ลื้อเชียงคำ

แสดงการอพยพของไทลื้อมายังดินแดนล้านนา
ในช่วงนโยบายเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง

(ที่มา facebook ของ โยธิน คำแก้ว ปราชญ์ลื้อเชียงคำ)

ลื้อเชียงคำ :: นับตั้งแต่เกิดกระแสท้องถิ่นนิยมในสังคมไทยตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา “ลื้อเชียงคำ” เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปนอกจากกลุ่มคนที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมล้านนา (จังหวัดในภาคเหนือตอนบน) ด้วยแรงหนุนจากทั้งผู้นำชุมชน ปราชญ์ท้องถิ่น นักวิชาการด้านวัฒนธรรม และนักการเมืองระดับชาติที่มีพื้นเพเป็นคนลื้อเชียงคำ ที่ร่วมกันรื้อฟื้นวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อในอำเภอเชียงคำขึ้นมาผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรม “งานสืบสานตำนานไทลื้อ” ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2543 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ “ลื้อเชียงคำ” ได้ปรากฏในสายตาและการรับรู้ของสังคมไทย โดยตลอดระยะเวลากว่า 17 ครั้งของการจัดงานสืบสานตำนานไทลื้อตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) ผู้คนที่มาร่วมงานเริ่มจากกลุ่มคนลื้อในอำเภอเชียงคำและพื้นที่ใกล้เคียง มาสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดและจากต่างชาติ ยังรวมไปถึงไทลื้อจากสิบสองปันนา (จีน) และเชียงตุง (เมียนมาร์) ในช่วงกระแสโลกาภิวัตน์แผ่เข้ามาถึงพื้นที่ท้องถิ่น แสดงให้เห็นภาพชัดเจนว่า “ลื้อเชียงคำ” เป็นที่รับรู้ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติและนานาชาติ อย่างไรก็ตาม ไม่อาจกล่าวได้ว่า ตัวตนคนลื้อเชียงคำเกิดขึ้นเพียงเพราะงานสืบสานตำนานไทลื้อเพียงเท่านั้น หากแต่คนไทลื้อในพื้นที่อำเภอเชียงคำมีประวัติที่มายาวนานกว่าศตวรรษ มีการอพยพย้ายถิ่นฐานหลายระลอก มาจากต่างเมืองต้นทางหลากหลาย และแม้จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่ใช้ภาษาในตระกูลเดียวกันแต่ละกลุ่มก็มีความต่างด้านวัฒนธรรมในบางเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ประวัติการตั้งถิ่นฐาน สำเนียงภาษา รูปแบบประเพณี วิถีชีวิต หรือความเชื่อ มากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งความต่างเหล่านั้นได้ถูกปัจจัยการเวลาที่พัดพาไทลื้อในเมืองเชียงคำแห่งนี้เข้าไปในกระแสกระแสท้องถิ่นนิยมรวมถึงกระแสโลกาภิวัตน์ หล่อหลอมให้กลายเป็น “ลื้อเชียงคำ” ในที่สุด

การแต่งกาย ::

ผู้ชายจะแต่งกายชุดสีดำทอด้วยฝ้าย สวมกางเกงขายาว ตรงปลายมีแถบแขนเสื้อมีแถบแพรอยู่ตอนปลาย โพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีอ่อน เมื่อออกจากบ้านจะสวมหมวกใบใหญ่เรียกว่า “กุ๊บ” สะพายดาบ ผู้ชายลื้อจะนิยมสักหมึกตามตัว

ผู้หญิงจะสวมเสื้อพื้นสีดำทอด้วยฝ้ายหรือเรียกว่าเสื้อปั๊ต ติดแถบสีอ่อน ปักลวดลายริมขอบเสื้อ ผ่าอก ปิดป้ายมาทางอกข้าง แขนเสื้อยาว นุ่งผ้าซิ่นสีดำมีแถบมน และริ้วลายตอนกลางเป็นชั้น คาดเข็มขัดเงินสลักภาพ เครื่องประดับกายประกอบด้วยต่างหู ปิ่นปักผม และสวมกำไลข้อมือเงิน

การแต่งกายของลื้อเชียงคำในอดีตที่ปัจจุบันจะพบเจอการแต่งกายเช่นนี้ในงานเทศกาลสำคัญๆ เช่น งานสงกรานต์ งานสืบสานตำนานไทลื้อ เป็นต้น

(ที่มา: facebook ของ โยธิน คำแก้ว ปราชญ์ลื้อเชียงคำ)

รายการอ้างอิง :

1. บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศยาม.

2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (ม.ป.ป.). ลื้อ ลื้อเชียงคำ. ค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/97

3. hugchiangkham. (ม.ป.ป.). ไทลื้อในเชียงคำ. ค้นจาก http://www.hugchiangkham.com/ไทลื้อในเชียงคำ