ตุงชัย ผ้าทอไทลื้อ

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ แบบทอทึบ บ้านหาดบ้าย บ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ เป็นศิลปะประจำชนเผ่าของชาวไทลื้อ ที่มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และชาวไทลื้อยังเป็นชนเผ่าที่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัดอีกด้วย และมีประเพณีที่สื่อถึงความเชื่อของชาวไทลื้อ คือ การถวายตุง โดยชาวไทลื้อมีความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของการถวายตุงตลอดมา ตามตำนานพื้นบ้านเรื่องกาเผือกหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตำนานพระเจ้าห้าตน ที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน โดยชาวไทลื้อ ส่วนใหญ่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาเมื่อหลายร้อยปีผ่านมา โดยเข้ามาอาศัยอยู่ในแถบจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน พะเยา ลำปาง เป็นต้น ชาวไทลื้อมีศิลปะประจำชนเผ่า คือ การทอผ้าและการทอตุง ชาวไทลื้อในอดีตจะมีกี่ทอผ้าและใช้ทอตุงเกือบทุกครัวเรือน โดยชาวไทลื้อจะทอผ้าไว้สำหรับใช้นุ่งห่มเองและจากความเชื่อของชาวไทลื้อที่มีต่อพุทธศาสนา ชาวไทลื้อจะทอตุงเพื่อถวายวัดทุกปี ในปัจจุบันภาพหรือเสียงของกี่ทอผ้า และทอตุงของชาวไทลื้อนั้นเริ่มลดลงเรื่อยๆ แต่เอกลักษณ์ในการทอผ้าหรือทอตุงนั้นยังคงอยู่ เพราะชาวไทลื้อยังมีความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ว่าต้องทอตุงและนำตุงไปถวายเป็นประเพณีที่ต้องทำและสืบทอดกันต่อไป โดยรูปแบบของการทอตุงชัยของชาวไทลื้อจะแบ่งตามเส้นทางการอพยพของชาวไทลื้อที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จากการสำรวจของนักวิชาการหลายท่าน พบว่า การอพยพของชาวไทลื้อจากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน เข้ามาในประเทศไทย มีเส้นทาง 2 เส้นทาง คือ

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ แบบทอทึบ บ้านหาดบ้าย บ้านหาดบ้าย ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

เส้นทางแรก ชาวไทลื้ออพยพมาจากเมืองอู เมืองแวน เมืองหย่วน เมืองบาง และเมืองสิง โดยอพยพเข้ามาอยู่ในเขตของอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย และบางส่วนได้ขึ้นฝั่งมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหาดบ้าย ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งชาวไทลื้อ บ้านหาดบ้าย มีการทอตุงอยู่ 2 ลักษณะ คือ การทอตุงชัย ซึ่งจะทอแบบทึบ โดยใช้ผ้าฝ้ายทอคล้ายกับการทอผ้า สำหรับลวดลายในการทอส่วนใหญ่จะทอเป็นรูปช้าง รูปม้า สลับกันไป เมื่อทอรูปช้างจะคั่นด้วยตอกไม้ไผ่แล้วจึงทอรูปม้า

ยังมีการทออีกลักษณะหนึ่ง คือ การทอสลับกับการเว้นช่วงการปล่อยให้เห็นแต่ฝ้ายเส้นยืนยาวประมาณ 5 นิ้ว โดยส่วนที่ทอทึบจะทอเป็นรูปช้าง รูปม้า รูปนก หรือรูปปราสาท ชาวไทลื้อบ้านหาดบ้ายจะเน้นสีขาว หรือสีอ่อน ๆ เป็น สีพื้นและจะใช้สีเข้มกว่า เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีดำ สีเขียว ทอเป็นรูปภาพต่าง ๆ

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ บ้านศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย

ชาวไทลื้อบางกลุ่มอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านศรีดอนชัย ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งหมู่บ้านนี้มีเอกลักษณ์การทอตุงชัย เพียงลักษณะเดียว คือ การทอตุงแบบทึบ ลวดลาย ส่วนใหญ่ทอเป็นรูปปราสาทจะคั่นส่วนหัวและส่วนท้ายของตุงชัยด้วยตอกไม้ไผ่ที่พันด้วยกระดาษเงิน หรือกระดาษทองเพื่อไม่ให้ตุงห่อตัวเวลาแขวน โดยทอเป็นช่องเล็กๆ คั่นด้วยตอกไม้ไผ่ที่พันด้วยกระดาษเงินหรือกระดาษทองเหมือนกัน

นอกจากอพยพมาอยู่ที่เชียงของ แล้วก็ได้มีการอพยพลงมาที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน จากการสำรวจ พบว่า การทอตุงชัยของชาวไทลื้อจังหวัดน่านจะทอด้วยฝ้าย โดยวิธีการทอแบบทึบ โดยส่วนใหญ่จะใช้สีขาวหรือ สีอ่อนๆ เป็นสีพื้นหรือเส้นยืน คือเส้นฝ้ายที่เป็นแนวตั้งและจะใช้ฝ้ายสี เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว และสีเหลืองเป็นเส้นพุ่ง แต่ละผืนอาจใช้สีแดงและสีน้ำเงินเป็นเส้นยืนก็ได้ แล้วตัดด้ายเส้นพุ่งสีที่อ่อนกว่า ลวดลายที่นิยมทอกันมาก คือ รูปปราสาท รูปคน รูปม้า รูปช้าง อยู่ในปราสาทล้อมรอบด้วยรูปต้นไม้ รูปม้า รูปนก รูปช้าง ส่วนบนมีรูปคนเรียงกันและคั่นด้วยตอกไม้ไผ่ เพื่อไม่ให้ผืนตุงห่อตัวส่วนด้านล่างฐานปราสาทมีรูปช้างเรียงกันและคั่นด้วยตอกไม้ไผ่ อีกครั้งหนึ่ง ส่วนปลายของตุงชัยก็จะนำฝ้ายเส้นยืนมาสอดใส่ในรูปของกิ่งไม้ไผ่ลำเล็กๆ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ผูกปมและมัดตรงปลายไม้ไผ่ ไม่ให้กิ่งหลุดออกและกันไม่ให้ด้ายเส้นพุ่งหลุดออกด้วย ส่วนใหญ่การทอทึบจะไม่นิยมทอขนาดยาวแต่จะทอยาวประมาณ 1 – 2 เมตร กว้าง 1 – 2 ฟุต

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ จ.น่าน

ชาวไทลื้อส่วนที่อพยพมาอยู่ที่จังหวัดน่าน ได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในช่วงหนึ่งชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพย้ายกลับขึ้นมาทางทิศเหนืออีก เข้ามาสู่ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา สาเหตุของการย้าย เนื่องมาจากมีประชากรในพื้นที่เดิมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวไทลื้อบางส่วนต้องอพยพมา เพื่อแสวงหาที่ทำกินใหม่ จากการย้ายถิ่นทำให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายไม่ว่าจะเป็นทั้งประชากรยังรวมไปถึงสังคมและ วัฒนธรรม โดยสามารถดูได้จากการทอตุง โดยลักษณะของการทอตุงของบ้านหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จะมีลักษณะคล้ายกับการทอตุงชัยของจังหวัดน่าน และมีเทคนิควิธีการที่คล้ายคลึงกัน

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ บ้านหย่วน ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา
ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ บ้านทุ่งมอก ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา
ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ บ้านเชียงบาน ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา
ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ บ้านฝั่งแวน ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา

ที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ยังมีการทอตุงชัยอีกลักษณะหนึ่ง โดยเทคนิคการทอตุงชัยจะคล้ายกับการทอทึบแต่จะเว้นช่วงการทอ แต่ละช่วงจะปล่อยให้เห็นฝ้ายเส้นยืน ยาวประมาณ 5 นิ้ว สลับกับการทอทึบและคั่นด้วยตอกไม้ไผ่ ทอประมาณ 7 ช่อง ส่วนปลายของตุงชัยผ้าทอไทลื้อจะทอทึบ ส่วนบนทอลายดอกจัน ต่อลงมาด้วยก็จะเป็นรูปปราสาท มีต้นไม้อยู่ข้างปราสาท ทั้งสองข้าง รูปคน รูปนก รูปพานดอกไม้ ส่วนฐานของปราสาทจะทอรูปช้าง รูปนาค และรูปม้า ส่วนนี้จะยาวประมาณ 1 – 2 เมตร ตุงชัยจะมีความยาวประมาณ 3 – 4 เมตร จึงนับว่าเป็นตุงที่มีความยาวพอสมควร ลักษณะการทอตุงชัยแบบนี้ จะพบได้ที่ บ้านทุ่งมอก บ้านเชียงบาน บ้านฝั่งแวน ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ (ยอง) บ้านสันหลวงใต้ ต.จอมสวรรค์ อ.แม่จัน จ.เชียงราย

ส่วนเส้นทางการอพยพของชาวไทลื้ออีกเส้นทางหนึ่ง คือ อพยพมาจาก เมืองเชียงรุ้ง เมืองลวง และเมืองยอง โดยจะอพยพลงมาสู่อำเภอแม่สาย และอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ชาวไทลื้อบางส่วนอาศัยอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน โดยเรียกตนเองว่า “ชาวไทยอง” ที่หมู่บ้านสันหลวงใต้ ตำบลจอมสวรรค์ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีชาวไทลื้อ (ยอง) อาศัยอยู่และในหมู่บ้านมีการทอตุงชัย โดยมีลักษณะการทอตุงชัยแบบทอทึบและใช้ผ้าฝ้ายในการทอ ลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นรูปช้าง จะคั่นด้วยตอกไม้ไผ่เป็นช่องๆ จำนวน 8 ช่อง และร้อยตุ้งติ้งที่ทำด้วยหลอดกาแฟกับลูกปัด แล้วนำมาติดข้างตุงชัยเพื่อความสวยงาม

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อ บ้านป่าซาง จ. ลำพูน

าวไทลื้อบางส่วนได้อพยพลงมาจนถึงจังหวัดลำพูน มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า “บ้านป่าซาง” เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “ไทยอง” และมีการทอตุงชัย หมู่บ้านแห่งนี้จะมีการทอตุงชัยที่มีลักษณะพิเศษ คือ ตุงชัยจะมีขนาดใหญ่ เนื้อผ้าหนา มีเทคนิควิธีการทอแบบทึบ ลวดลายส่วนใหญ่จะทอเป็นรูปปราสาท โดยมีรูปนกอยู่ข้างบน ส่วนฐานของปราสาทจะคั่นด้วยตอกไม้ไผ่ลงมาจะทอด้วยรูปสิงห์ รูปช้าง และลายผักแว่นปิดท้าย โดยจะมีตอกไม้ไผ่คั่นระหว่างแต่ละรูป โดยทั่วไปตุงชัยจะกว้างประมาณ 2 ฟุต ยาวประมาณ 2 – 3 เมตร และตุงชัยที่ทอในหมู่บ้านป่าซางยังมีลักษณะพิเศษ อีกอย่างหนึ่ง คือ หัวตุง จะทำด้วยไม้เนื้อแข็งที่ตัดเป็นท่อนๆ แล้ววางขวางใช้เชือกผูกต่อติดกัน ส่วนหัวจะมีลักษณะแหลมคล้ายรูปกาแล

ตุงชัยผ้าทอไทลื้อที่ได้กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นถึงชนเผ่าที่มีความเชื่อ ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา โดยจะมีเอกลักษณ์ในการทอตุงที่เป็นของตนเองเพื่อใช้ในการถวายตุง จากเอกลักษณ์ดังกล่าวของการทอตุงแต่ละแหล่ง แสดงให้เห็นถึงการอพยพย้ายถิ่นของชาวไทลื้อที่อพยพมาจากที่เดียวกันจะมีลักษณะของตุงชัยที่ทอคล้ายคลึงกัน ในปัจจุบันการทอตุงชัยของชาวไทลื้อได้มีการคิดค้นอย่างสร้างสรรค์และแปลกใหม่ แต่ชาวไทลื้อก็ยังมีความมั่นคงในความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา อยู่นั่นเอง