ไทยวน

ชาติพันธุ์ไทยวน

ชาติพันธุ์ "ไทยวน" อ่านว่า (ไท - ยวน) หรือ "ไตยวน" อ่านว่า (ไต - ยวน) หรือคนทั่วไปนิยามเรียกว่า "คนเมือง" มีคำเรียกตนเองหลายอย่าง เช่น ยวน หรือโยน หรือ ไต หรือไท กระจายตัวอาศัยอยู่ในภูมิภาคเหนือเป็นหลัก เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน และแพร่ เป็นต้น

หมายเหตุ. ภาพจาก ""ยวน" มาจากไหน ? ใครคือ "ไทยวน"", มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม, 2562, มติชนสุดสัปดาห์. สงวนลิขสิทธิ์ โดย มติชนสุดสัปดาห์.

คำว่า “ยวน” พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ได้อธิบายไว้ในพงศาวดารโยนกว่า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ยุนซาง” หรือ “ฮวนชาน” ในภาษาจีนแปลว่า กลุ่มชนอื่นที่อาศัยอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งหมายถึง ชาน หรือสยาม

“คนไทยวนหรือไตโยน มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองโยนกเชียงแสนเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 1839 พญามังรายได้สถาปนาเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานีกลุ่มคนไทยวนหรือคนไตได้กระจายอยู่ในภูมิภาคที่เรียกว่าอาณาจักรล้านนา

ชาวไทยวนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก แต่ก็ยังมีคามเชื่อในเรื่องผีที่อาจให้คุณหรือโทษได้ โดยผีที่ชาวไทยวนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ ผีเรือน หรือ ผีประจำตระกูล หรือ ผีบรรพบุรุษ นั้นเอง โดยชาวไทยยวนจะเรียกว่า "ผีปู่ผีย่า"

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

หมายเหตุ. ภาพจาก Wat Phumin Wall Paintings, Royal Thai Art International, 2020, Copyright to Royal Thai Art International.

ชาติพันธุ์ไทยวน เชียงแสน

ภาพแสดงลำดับและทิศทางการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางของประชากรชาวไทยวน ตั้งแต่ยุคตำนาน (โยนก-เงินยาง)
จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ (ราชวงศ์มังรายแห่งเชียงราย-เชียงใหม่ และราชวงศ์งำเมืองแห่งพะเยา)

หมายเหตุ. ภาพจาก ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วยชาติพันธุ์ไทยวน, 2560, นราธิป ทับทัน และ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล. สงวนลิขสิทธิ์ โดย วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์.

ในอดีตเมืองเชียงแสนมีความรุ่งเรืองในด้านการปกครอง สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และหัตถกรรม ฯลฯ มีประวัติในด้านการปกครองมาอย่างยาวนาน มีเมืองหลวงปกครองตนเองที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อาณาจักโยนกเชียงแสน ในตำนานระบุว่า...

พระเจ้าสิงหนวัติ ปฐมกษัตริย์ทรงสร้างเมืองหลวงขนานนามว่า “เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร” หรือ “โยนกนคร” มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลพระมหาไชยชนะ กษัตริย์องค์ที่ 46 เมืองโยนกนาคนครก็ล่มจม เป็นหนองน้ำ เหตุเพราะชาวบ้านได้จับปลาไหลเผือก แล้วนำไปแจกจ่ายกินกันทั่วเมือง จึงเกิดอาเพศวิบัติ เมืองโยนกจึงเป็นอันสิ้นสุดลง และได้แต่งตั้งขุนคลังเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองแทนราชวงศ์ และสร้างเมืองใหม่ขึ้นชื่อ “เวียงปรึกษา” ที่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง (บ้านเชียงแสนน้อย) มีผู้ปกครองสืบต่อกันมาได้ 15 คน จึงได้สิ้นสุดการปกครองเวียงปรึกษา

ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์หิรัญเงินยาง มีลาวจักรราชเป็นปฐมกษัตริย์ ปกครองสืบต่อกันมาอีกถึง 24 พระองค์ องค์สุดท้ายคือราชวงศ์หิรัญเงินยาง ชื่อ ลาวเป็ง พระองค์มีโอรสทรงพลานุภาพ ทรงพระนามว่า พญามังราย ทรงประสูติเมื่อปี พ.ศ. 1839 ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ นามว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ส่วนเมืองเชียงราย ให้ขุนครามโอรสปกครอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองเชียงราย ดังนั้น เชียงแสนจึงลดบทบาทลง

► ในปีพ.ศ. 1871 พญาแสนภู ซึ่งเป็นโอรสของขุนคราม ซึ่งเป็นหลานของพญามังราย ได้มาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณเมืองเก่าริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเคยเป็นเมืองโยนกมาก่อน ได้ทำพิธีฝังหลักเมือง เมื่อวันศุกร์ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง มีกษัตริย์ปกครองที่เป็นลูกหลานปกครองมาจนถึง พ.ศ. 2102 พระเจ้าหงสาวดี บุเรงนอง ยกทัพมาตีเมืองในล้านนา เมืองเชียงแสนได้ตกเป็นของพม่าตั้งแต่นั้นมา พม่ากับกรุงศรีอยุธยาเกิดสู้รบกัน เชียงใหม่ก็รบกับพม่าบ้าง ไทยบ้าง เชียงแสนก็ตกเป็นของพม่าบ้าง อยุธยาบ้าง ล้านช้างบ้าง เชียงใหม่บ้าง ในที่สุดก็โดนปกครองโดยพม่า เชียงแสนกลายเป็นสมรภูมิที่พม่ายึดเป็นเมืองประเทศรบกับไทยเรื่อยมาเป็นระยะเวลา 200 ปี

► ในปี พ.ศ. 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้กรมหลวงเทพบริรักษ์กับพญายมราช ยกกองทัพร่วมกับเมืองหลวงพระบาง พร้อมด้วยกองทัพจากหัวเมือง ได้แก่ น่าน ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ ขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน และเผาเมืองทิ้งเสีย กวาดต้อนผู้คนประมาณ 22,000 ครอบครัว จัดแบ่งเป็น 5 ส่วน ให้ไปตั้งถิ่นฐานในเมืองนั้น ๆ ไทยวนเชียงแสนจึงได้เดินทางออกจากเมืองเชียงแสน ดังนั้น เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองร้าง

แสดงเขตวัฒนธรรมไทยวนในยุคก่อนประวัติศาสตร์
(สมัยแคว้นโยนกและแคว้นพระเยา)

แสดงเขตวัฒนธรรมไทยวนในช่วงสมัยอาณาจักรล้านนาจนถึงช่วงก่อนการฟื้นม่าน

หมายเหตุ. ภาพจาก ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วยชาติพันธุ์ไทยวน, 2560, นราธิป ทับทัน และ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล. สงวนลิขสิทธิ์ โดย วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์.

ครอบครัวที่มากับกองทัพหลวงลงมาจากกรุงเทพฯ ผ่านเมืองสระบุรี ส่วนหนึ่งขอตั้งถิ่นฐานที่ ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบัน คือ อำเภอเสาไห้ ส่วนที่เหลือมาพักที่กรุงเทพฯ และได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองราชบุรี ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันเรียกว่า บ้านไร่นที ตามกองทัพไปเมืองเชียงใหม่บ้าง ที่แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สีคิ้ว ตลอดจนถึงหลวงพระบาง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองเชียงแสน ทัพพม่า ลื้อ เขิน ที่มาจากเชียงตุง ชาวป่า ชาวดอย เข้ามาตั้งรกรากในเมืองเชียงแสนอย่างเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับอำนาจการปกครองของไทย พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทรไชยานน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นำกำลังมา ขับไล่ (กำลังคน 4,500 นาย) เพื่อผลักดันให้คนเหล่านั้นออกไปจากเมืองเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. 2417

ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมาผู้เป็นหลานของเจ้าอินทรไชยานน ซึ่งครองเมืองลำพูนอยู่ และให้เจ้ากาวะละผู้ครองเชียงใหม่ นำราษฎรที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ขึ้นไปตั้งถิ่นฐานประมาณ 1,500 ครอบครัว ในเมืองเชียงแสน และพระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้าอินต๊ะ เป็นพระยาเดชดำรง ตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงแสน

เมื่อปี พ.ศ. 2442 ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปที่ตำบลกาสา (อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) เมืองเชียงแสนยุบเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง

เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2500 เมืองเชียงแสนได้ถูกตั้งให้เป็นอำเภออีกครั้ง จึงเรียกได้ว่า "อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย" นับแต่นั้นมา

ต่อมา กลุ่มคนไทยยวนที่อพยพไปในสมัยสงคราม กับอีกกลุ่มที่อพยพไปก่อนเมื่อเกิดโรคระบาด เช่น ที่สบแล จ.อุตรดิตถ์ ได้รวมตัวกันรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนของบรรพบุรุษ เขาเหล่านั้นยังคงรักษาความเป็นเชียงแสน เช่น ไทยวน ราชบุรี ที่ยังมีวัฒนธรรม ภาษา การกิน ขนบธรรมเนียมต่างๆ การทอผ้าลายเชียงแสน กลุ่มสระบุรี ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ติดตัวไปจากเชียงแสนอยู่เช่นเดิม

ตารางแสดงขอบเขตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนตามหลักฐานหรือกรอบแนวคิด ในยุคสมัยต่างๆ

หมายเหตุ. ภาพจาก ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วยชาติพันธุ์ไทยวน, 2560, นราธิป ทับทัน และ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล. สงวนลิขสิทธิ์ โดย วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์.

ศาสนาและความเชื่อ

ความเชื่อเรื่องการนับถือผี

ในชีวิตประจำวันของชาวไทยวน จะผูกโยงกับความเชื่อเรื่องผีและผิดผี ความเชื่อดังกล่าวได้เป็นแบบแผนในการดำรงชีวิตและกรอบในการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม โดยผีที่เป็นฐานสำคัญในชีวิตของชาวไทยวน คือ “ผีบรรพบุรุษ” ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานและมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ทุกบ้านมีผีประจำตระกูลที่เรียกว่า “ผีปู่ย่า” โดยพี่สาวคนโตของตระกูลนั้นจะต้องเป็นผู้สืบทอดและรับทำพิธีเซ่นไหว้เลี้ยงผี

ความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษ จะพบได้ในบ้านเรือนไทยวน คือ มีการสร้างหิ้งผี “หิ้งผีย่า” และ “หิ้งผีปู่”บนหิ้งมีกระถางธูปและแจกันดอกไม้ โดยหิ้งผีย่านี้จะตั้งอยู่ในห้องเฉพาะในบ้าน และห้ามคนนอกตระกูลเข้ามาในห้องหิ้งผี ถ้ามีคนนอกเข้ามาจะถือว่าเป็นการผิดผี และจะต้องทำพิธีขอขมา สำหรับหิ้งผีปู่ จะสร้างขึ้นเป็นศาลให้อยู่ภายนอกบ้าน คล้ายกับศาลเจ้าที่ ภายในจะมีเพียงกระถางธูป ถาดรอง พวงมาลัยและขวดน้ำ

การเซ่นไหว้บูชาผีประจำตระกูล จะเกิดขึ้นในช่วงโอกาสต่าง ๆ เช่น การจัดงานแต่งงาน เมื่อมีคนในตระกูลทำผิดผี หรือโอกาสการเลี้ยงผีประจำปี ในพิธีการเลี้ยงผีจะมีเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ไก่ หรือหมู ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะหรือสถานภาพของแต่ละบ้าน นอกจากการนับถือต่อผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวไทยวนในหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ยังมีการนับถือผีประจำหมู่บ้านร่วมกัน ที่เรียกว่า “ปู่เสี้ยวบ้าน” การบูชาเซ่นไหว้ต่อผีประจำหมู่บ้านนี้จะเกิดขึ้นในโอกาสการจัดงานประจำปีในหมู่บ้าน เช่น งานวัด หรืองานบวช เป็นต้น

โดยหลัก ๆ ผีที่อยู่ในความเชื่อของชาวล้านนา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

ผีดี ที่คอยให้ความคุ้มครองคน

1. ผีดี เป็นกลุ่มผีที่ต้องทำพิธีเซ่นไหว้ ความเชื่อเกี่ยวกับผีดีของชาวไทยวนล้านนามีมากหลายระดับตามเมือง ชุมชน โดยสามารถแยกออกมาได้ดังนี้

1.1 ผีแถน เป็นผีที่มีความสำคัญในสังคมล้านนา เนื่องจากเป็นผีที่มีฐานะสูงสุดเป็นเทพเจ้าที่ไม่มีรูปร่างตัวตน โดยเชื่อว่าเป็นผู้สร้างโลก และกุมชะตามนุษย์ ชาวล้านนาเชื่อว่าเวลามนุษย์เดือดร้อนผีแถนจะลงมาช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้นจากความเดือดร้อน ด้วยเหตุนี้ในสังคมไทยวนจึงมักทำพิธีเซ่นไหว้ผีแถน เพื่อพึ่งพิงในด้านการรักษาโรค

1.2 ผีปู่ย่า หรือผีบรรพบุรุษของครอบครัว เป็นบุคคลที่เคยกระทำความดีสร้างคุณประโยชน์ให้กับลูกหลาน จนได้รับความเคารพนับถือ ยกย่องให้เป็นผู้ที่คุ้มครองครอบครัว ลูกหลานในตระกูล ส่วนใหญ่จะเป็นผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง โดยทั่วไปผีปู่ย่าจะเรียกอีกชื่อว่า “ผีเรือน” ในความเชื่อชาวไทยวนจะมีการกราบไหว้ประจำทุกปีหรือทุกสามปี สำหรับผีปู่ย่า ยังสามารถจำแนกออกสองประเภท คือ ผีมด ผีเม็ง

(ผีมด คือ บรรพบุรุษของสามัญชนหรือไพร่ของขางชาวไทยวนหรือล้านนาโดยทั่วไป)

(ผีเม็ง คือ เป็นนักรบ นักปกครองที่สร้างคุณงามความดีให้แก่บ้านเมือง โดยเชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายมาจากชาวมอญหรือไตจากรัฐฉาน)

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องผีมด ผีเม็งนี้ ชาวไทยวนรับและสืบทอดจากวัฒนธรรมชาวมอญ สังเกตได้จากเครื่องพิธีหลายอย่างที่ทำตามแบบชาวมอญ เช่น เครื่องดนตรีที่เป็นฆ้อง กลองสองหน้า เครื่องทรงและการแต่งกาย รวมทั้งรูปแบบการฟ้อนรำ

1.3 ผีอารักษ์ ผีเจ้านาย ผีเสื้อบ้าน เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง มีคุณงามความดีสร้างประโยชน์ต่อบ้านเมือง อาจเป็นวีรบุรุษหรือผู้นำ เมื่อตายไปแล้วจะได้รับการบูชาในฐานะผู้ปกป้องชุมชน โดยจะมีพิธีเซ่นไหว้คล้ายๆ กับพิธีไหว้ผีปูย่า ทั้งนี้ ผีขุนน้ำ ผีดง ผีฝาย ก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้เช่นกัน

1.4 เสื้อเมือง เป็นผีอารักษ์ที่ช่วยปกป้องบ้านเมือง โดยในอดีตเคยเป็นเจ้านายหรือกษัตริย์ การทำพิธีจะต้องให้เจ้าเมืองเป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวง ปัจจุบันในเมืองเชียงใหม่ยังมีพิธีเลี้ยงผีเสื้อเมืองทุกปี เช่น พิธีบูชาเสาอินทขีล วัดเจดีย์หลวง หรือพิธีเลี้ยงดงหรือพิธีไหว้ปู่แสะย่าแสะ


ผีร้าย ที่มักจะทำร้ายอันตรายให้แก่คน

2. ผีร้าย คือ ผีให้โทษในแบบต่าง ๆ โดยจำแนกออกเป็นสองลักษณะ คือ

2.1 ผีร้ายที่ตายผิดธรรมชาติ คือ เป็นผีที่ตายไม่ดี เช่น เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นโรคร้ายที่รักษาไม่หายหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พิธีศพของผู้เสียชีวิตเหล่านี้จะกระทำอย่างเร่งด่วน โดยทั่วไปจะเชื่อว่าวิญญาณของคนเหล่านี้จะกลายเป็นผีร้ายกลับมาทำร้ายคนในชุมชนได้ เช่น การกลับมาสิงร่าง หรือที่เรียกว่า ผีเข้า ทำให้ต้องมีพิธีไล่ผี หมอบ้านจะใช้คาถาอาคมหรือวิชาไสยศาสตร์ในการแก้ไข

2.2 ผีดีที่ลูกหลานปรนนิบัติดูแลไม่ดี ผีเหล่านี้เดิมเป็นผีดี แต่ต่อมากลายเป็นผีร้าย อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีการเซ่นไหว้เลี้ยงดู ทำให้หิวโหยจึงต้องออกหาอาหารกินเองเป็นผลให้ชุมชนรอบข้างเดือดร้อน จะเรียกผีเหล่านี้ว่า ผีกะ หรือ ผีปอบ บ้างก็เรียกว่าผีกระสือ ผีเหล่านี้จะเข้าสิงร่างคนที่อ่อนแอ ซึ่งจะทำให้บุคคลเหล่านั้นมีพฤติกรรม พูดจาที่ผิดปกติจากเดิม เช่น ชอบกินของสด ของคาว เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะมีการรักษาโดยพระสงฆ์เพื่อทำลายวิญญาณ หรือไล่วิญญาณผีร้ายเข้าป่า ปัจจุบันถึงแม้ความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้าครอบครองและกำหนดวิถีชีวิตของชาวไทยวนมากขึ้น แต่ความเชื่อในเรื่องผีและวิถีปฏิบัติตามจารีตของบรรพบุรุษ ยังคงมีให้เห็นผ่านประเพณีต่าง ๆ ที่มาจากความเชื่อเรื่องผี แต่ปัจจุบันได้มีการผสมผสานระหว่างพิธีกรรมเกี่ยวกับผีกับพิธีกรรมของพุทธศาสนา เช่น มีการนิมนต์พระมาสวดมนต์ร่วมในงานพิธี

ความศรัทธาในศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธได้เจริญงอกงามอีกครั้งภายหลังจากการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระยามังราย ได้เริ่มทำนุบำรุงปูชนียสถานหลายแห่ง เช่น พระธาตุหริภุญชัย สร้างเจดีย์กู่คำ สร้างวัดอุโมงค์ สร้างวัดอาราม เช่น วัดเชียงมั่น วัดพระเจ้าเม็งราย ทั้งนี้ศาสนาได้ขยายตัวมากขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา ที่เปิดให้พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยและนำภาษาอักขรตัวฝักขามมาใช้ในล้านนา เพื่อปฏิรูปพุทธศาสนาในล้านนา สมัยพระเจ้ากือนา ราชสำนักได้สร้างวัดสวนดอก จึงเกิดเป็นนิกายใหม่ คือ “นิกายสวนดอก” นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้พระเณรศึกษาแตกฉานในบาลี โดยการส่งไปเรียนศรีลังกา ทำให้เมืองเชียงใหม่ในช่วงดังกล่าวมี 2 นิกาย คือ นิกายหริภุญไชย (พุทธศาสนาหินยาน) เรียกว่าพระเชื้อเก่า และนิกายสวนดอก (พุทธศาสนาเถรวาท) แต่เมื่อล้านนาตกอยู่ภายใต้ปกครองของพม่า ทำให้พุทธศาสนาในล้านนาเริ่มเสื่อมถอยลง จนกระทั่งพระเจ้ากาวิละสามารถขับไล่พม่าและปกครองเมืองเชียงใหม่ จึงมีการกลับฟื้นฟูทำนุบำรุงศาสนาพุทธอีกครั้ง เช่น การซ่อมแซมวัดพระสิงห์ และปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุลำปางหลวง ศาสนาพุทธในล้านนาจึงค่อยเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งจนถึงทุกวันนี้

ที่อยู่อาศัย

หมายเหตุ. ภาพจาก รู้จักเอกลักษณ์เรือนไทย 4 ภาค เหนือ/กลาง/อีสาน/ใต้, เอกรินทร์ พันธุนิล, 2565, บ้านและสวน. สงวนลิขสิทธิ์ โดย บ้านและสวน.

ในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวไทยวนนิยมสร้างเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง มีทั้งหลังคาแบบจั่วเดียวและหลังคาจั่วแฝด ซึ่งรูปแบบเรือนที่นิยมทำกันมากคือเรือนจั่วแฝดแบบ “เรือนกาแล” ที่มียอดจั่วเป็นไม้ไขว้กัน ตกแต่งด้วยการฉลุลวดลายอย่างสวยงาม

จากความเชื่อดั้งเดิมของชาวไตยวนเป็นความเชื่อลัทธิบูชาผีบรรพบุรุษก่อนได้รับความเชื่อลัทธิพราหมณ์ (ก่อนสมัยโยนก) และพุทธศาสนาในภายหลัง วัฒนธรรมล้านนาของชาวไตยวนภายหลังจึงสะท้อนการผสมผสานความเชื่อทั้งสามโดยมีความเชื่อเรื่องผีที่ฝังรากลึกที่สุด

ในชุมชนที่อยู่อาศัยและเรือนประเพณีชาวไตยวนจึงสะท้อนความเชื่อเหล่านี้อย่างชัดเจน หมู่บ้านและเมืองมีพื้นที่ศักดิ์สิทธ์ที่สำคัญที่สุดเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นใจบ้านใจเมือง อิทธิพลของลัทธิพราหมณ์ทำให้การสร้างเมืองปรับใจเมืองเป็นสะดือเมือง หลายเมืองยังคงใจเมืองไว้ต่างหากอีกแห่งที่รู้จักกันว่า “เสื้อเมือง” เช่นเดียวกันในหมู่บ้านจะรู้จักกันดีในชื่อ “เสื้อบ้าน” หรือ “เจ้าบ้าน”

ภายหลังที่ศาสนาพุทธได้เจริญขึ้นในล้านนา จึงได้มีการสร้างวัดขึ้นในชุมชนเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่มขึ้น บางเมืองมีการสร้างวัดคร่อมพื้นที่สะดือเมืองหรือใจเมืองเดิม เช่นที่เมืองเชียงใหม่ชาวไตยวนบูชาผีขุนเขา ผีขุนน้ำ ผีป่า ผีเหมืองฝาย แม่น้ำ รุกขเทวดา รวมทั้งพระอินทร์ พระแม่ธรณี และเทวดาในทิศทั้งสี่ มีการบวงสรวงผีเจ้าที่และท้าวทั้งสี่ก่อนมีพิธีมงคล เช่น ขึ้นเรือนใหม่นิยมบูชาผีบรรพบุรุษในหอผีปู่ย่าในเขตรั้วบ้าน หรือ หิ้งผีบรรพบุรุษบนเสามงคลในห้องนอนเจ้าของเรือน ผีเรือนได้รับการบูชาในความหมายเดียวกับผีบรรพบุรุษ ชาวไตยวนมีความเชื่อรับรู้ของการมีผีเรือนที่สิงสถิตในเรือน

ตำแหน่งสำคัญในเรือนที่นิยมกำหนดที่บูชา ได้แก่ เสามงคล แม่เตาไฟ เหนือประตูห้องนอนหลัก (มีหำยนต์* สำหรับเรือนกาแล) หัวบันได ตำแหน่งที่บูชาผีเรือนมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมชาวลัวะมาก

ภายหลังประมาณแปดสิบปีเป็นต้นมา ชาวไตยวนจึงได้สร้างหิ้งพระเหนือหัวบนผนังด้านทิศตะวันออกของเติ๋น (ชานร่มหน้าห้องนอนทางหน้าเรือน) ไว้กราบไหว้รูปวาด รูปถ่าย หรือรูปปั้นสัญลักษณ์พระพุทธเจ้าหรือพระสุปฏิปันโน และมักนิยมบูชารูปตัวเปิ้ง (นักษัตรปีเกิด) และพระธาตุประจำปีเกิด นี่เป็นสิ่งสะท้อนความเชื่อในตำแหน่งหลักของที่อยู่แบบประเพณีชาวไตยวน

คำอธิบายเพิ่มเติม : “หำยนต์” หรือ “หัมยนต์” เป็นแผ่นไม้แกะสลักที่มีขนาดเท่ากับความกว้างของประตู วางอยู่เหนือกรอบประตูห้องนอนของเรือนล้านนา

การแต่งกาย

การแต่งกายของบุรุษไทยวนในอดีตนิยม กางเกงชาวเลหรือกางเกงแบบชาวไทใหญ่ ที่เรียกว่า " เตี่ยวสะดอ" แจ็คเก็ตสไตล์แบบจีนสีขาวและบางครั้ง มักจะมีผ้าโพกหัว นอกจากนั้นบุรุษไทยวนมักนิยมสักขาถึงเอวเรียกว่า สับหมึก และใส่ผ้าต้อย มีการนุ่งแบบสั้นกับแบบยาวเรียกว่า โจงกระเบน แบบสั้นเรียกว่า เค็ดหม้าม หรือ เก๊นหม้าม นิยมนุ่งตามกาลเทศะ ส่วนในโอกาสทางการผู้คนอาจเลือกสวมใส่ชุดประจำชาติไทยหรือชุดไทยพระราชนิยม

หมายเหตุ. ภาพจาก ไทยวน, ฐาปนีย์ เครือระยา, 2563, สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สงวนลิขสิทธิ์ โดย สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

การแต่งกายของสตรีไทยวนในอดีตนิยม นุ่งผ้าซิ่นตะเข็บเดียวลายขวางลำตัว ซึ่งประกอบด้วย หัวซิ่น และตีนซิ่น นิยมใช้ผ้าสีอ่อน คล้องคอ ใช้ผ้าแถบคาดอก ปล่อยชายข้าวหนึ่งลงมา หรือห่มเฉวียงไหล่ ต่อมานิยมสวมเสื้อแขนกระบอก เสื้อแขนกุด เสื้อคอกระเช้า เสื้อแบบกี่เพ้าประยุกต์ เสื้อไทใหญ่ ห่มสไบเฉียง ไว้ผมยาวเกล้ามวย ปักปิ่นและประดับด้วยดอกไม้หอม

ศิลปวัฒนธรรม

ภาษาศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน :

ในทางภาษาศาสตร์ ชาวยวนพูดภาษาตระกูลไท-กะได กลุ่มภาษาเชียงแสน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับภาษาไทยและภาษาไทลื้อ นอกจากนี้ภาษายวนยังมีความคล้าย และใกล้เคียงกับภาษาลาว (กลุ่มภาษาลาว-ผู้ไท) อยู่มาก ในอดีตชาวไทยภาคกลาง และชาวตะวันตกจึงมักเข้าใจว่าชาวยวนเป็นลาว อีกทั้งภาษายวนยังคล้ายกับภาษาไท เขิน (กลุ่มภาษาไทพายัพ) ต่างเพียงแค่สำเนียงและการลงท้ายคำ และตัวอักษรไทยวน ยังส่งอิทธิพลโดยตรงต่อตัวอักษรไทเขินผ่านความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนามาแต่โบราณ

ดนตรีและศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน :

วิถีชีวิตของชาวไทยวนในล้านนา มีความเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อและประเพณีมากมาย ในพิธีเหล่านี้จะพบว่า ศิลปะการแสดง ดนตรีจะมีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะในพิธีกรรมเกี่ยวกับแนวผีหรือพิธีเลี้ยงผี ที่เรียกว่า การฟ้อนผี (การฟ้อนรำ) การฟ้อนจึงเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนาเกือบทุกชาติพันธุ์ ทั้งไทยวน ไทยอง ไทเขิน ลักษณะของการฟ้อน แบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบดั้งเดิมและแบบที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของลีลาท่ารำที่อ่อนช้อยรวมทั้งการแต่งกายตามชุดวัฒนธรรมร่วมกับการบรรเลง ขับร้องด้วยวงเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนา เช่น วงซอ ซึง วงกลองแอว วงปูเจ่ กิจกรรมการละเล่นเหล่านี้จะนิยมเล่นในงานประเพณีหรือต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

ชาวไทยวนมีภาษาพูดใกล้เคียงกับไทลื้อและไทเขิน มีการร้องเพลง เรียกว่า “จ๊อย” เป็นการพูดที่เป็นทำนอง สื่อสารเพื่อความบันเทิงแก่ผู้ฟัง เป็นค่าวกลอนของภาคเหนือ ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ ไม่มีเวที สะดวกตรงไหนยืนร้องตรงนั้น เนื้อหาในการจ๊อยเกี่ยวกับนิทานชาดก คำสอน ประวัติ หรือการเกี้ยวพาราสี อาจจะเป็นจ๊อยคนเดียว หรือจ๊อยโต้ตอบกันก็ได้ ปัจจุบันนิยมแสดงในที่ชุมนุมชน เช่น งานบวชนาค งานทอดกฐิน งานวัด งานบุญ หรือการลงแขกเกี่ยวข้าว

ด้านเทศกาลประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น พิธีสงเคราะห์ ทำบุญสืบชะตาหมู่บ้านเนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมือง เป็นการเลี้ยงผีหมู่บ้านและทำบุญหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความเชื่อว่าถ้าทำแล้วจะขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน และผู้คนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขตลอดปี งานสลากภัตต์ (ตานก๋วยสลาก) ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นการทำบุญอุทิศหาคนตาย นับว่าเป็นการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของล้านนา และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในชุมชนและคณะศรัทธาทั่วไป

หมายเหตุ. ภาพจาก เที่ยวชุมชนบ้านเมืองรวง ยลวิถีไทยวน–อาข่า จ.เชียงราย, 2562, สยามรัฐออนไลน์. สงวนลิขสิทธิ์ โดย สยามรัฐออนไลน์.

สารสนเทศที่เกี่ยวข้อง

รายการอ้างอิง

นราธิป ทับทัน และ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล. (2560). ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วยชาติพันธุ์ไทยวน. วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์,34(2). 245-272.

ฐาปนีย์ เครือระยา. (2563, 15 เมษายน). ไทยวน. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/1254

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม. (2562, 12 มิถุนายน). "ยวน" มาจากไหน ? ใครคือ "ไทยวน". มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/column/article_200528

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม. (2561, 13 ตุลาคม). ความเชื่อในเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวไทยวน”. มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/column/article_139017

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2565, 27 กรกฎาคม). ไท ยวน เชียงแสน. http://m-culture.in.th/album/197140/ไท_ยวน_เชียงแสน

สยามรัฐออนไลน์. (2565, 7 ตุลาคม). เที่ยวชุมชนบ้านเมืองรวง ยลวิถีไทยวน–อาข่า จ.เชียงราย. สยามรัฐออนไลน์. https://siamrath.co.th/n/388873

เผ่าทอง ทองเจือ. (2561). ผ่อผ้างามเซาะของกิ๋น. สยาม เอ็ม แอนด์ บี พับลิชชิ่ง.