ตุงใย

ตุงใย บ้านสันหลวงใต้ ต.จอมสวรรค์ อ.แม่จัน จ.เชียงราย

ตุงใยนี้ชาวล้านนาทำขึ้นเพื่อไปถวายวัด เนื่องจากมีความสวยงามจึงทำให้ชาวล้านนานำตุงใยมาประดับตกแต่งสถานที่ ลักษณะการทำตุงใย มี 2 ลักษณะ คือ ขั้นตอนแรก คือการทำตุงใย โดยการทอลักษณะคล้ายการทอแบบตุงชัยผ้าทอไทลื้อ โดยจะเว้นช่องการทอให้แต่เส้นยืนสลับกับการทอโดยคั่นด้วยตอกไม้ไผ่เพื่อความแข็งแรง โดยจะพบได้ที่บ้านสันหลวงใต้ ตำบลจอมสวรรค์ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีลักษณะสีสันเป็นแบบตุงใยสีเดียว เช่น สีแดง สีขาว เป็นต้น และตุงใยสีธงชาติซึ่งจะสลับสีเส้นยืนตามสีของธงชาติ คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงินเรียงกัน

เมื่อถึงเทศกาลงานสงกรานต์ (ปีใหม่ของชาวล้านนา) หรืองานเทศกาลต่าง ๆ เราจะพบตุงชัย ที่ชาวล้านนาใช้ประดับสถานที่ต่างๆ ที่จัดงานแต่เราจะเห็นตุงอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ประดับอาคารหรือสถานที่อยู่ร่วมกับตุงชัย ซึ่งเราเรียกว่า “ตุงใย” โดยที่ตุงใยที่ชาวล้านนาประดิษฐ์ขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ บางพื้นที่อาจเรียก ตุงใย ว่าเป็นตุงชัยด้วย แต่จากลักษณะเด่นของตุงใยที่แตกต่างจากตุงชัย คือ ตุงชัยจะมีลวดลาย ถ้าเป็นการทอจะมีลวดลายเป็นรูปภาพต่างๆ แต่ตุงใยจะเป็นตุงที่ไม่มีลวดลายหรือรูปภาพ เพราะตุงใย คือ ตุงที่ทำด้วยฝ้ายไหมด้าย โดยนำมาทอหรือถัก ทำให้เห็นเป็นเส้นใย

ตุงใย จาก อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นอกจากนี้ยังอาจจะพบตุงใยลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นตุงใยจาก อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยวิธีการทำดีมากแต่จะมีลักษณะเด่นคือ จะทำตุง 5 ช่อง และช่องที่ 2 กับช่องที่ 4 ผู้ทำจะเอาด้ายมัดรวบ ด้ายเส้นยืน ส่วนหัวตุงใยจะทำด้วยไม้อัดตัดทำเป็นกาแล ซึ่งตุงใยจากอำเภอจอมทองนี้เราจะพบเห็นตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น วัดเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ตุงใย บ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

การทำตุงใย โดยการถักหรือมัดคล้ายกับการชักใยของแมงมุม โดยการเหลาไม้ไผ่นำมามัดให้เป็น รูปกากบาทใช้ทำเป็นโครงแล้วนำด้ายหรือไหมมัดตามตัวโครงและวนตามเข็มนาฬิกา หรือทวนเข็มนาฬิกาแล้วแต่ถนัดมัดด้ายวน จนสุดไม้กากบาทเสร็จเป็น 1 ช่อง ลักษณะจะเป็นสี่เหลี่ยม สีของตุงขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ทำอาจจะทำสีเดียว 1 ช่อง หรือหลายสี โดยการเปลี่ยนด้ายสีและก็พักวนตามเดิม แล้วนำแต่ละช่องมาต่อกันโดยใช้เชือกมัดทำตุ้งติ้งข้างตุงเพื่อความสวยงามของตุงใย ลักษณะนี้พบได้ที่หมู่บ้านชาวไทลื้อบ้านหาดบ้าย ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่ทำตุงใย 12 ช่อง กว้าง 9 นิ้ว ยาวประมาณ 2.5 เมตร

ตุงใย บ้านห้วยน้ำขุน อ.แม่จัน จ.เชียงราย

ยังมีหมู่บ้านชาวไทใหญ่ที่ทำตุงใยลักษณะอย่างเดียวกันอยู่ที่บ้านห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และช่างทำตุงชาวไทใหญ่ที่บ้านป่ายางใหม่ ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีวิธีการทำอย่างเดียวกัน แต่โครงไม้ไผ่จะใช้ไม้ไผ่ 3 อัน โดย 1 อัน ทำเป็นแกนและนำไม้ไผ่อีก 2 อัน มัดด้านบนห่างจากปลายไม้ไผ่ ประมาณ 2 นิ้ว และด้านล่างห่างจากปลายไม้ไผ่ประมาณ 2 นิ้ว มัดด้ายวนตามวิธีการเดิมจนเต็มมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม แล้วนำมาต่อกัน 9 ช่อง ติดตุ้งติ้งข้างตุง ส่วนด้านข้างติดอุบะที่ทำด้วยพู่ และช่อดอกไม้



ตุงใย จาก อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
รูปอุบะ ใช้ติดตรงปลายตุง เพื่อความสวยงาม

และยังมีอีกลักษณะหนึ่งโดยทำโครงตุงใยแบ่งเป็น 9 ช่อง โดยแต่ละช่องจะแบ่งย่อยออกเป็น 4 ช่อง แบ่งด้วยการขึงเชือกแล้วนำไหมพรมมาผูกคล้ายใยแมงมุม ภายในช่องแต่ละช่องจนเต็มทุกช่องแล้วนำตุ้งติ้งมัดติดข้างตุง ส่วนด้านล่างติดอุบะที่ทำด้วยพู่และช่อดอกไม้เพื่อความสวยงาม