วัดศรีเกิด

ที่อยู่วัด : 109 หมู่ 3 บ้านศรีเกิด เมืองเชียงราย

นิกาย : มหานิกาย

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : พุทธศักราช 2513

ประวัติวัด

อุโบสถวัดศรีเกิด หลังใหม่

วัดศรีเกิด ตั้งอยู่บนถนนศรีเกิด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดเชียงราย สร้างเมื่อ พ.ศ. 1983 เป็นมงคลนามแห่งเมืองทางด้านสิริมงคล อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ และกุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปประธาน และเจดีย์ศิลปะล้านนา ในบริเวณวัดนี้มีตันสลี (ต้นโพธิ์) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก คำว่า "สลี" อ่านว่า "สะ-หลี" ตัดคำมาจากคำว่า "ศรีมหาโพธิ์" เอาเฉพาะคำว่า "ศรี" มาเพียงคำเดียว แต่ภาษาล้านนาไม่คุ้นชินกับพยัญชนะ "ร" เพราะหน่วยเสียงนี้ ไม่มีในภาษาล้านนาดั้งเดิม จะมีก็เพียงหน่วยเสียง "ล" จึงออกเสียงว่า "สะ-หลี" มีความหมายว่า ความเป็นสิริมงคล ความรุ่งเรือง ความสว่าง สุกใส ความเจริญ ความงาม ด้วยเหตุที่วัดนี้มีต้นสลีขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อ "วัดศรีเกิด"

อุโบสถ

อุโบสถวัดศรีเกิด หลังเก่า

ลักษณะรูปร่างขอตัวเหงา หรือ หางวัน

ในวัดศรีเกิดแต่เดิมมีอาคารที่เป็นศิลปะล้านนาแบบดั้งเดิม คือ พระอุโบสถหลังเก่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2413 กาลเวลาผ่านไปทำให้อุโบสถหลังเดิมชำรุดทรุดโทรม จึงได้ทำการรื้อถอน และสร้างอุโบสถหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นแบบล้านนาสกุลช่างครูบาศรีวิชัย หลังคาลด 3 ชั้น ทั้งหน้าและหลัง มีการตกแต่งหน้าจั่วด้วยไม้แกะสลักขนาดใหญ่และโก่งคิ้วแบบล้านนายุคครูบาศรีวิชัย ลวดลายแกะสลักลงรักปิดทอง อยู่บนพื้นหลังรองด้วยกระจกจีน (แผ่นดีบุก) เสาและผนังก่ออิฐถือปูน การประดับพญานาคขดตัวที่ราวบันไดหน้าพระอุโบสถ จึงดูพิเศษและแปลกตาไปกว่าวัดอื่นๆ

งานสถาปัตยกรรมประเภทวิหารและอุโบสถมีปรากฏมาแล้วตั้งแต่ล้านนาระยะแรก
ส่วนใหญ่เป็นอาคารเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ซึ่งช่างล้านนาในอดีตมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเข้าไม้ด้วยสลักร่องเดือยเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากอาคารไม้มีอายุการใช้งานจำกัด ต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิมที่หมดสภาพ ส่วนที่เหลืออยู่จึงเป็นงานในยุคหลังที่มีอายุไม่เก่าไปกว่า 100-150 ปี

ลักษณะโดยรวมของวิหารและอุโบสถในล้านนาเป็นอาคารทรงเตี้ย ทรงคล้ายแม่ไก่กกไข่ มีหลังคาชั้นช้อน 2 หรือ 3 ชั้น มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังด้านข้างของวิหารมีช่องหน้าต่างน้อย และมีขนาดเล็ก ผนังด้านหน้ามักมีเพียงประตูเดียวสอดคล้องกับภูมิอากาศที่หนาวเย็นของภาคเหนือ คงมีแนวคิดด้านการใช้งาน หรือให้มีบรรยากาศทางศาสนา

หลังคาของอาคารมีที่เป็นชั้นซ้อน 2 หรือ 3 ชั้น สอดคล้องกับตัวอาคารที่ยกเก็จออกไปทางด้านหน้า การลดชั้นหลังคาออกมาด้านหน้านิยมมากกว่าที่ลดชั้นหลังคาไปด้านหลัง จั่วปิดด้วยแผงลูกฟักทางด้านสกัดหลัง นับเป็นงานประดับที่แสดงโครงสร้างของหลังคาด้วย สำหรับจั่วด้านสกัดหน้ามักปิดด้วยแผงหน้าบันประดับปูนปั้น หรือสลักไม้ ป้านลมไม่นิยมนาคสะดุ้งอย่างภาคกลาง ป้านลมล้านนาจะโค้งอ่อนเน้นระนาบเอนของตับหลังคา ปลายป้านลมมีทั้งที่งอนเป็นหัวพญานาค และงอนเป็นตัวเหงา (หางวัน) งานประดับป้านลมนิยมใช้ขึ้นกระจกสีเคลือบตะกั่วอ่อนไว้ด้านหลัง

ความงามของอาคารอยู่ที่ความเรียบง่ายได้สัดส่วน และการประดับตกแต่งด้วยเครื่องไม้สลักลงรักปิดทอง ได้แก่ โก่งคิ้ว หรือรวงผึ้ง ที่เป็นแผงประดับด้านหน้าระหว่างเสา มีค้ำยัน หรือหูช้างรูปสามเหลี่ยมฉลุเป็นลวดลายรูปต่างๆ มีอยู่มากมายหลายแบบ เช่น รูปพญานาค มังกร ประกอบด้วยลายดอกไม้ใบไม้ฉลุโปร่ง ลวดลายประกอบเหล่านี้มีส่วนสืบทอดมาจากศิลปะจีน สำหรับรูปพญานาค เรียกว่า "นาคคะตัน" ลดมาจากคำว่า "นาคทัณฑ์"

พระพุทธรูปประธาน และพระพุทธศรีมิ่งมงคล

พระพุทธรูปประธาน และพระพุทธศรีมิ่งมงคล

ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ซึ่งได้กะเทาะปูนเก่าออกและฉาบปูนใหม่เป็นแบบล้านนา สกุลช่างพื้นเมือง มีพระพักตร์อวบอูมคล้ายกับพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสน ด้านหน้าพระพุทธรูปประธาน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดขนาดเล็ก หรือ "พระพุทธศรีมิ่งมงคล" เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ศิลปะเชียงแสนสิงห์สอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสนที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ได้แก่ การทำขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว เป็นต้น อย่างไรก็ตามช่างล้านนาได้พัฒนารูปแบบจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะ คือ การทำพระเนตรเปิดกว้าง มองตรง พระโอษฐ์เกือบเป็นเส้นตรง ต่างจากสุโขทัยที่หยักเป็นคลื่น ในวันปี๋ใหม่เมือง (วันสงกรานต์) ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธศรีมิ่งมงคลมาประดิษฐานไว้ใต้ต้นสาละให้ชาวบ้านชาวเมืองได้สรงน้ำสักการบูชา

ธรรมาสน์ล้านนาโบราณ วัตถุสำคัญภายในอุโบสถ

ธรรมาสน์ล้านนาโบราณ

วัตถุสำคัญภายในอุโบสถได้แก่ ธรรมาสน์ล้านนาโบราณ ซึ่งวัดส่วนใหญ่ได้รื้อถอนออกไปเสียเกือบหาดูไม่ได้แล้ว แต่ที่วัดศรีเกิดนั้นยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

ธรรมาสน์ คือ อาสนะที่จัดไว้ให้พระภิกษุนั่งแสดงธรรม มักจะยกระดับขึ้นสูงกว่าระดับสายตาของผู้นั่งฟัง ลักษณะของธรรมาสน์จะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทรงปราสาทมากกว่าทรงอื่น วัสดุที่ใช้ทำส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ ประดับประดาด้วยลวดลายและเทคนิคการประดับต่างๆ กัน ธรรมาสน์วัดศรีเกิดตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง

การสร้างธรรมาสน์นอกจากมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้เป็นที่แสดงธรรมของพระสงฆ์แล้ว ในความเชื่อของชาวล้านนายังเชื่อว่า การสร้างธรรมาสน์ถวายยังเป็นการทำบุญให้สำหรับตนเองในภายภาคหน้า เป็นการถวายทานให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการค้ำจุนพุทธศาสนา และเป็นการสร้างตามปีเกิด โดยเชื่อว่า คนที่เกิดปีขาลให้สร้างธรรมาสน์จะได้กุศลมาก

หีบธรรมล้านนาโบราณ วัตถุสำคัญภายในอุโบสถ

หีบธรรมล้านนาโบราณ

วัตถุสำคัญภายในอุโบสถอีกชิ้นหนึ่ง ได้แก่ หีบธรรมล้านนาโบราณ ซึ่งวัดศรีเกิดยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับธรรมาสน์ล้านนาโบราณ

หีบธรรม หมายถึงตู้ หรือหีบ (กล่อง) ที่ทำจากไม้เพื่อใช้บรรจุสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยโบราณตามบ้านเรือน ต่อมาอาศัยตามคติความเชื่อและประเพณีของคนไทยแต่โบราณ ที่นิยมสร้างและถวายสิ่งของไว้เพื่อเป็นพุทธบูชาบ้าง เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาบ้าง เพื่อให้เกิดอานิสงส์ส่งให้ตนเองได้ไปเกิดบนสวรรค์ ได้พบพระศรีอารย์ ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เพื่อให้ได้บรรลุถึงความเป็นผู้เสวยสุข สำเร็จสมปรารถณาถึงพระนิพพานเป็นที่สุด หรือเพื่อเป็นการอุทิศผลบุญกุศลผลทานนั้นๆ ให้แก่ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ บุพการี และผู้ล่วงลับไปแล้ว สิ่งของที่สร้างให้แก่ผู้อื่นหรือถวายแก่พระพุทธศาสนา ย่อมนิยมทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และคนสมัยนั้นยังนิยมนำสิ่งของชั้นสำคัญ หรือชิ้นที่ดีที่สุด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของเคยใช้อยู่ เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ทายาทไม่ประสงค์จะเก็บไว้เอง จึงได้นำไปถวายวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าของผู้ล่วงลับไปแล้ว สิ่งของดังกล่าวนั้นรวมถึงหีบและตู้ด้วย โดยพระสงฆ์ใช้เป็นที่เก็บพระธรรมคัมภีร์

เจดีย์วัดศรีเกิด

ภายในวัดมีเจดีย์ประดิษฐานอยู่ด้านหลังอุโบสถ องค์ในเป็นเจดีย์องค์เก่าทรงระฆังแบบล้านนาย่อไม้มุมสิบสอง ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ปัจจุบันได้สร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบไว้ ฉัตรยอดเจดีย์เป็นแบบพื้นเมืองประยุกต์ 5 ชั้น มีฐานมาลัยรองรับองค์ระฆังทรงน้ำเต้า และซุ้มพระพุทธรูปประทับยืนทั้ง 4 ทิศ

เจดีย์วัดศรีเกิด องค์เก่า

เจดีย์วัดศรีเกิด องค์ใหม่

กุฏิสงฆ์วัดศรีเกิด

อาคารที่มีความสวยงามอีกแห่งในวัด คือ กุฏิสงฆ์ ซึ่งเป็นกุฏิเก่าที่ได้รับการบูรณะ และยังใช้งานจนถึงปัจจุบัน รูปแบบเป็นอาคารแบบตะวันตกผสมผสานกับการตกแต่งแบบล้านนา กล่าวคือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น การออกแบบผังอาคารเป็นแบบสมมาตร โดยด้านหน้าอาคารออกแบบให้มีมุขยื่นออกมาเพื่อเป็นจุดเด่นและเป็นทางเข้าหลักของอาคาร มีบันไดทางขึ้นสองข้าง ประดับลวดลายไม้ฉลุตามชายคา และบันไดอาคารแบบเรือนขนมปังขิง ซึ่งลักษณะอาคารแบบนี้เป็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่นิยมสร้างกันอย่างแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 5-6 ส่วนการตกแต่งแบบล้านนา คือ การประดับอาคารด้วยหน้าบันไม้แกะสลักและโก่งคิ้วแบบล้านนา ซึ่งนำมาจากอุโบสถหลังเก่าที่รื้อไปแล้ว

กุฏิสงฆ์วัดศรีเกิด

กุฏิสงฆ์วัดศรีเกิด

รายการอ้างอิง

เทศบาลนครเชียงราย. (2558). วัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย. เชียงราย: เทศบาลนครเชียงราย.

เทศบาลนครเชียงราย. (2559). วัดในเขตเทศบาลนครเชียงราย. เชียงราย: เทศบาลนครเชียงราย.