ตุงค่าคิง

ตุงค่าคิง บ้านป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย

คำว่า “ค่าคิง” หมายถึง ตัวเองหรือเท่ากับตัวเอง ตุงค่าคิง จึงเป็นตุงที่แทนตัวเองหรือตุงที่เท่ากับตัวเอง (เท่ากับตัวของผู้ที่ถวายตุง) ตุงค่าคิงทำจากกระดาษสาหรือผ้า โดยมีอยู่ 2 ลักษณะดังนี้ คือ ตุงค่าคิงที่เป็นสีขาวล้วน ส่วนใหญ่จะทำด้วยกระดาษสาสีขาว จะตัดกระดาษสาขนาดเท่ากับตัวของผู้ที่ถวายตุง กว้างประมาณ 9 นิ้ว พับครึ่งกระดาษผ่ากลางแล้วตัดกระดาษ โดยจะตัดส่วนบนเป็นรูปคล้ายหัวคน ปลายแหลมแล้วตัดเว้าทำเป็นส่วนคอ เมื่อคลี่ออกจะมีลักษณะเป็นหัวคนมีคอ จากนั้นแบ่งกระดาษเป็นช่วง เท่าๆ กัน แล้วพับกระดาษทีละช่องตัดฉลุเป็นลวดลายเมื่อคลี่ออกมาก็จะเป็นรูปดอกไม้ (ลวดลายแล้วแต่ผู้ทำตุงจะจินตนาการแล้วตัดออกมา) เมื่อตัดเสร็จแล้วทุกช่องก็จะมาพับปลายตุงโดยพับแนวตั้งซ้อนกันหลายชั้น แล้วตัดฉลุลวดลายเมื่อคลี่ออกมาจะมีลวดลายเหมือนสร้อยระย้า สวยงาม ส่วนอีกลักษณะหนึ่งจะทำเป็นลวดลาย โดยใช้กระดาษเงิน กระดาษทอง หรือกระดาษสีตัดแปะติดกับตุงค่าคิงแต่ก่อนอื่นต้องตัดให้ตุงมีรูปร่างโดยมีหัว คอ และตัวเสียก่อน จากนั้นก็จะตัดกระดาษสีต่างๆ เป็นลวดลายต่างๆ ตัดแปะ

โอกาสที่ใช้ตุงค่าคิง คือ ใช้ในการสืบชะตาคน ซึ่งคนที่ต้องการสืบชะตา มักป่วยออดๆ แอดๆ ตามความเชื่อของชาวล้านนา เชื่อกันว่า ตุงค่าคิงนั้น จะมีลักษณะเท่ากับผู้ที่ถวายตุง ซึ่งแทนรูปเวทนา สัญญา สังขารของผู้ถวาย เมื่อทานตุงแล้วจะแคล้วคลาด ปลอดภัย ผู้ที่เจ็บป่วยจะหายเป็นปกติ คล้ายกับตุงค่าคิงคือเป็นตัวตายตัวแทนของผู้ถวายตุง ตุงค่าคิงจะใช้ในงานขึ้นบ้านใหม่ที่มีพิธีสืบชะตา พิธีสะเดาะเคราะห์โดยมัดรวมกับไม้สามขา เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะนำตุง ไม้สามขา และสิ่งของในพิธีกรรมนี้ไปไว้ที่ต้นโพธิ์ ในบริเวณวัด หรือใช้ในการปักบูชากองเจดีย์ทราย