ตุงพระบด ตุงพระบฎ ตุงพระบต

ตุงพระบดปางประทานโอวาท

ชาวล้านนามีศิลปะและวัฒนธรรมอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งได้นำมาถ่ายทอดลงบนผืนตุง โดยใช้ศิลปะการวาดภาพลงบนผืนผ้า เรียกตุงชนิดนี้ว่า “ตุงพระบด” คำว่า “พระบด” หรือ “พระบต” มาจากภาษาเขมร แปลว่า พระพุทธรูปบนแผ่นผ้า เป็นตุงที่มีลักษณะเป็นผืนผ้าใบหรือกระดาษ ส่วนใหญ่เป็นผืนผ้าใบ โดยมีขนาดแตกต่างกันตามขนาดของผ้าหรือตามต้องการของผู้ทำตุง ส่วนมากจะกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 1.5 – 2 เมตร ขึงด้วยกรอบไม้ หัวและท้ายตุง เพื่อให้ตึง ตุงพระบดส่วนใหญ่จะเป็นรูปวาดพระพุทธเจ้าปางต่างๆ เช่น ปางสมาธิ ปางประทานโอวาท เป็นต้น การทำตุงพระบด ผู้ทำจะต้องมีความชำนาญในด้านการวาดภาพ โดยจะวาดลงบนผืนผ้า ในอดีตจะใช้ผ้าดิบแต่ในปัจจุบันใช้ผ้าใบสำหรับวาดภาพโดยเฉพาะและใช้สีที่วาด โดยเฉพาะ เช่น สีน้ำพลาสติก สีน้ำมัน เป็นต้น เพื่อให้รูปที่วาดมีความคงทน ติดกับผ้าไม่หลุดลอก โดยจะร่างภาพพระพุทธเจ้าปางต่างๆ ท่าประทับนั่งหรือประทับยืน ส่วนพื้นที่ว่างจะวาดรูปต่างๆ เช่น รูปต้นโพธิ์ รูปดอกไม้ และกรอบทั้งสี่ด้านอาจวาดกรอบด้วยลวดลายต่างๆ เช่น ลายกนก ลายดอกไม้ เป็นต้น หรือทำเป็นรูปประทับนั่ง เช่น ปางสมาธิ ปางคประทานโอวาท ก็จะวาดประทับนั่งอยู่ในซุ้มลายกนก เมื่อร่างรูปภาพเสร็จแล้ว การลงสีบางแห่งอาจใช้สีสองสี โดยจะลงสีทองที่รูปวาดแล้วใช้สีอื่นตัด เช่น สีแดง สีดำ เป็นต้น ลงตัดเส้นที่ร่างภาพและลงพื้นตุง โดยจะเห็นภาพที่เราวาดเป็นสีทองทั้งหมด แต่มีผู้วาดตุงบางคนใช้จินตนาการในการลงสี โดยจะใช้สีต่างๆ ส่วนใหญ่ลงสีร่างของพระพุทธเจ้าด้วยสีเหลือง หรือสีทองอ่อนๆ และลงสีจีวรด้วยสีเข้ม เช่น สีน้ำตาล สีส้มเข้ม เป็นต้น ซุ้มประทับลงด้วยสีทอง พื้นภายในซุ้มจะเป็นสีเข้ม เช่น สีดำ สีน้ำเงิน แต่พื้นภายนอกซุ้มจะเป็นสีที่สว่าง เช่น สีส้ม สีแดง ทำให้ภาพพระพุทธเจ้ามีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

ลักษณะการใช้งานของตุงพระบด ส่วนใหญ่ใช้ประดับไว้ด้านหลังของพระประธานภายในโบสถ์ โดยการแขวนไว้กับผนังด้านหลังพระประธาน นอกจากนี้ตุงพระบดยังใช้ทำพิธีกรรมต่างๆ นอกสถานที่ ไม่สามารถนำพระพุทธรูปไปประกอบพิธีได้ โดยจะใช้ตุงพระบดแทนพระพุทธรูปในการประกอบพิธี โดยแขวนตุงพระบดแทนการประดิษฐานของพระพุทธรูป เช่น พิธีเลี้ยงผีปู่แสะ ย่าแสะ ของชาวบ้านหมู่บ้านแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่