ต่องซู่

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ปะโอ

  • ชื่อเรียกตนเอง : ปะโอ

  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ตองซู่ กะเหรี่ยงพะโค กะเหรี่ยงดำ

ต่องซู่ :: เป็นคนไทยเผ่าหนึ่งที่อยู่ในเขตรัฐฉานและ พม่า ตอนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) ชาวต่องซู่อาศัยอยู่ปะปนกับชาวไทยใหญ่ ที่อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน และอำเภแม่สายมีอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย ได้อพยพเข้ามาในเชียงรายราว 60 - 70 ปีก่อน บรรดาบุตรหลานของชาวต่องซู่ในเขตไทยได้กลมกลืน เป็นส่วนหนึ่งของชาวเหนือ

ต่องสู้ ต่องสู่ หรือ ต่องซู่ เนื่องจากชาวต่องสู้ตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวไทใหญ่ โดยชาวต่องสู้อยู่บนดอยและที่ราบเชิงเขา ส่วนชาวไทใหญ่อยู่บริเวณที่ราบ ดังนั้นชาวต่องสู้จึงมีความสัมพันธ์กับชาวไทใหญ่ และมีวัฒนธรรมคล้ายไทใหญ่ ชาวไทใหญ่เรียกชาวต่องสู้ว่า “ ต่องสู้ ” พม่าเรียกว่า “ ต่องตู่ ” แปลว่า “ ชาวดอย ” หรือ “ คนหลอย ” แต่ชาวต่องสู้ไม่ชอบให้เรียกคำนี้ เพราะถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ ชาวต่องสู้เรียกเชื้อชาติของตนเองว่า “ ป่ะโอ่ ” หรือ ปะโอ แปลว่า ชาวดอยเหมือนกัน

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ต่องสู้” บางท้องถิ่นออกเสียงเป็น ต่องสู่ หรือ ต่องซู่

การอพยพของชาวต่องสู้ เข้าสู่ล้านนาเริ่มขึ้นใน พ . ศ . 2428 หลังจากอังกฤษเข้ามายึดครองพม่า ความวุ่นวายและความอ่อนแอในราชสำนักพระเจ้าสีป๊อยุติลง ประกาศให้พม่าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดียนั้น ในหัวเมืองต่างๆ เกิดความวุ่นวาย จลาจล เกิดการแตกแยก รบพุ่งทำสงคราม ซึ่งกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทำการต่อต้านอังกฤษ ทำให้ชาวไทใหญ่ ชาวต่องสู้ ตามเมืองต่างๆ ที่ถูกปราบปราม

เส้นทางที่ชาวต่องสู้เดินทางเข้ามา 4 ทาง ได้แก่

  1. เส้นทางแม่ฮ่องสอน มาทางบ้านผาปูน ผ่านเมืองปาย เมืองยวม ส่วนใหญ่เป็นชาวต่องสู้ที่เดินทางมาจากเมืองหมอกใหม่ เมืองป๋อน เมืองหนองบอน

  2. เส้นทางฝาง มาจากเมืองปั่น เมืองนาย

  3. เส้นทางแม่สาย เป็นชาวต่องสู้ที่มาจากเมืองต่องกี เมืองหนอง

  4. เส้นทางแม่สอด เป็นชาวต่องสู้มาจากเมืองตะถุ่ง เมืองมะละแหม่ง

การแต่งกาย ::

การแต่งกายของชาวต่องสู้นุ่งห่มด้วยผ้าฝ้ายสีดำทอมือ ย้อมมะเกลือ มีวิธีการทอผ้าเหมือนชาวกะเหรี่ยง กล่าวคือ ผู้หญิงนั่งเหยียดเท้าทอผ้าด้วยกี่ที่ลำตัวผูกกับเอว

ผู้ชาย แต่งกายคล้ายชาวไทยใหญ่ สวมกางเกงเป้าหย่อนที่เรียกว่า เตี่ยวโหย่ง หรือโก๋นโฮง เสื้อคอกลมแขนกระบอก ผ่าอกตลอด กระดุมผ้าสอดเป็นห่วงแบบจีน

ผู้หญิง นุ่งผ้าถุงสีดำยาว สวมเสื้อคอวีแขนสั้น ชายเสื้อคลุมตะโพก คล้ายเสื้อกะเหรี่ยง เสื้อชั้นนอกสวมทับ แขนยาว เอวลอย ผ่าอกตลอด คอจีน มีลายแดงยาวพาดขวางเป็นระยะ พันหน้าแข้งเหมือนผู้หญิงชาวมูเซอ เครื่องประดับสวมกำไล สร้อยคอ ด้วยโลหะเงิน

รายการอ้างอิง :

1. บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2551). 30 ชาติในเชียงราย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศยาม.

2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2563). ปะโอ. ค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/163

3. ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2561). รู้จักเข้าใจ และ ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ของ กลุ่มชาติพันธุ์ “ต่องสู้”. ค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_156438