ตุงเหียก

เหียก เป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับสังกะสีหรือเหล็กกับสังกะสีก็ได้ ปัจจุบันเราจะไม่ค่อยพบเห็นโลหะชนิดนี้ โดยคนล้านนาเกือบจะลืมโลหะชนิดนี้ไปแล้ว ไม่ค่อยพบเห็นคงจะเหลือเป็นภาษาพูด หากหมดคนรุ่นอายุ 40-50 ปีขึ้นไปแล้วคงเด็กรุ่นใหม่คงไม่มีคนรู้จักกันอีก การทำก็เอาโลหะชนิดนี้มาหลอมให้ละลายแล้วเอาเทลงในแบบที่เตรียมไว้ เนื่องจากเป็นโลหะผสม และจะต้องมีความรู้ผสมทำให้ยุ่งยากมาก ดังนั้นการทำตุงจึงทำตัวเล็กๆ เอาใส่ในกัณฑ์เทศน์พอเป็นพิธีเท่านั้น รูปร่างอาจจะประมาณ 1 นิ้ว ยาว 2-3 นิ้ว ก็ได้จากนั้นร้อยส่วนหัวตุงแล้วผูกติดกับคันไม้หรือทางมะพร้าว ความยาวประมาณ 20 นิ้ว แล้วนำไปปักในภาชนะที่ใส่ทราย หรือทำหลักแท่นไม้ เพื่อผูกห้อยตุงเหียก ตั้งในบริเวณที่มีการเทศน์ทศชาติกัณฑ์ที่ห้า ทั้งนี้คตินิยมของชาวล้านนาเชื่อกันว่าถ้ามีการเทศน์แล้วมีตุงชนิดนี้อยู่ด้วยจะได้กุศลผลบุญมากกว่าปกติทั้งพระสงฆ์ที่เทศน์และเจ้าศรัทธาที่ร่วมฟังเทศน์