ตุงชัย ผ้าปัก

ตุงชัยผ้าปักลายรูปสัตว์ 18 ตัว จากเชียงตุง ประเทศพม่า

ตุงชัยผ้าปัก เป็นตุงชัยที่ทำด้วยการนำเอาเส้นไหมด้ายมาร้อยเข็มแล้วนำไปปักเป็นรูปต่างๆ ซึ่งตุงชัยผ้าปักที่พบเห็นเป็นตุงชัยผ้าปักที่สวยงาม มาจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ซึ่งตุงชัยชนิดนี้จะต้องสั่งทำโดยเฉพาะ ไม่มีการทำขาย ลักษณะของตุงชัยมีความกว้างประมาณ 8 นิ้ว ยาวประมาณ 5 เมตร โดยแบ่งเป็นช่องๆ จำนวน 18 ช่อง แต่ละช่องจะปักเป็นรูปภาพต่างๆ โดยเรียงจาก รูปเจดีย์ รูปม้า รูปนกยูง รูปนกแก้ว รูปกินรี รูปนกนางแอ่น รูปนกพิราบ รูปไก่ฟ้า รูปกระบือ รูปนกเป็ดน้ำ รูปช้าง รูปพญาลิง รูปสิงห์ รูปหมู รูปวัว รูปไก่ รูปนกกระยาง และรูปพระแม่ธรณี โดยการปักจะตัดผ้ากว้าง 8 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต วาดภาพลงบนผ้าด้วยดินสอแล้วนำเอาด้ายปักทับบนรูปภาพที่ได้วาดไว้ โดยผ้าพื้นตุงจะใช้สีอ่อน เช่น สีเหลือง สีเขียวอ่อน และสีของรูปภาพจะใช้สีเข้ม เช่น สีแดง สีดำ สีน้ำเงิน เป็นต้น เมื่อปักรูปภาพครบตามจำนวน 18 รูป ที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว จึงนำเอารูปภาพมาเย็บต่อกันตามลำดับแล้วเย็บขอบตุงด้วยผ้าแถบ ซึ่งจะใช้สีที่ตัดกับสีผ้าพื้นตุง เช่น ผ้าพื้นตุงเป็นสีเหลืองจะใช้ผ้าแถบสีแดง เป็นต้น

ตุงชัยผ้าปักลายรูปช้าง รูปม้าจากเชียงตุง ประเทศพม่า

การปักอาจปักเป็นรูปเดียว เช่น รูปช้าง รูปม้า แล้วเย็บขอบด้วยแถบผ้า จากนั้นนำตุ้งติ้งที่ทำด้วยลูกปัดมาร้อยติดข้างตุงและปลายตุงเพื่อความสวยงาม แล้วนำมาติดกับไม้ที่ทำเป็นรูปกางเขน ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วนำไปปักกับตัวช้าง ตัวม้า ที่แกะสลักด้วยไม้ จึงทำให้บางแห่งเรียกตุงชนิดนี้ว่า ตุงช้าง ตุงม้า

ตุงชัยผ้าปักลวดลายชาวเขา

ยังมีตุงชัยผ้าปักอีกลักษณะหนึ่งที่เป็นตุงชัยประจำชนเผ่า ซึ่งเป็นตุงชัย ผ้าปักของชาวเขา โดยมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ลักษณะเป็นผ้าดิบสีดำ สีน้ำตาล กว้างประมาณ 2 ฟุต ยาวประมาณ 1.5 เมตร แล้วจะปักด้วยด้ายสีต่างๆ เช่น สีแดง สีเขียว โดยปักเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม และรูปใยแมงมุม เป็นต้น โดยจะปักตามแนวขวางของผ้าดิบที่ทำตุง ซึ่งจะปักเรียงเป็นแถว

ตุงชัยผ้าปักลายพานดอกไม้ จากเชียงรุ้ง ประเทศจีน

นอกจากนี้ยังมีตุงลายปักที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยผู้ประดิษฐ์ได้นำผ้าครอสติส แล้วนำด้ายมาปักเป็นรูปพานดอกไม้ พบที่เมืองเชียงรุ้ง ประเทศจีน