ตุงกระด้าง

ตุงกระด้าง ถ้ากล่าวถึงตุง ทุกคนอาจเข้าใจว่าเป็นธงของชาวล้านนาทางภาคเหนือที่ทำจากผ้า กระดาษสาหรือวัสดุต่างๆ ที่เมื่อนำมาทำตุงแล้วเมื่อถูกลมจะต้องพัดปลิวสะบัด แต่ยังมีตุงอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ตุงกระด้าง” คำว่า “กระด้าง” แปลว่า แข็ง เป็นตุงที่มีลักษณะแข็งและคงทนถาวร ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ทำตุงส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น และความชำนาญในการทำตุง ของท้องถิ่นนั้นๆ บางแห่งทำตุงกระด้างด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้แดง เป็นต้น โดยการแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกไม้ ลายนาค ลายนักษัตร 12 ราศี เป็นต้น ด้านข้างจะแกะเป็นลายกนกเป็นชิ้นๆ หัวและปลายของตุงกระด้างมีลักษณะแหลม บางแห่งแกะสลักไม้อีกชั้นมีขนาดเล็กกว่าทับซ้อนบริเวณ ส่วนกลางตุง ขนาดของตุงกระด้างจะขึ้นอยู่กับไม้ที่นำมาทำตุง โดยจะมีขนาดยาวประมาณ 1 เมตร ขึ้นไป ใช้ไม้ทั้งต้นในการแกะสลักตุงกระด้าง เมื่อแกะสลักตุงกระด้างเสร็จแล้ว นิยมทาสีด้วยสีทอง หรือลงรักปิดทอง นอกจากนี้อาจจะประดับด้วยกระจกเงา หรือกระจกสี โดยจะตัดเป็นรูปวงกลม สามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยม

ตุงกระด้างอาจทำจากวัสดุอีกอย่างหนึ่ง คือ สังกะสีช่องเหล็ก โดยจะฉลุลวดลายต่างๆ ลงบนสังกะสีหรือกะเทาะหรือดันสังกะสีด้านหลังเพื่อให้มีลักษณะนูนออกมาด้านหน้า เป็นรูปร่าง ลวดลายต่างๆ โดยแผ่นสังกะสีที่ทำนิยมใช้สีเงิน หรือสีทองเป็นต้น นอกจากนี้อาจจะระบายสีรูปที่ฉลุหรือดันก็ได้ หรือประดับด้วยกระจกหรือลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม นอกจากนี้ยังมีบางแห่งที่ทำตุงกระด้างด้วยการหล่อปูนซีเมนต์เป็นรูปสัตว์ หรือรูปดอกไม้ แล้วนำกระจกสีหรือกระจกเงาตัดเป็นรูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม หรือรูปสี่เหลี่ยมมาวางเรียงกันขณะที่ปูนซีเมนต์ยังไม่แห้ง ซึ่งเมื่อปูนแห้งกระจกก็จะติด ดูแล้วมีความสวยงาม

ตุงกระด้างทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องพุทธบูชา ซึ่งจะนำไปประดับหน้าพระพุทธรูปหรือพระประธาน ทั้งสองข้าง โดยตุงที่ทำด้วยไม้หรือสังกะสีจะทำขาตั้งหรือใช้วางประดับแต่ถ้าเป็นตุงกระด้างที่ทำด้วยปูนซีเมนต์ ส่วนใหญ่จะหล่อติดเสาวิหาร หรือโบสถ์ที่อยู่หน้าพระพุทธรูป หรือพระประธาน ทำให้มองดูสง่างามแก่สถานที่เป็นอันมาก และยังทำด้วยวัตถุที่แข็งแรง และถาวรจึงทำให้มีความคงทนมากบางแห่งมีอายุในการทำมาแล้วเกิน 10 ปีก็มี การทำตุงกระด้างนั้นมีราคาแพงมาก ดังนั้นในสมัยก่อนผู้ที่จะถวายส่วนใหญ่เป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์หรือมีฐานะร่ำรวย ปัจจุบันช่างฝีมือในการแกะสลักตุงมีน้อยลง การแกะสลักตุงกระด้างต้องใช้ความอดทน และผู้แกะสลักจะต้องมีความชำนาญ ซึ่งจะสามารถ พบเห็นตุงกระด้างที่ทำด้วยไม้แกะสลักจากแหล่งที่มีชื่อเสียงในการแกะสลักไม้ เช่น บ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันไม้เป็นวัตถุที่หายาก จึงมีผู้ประดิษฐ์ตุงกระด้างจากสังกะสี เหล็กและปูนซีเมนต์มากขึ้น