ตุงไส้หมู ตุงไส้ช้าง
ตุงพญายอ ตุงดอกบ้วง

ตุงไส้หมู

เมื่อถึงเทศกาลวันสงกรานต์ (วันปีใหม่ของชาวล้านนา) เราจะพบเห็นตุงชนิดหนึ่งที่ชาวล้านนาจะนำไปปักกองเจดีย์ทราย คนส่วนใหญ่เรียกว่า “ตุงไส้หมู หรือตุงไส้ช้าง” โดยให้เหตุผลที่เรียกว่า ไส้หมู ไส้ช้าง เพราะตุงมีลักษณะเป็นพวงคล้ายกับไส้หมู ไส้ช้าง แต่ชาวบ้านอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ตุงดอกบ้วง” แต่ที่จังหวัดลำปาง จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ช่อพญายอ หรือตุงพญายอ” นอกจากนั้นคนภาคกลางเรียกตุงชนิดนี้ว่า “สร้อยระย้า” ไม่ว่าจะเป็นตุงไส้หมู ตุงไส้ช้าง ตุงพญายอ ตุงดอกบ้วง หรือ สร้อยระย้า เป็นตุงที่มีลักษณะเดียวกันคือ เป็นตุงที่ทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ตัดเป็นรูปสีเหลี่ยมจัตุรัส แล้วพับครึ่งเป็นสามเหลี่ยมแล้วพับไปมา กะความยาวจากยอดลงมาประมาณ 2 นิ้ว แล้วใช้กรรไกรตัดขวางจนเกือบขาดแล้วเปลี่ยนมาตัดขวางอีกด้วยจนเกือบขาดเหมือนกัน โดยสลับตัดอย่างนี้จนถึงปลายกระดาษ เมื่อตัดเสร็จแล้วจึงคลี่กระดาษออก ซึ่งตรงกลางกระดาษจะเป็นส่วนที่เราไม่ได้ตัดใช้กระดาษแข็งตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 2 นิ้ว ยาว 2 นิ้ว มารองตรงกลางกระดาษแล้วจับกระดาษหงายขึ้นร้อยด้ายโดยกระดาษแข็งสี่เหลี่ยมรองอยู่ด้านใน เมื่อจับยกขึ้นก็จะเป็นช่องพวงยาวลงมา ซึ่งขั้นตอนการทำอาจจะใช้กระดาษสีหลายสีพับซ้อนกัน ความใหญ่ของพวงตุงจะขึ้นอยู่กับความกว้างของกระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ใช้ตัด ถ้ามีความกว้างมากตุงก็จะยาวมากขึ้น

ลักษณะการใช้งานตุงชนิดนี้ส่วนใหญ่เมื่อถึงวันสงกรานต์ หรือปีใหม่ของชาวล้านนา ชาวบ้านจะนำไปปักที่ กองเจดีย์ทรายรวมกับตุงอื่นๆ ตามความเชื่อว่าเมื่อปักตุงชนิดนี้แล้วจะให้โชคลาภ ทำมาค้าขึ้น หรืออาจใช้ถือร่วมขบวนแห่ครัวทานเข้าวัดประดับครัวทาน บางพื้นที่ใช้ประดับตกแต่งปราสาทศพ เพื่อความสวยงาม โดยจะใช้กระดาษสีขาวหรือสีดำ ตุงชนิดนี้เป็นตุงที่ทำง่ายมาก ถ้าคนที่ชำนาญสามารถทำเสร็จไม่เกิน 1 นาที หากยังไม่ถึงเทศกาลวันสงกรานต์ ก็จะไม่มีตุงชนิดนี้จำหน่าย เพราะเป็นตุงที่ทำง่ายไม่ต้องใช้เวลามาก ช่างทำตุงจึงไม่นิยมทำเก็บไว้แต่จะทำก่อนจะถึงเทศกาล ถ้าไม่ถึงเทศกาลก็จะต้องสั่งทำโดยสามารถจะสั่งทำตอนเช้าแล้วมารับตุงตอนเย็นได้