุ่งเสื้อผ้า. https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1005226/

2. ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2560). ล้านนา-คำเมือง : ไทเขินฯ. https://www.matichonweekly.com/column/article_69280

3. บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). ศยาม.

4. พลวัฒ ประพัฒน์ทอง. (2563). กลุ่มชาติพันธุ์ไทขึน. https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/140

5. พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. (2560). เครื่องเขิน: หัตถศิลป์แห่งภูมิปัญญา . https://museum.socanth.tu.ac.th/knowledge/past-exhibition/เครื่องเขิน/

6. วิถี พานิชพันธ์. (2545). เครื่องเขินในเอเชียอาคเนย์. ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

7. วิถี พานิชพันธ์. (2556). ไทเขินแห่งเชียงตุง. โครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา.