ตุงชัย
ทำด้วยผ้าหรือกระดาษสา

ตุงชัยทำด้วยผ้าเงิน ผ้าทอง บ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

ตุงชัยทำด้วยผ้าหรือกระดาษสา เป็นการทำตุงชัยด้วยผ้าที่ไม่มีลวดลายแต่จะใช้ผ้าสีทอง สีเงิน เพื่อความสวยงาม โดยตัดผ้ากว้างประมาณ 9 นิ้ว ยาวประมาณ 4 เมตร แล้วนำตอกไม้ไผ่มาคั่นแบ่งเป็นช่องๆ แล้วเย็บขอบผ้าเพื่อยึดตอกไม้ไผ่ แล้วนำลูกปัดกับดอกไม้พลาสติกมาร้อยเป็นตุ้งติ้งนำมาติดขอบด้านข้างของตุง และร้อยติดปลายตุง เพื่อความสวยงาม

ตุงชัยทำด้วยผ้าตัดกระดาษสีเป็นรูปพุทธประวัติ

การทำตุงชัยที่ทำด้วยผ้า หรือกระดาษสา แล้วใช้กระดาษเงิน กระดาษทองและกระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นรูปต่างๆ ติดกับตัวตุง โดยการทำตุงชัยด้วยการตัดกระดาษติดนั้น ส่วนใหญ่จะใช้ผ้าธรรมดากับผ้าโปร่ง หรือกระดาษสา ใช้ทำเป็นสีพื้นของตุง โดยการใช้ผ้าธรรมดาทำตุงชัย จะใช้ผ้าขาวซึ่งต้องร่างเป็น รูปภาพ ลงในกระดาษสีต่าง ๆ ก่อน แล้วนำมาตัดตามรูปแบบที่วาดไว้จากนั้นจึงนำมาติดบนตัวผ้าที่จะทำตุงโดยแบ่งเป็นช่องๆ รูปภาพส่วนใหญ่ที่ติดจะเป็นรูปภาพพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า เป็นต้น

ตุงชัยทำด้วยผ้าโปร่งตัดกระดาษสีเป็นรูปดอกไม้ บ้านป่ายางใหม่ ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ส่วนการใช้ผ้าโปร่ง ซึ่งจะตัดผ้าโปร่งกว้าง 9 นิ้ว ยาว 1.5 เมตร แบ่งเป็นช่องคั่นด้วยตอกไม้ไผ่ แล้วจึงตัดกระดาษที่จะติดผ้าแต่ละช่อง ลวดลายในการตัดกระดาษจะทำด้วยการพับกระดาษเป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วพับครึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยม ตัดเป็นลวดลาย แล้วคลี่ออกมาจะเป็นรูปดอกไม้ ทากาวติดผ้าโปร่งทั้งด้านหน้าและด้านหลังแล้วเย็บขอบด้วยผ้าแถบ

ตุงชัยทำด้วยกระดาษสา บ้านป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย

ส่วนอีกวิธีหนึ่งใช้กระดาษสาเป็นพื้นโดยจะใช้วิธีเดียวกัน คือ พับกระดาษเป็นสี่เหลี่ยมแล้วพับครึ่งให้เป็นรูปสามเหลี่ยมอีกครั้ง นำไปตัดตามลวดลายที่วาดคือรูปดอกไม้ เมื่อคลี่ออกมาแล้วจะได้รูปดอกไม้แล้วทากาวนำไปติดกับตุง แต่การทำตุงชัยด้วยกระดาษสาไม่สามารถเย็บขอบตุงได้ แต่จะนำเอากระดาษทองตัดเป็นเส้นยาว กว้างประมาณ 2 นิ้ว นำมาพับ จากนั้นจึงตัดขอบด้านใดด้านหนึ่งแล้วคลี่ออกมานำมาติดขอบทั้งสองด้านของตุง โดยตุงชัยที่ทำด้วยกระดาษสา เรียกว่า “ลายตาอ้อย”

การตัดกระดาษให้เป็นลวดลายต่างๆ ความสวยงามของลวดลายขึ้นอยู่กับเทคนิคการตัดของผู้ทำตุงชัย โดยจะต้องมีความอ่อนช้อย เพื่อให้รูปดอกไม้ที่ออกมาลวดลายไม่แข็งกระด้างแต่จะมีความอ่อนไหว สิ่งที่สำคัญของการตัดกระดาษ คือ กรรไกรจะต้องเป็นกรรไกรที่คม เพราะจะต้องตัดกระดาษที่พับหลายชั้น ถ้ามีกรรไกรที่คมจะทำให้สามารถตัดกระดาษได้เพียงครั้งเดียว และรอยตัดจะคม สวยงามและกระดาษไม่ยับ ซึ่งมีขนาดเล็กพอเหมาะจะทำให้สามารถตัดในส่วนที่โค้งและเว้าได้ดี โดยที่เทคนิคเหล่านี้เป็นการทำให้รูปที่ตัดออกมามีความอ่อนช้อย สวยงาม และเมื่อนำไปติดกับผ้าหรือกระดาษสาที่เป็นตัวตุงชัยแล้วนั้นจะมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น